คอมมูนิตี้มอลล์กลางเมืองซานฮวนที่ชวนให้ผู้คนได้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ผ่านงานออกแบบที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่เปิดโล่ง การเชื่อมโยงผู้คนกับธรรมชาติ และพฤติกรรมมนุษย์ที่สำคัญอย่างการเดิน
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: JAR CONCENGCO EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
อากาศร้อนชื้น มีพายุมรสุมพร้อมห่าฝนขนาดหนัก คือชุดคำอธิบายภูมิอากาศของเมืองซานฮวน ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยภูมิอากาศอย่างว่า การพักผ่อนในเวลาว่างจึงหมายถึงการอยู่ในกรอบห้องแอร์ของห้าง ของคาเฟ่ ที่เย็นฉ่ำและไม่มีฝนเปรอะตัว ถึงอย่างนั้น ชีวิตในสภาพอากาศเทียมกลับทำให้พลาดสายลมเรื่อปะทะตัว พลาดแสงแดดรำไรส่องกระทบ แม้จะไม่สบายตลอดเวลา แต่สภาพอากาศแท้มักมีความงามที่คาดไม่ถึงให้สัมผัส เมื่อได้โอกาสออกแบบคอมมูนิตี้มอลล์ในเมืองซานฮวน ในชื่อ ‘The Corner House’ ออฟฟิศสถาปัตยกรรมจากกรุงเทพฯ Department of ARCHITECTURE ร่วมกับสตูดิโอท้องถิ่นของฟิลิปปินส์ BAAD Studio จึงสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่นี่ ให้เป็นสถาปัตยกรรมที่เอื้อกับการเพลิดเพลินชีวิตนอกห้องแอร์
The Corner House เผยภาพตัวเองเป็นอาคารบนเนินดินที่ล้อมกรอบด้วยทิวเสาเหล็กสีขาว เห็นก้อนกล่องกระจกผลุบโผล่ออกมาจากแนวเสา พร้อมด้วยทางลาดที่ร้อยรึงรอบอาคาร ผ่านพ้นบันไดทางเข้าขึ้นไปก็เจอกับโถงโล่งใหญ่ใต้ร่มอาคารที่มีโต๊ะเก้าอี้ตั้งเรียงราย มีแนวเสาเหล็กสีขาวตั้งตระหง่านเป็นแถวคล้ายกับป่าจำลอง ต้นไม้จริงสีเขียวขจีบนกระบะเสริมแต่งบรรยากาศให้ร่มรื่น สดชื่น สบายตา
โดยรอบโถงคือร้านค้าที่ฝากตัวไว้ในห้องกระจกปรับอากาศ ส่วนพื้นที่ชั้นบน ห้องกระจกตั้งลอยบนโถงบ้าง อยู่ชิดริมอาคารและยื่นออกไปบ้าง เป็นร้านค้าน้อยใหญ่ที่สร้างความคึกคักให้กับโครงการ กรอบกระจกใสติดแพทเทิร์นสติกเกอร์เส้นขาวจางๆ ปิดบังความวุ่นวายของร้านค้าด้านในและควบคุมภาพรวมทั้งหมดของอาคารให้ดูสอดคล้องกัน แม้ตัวอาคารจะมีขนาดใหญ่โต แต่ริ้วขาวจากเสาเหล็กและสติกเกอร์ช่วยสับซอยอาคารให้ดูบางและเบาลง
ถึงอากาศภายนอกจะอบอ้าว ร้อนแรง แต่เมื่ออยู่ภายใต้ร่มเงาอาคาร กลับรู้สึกสบาย ไม่ร้อนรนระคายตัว กลเม็ดอยู่ที่การออกแบบโถงกึ่งภายในภายนอกให้สูงโปร่ง อากาศร้อนสามารถลอยตัวระบายออกไปด้านบน แม้จะมีก้อนอาคารแทรกระหว่างชั้น แต่พื้นที่โล่งทั้งหมดเชื่อมต่อถึงกัน ก้อนอาคารชั้นบนบางส่วนไม่ชนติดกับหลังคาเพื่อให้อากาศทะลุทะลวงระบายออกไปได้ พัดลมใบพัดขนาดใหญ่เสริมกำลังให้อากาศภายในถ่ายเทได้ดีขึ้น
เมืองซานฮวนช่วงฤดูมรสุมจะเจอกับพายุลมและห่าฝนซัดสาด อาคาร The Corner House เตรียมพร้อมรับมือด้วยการติดตั้งระบบแผงบานเกล็ดและม่านม้วนบริเวณผิวอาคารที่ควบคุมเปิดปิดได้ เมื่อถึงคราวพายุพัดลมฝน บานเกล็ดจะพับปิดลง ม่านม้วนเคลื่อนตัวคลุมพื้นผิว แม้จะกันฝนได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็ช่วยบรรเทาพื้นที่ไม่ให้เปียกแฉะเลอะเทอะจนนั่งอ้อยอิ่งไม่ได้
การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมให้คนใช้ชีวิตภายนอกได้อย่างรื่นรมย์กินใจความมากกว่าการควบคุมสภาพอากาศให้สบายตัว ทางลาดที่พันเกี่ยวรอบอาคาร เดี๋ยวก็มุดเข้าด้านใน เดี๋ยวก็โผล่มาด้านนอก เกิดจากแนวคิดการสร้างพื้นที่ให้คนเดินเล่นออกกำลังกาย เนื่องจากถนนด้านนอกมีรถวิ่งวุ่นอยู่ตลอด และไม่มีทางเท้าอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ใครก็ตามที่อยากเดินเล่นหรือจ๊อกกิ้งออกกำลังกาย หลีกหนีไม่ได้ต้องเสี่ยงตายโดนรถชนตลอดเวลา ทางลาดจึงเกิดขึ้นเป็นส่วนต่อขยายของท้องถนน อย่างน้อยก็ให้คนเมืองได้มีที่ทางออกกำลังกายที่ปลอดภัย
ทางลาดเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นหนึ่งแล้วพันวนเข้าออกตึกไปจนถึงดาดฟ้า ระยะทางยาวกว่า 500 เมตรพอดี ตัวทางที่อยู่ทั้งด้านในและด้านนอกตึกเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานซึมซับกับบรรยากาศที่หลากหลาย เดินขึ้นไปถึงชั้นสูงสุดโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย แต่หน้าที่ของทางลาดนี้ไม่ได้จำกัดเป็นแค่ทางออกกำลังกาย จากความกว้างของทางที่ไม่แคบจนเกินไป ทางลาดนี้ยังใช้งานเป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดนิทรรศการศิลปะ จัดอีเวนต์ หรือสำหรับนั่งสังสรรค์กินข้าวก็ได้เช่นกัน
ดาดฟ้าของอาคารคืออีกพื้นที่ของการดื่มด่ำชีวิตนอกห้องแอร์ ลานโล่งชั้นดาดฟ้ามีชื่อเล่นว่า ‘Common Purslane’ ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษของต้นคุณนายตื่นสาย ที่มาของชื่อ มาจากหน้าที่ของลานที่เปิดให้คนมารับประทาน brunch ในตอนสายๆ หรือใช้จัดอีเวนต์ตอนพลบค่ำและกลางคืน รอบตัวลานคือเนินหญ้าที่ช่วยบดบังภูมิทัศน์รอบข้างที่ไม่สวยงาม เปิดให้ผู้คนมองออกไปยังท้องฟ้าที่สวยงามด้านบน บนเนินหญ้ามีดอกคุณสายตื่นสายสีแดงม่วงประอยู่เป็นจุดเรื่อ ขลิบแต่งทิวทัศน์ของท้องฟ้าให้มีสีสันสวยสดงดงาม

Photo courtesy of Department of ARCHITECTURE
กลางลานชั้นดาดฟ้าและบนเนินดินมีกล่องกระจกใสที่ส่องแสงสีสดสวยแปลกตา กล่องเหล่านี้คือช่อง skylight ที่ช่วยเปิดรับแสงธรรมชาติลงไปในอาคาร กระจกของ skylight เป็นกระจก dichroic ที่มีคุณสมบัติสะท้อนคลื่นแสงบางส่วน เป็นผลให้มองเห็นสีสันที่ผิวกระจกและแสงที่ลอดผ่าน เมื่อแสงที่ส่องผ่านลงมาเป็นสีสัน สีที่ใช้ตกแต่งพื้นที่ภายในจึงถูกควบคุมอยู่ในโทนขาวเทา เพื่อให้เป็นฉากหลังของแสงสีที่แต่งแต้มลงมา และในยามค่ำคืน ประกายแสงสีที่ส่องสว่างจากก้อน skylight ก็ช่วยวาดลวดลายให้ดาดฟ้ามีชีวิตชีวาขึ้นมา
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Department of ARCHITECTURE ออกแบบสถาปัตยกรรมให้คนเขตร้อนชื้นมาพักผ่อนหย่อนใจในพื้นที่ภายนอก เพราะออฟฟิศเคยทดลองออกแบบตามแนวคิดนี้มาแล้วนักต่อนัก หนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็คือ the COMMONS Thonglor และ the COMMONS Saladaeng คอมมูนิตี้มอลล์ที่แหวกกระแสห้างติดแอร์ด้วยการอุทิศพื้นที่จำนวนมากเป็นพื้นที่เปิดโล่งสำหรับนั่งพักผ่อน แม้จะเป็นแนวคิดที่ทะเยอทะยาน ฉีกกรอบภาพจำห้างล้อมกรอบมิดชิดติดแอร์ แต่โครงการนี้กลับประสบความสำเร็จ และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
The Corner House ก็ได้ต้นแบบของแนวคิดและการออกแบบมาจาก the COMMONS Thonglor เช่นกัน แต่มีการปรับแต่งรายละเอียดงานออกแบบให้เข้ากับบริบทท้องถิ่น อย่างเช่นการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อให้โครงการที่ขนาดใหญ่กว่าดูบางเบา ขณะเดียวกันก็เสริมความหนาของโครงเหล็กเพื่อรองรับภัยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยในดินแดนพันเกาะ
นอกจากการเปิดโล่ง The Corner House จะช่วยให้ผู้คนได้ดื่มด่ำความงามของชีวิตนอกกรอบอาคาร สถาปัตยกรรมที่ลดการใช้ระบบปรับอากาศยังช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่ายอีกเช่นกัน ภาพผู้คนนั่งสบายอารมณ์ตามเก้าอี้ เดินถ่ายรูปอ้อยอิ่งตามมุมต่างๆ คืออีกเครื่องพิสูจน์ว่าสถาปัตยกรรมร้อนชื้นที่เอื้อให้คนใช้ชีวิตภายนอกไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะการสร้างพื้นที่ภายนอกให้อยู่สบายไม่ได้เกินความเป็นไปได้ และยังมีคนอีกมากมายที่โหยหาสัมผัสจากธรรมชาติ