คาเฟ่และพื้นที่เล่นอันร่มรื่นที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้โลดแล่นไปในโลก ‘บ้านตอไม้และสหายนักซ่อม’ ในจินตนาการ
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
เรื่องราวเริ่มต้นที่วันหนึ่ง ภาพฝันของนิทานได้กลับมีตัวตนเกิดขึ้นในโลกกายภาพที่จับต้องได้ โดยมี NITAPROW เป็นผู้นำพาจินตนาการเหล่านั้นให้เกิดเป็น Little Stove & Little Stump ที่เล่นเด็กและคาเฟ่ที่ก่อร่างคู่ขนานไปกับเรื่องราวบนหน้าหนังสือนิทานในชื่อ ‘บ้านตอไม้และสหายนักซ่อม’ สำหรับเด็กๆ สถานที่แห่งนี้คือความฝันที่มีตัวตน บนมโนสำนึกของเด็กๆ ที่บางครั้งผู้ใหญ่ก็มิอาจนึกถึง เรื่องราวต่อไปนี้ว่าด้วย การเล่น จินตนาการ การเติบโต รวมถึงบทบาทของสถาปัตยกรรมที่มีต่อการ ‘เล่น’ อันเป็นกระบวนการสำคัญที่สุดในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
วันนี้ art4d มีนิทานมาเล่าให้ฟัง
ปฐมบท: ซอยวัดยายร่ม ต้นไทร ถิ่นที่อยู่แห่งบ้านตอไม้และสหายนักซ่อม
บนฉากหลังของโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ของการก่อสร้างที่ดูไม่มีวันจบของถนนพระราม 2 Little Stove & Little Stump ซ่อนตัวอยู่ภายในซอยวัดยายร่มที่เงียบสงบ Little Stove คือคาเฟ่ และ Little Stump คือที่เล่นเด็ก หากเปรียบกับในนิทาน Little Stove นั้นคือร้านอบขนมปังของคุณหมี และ Little Stump คือบ้านตอไม้อันเป็นสถานที่รวมตัวของสรรพสัตว์ทั้งหลายในป่าที่ทุกคนต่างช่วยเหลือกันเพื่อซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ แม้อาคารทั้งสองจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่สิ่งที่เป็นจุดเชื่อมกันคือรูปทรงโค้งที่ปรากฏขึ้นในส่วนต่างๆ ทั้งในส่วนรูปทรงอาคารของ Little Stump ที่เป็นการอุปมาถึงรูปทรงของตอไม้ในนิทาน รวมถึงเป็นการสื่อสารถึงไอเดียหลักของการเป็น ‘ร่ม’ ในส่วน Little Stove โดย พราว พุทธิธรกุล หนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบจาก NITAPROW ได้เล่าให้เราฟังเพิ่มว่า จากทั้งสถานที่ตั้งในซอยวัดยายร่ม สู่ต้นไทรในที่ดินเดิมที่คอยให้ร่มเงา จึงเกิดเป็นความต้องการให้สถานที่แห่งนี้ได้เป็นความ ‘ร่ม’ รื่นให้กับใครๆ ก็ตามที่ได้แวะเวียนเข้ามา
“จุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์นี้ย้อนไปตอนที่ลูกเรายังเล็ก เราสังเกตว่าเด็กๆ ชอบฟังนิทานมาก เวลาเด็กๆ ฟังนิทานเขาก็จะจินตนาการสถานที่เหล่านั้นขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งตอนนั้นเราได้ไปเจอกับนิทานญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า ‘บ้านต้นไม้’ ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ที่อยู่ในบ้านต้นไม้ชั้นต่างๆ ซึ่งเราก็คิดว่านิทานเหล่านี้มันมีจุดคาบเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม เราเลยคิดเรื่องการออกแบบสถานที่จริงจากในนิทาน พอเด็กๆ อ่านนิทาน แถมได้มาเจอสถานที่จริงที่คล้ายกัน เขาจะได้สนุกไปกับโลกจริงและโลกจินตนาการที่มันขนานกัน”
“พอเรามีไอเดียตั้งต้นเรื่องการสร้างสถาปัตยกรรมควบคู่กับการแต่งนิทาน เราเลยเริ่มต้นมองหาคนทำหนังสือนิทานเด็กตั้งแต่ในช่วงที่เริ่มเขียนแบบก่อสร้างอาคารเลย จนเราได้ไปรู้จักกับสำนักพิมพ์สานอักษรพร้อมกับนักแต่งนิทานจาก Littleblackoz studio ที่เขาสนใจในไอเดียนี้มากๆ เหมือนกัน หลังจากแลกเปลี่ยนความคิด ปรึกษาเรื่องเนื้อเรื่องกันสักพัก ก็ได้เกิดเป็นนิทานเรื่องหนึ่งขึ้นมาชื่อ ‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ ซึ่งเป็นนิทานที่แต่งควบคู่ไปกับช่วงออกแบบอาคาร เราไม่ได้อยากให้มันเหมือนกันเป๊ะ แค่พอให้เด็กๆ ดูแล้วสามารถเชื่อมโยงได้เป็นพอ ทำให้เกิดเป็นอาคารที่เล่นเด็กที่เป็นเหมือนบ้านต้นไม้ในนิทาน ส่วนคาเฟ่ด้านข้างคือถ้ำที่คุณหมีและคุณผึ้งใช้กักตุนอาหาร ส่วนสวนที่อยู่ติดกันก็คล้ายกับป่าของเหล่าสรรพสัตว์ ที่มีลานของคุณนกฮูกอันเป็นลานทำกิจกรรมอยู่ด้านใน”
ตอไม้ที่โรยรา สู่บ้านพฤกษาที่รวมตัว
เรื่องราวของนิทานนั้นว่าด้วยการร่วมมือร่วมใจกันของเหล่าสรรพสัตว์ที่ต้องการฟื้นคืนตอไม้ผุผังให้กลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง Little Stump อันเป็นที่เล่นของเด็กๆ ที่อ้างอิงมาจากในนิทานนี้มีหน้าตาที่ไม่ผิดแผกจากกันเท่าไรนัก ด้วยรูปทรงและผังพื้นของอาคารที่มีลักษณะคล้ายกับตอไม้ไม่มีผิด ทั้งยังมีคอร์ทต้นไม้ตรงกลาง รวมถึงชานขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อออกไปสู่สวนภายนอกที่ออกแบบให้มีลักษณะเป็นเนินดิน อุโมงค์ แปลงผักสำหรับทำกิจกรมต่างๆ โดยทั่วไป สถานที่สำหรับเด็กนั้นมักจะหมายความถึงห้องที่ปิดกั้นเพื่อความปลอดภัย แต่ NITAPROW ได้ตั้งใจให้นิยามของการเรียนรู้นั้นถูกผูกเข้ากับการเล่นอย่างอิสระ นอกเหนือจากห้องที่ถูกแบ่งไว้หลักๆ 2 ห้องอย่าง ส่วน workshop และส่วน playroom พื้นที่ที่เหลือทั้งคอร์ทกลางอาคารและ landscape ต่างถูกออกแบบไว้เพื่อให้เด็กๆ ได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ผ่าน ‘การเล่น’ ทั้งหมด ที่เด็กๆ อาจจะหกล้ม อาจจะเปรอะเปื้อนไปด้วยดินทราย แต่ก็คือการเรียนรู้นั่นเอง
นอกเหนือจากตัวพื้นที่ ช่องเปิดกระจกจำนวนมากที่แตกต่างกันทั้งขนาดและความสูงทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ช่องเปิดที่อยู่ในตำแหน่งระดับสายตาผู้ใหญ่ทำหน้าที่คล้ายกับตาแมวที่ให้ผู้ใหญ่สามารถแอบเข้ามาส่องความเป็นไปของเด็กๆ ได้โดยไม่รบกวนกิจกรรมที่เด็กทำอยู่รวมถึงเป็นช่องแสงให้กับพื้นที่ภายใน ในขณะที่ช่องเปิดในระดับต่ำลงมาพอดีกับตัวเด็กก็ช่วยให้เด็กๆ ได้สามารถเห็นความเป็นไปรอบตัวพร้อมทั้งมีปฏิสัมพันธ์ทางสายตากับกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งก็ทำงานร่วมกับช่องเปิดขนาดใหญ่เต็มผนังที่ช่วยเรื่องมาตรการความปลอดภัย เนื่องด้วยเด็กๆ และผู้ดูแลนั้นสามารถมองเห็นคนที่กำลังเข้ามาผ่านพื้นที่ต้อนรับได้เสมอ
ทั้งนี้ ลักษณะของช่องเปิดภายในทุกบานยังคงลักษณะความโค้งของ ‘ร่ม’ เพื่อให้เข้ากับงานออกแบบภาพรวม อันแตกต่างกับช่องเปิดภายนอกที่มีลักษณะเป็น organic form อันเป็นสิ่งที่สถาปนิกได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติของเด็กๆ เพราะถ้าเราให้เด็กๆ วาดสี่เหลี่ยมขึ้นมาอันนึง สี่เหลี่ยมนั้นก็จะเบี้ยวๆ แบบนี้นี่แหละ
ไม่ทันไร เราเห็นเด็กคนหนึ่งกำลังปีนต้นไม้กลางคอร์ทด้วยความรวดเร็ว เด็กคนนั้นคือต้นแบบของ ‘อ้นน้อย’ ผู้เป็นตัวเอกในนิทาน ผู้เป็นที่มาของเรื่องราวในหนังสือนิทานและโครงการแห่งนี้ เราแอบเป็นห่วงในใจว่า ‘อ้นน้อย’ คนนี้จะตกต้นไม้หรือเปล่า แต่มีเหตุผลสามอย่างที่ทำให้เราสบายใจ 1. ตกมาเดี๋ยวก็หายเจ็บ 2. ไม่ตกวันนี้ก็ต้องตกวันหน้าอยู่ดี และ 3. พราว พุทธิธรกุล ผู้เป็นแม่ของอ้นน้อยคนนี้ก็นั่งมองอยู่จากที่ไม่ไกลด้วยความเข้าใจในธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กๆ
ถ้ำคุณหมีที่พักใจ
แม้ว่าข้อเท็จจริงคือพ่อแม่ทุกคนย่อมเป็นห่วงเด็กๆ แต่สถาปนิกออกแบบโดยแยกตัวอาคาร Little Stove ที่เป็นคาเฟ่ออกจาก Little Stump เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีพื้นที่พักผ่อนส่วนตัวบ้าง (เราเชื่อว่าการดูแลเหล่าจอมซนนั้นใช้พลังมหาศาลทั้งกายและใจ และตัวสถาปนิกคงเข้าใจในจุดนี้เป็นอย่างดี) ซึ่งก็มีที่มาจากในนิทาน ที่ตัวละครอย่าง ‘คุณหมี’ และ ‘คุณผึ้ง’ นั้นได้ร่วมมือแปรเปลี่ยนถ้ำแห่งหนึ่งให้กลายเป็นสถานที่อบขนมปังสำหรับเหล่าตัวละครสัตว์ต่างๆ ในเรื่อง
รายละเอียดของถ้ำคุณหมีภายในนิทานปรากฏออกมาผ่านการออกแบบส่วนเคาน์เตอร์บาร์กลางอาคาร ทั้งจากเส้นสายและการซ้อนผนังไม้เป็นชั้นๆ ซึ่งด้านหลังนั้นคือส่วนอบขนมปังที่มีการเปิดช่องเพื่อให้เห็นกิจกรรมของนักอบขนมปังภายใน ด้วยความที่ส่วนอบขนมปังนั้นอยู่ติดกับส่วนที่นั่ง ทำให้ Little Stove นั้นเต็มไปด้วยกลิ่นของขนมปังที่อบอวลตลอดเวลา (คลับคล้ายกับในนิทานที่คุณหมีอบขนมปังแต่ละทีก็จะส่งกลิ่นหอมโชยไปทั่วทั้งป่า) และเช่นเดียวกับ Little Stump องค์ประกอบของความเป็น ‘ร่ม’ ยังคงปรากฏให้เห็นทั้งในส่วนของรูปทรงฝ้าเพดานและช่องแสงด้านหลังพื้นที่หลังเคาท์เตอร์บาร์ที่นำแสงธรรมชาติเข้าสู่อาคารตลอดทั้งวัน
แม้ว่า Little Stump จะมีลักษณะเป็น organic form คล้ายกับตอไม้ แต่ Little Stove กลับเป็นอาคารที่เรียบง่ายและมีกริดชัดเจน โดยมีการย่นระยะของพื้นที่ภายในเข้าไปในกริดเสา เพื่อให้เกิดพื้นที่ภายนอกที่ยังคงอยู่ใต้หลังคาสำหรับใช้งานภายนอก พร้อมทั้งป้องกันแสงที่จะตกกระทบโดยตรงกับอาคารกระจกภายในที่ต้องการเปิดให้เห็นพื้นที่ landscape ภายนอกที่มอบบรรยากาศริมน้ำอันประปรายไปด้วยไม้ริมคลอง รวมถึงต้นไทรที่ตั้งอยู่มาอย่างยาวนาน
การเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ของ NITAPROW
Little Stove & Little Stump ชวนให้เราคิดถึงผลงานชิ้นก่อนของ NITAPROW อย่าง Playville (2018) ที่มี ‘การเล่น’ เป็นประเด็นสำคัญเช่นเดียวกัน ในบริบทที่แตกต่างกัน Playville ตั้งอยู่ในอาคารใจกลางเมืองในซอยสุขุมวิท 49 อันมีพื้นที่จำกัด ได้รับการออกแบบโดยให้ความสำคัญกับเครื่องเล่นภายในบนพื้นที่สีขาวเรียบเป็นหลัก แต่กับ Little Stove & Little Stump ที่เต็มไปด้วยพื้นที่นอกอาคาร NITAPROW ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อพื้นที่ภายในภายนอกบนฉากทัศน์ของนิทานเรื่องหนึ่งเพื่อให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมกับพื้นที่ส่วนต่างๆ และก่อร่าง ‘Sense of Place’ ในแบบของตัวเอง อันนำไปสู่การสร้างประสบการณ์เชิงพื้นที่ที่ให้เด็กๆ ได้สร้างความเข้าใจในโลกของจินตนาการและโลกความเป็นจริงไปพร้อมกัน
จุดร่วมที่น่าสนใจของสองโครงการนี้อยู่ที่ space ที่ออกแบบมาเพื่อการ ‘เล่น’ ในบริบทของการเป็นพื้นที่สาธารณะที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกับผู้อื่นอยู่เสมอ พื้นที่เล่นจึงมีการแบ่งออกเป็นโซนที่แตกต่างตามความสนใจและจุดประสงค์ของพัฒนาการที่ต้องการให้เกิดขึ้น ใน Little Stove พื้นที่ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วน workshop ที่เน้นกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิและการจดจ่อ และส่วน playroom ที่ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหว ซึ่งเช่นเดียวกับใน Playville ที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นตามธีมต่างๆ อาทิ The Dunes, The Tunnel และพื้นที่อื่นๆ ที่ตอบรับกับพื้นฐานของพัฒนาการ 7 ด้านของเด็ก ซึ่งการแบ่งพื้นที่นี้ยังช่วยแบ่งเด็กๆ ออกเป็นกลุ่มย่อยที่สามารถสื่อสารกันได้ดีกว่ากลุ่มใหญ่อีกด้วย ทั้งนี้ พื้นที่ต่างๆ ก็ยังคงมีปริมาตรที่มากพอที่จะสร้างความรู้สึกของการเป็น open space ที่เป็นอิสระและตอบรับกับการเล่นที่หลากหลายของเด็กๆ ได้อยู่
ในสถาปัตยกรรมเพื่อ ‘การเล่น’ กิจกรรมที่เกิดขึ้นเสมอคือพลวัตที่ไม่อาจคาดเดาของเด็กๆ ที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ปริมาตรขนาดใหญ่ รวมถึง space ที่มีพลวัตสูงในการรองรับ (ในบทบาทที่ช่วยให้เด็กได้ฝึกการสังเกตต่อสิ่งรอบตัว) ซึ่งเราอาจมอบพื้นที่ open space ขนาดยักษ์และพื้นที่ภายนอกที่ไม่สิ้นสุดในดังเช่นที่ Tezuka Architects ได้ออกแบบไว้ในโครงการ Fuji Kindergarten (2007) ก็ได้ แต่หากเราไม่ได้มีพื้นที่ไม่จำกัดแบบนั้นเช่นในโครงการ Playville หรือ Little Stump การใช้เครื่องเล่นภายในที่มีลักษณะเป็น module ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้และมีการเปลี่ยนของระดับช่วยให้การเล่นของเด็กนั้นยังสามารถเป็นไปได้อย่างสนุกสนานและเปิดกว้าง แต่ตัว Little Stump เองก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่เป็นการยืนยันกลายๆ ว่า ไม่ว่าเครื่องเล่นจะดีขนาดไหน ก็ยังไม่สามารถเปรียบได้กับพื้นที่ที่มีพลวัตสูงสุด พื้นที่อันเป็นอิสระ คาดเดาไม่ได้และแปรเปลี่ยนตลอดเวลา พื้นที่ที่เราต่างเรียกด้วยชื่อเดียวกันว่า ‘ธรรมชาติ’ นั่นเอง
บทส่งท้าย: Live and Learn
หากเราพลิกหนังสือนิทาน ‘บ้านตอไม้และสหายนักซ่อม’ ไปจนถึงหน้าสุดท้าย คำนิยมของนายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้บอกเล่าถึงจุดหมายของหนังสือนิทานเล่มนี้ไว้อย่างครบถ้วน นานาสรรพสัตว์ที่ปรากฏขึ้นนั้นต่างเป็นตัวแทนของเด็กแต่ละคนที่แตกต่าง อันได้มาอยู่ในสถานที่เดียวกันและร่วมเรียนรู้ร่วมกันผ่าน ‘การเล่น’ บน space ที่ NITAPROW ได้ออกแบบเพื่อเอื้อให้เกิด active learning มากที่สุด นอกเหนือจากรายละเอียดการออกแบบที่กล่าวมา ยังคงมีรายละเอียดการออกแบบเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงถึงความใส่ใจต่อผู้ใช้งานจริงอย่างเด็กๆ อาทิ การใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้มือสองทั้งหมดเพื่อสอดแทรกเรื่องความยั่งยืน การใช้เฟอร์นิเจอร์ที่อ้างอิงจากขนาดตัวของเด็กๆ การคุมโทนสีธรรมชาติของวัสดุในอาคาร ควบคู่ไปกับ Little Stove ที่ให้ผู้ปกครองได้ใช้เวลาพักผ่อนท่ามกลางร่มเงาธรรมชาติและกลิ่นหอมอบอวลของขนมปัง
แม้ในตัวหนังสือนิทานเรื่องราวจะจบลงที่อ้นน้อยและผองเพื่องได้ยินดีปรีดากับการร่วมแรงร่วมใจเพื่อชุบชีวิตบ้านตอไม้ขึ้นมาจนสำเร็จ หากแต่ในชีวิตจริง เราต่างรู้ดีว่าเรื่องราวของอ้นน้อยนั้นคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เราพาลนึกถึงบทสนทนาหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนอมตะจาก P. L. Travers อย่าง Mary Poppins ที่เด็กๆ ต่างหมายมั่นสัญญาว่าเมื่อเติบโตขึ้น พวกเขาจะไม่ลืมโลกแห่งจินตนาการและเรื่องราวที่ผ่านมา แมร์รี่ตอบเพียงแค่ว่า ‘พวกเธอเองจะลืมในสักวัน’
โลกในจินตนาการมีเวลาของมันอยู่ เด็กๆ ล้วนต่างเติบโตขึ้นทุกๆ วัน สักวันเรื่องราวของตอไม้และสหายนักซ่อมก็จะกลายเป็นเพียงเรื่องราวที่ล่วงผ่านไป กระนั้นเอง ในวันหนึ่งวันใดอ้นน้อยและผองเพื่อนก็คงได้มองย้อนกลับมายังบ้านตอไม้แห่งนี้และนึกถึงความทรงจำดีๆ และมิตรภาพที่เกิดขึ้น พร้อมมีสถาปัตยกรรมแห่งนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณค่าของจินตนาการและการเติบโต วันใดสักวัน อ้นน้อยที่หมายถึงเด็กสักคนในร่างผู้ใหญ่อาจมองย้อนกลับมาพร้อมหัวเราะร่าอยู่ในใจ ‘เพราะเล่นในวันนั้น จึงกลายเป็นเราในวันนี้’ ก็เป็นได้