VORATORN PEERAPONGPAN

Voratorn Peerapongpan

art4d ชวนมาทำความรู้จักกับ วรธร พีรพงศ์พรรณ เมื่อการทำงานเบื้องหลังคอนเสิร์ตไม่ใช่แค่การออกแบบแสง แต่เป็นการออกแบบบรรยากาศทั้ง performance โดยไม่ผูกมัดตัวเองกับเครื่องมือ

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

คือความเรียบง่ายที่ร้ายกาจ ในคอนเสิร์ต Desktop Error Discography Unplugged Bangkok เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่บนเวทีมีแค่นักดนตรีห้าคนที่นั่งล้อมวงเข้าหากัน ดนตรีอคูสคิกถูกบรรเลงสอดประสานกันอย่างลงตัว แสงไฟสีขาวฟุ้งธรรมดาฉายลงบนนักดนตรีอย่างอ่อนโยนตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีการตัดสลับกับความมืด โชว์ออกแบบมาอย่างเรียบง่าย แต่ให้ความรู้สึกมากมายที่อธิบายไม่ถูก ทั้งเป็นกันเอง ทั้งมีระยะห่าง ทั้งธรรมดา ทั้งละเมียดละไม ที่แน่ๆ คือมันทำให้คนดูตกอยู่ภายใต้มนต์สะกดของดนตรี

“เราอยากให้เห็นความเป็นดนตรีสดจริงๆ เป็น performance ที่เห็นว่าเขาเล่นอย่างไร มีสีหน้าอย่างไร ถ้าเป็นคอนเสิร์ตปกติ เพลงขึ้นไฟต้องมืด จบเพลงก็ต้องมืด คราวนี้เห็นหมดเลย มีความเป็นมนุษย์ดีสำหรับเรา”

Voratorn Peerapongpan

Desktop Error Discography Unplugged Bangkok | Photo: Chayanut Nambooppa

วรธร พีรพงศ์พรรณ หัวหอกของการออกแบบโปรดักชันครั้งนี้เล่า เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในบรรดานักดนตรีนอกกระแส ในฐานะคนออกแบบโปรดักชัน ออกแบบแสง หรืออะไรก็ตามแต่ที่ช่วยให้โชว์งานดนตรีออกมาถึงเครื่อง หากได้ติดตามคอนเสิร์ตของวงอย่าง Desktop Error, The Yers, หรือ Zweed n’ Roll ต้องคุ้นเคยกับผลงานของวรธรอย่างแน่นอน เพราะวงเหล่านี้เปิดพื้นที่ให้เขาวาดฝีมือไว้บ่อยครั้ง

Voratorn Peerapongpan

Photo: Ketsiree Wongwan

อาจคิดว่าวรธรมีพื้นฐานด้านการออกแบบตั้งแต่เรียน แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น วรธรไม่ได้เรียนปริญญาตรีมาด้านการออกแบบ แต่เรียนด้านธุรกิจดนตรี เส้นทางการหันเหมาทำโปรดักชันคอนเสิร์ต เริ่มตอนปีสุดท้ายของการเรียนที่เขาไปฝึกงานกับค่ายเพลง SO::ON Dry Flower ค่ายเพลงในตำนานที่เพาะพันธุ์ดนตรีแนวใหม่ๆ ในเมืองไทยให้งอกเงย หน้าที่ของวรธรตอนนั้นคือการเป็นผู้ช่วย Koichi Shimizu เจ้าของค่ายเพลงเรื่องการประสานงาน ดูแลศิลปิน การจัดงานคอนเสิร์ต วันหนึ่ง ได้เจอเข้ากับทีมออกแบบรุ่นพี่ที่อยู่ในวงการออกแบบงานมีเดียมานานอย่าง DuckUnit ที่เข้ามาออกแบบโปรดักชันในงานอีเว้นท์ที่ค่ายเพลงจัด วันนั้น ภาพจำการออกแบบแสงคอนเสิร์ตแบบที่วรธรคุ้นเคยก็เปลี่ยนไป เพราะ DuckUnit ใช้วิธีการออกแบบเหมือนการทดลอง ไม่ใช่การทำตามแบบแผนอย่างที่เคยเห็น

“เขามีแนวคิดในการทำงานที่ดูไม่เหมือนงานเป็นทางการ เรียกว่าเป็นความทดลองอะไรบางอย่าง บางทีเขาเอาบันไดมาติดไฟ เอาไฟแบบ worklight ที่ใช้ส่องทำงาน มาต่อเข้า dimmer ให้กะพริบ ก็สนุกดี”

Voratorn Peerapongpan

THE YERS 10 YEARS | Photo: Bemanoy Photography

หลังจากนั้นเขาก็ขอ DuckUnit ติดสอยห้อยตามไปช่วยงานเป็นระยะๆ หลังเรียนจบ วรธรก็ทำงานกับค่าย SO::ON พร้อมช่วยงาน DuckUnit ไปด้วยในบางครั้ง เมื่อทำงานประจำได้หนึ่งปีก็ออกมาเป็นนักออกแบบ freelance ให้กับ DuckUnit อย่างจริงจัง การก้าวเข้ามาร่วมทีมกับ DuckUnit จากการเป็นผู้ช่วยในช่วงแรก สู่การได้คุมบังเหียนงานออกแบบเอง เปิดให้วรธรเห็นวิธีคิดของ DuckUnit อย่างชัดเจน และสิ่งนี้คือพื้นฐานที่ติดตัวไปตลอดการทำงานของเขา

“สมมตินะ เราอาจมองว่าเพลงเร็วต้องใช้ไฟสีแดง เพลงช้าใช้ไฟสีน้ำเงิน แต่ DuckUnit บอกว่าเราไม่ต้องคิดแบบนั้น เพลงช้าก็สามารถใช้ไฟ strobe ให้หวือหวา เพลงเร็วก็ไม่ต้องกะพริบไฟตามจังหวะก็ได้ แต่มองให้ดูเป็นบรรยากาศภาพรวมของทั้งโชว์มากกว่าดูเพลงต่อเพลง”

“มีเรื่องการใช้อุปกรณ์ใน stage ด้วย เช่นการใช้ของทั่วไปอย่างไฟบ้านมาเข้าระบบให้ไฟกะพริบ เอาชามข้าวคว่ำหัวมาติดเยอะๆ ดูเป็นต้นไม้ มันไม่ใช่วิธีคิดในขนบเดิมๆ มันเอาอะไรที่เรียบง่ายมากๆ ธรรมดามาใช้”

“ที่ DuckUnit เขาไม่ได้สอนว่าถ้าเจอเพลงแบบนี้ เราต้องทำอย่างนี้ เขาสอนในด้านการคิดมากกว่า เราจะทำสิ่งนี้ทำไม เรารู้สึกอะไรถึงทำสิ่งนี้”

Desktop Error ˙ n d e l ˙ b l e s t a ˙ n Tour 2022 Bangkok

Desktop Error ˙ n d e l ˙ b l e s t a ˙ n Tour 2022 Bangkok | Photo: Romesilp Sookprasert

ผลงานที่วรธรทำช่วงแรกนี้มีตั้งแต่ออกแบบไฟในคอนเสิร์ตศิลปินอินดี้ชื่อดัง อย่าง 25hours, PALMY, ฮิวโก้, LOMOSONIC รวมไปถึงการทำไฟในโชว์ของเทศกาลใหญ่ๆ อย่าง Big Mountain Music Festival ต่อมาเขาก็ออกมาทำงานในนามของตัวเอง พร้อมได้โอกาสร่วมงานกับวงดนตรีทางเลือกที่มีแนวทางชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Solitude Is Bliss, THE WHITEST CROW หรือ The Yers และ Desktop Error ที่กลายเป็นวงคู่บุญในเวลาต่อมา

“การทำงานกับวงมีชื่อเสียง กับ festival ก็ไม่เหมือนกับการทำงานโชว์วงดนตรีทางเลือก วงมีชื่อเสียงเขาต้องการงานโปรดักชันที่อลังการ สวยกริบ ส่วนงาน festival อย่าง Big Mountain เราต้องทำแสงให้กับเวทีที่ออกแบบมาเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว แสงที่ออกแบบก็ต้องสนุก เรียกร้องอยากให้คนมาเดินดู แล้ว link กับเพลงของวงประมาณนึง”

“แต่พอทำงานกับอีเว้นท์อย่าง เห็ดสด จาก Fungjai ที่โชว์วงดนตรีทางเลือกที่กำลังจะดัง เราได้เวลาหนึ่งชั่วโมงแล้วจะทำอะไรก็ได้เลย ตอนนั้นรู้สึกแล้วว่าการทำโชว์มันไม่ใช่แค่การออกแบบจังหวะการกะพริบของไฟ ทำแค่นั้นมันสื่ออารมณ์ของเพลงไม่ได้ ต้องทำหลายอย่าง เราออกแบบ visual ด้วย แต่หลักๆ จะเน้นแสง รู้สึกว่าทั้งหมดคือการทำบรรยากาศของโชว์”

การทำบรรยากาศของโชว์–วรธรเน้นย้ำอีกครั้งว่าเขาไม่ได้ยึดติดว่าต้องออกแบบแค่แสง ออกแบบแค่ภาพบนจอฉาย แต่เขาคือคนออกแบบบรรยากาศโชว์โดยไม่ได้ผูกมัดตัวเองกับเครื่องมือ หรือวิธีการ

10 Years Zweed n’ Roll The Exhale Concert10 Years Zweed n’ Roll The Exhale Concert10 Years Zweed n’ Roll The Exhale Concert

ในระยะหลังนี้ วรธรเป็น freelance ให้กับ DuckUnit พร้อมรับงานอิสระเอง กว่าที่งานออกมาแต่ละชิ้น วรธรจะฟังเพลงใน setlist ของคอนเสิร์ตทั้งหมดก่อน แล้วดูว่ากราฟอารมณ์ของทั้งคอนเสิร์ตเป็นอย่างไรเพื่อใช้เป็นหัวเชื้อการออกแบบ บางครั้งเขาก็แนะนำการปรับลิสต์เพลงกลับไปที่ศิลปินด้วย หากคิดว่ามันช่วยให้ภาพรวมของโชว์เต็มอิ่มกว่า

“setlist ของโชว์มีผลกับการออกแบบของเรา บางงานเราก็เสนอ option ให้เขาว่าทำอย่างนี้ดีไหม อย่างเช่นถ้าเป็นเพลงช้าๆ หมดเลยสามสิบนาที แต่กลับมาเป็นเพลงมันส์ๆ แรงๆ มันก็จะเกิด contrast ถ้าคิดว่าอยากทำโชว์ให้ดูง่ายหน่อย ก็ทำสไตล์คละเพลงกัน มีเพลงฮิตมาแทรกกันเรื่อยๆ”

นอกจาก setlist แล้ว สิ่งสำคัญที่วรธรให้ความสำคัญคือ มวลบรรยากาศคอนเสิร์ตว่าควรเป็นอย่างไร เขาเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังสองผลงานที่ชอบเป็นพิเศษคือคอนเสิร์ต ‘Desktop Error 10th Anniversary Concert’ และ ‘The Yers 10 Years’

“Desktop Error มีความเป็นวง alternative rock ยุค 90s เราเลยออกแบบแสงให้เหมือนกลับไปดูคอนเสิร์ตในยุคนั้น ในคอนเสิร์ตไม่ได้ใช้ของไฮเทค แต่ใช้ไฟธรรมดากับ filter เปลี่ยนสี แล้วทำเป็น set ของไฟ set สีแดง สีฟ้า สีเขียว พอตอนเล่นจริง ตัวไฟไม่ได้มี movement อะไร เราเล่นที่ความสว่างความมืดของไฟ”

Desktop Error 10th Anniversary Concert

Desktop Error 10th Anniversary Concert | Photo: Vijaifoon

Desktop Error 10th Anniversary ConcertDesktop Error 10th Anniversary ConcertDesktop Error 10th Anniversary ConcertDesktop Error 10th Anniversary Concert
Desktop Error 10th Anniversary Concert

Desktop Error 10th Anniversary Concert | Photo: Vijaifoon

“อีกงานคือ The Yers 10 Years วงนี้มีแนวทาง art direction ของตัวเองอยู่แล้ว ตอนทำคอนเสิร์ตเราเลยนำเสนอ art direction ของวงนี้ไปแบบสุดๆ เลย เอา element ของอาร์ตเวิร์กที่เขาใช้ตามปกติเข้ามาในงาน อุปกรณ์โปรดักชันเราใช้อุปกรณ์ปกติ สีไม่ค่อยเยอะ ตอนที่เป็นเพลงช้าทำให้รู้สึกต้องตั้งใจฟัง เพลงเร็วก็ให้อารมณ์ที่ดูรุนแรง”

 THE YERS 10 YEARS

THE YERS 10 YEARS | Photo: Napat Senavinin

THE YERS 10 YEARSTHE YERS 10 YEARSTHE YERS 10 YEARS

ถึงวรธรไม่ได้ตั้งใจให้งานของเขามีลายเซ็นเฉพาะตัว แต่ถ้าลองประมวลภาพงานที่เขาทำแล้ว ส่วนใหญ่ ผลลัพธ์ที่ออกมาจะนิ่ง เรียบ เปิดพื้นที่ให้คนสนใจกับดนตรีมากกว่าแสงสีรายรอบ

“ทุกงานรวมๆ เรามีความ flat ไม่ได้มีเอกลักษณ์มาก อยากให้องค์ประกอบหลักคือวงดนตรี ไม่ใช่ว่าเราไม่ใส่ลูกเล่นในงานเลย เราก็ใช้ special effect บ้าง กระดาษโปรย ควัน แต่เราไม่ได้ทำลูกเล่นที่ติดตา”

แล้วไม่กลัวคนดูจะเบื่อเหรอ-เราถาม

“บางทีเราก็พยายามสร้างจุดที่คาดเดาไม่ได้ อย่างงาน Desktop Error Discography Unplugged Bangkok ไม่ได้มีการใช้ควันอะไรเลยหนึ่งชั่วโมง ไม่ได้มีการเปลี่ยนสีของแสงหรือมุมแสงขนาดนั้น ทำให้คนอยู่กับเพลง ไม่ทำให้คาดหวังว่าจะต้องมีอะไรโผล่มาเลย แต่พอผ่านไปประมาณสิบเพลง เราเริ่มใช้ควันเข้ามา เปลี่ยนอุณหภูมิของแสงให้กลายไปเป็นอีกแบบ กลายเป็นว่าแค่จุดเปลี่ยนเล็กๆ ก็ทำให้เกิด impact ได้”

“แต่ลูกเล่นเราไม่เยอะ ตอนแรกก็คิดนะว่าคนดูจะรู้สึกเบื่อไหม เราคิดว่าคนที่ไม่ชอบก็ไม่ชอบเลย คนที่ชอบก็จะรู้สึกได้อยู่กับตัวเองดี พอลดเสียงเรียกร้องความสนใจ คนจะจดจ่อกับเพลงสูงขึ้น สิ่งดึงดูดสายตาคือนักดนตรีตรงกลาง เวทีเป็นเพียงแค่เฟรมภาพสร้างบรรยากาศกล่อมคน”

Desktop Error Discography Unplugged Bangkok

Desktop Error Discography Unplugged Bangkok | Photo: Chayanut Nambooppa

Desktop Error Discography Unplugged Bangkok

Desktop Error Discography Unplugged Bangkok | Photo: Chayanut Nambooppa

แล้วต้องคิดไหมว่างานจะถ่ายรูปขึ้นกล้องไหม-เราถามอีก

“ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ตอนออกแบบเราก็ใส่ใจกับเรื่อง balance ของแสง ถ้าเป็นแสงสีขาวก็อยากให้เห็นขาวเท่ากัน ส้มก็ส้มเท่ากัน แต่ไม่ถึงขั้นว่างานต้องถ่ายรูปขึ้น เป็นภาพจำ”

ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก วรธรยอมรับว่าการทำงานนี้ไม่ใช่งานที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องมีการเตรียมตัว การคิดงานก่อนหน้าอย่างหนักหน่วง นอกจากแรงผลักดันที่อยากเห็นสิ่งในจินตนาการออกมาเป็นจริง ความอึด ความสู้ชีวิต คืออีกสิ่งจำเป็นในการทำงาน

Desktop Error ̇ n d e l ̇ b l e s t a ̇ n Tour 2022 Bangkok

Desktop Error ̇ n d e l ̇ b l e s t a ̇ n Tour 2022 Bangkok | Photo: Romesilp Sookprasert

“ถ้าใครอยากมาทำงานด้านนี้ ก็ต้องยอมรับว่าต้องมีความอึดสูง มีความสู้ชีวิตหน่อย งานมันหนักด้านการเตรียมตัว การคิดงานมาก่อน พอมาถึงหน้างานก็มีการปรับแก้ ยิ่งเป็นงานใหญ่ๆ มันจะไม่จบง่ายๆ”

“แล้วคนที่อยากมาทำงานด้านนี้ ต้องมีแรงผลักดันในการอยากเห็นแฟนตาซีของเราออกมาเป็นโลกแห่งความจริง แล้วก็อยากให้คนอื่นเห็นแฟนตาซีอันนั้นของเราด้วย”

Desktop Error Discography Unplugged Bangkok

Desktop Error Discography Unplugged Bangkok | Photo: Voratorn Peerapongpan

เสียงดนตรีอื้ออึงพลันเงียบงันและจบลง ในมุมมองของคนดู โชว์ที่ดีจะได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง ห้วงอารมณ์และความทรงจำจากโชว์จะยังตราตรึง ในทางตรงกันข้าม โชว์ที่ไม่น่าจดจำก็จะถูกหลงลืม เราถามวรธรส่งท้ายบ้างว่าถ้าเป็นมุมมองของเขา อะไรคือนิยามของงานที่ดี

“งานที่ดีคืองานที่มีอะไรบางอย่างให้จดจำ พอเรากลับมาดูรูปแล้ว เราจำโมเมนต์ จำความรู้สึกตอนทำงานได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจทำอย่างนี้ เป็นเหมือน time capsule ของความคิดตัวเอง” เขาเล่าปิดท้าย

Voratorn Peerapongpan

Photo: Ketsiree Wongwan

instagram.com/voratornp

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *