Looklen Architects สร้างสรรค์ ‘แผ่นหลังคา’ คอนกรีตที่มอบร่มเงาแก่ผู้ใช้งานคาเฟ่ และเป็นพื้นที่ใช้สอยที่เปิดรับบรรยากาศแม่น้ำด้านหน้าอย่างเต็มที่
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ชื่อเสียงของอัมพวาในอดีต คือการเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยเครือข่ายแม่น้ำลำคลองอันโยงใย คนในพื้นที่ใช้ชีวิตพึ่งพาสายน้ำ หาเลี้ยงตัวเองด้วยการเกษตร ปลูกผลไม้ และทำการประมง แต่หลังจากเครือข่ายของถนนพัฒนาขึ้น ผู้คนเลือกสัญจรด้วยรถแทนเรือ ชีวิตโยกย้ายจากน้ำไปอยู่บนบก อัมพวาค่อยๆ กลายสถานภาพเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ต้อนรับผู้คนที่อยากย้อนสู่วิถีชีวิตอิงสายน้ำของวันวาน ด้วยระยะทางที่ไม่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ อัมพวาเลยขึ้นแท่นเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนกรุงผู้ถวิลหาวิถีชีวิตในอดีต
เมื่อนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น บรรดาเจ้าของที่ดินในอัมพวาก็ปรับสภาพการใช้สอยที่ดิน จากที่พักอาศัย แปลงสวนผลไม้ ให้มีร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวผนวกตัวเข้ามาด้วย ‘ครัวส้มโอหวาน’ ร้านอาหารบนที่ดินแปลงสวยติดริมแม่น้ำแม่กลองก็เป็นร้านอาหารอีกแห่งที่เกิดขึ้นมาบนสวนผลไม้เก่า หลังดำเนินกิจการร้านอาหารจนประสบความสำเร็จมาได้สักพัก เจ้าของก็ตัดสินขยับขยายกิจการ สร้างโครงการใหม่ๆ ในอาณาบริเวณมาดึงดูดลูกค้าเพิ่มเติม กลายเป็นจุดกำเนิดให้กับ The Pomelo Amphawa Café
Looklen Architects คือสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลัง The Pomelo Amphawa Café เนื่องจากอัมพวามีคาเฟ่ผุดเกิดขึ้นมามากมายราวดอกเห็ด สถาปนิกเลยตั้งใจว่าคาเฟ่แห่งนี้ต้องออกมาแตกต่างไปจากคาเฟ่ทั่วไปเพื่อล่อตาล่อใจให้นักท่องเที่ยวมาแวะเวียน และผลลัพธ์ที่ออกมาคืออาคารคาเฟ่พร้อมแผ่นหลังคาวงกลมขั้นบันไดสะดุดตา ที่เปิดรับทิวทัศน์อันงดงามของแม่น้ำแม่กลอง
คาเฟ่มีผังอาคารเป็นรูปวงกลม ตรงกลางอาคารคือห้องกระจกสี่เหลี่ยมติดแอร์ซึ่งประกอบไปด้วยบาร์เสิร์ฟเครื่องดื่มและพื้นที่นั่งจิบกาแฟ บาร์เสิร์ฟที่จัดวางอยู่ตรงกลางทำให้ห้องไม่ต้องมีกำแพงปิดกั้นที่ด้านใดด้านหนึ่ง สามารถเปิดรับบรรยากาศอันร่มรื่นจากภายนอกผ่านแผ่นกระจกใสเต็มแนวได้รอบด้านอย่างเต็มอิ่ม ข้างนอกห้องคือที่นั่งพักพิงใต้ร่มเงาแผ่นหลังคาคอนกรีตหล่อ ตอบโจทย์คนที่ไม่ชอบนั่งในพื้นที่ปรับอากาศแต่ไม่พร้อมนั่งตากแดดจ้า เสาไม้โดยรอบใช้ไม้จากเรือนไทยเดิมที่ผ่านการขัดสีฉวีวรรณเสียใหม่ ให้บรรยากาศที่อบอุ่นเป็นธรรมชาติ กลมกลืนไปกับบรรยากาศโดยรอบ
แน่นอนว่าพระเอกของงานแผ่นหลังคาคอนกรีตวงกลม แผ่นหลังคานี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เมตร นอกจากจะทำหน้าที่เป็นหลังคาแล้ว ยังเป็นอัฒจันทร์ให้คนนั่งดื่มด่ำวิวแม่น้ำแม่กลองแบบเต็มตา ผืนหลังคาไม่ได้เป็นผืนคอนกรีตเพียวๆ อย่างเดียว แต่มีการเจาะช่องเพื่อให้ต้นไม้โผล่ขึ้นมามอบร่มเงาให้คนที่นั่งด้านบน ทั้งยังเป็นช่องมอบแสงสว่างให้คนที่นั่งใต้ถุนข้างล่าง ช่องที่เจาะโล่งก็สานเชือกกลายเป็นเปลให้คนที่อยากดูวิวข้างหน้าพลาง นอนเอกเขนกพลาง เอื้อให้เกิดอิริยาบถการพักผ่อนที่หลากหลายในสถานที่เดียว
กว่าจะได้หลังคาคอนกรีตที่บางเพียง 20 เซนติเมตร และแสดงขั้นบันไดหยึกหยักออกมาอย่างผ่าเผย สถาปนิกต้องออกแบบเทคนิคการก่อสร้างและโครงสร้างหลังคากับวิศวกรอย่างเข้มข้น บันไดเกิดจากการขึ้นไม้แบบที่เชื่อมต่อกันเป็นชิ้นเดียว จากนั้นก็ผูกเหล็กเส้น และเทปูนให้ไหลจากข้างบนแผ่นลงมาข้างล่างแบบทีเดียวเสร็จ แผ่นหลังคาฝากน้ำหนักโครงสร้างไว้กับพื้นด้านล่างและอาคารสี่เหลี่ยมตรงกลาง ส่วนคานของหลังคาซ่อนอย่างแนบเนียนไปตามขั้นบันได ทำให้แผ่นออกมาดูเบาบางเรียบเนียน ไม่มีแนวเส้นโผล่มาเพิ่มให้เกะกะสายตา
บางทีการทำอาคารเป็นดั่งประติมากรรม คือการเรียกร้องความสนใจมาหาตัวเองโดยไม่ใยดีต้องสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ความไม่ลงร่องลงรอยระหว่างสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม นำไปสู่ทัศนอุจาดที่ใครเห็นก็ขยาดตา แต่จากขั้นบันไดที่ผายตัวออกหาแม่น้ำ และความบางเบาของตัวตนที่อนุญาตให้ต้นไม้ แสงแดด สายลม สอดแทรกตามจุดต่างๆ The Pomelo Amphawa Café เลยเป็นสถาปัตยกรรม-ประติมากรรมหน้าตาดึงดูดใจ ที่ถ่อมตัวให้ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่รอบกาย