AI IS RISING. HOW DO ARTISTS SURVIVE?

AI is rising. How do artists survive

AI สร้างความตื่นเต้นให้ผู้คนจากความสามารถที่ก้าวกระโดด แต่มันคือเครื่องมือที่เปิดโลกสร้างสรรค์หรือทำลายวงการศิลปะกันแน่

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
IMAGE: GENERATED WITH STABLE DIFFUSION V.2.1 BY PRATCHAYAPOL LERTWICHA

(For English, press here)

ถึงเทคโนโลยี AI หรือ Artifiicial Intelliegence จะอยู่แนบชิดกับชีวิตประจำของเรามาได้สักพักหนึ่ง เพราะมันอยู่เบื้องหลังการปลดล็อกหน้าจอ iPhone ด้วยใบหน้า การขึ้นข้อมูล search ใน Google หรือการแนะนำหนังในแอป Netflix แต่ความสามารถของ AI ที่พัฒนาก้าวกระโดดไปทุกวัน ก็ยังสร้างความตื่นเต้น และความน่าหวาดหวั่นให้กับเราได้เหมือนตอนได้ยินชื่อใหม่ๆ

feed โซเชียลเน็ตเวิร์กในไทยช่วงที่ผ่านมา เต็มไปด้วยภาพสไตล์อนิเมะที่เกิดจากการเอาภาพธรรมดาไปให้ AI ในแอป Loopsie แปลงโฉม หากเราให้นักวาดแปลงรูปของเราไปเป็นภาพสไตล์อนิเมะ นักวาดคงใช้เวลาสร้างสรรค์นานเป็นหลักวัน แต่ด้วยศักยภาพของ AI การแปลงภาพเป็นสไตล์อนิเมะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วเพียงหลักนาทีเท่านั้น

ความรวดเร็วเหนือชั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้นักวาดกังวล เพราะความสามารถอันเก่งกาจของ AI แท้จริงแล้วสร้างมาจากการนำรูปและผลงานศิลปะหลายล้านผลงานมาให้ AI วิเคราะห์และฝึกฝนตัวเอง ปัญหาคือหลายครั้งผลงานเหล่านี้ถูกดึงไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาตศิลปิน และศิลปินก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการดึงข้อมูลด้วย บรรดานักวาดเลยออกมาตั้งคำถามกันยกใหญ่ว่าการใช้ AI ในงานสร้างสรรค์มันเหมาะสมหรือไม่ AI กำลังขูดรีดศิลปินอยู่หรือเปล่า และในเมื่อความสามารถของมันก้าวหน้าทะลุฟ้าจนศิลปินตามไม่ทัน เราจะอยู่ร่วมกับมันอย่างไรในอนาคต ?

AI is rising. How do artists survive

AI คือการเปิดตัวเลือกของการทำงานศิลปะแบบใหม่

จริงอยู่ที่ความร้ายกาจของ AI อาจทำให้ศิลปินตกงานกันเป็นแถวๆ แต่ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัยไทยจาก MIT Media Lab ที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI บอกกับเราว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียเป็นเรื่องปกติ และเราอาจมอง AI ว่าเป็นการเปิดทางเลือกของการสร้างสรรค์งานศิลปะแบบใหม่ก็ได้

“ผมมองว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ และเครื่องมือไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันให้ทั้งผลดีและไม่ดีกับเรา เมื่อก่อนศิลปินมองว่าการวาดภาพเหมือนคือ essence ของงานศิลปะ กลายเป็นว่าต่อมาเรามีงาน surrealism เกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องวาดภาพเหมือนอีกต่อไปแล้ว ทำให้งานศิลปะขยับไปข้างหน้า ขณะเดียวกัน ศิลปินบางคนที่ไม่อยากทำงาน surrealism แต่ชอบวาดภาพเหมือนก็อาจเหมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แล้วพอมีกล้องถ่ายรูปเกิดขึ้น คุณค่าของศิลปินภาพเหมือนก็น้อยลง ดังนั้นทุกอย่างเป็นดาบสองคม การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้เหมือนกันเพราะโลกเรามันเข้าสู่ยุคใหม่ในทุกๆ วัน ทุกๆ วินาที เราไม่เคยอยู่บนโลกใบเดิมซ้ำกัน”

“ขณะเดียวกันหลายครั้งคนรู้สึกว่าการกลับไปสู่อดีตมันน่าสนใจกว่าด้วยซ้ำ อย่างเช่น กระแส Y2K หรือต่อให้เรามีกล้องถ่ายรูป ก็ไม่ได้แปลว่าคนจะไม่วาดภาพเหมือนอีกแล้ว ดังนั้นเรามองว่า AI กลับเข้ามาเพิ่ม aesthetic choice ทำให้คนมีตัวเลือกวิธีการทำงานศิลปะเพิ่มขึ้นมากกว่าด้วยซ้ำ”

“ในตอนนี้อาจมีศิลปินกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่าภาพของตัวเองโดน AI ขโมยไป ทำให้พวกเขามองว่าสิ่งนี้เลวร้าย ไม่ถูกต้อง แต่ก็มีศิลปินอีกกลุ่มที่ทำงานเชิง conceptual ทำงานตั้งคำถาม เขาจะรู้สึกว่าปรากฏการณ์นี้มันน่าสนใจ เขาอาจใช้ AI มาทำงานศิลปะที่ตั้งคำถามกระบวนการที่ AI กำลังแย่งงานศิลปะจากคนไปด้วยซ้ำ 

สำหรับผม ความคิดสร้างสรรค์คือการออกไปจากกรอบ AI อาจทำให้มนุษย์ไปจากกรอบได้เร็วขึ้น แต่คำถามก็คือพอเราไปชนกรอบแล้ว งานแบบไหนที่จะพาทะลุกรอบออกไปหาสิ่งใหม่ๆ ได้”

AI is rising. How do artists survive

ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือไม่ละเมิดลิขสิทธิ์​

AI อาจเปิดโลกทัศน์งานสร้างสรรค์ให้กว้างไกลขึ้น เป็นเสมือนแปรงพู่กันแบบใหม่ที่เนรมิตภาพศิลปะในรูปแบบไม่มีใครเหมือน แต่ประเด็นหนึ่งที่คนทำงานศิลปะยังกังวลใจก็คือ การใช้เครื่องมือ AI จะนับว่าละเมิดลิขสิทธิ์อยู่หรือเปล่า และมันเป็นการขูดรีดเพื่อนร่วมอาชีพไหม

“ผมมองว่าตอนนี้มันเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน” พัทน์ให้ความเห็นเมื่อเราถามถึงประเด็น AI และลิขสิทธิ์ “ถ้าว่าการตามจริงแล้ว คอนเซ็ปต์ของลิขสิทธิ์แบบที่เรารู้จักกันเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง ก่อนหน้าที่เราจะมีอินเตอร์เน็ต คอนเซ็ปต์ของลิขสิทธิ์ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง พออินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น ก็เกิดเรื่อง creative common เราสามารถเอารูปบางรูปไปใช้ได้เลย ไป remix ได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต หรือมีรูปแบบ license ต่างๆ เกิดขึ้นมาใหม่ แนวคิดของกฎหมายลิขสิทธิ์ก็พัฒนา เพราะอย่างนั้นพอมี AI ขึ้นมา มันก็ต้องมีการสร้างแนวคิด กรอบ framework เรื่องลิขสิทธิ์แบบใหม่”

“อย่างตอนนี้ที่ผมมองว่าน่าสนใจคือข้อเสนอของ Jaron Lanier ที่เป็นคนบุกเบิก virtual reality และเป็น senior researcher ของ Microsoft เขาเสนอเรื่อง data dignity ก็คือถ้า data ของคุณถูกใช้ในการเทรน AI ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ แล้วทำให้ AI ฉลาดขึ้น ดีขึ้น คุณก็จะได้รับค่าชดเชยจาก AI ตัวนั้น”

“อันนี้อาจฟังดูอุดมคติ โลกสวย แต่มันกำลังเกิดการถกเถียงว่าโมเดลทางธุรกิจหรือโมเดลทางกฎหมายแบบใหม่ที่จะเอื้อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการพัฒนา AI ได้ประโยชน์จะเป็นแบบไหน อันนี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น”

AI is rising. How do artists survive

แล้วควรใช้งาน AI ดีไหม ในช่วงแนวคิดลิขสิทธิ์ยังไม่แน่ไม่นอน

ในช่วงที่แนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์กำลังพัฒนาไปพร้อมๆ กับ AI แทนที่ศิลปินจะกังวลว่าจะใช้งานเครื่องมือนี้ได้หรือเปล่า ดร.สลิลธร ทองมีสุข นักวิชาการด้านกฎหมายจาก TDRI (Thailand Development Research Institute) บอกว่า ความกังวลควรตกไปอยู่ที่ผู้พัฒนา AI เสียมากกว่า ว่าจะทำอย่างไรให้เครื่องมือของตัวเองชอบธรรม

“ไม่อยากให้ฝั่งนักออกแบบที่ไม่กล้าใช้เพราะกลัวเรื่องลิขสิทธิ์ต้องกังวลจนเกินไป ความกังวลควรอยู่ที่ฝั่ง developer มากกว่าว่าจะเอา data มาจากไหน แล้วจะทำอย่างไรให้ถูกต้องในอนาคต”

“ปัจจุบันเริ่มมีบริษัท AI ที่ใช้ฐานข้อมูลที่ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์มาก่อน และตอนนี้ที่ยุโรปก็กำลังมีร่างกฎหมายอันหนึ่งชื่อว่า EU AI Act ที่เขียนว่า ต่อไปถ้า AI developer จะเอาข้อมูลลิขสิทธิ์ไป train จะต้องออกมาให้ข้อมูลอย่างเพียงพอว่าเอาข้อมูลลิขสิทธิ์อะไรมา train บ้าง เป็นการเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบให้กับฝั่งผู้พัฒนา ในเวลาเดียวกันก็เป็นช่องทางให้ศิลปินได้ตรวจสอบได้ด้วย เทรนด์ของกฎหมายในอนาคตจะมาแนวนี้ คนที่พัฒนา AI ต้องโปร่งใส และมีความรับผิดชอบมากขึ้น”

AI is rising. How do artists survive

เรียนรู้ที่จะอยู่กับ AI – ไม่ใช่แค่ใช้งานเป็น แต่ต้องเข้าใจมัน

พัทน์มองว่าการเข้ามาของ AI จะทำให้โจทย์การสร้างสรรค์งานศิลปะยากขึ้น ท้าทายมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าศิลปินอยากจะปรับตัว และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ AI การเข้าใจมันในระดับลึกซึ้งก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะรับมือกับเครื่องมืออันทรงพลังนี้

“ถ้าเราไม่ได้ใช้งาน AI เป็นอย่างเดียว แต่เราเข้าใจ AI อย่างลึกซึ้งด้วยว่ามันทำงานอย่างไร data มาจากไหน หรือสามารถลองเขียนโค้ด ดัดแปลงแก้ไขมันได้ มันก็จะผลักความคิดสร้างสรรค์ของเราไปข้างหน้าได้ไกลมากๆ และทำให้งานศิลปะมีความหลากหลายขึ้น ในอนาคตผมเชื่อว่าทุกคนจะมี AI เป็นของตัวเอง แล้ว AI แต่ละคนมีความแตกต่างกัน เพราะมนุษย์มีชีวิตที่ต่างกัน เติบโตต่างกัน มีมุมมองต่างกัน ถ้าเราใช้ AI อย่างถูกต้อง สร้างสรรค์ ความคิดของเราก็จะขยับขยายกว้างขวางออกไป”

หลีกเลี่ยงไปไม่ได้เลยว่า AI จะเข้ามามีบทบาทกับงานสร้างสรรค์มากขึ้น แต่แทนที่เราจะมองมันเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ต้องคอยกีดกัน ไม่มีวันที่เราจะเข้าใกล้ จะดีกว่าไหมถ้าเราทำความเข้าใจ และตั้งคำถามกับมัน เพื่อคิดหาหนทางการอยู่ร่วมกัน และปูเส้นทางสร้างสรรค์เส้นใหม่ที่เราอาจนึกภาพไม่ถึง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *