เส้นทางการเปลี่ยนสายงานโดยไม่ได้ทิ้งความรู้ไว้ด้านหลัง ทำความรู้จักกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นนักวาดภาพประกอบ ทั้งการปรับตัวและสิ่งที่คล้ายกันระหว่างสองอาชีพ
TEXT & IMAGE: EMMA CHENG
(For English, press here)
WHO
Emma Cheng
WHAT
อดีตหมอสู่นักวาดภาพประกอบมือรางวัลที่วาดและออกแบบสิ่งต่างๆ โดยการผสมผสานศาสตร์การแพทย์ กายวิภาค และสุนทรียศาสตร์เข้าด้วยกัน
WHEN
เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่อายุสี่ขวบ แล้วก็มาเริ่มเรียนจริงจัง (หลักๆ ก็จะเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง) หลังจากลาออกจากตำแหน่งแพทย์ประจำบ้านในปี 2013 ก็เปลี่ยนมาทำงานเป็นแพทย์ในคลินิกเสริมความงาม ก่อนจะค่อยๆ ผันตัวเองมาเป็นนักวาดภาพประกอบแบบเต็มตัวในปี 2021
WHERE
เกิดที่ไต้หวัน แต่ตอนนี้อาศัยและทำงานอยู่ที่ซานฟรานซิสโก
WHY
เราอยากนำเสนอความรู้ด้านสุขภาพให้แก่คนทั่วไปผ่านวิธีการที่น่าสนใจ
นิยามของคำว่า ความคิดสร้างสรรค์ ของคุณ
ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถอย่างหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่เราใช้ผสมผสานสิ่งที่เคยเรียนรู้มาเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่มีค่า สำหรับเรามันเป็นเหมือนการทดลองนำความรู้ทางการแพทย์และประสบการณ์ส่วนตัวมาใช้เป็นวัตถุดิบ แล้วก็รอดูว่าสูตรที่เปลี่ยนไปในการทดลองแต่ละครั้งนำผลลัพธ์อะไรมาให้เราบ้าง
อธิบายการทำงานของคุณโดยใช้ 3 คำ
น่าตื่นตาตื่นใจ สง่างาม อบอุ่น
อะไรคือแรงบันดาลใจและหลั กการในการทำงานแต่ละครั้ง
ชอบกลับไปดูแฟ้มที่ตัวเองสะสมผลงานต่างๆ เก็บไว้เป็นแรงบันดาลใจ ในนั้นมีทั้งรูปภาพ ผลงานภาพประกอบของศิลปินคนอื่นๆ แผนภาพหรือวิดีโอทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็มีออกไปดูหนังหรือเดินเล่นบ้าง เพราะบางครั้งทางออกมักจะมาในเวลาที่เราปล่อยให้สมองได้ผ่อนคลาย
โปรเจ็กต์ไหนที่คุณภูมิใจมากที่สุด เพราะอะไร?
โปรเจ็กต์ล่าสุดเป็นงานที่เรารู้สึกภูมิใจมากที่สุดเสมอ เราภูมิใจทุกครั้งที่ได้ลองอะไรใหม่ๆ กับงานชิ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่สี หรือใช้สีในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน การวางองค์ประกอบ การใช้แสง หรือมุมมอง งานชิ้นล่าสุดจึงมักจะเป็นชิ้นที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดชีวิตและประสบการณ์ของเราออกมาได้ดี
อย่างงานสามชิ้นล่าสุดก็ทำไปพร้อมกันเลย ชิ้นแรกเป็นชุดภาพวาดการผ่าตัดทวารหนักที่จะถูกนำไปใส่ในตำราแพทย์ อีกชิ้นเป็นภาพประกอบสำหรับวัน ‘World Mental Health Day’ ส่วนอีกชิ้นนึงเป็นภาพประกอบที่จะนำไปใช้ในวัน ‘World Sight Day’ ทั้งสามโปรเจ็กต์นี้ทำเสร็จในอาทิตย์เดียวกันเพราะลูกค้าจะรีบปิดเล่ม textbook ซึ่งดันมาตรงกับเส้นตายของงานอีกสองชิ้นพอดี เราดีใจที่ผลออกมาสื่อสารกับลูกค้าได้ราบรื่น ลูกค้าก็พอใจกับงานมากๆ และงานสองชิ้นที่เคลียร์เสร็จ ผู้ติดตามเราก็ดูจะชื่นชอบกัน โดยที่ทั้งหมดเรียบร้อยสำเร็จภายในหนึ่งอาทิตย์
มันก็ค่อนข้างเครียดอยู่เหมือนกัน ถ้าเลือกได้เราก็อยากมีเวลามากกว่านี้ในการทำงานแต่ละโปรเจ็กต์ แต่ประสบการณ์ครั้งนี้ก็สอนให้รู้ว่าจะทำงานออกมาให้ดีและมีประสิทธิภาพยังไงภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แถมเรายังได้ลองเปลี่ยน work flow การทำงานใหม่ด้วย ทำให้ค่อนข้างภูมิใจกับพัฒนาการของตัวเองจากประสบการณ์ครั้งนี้เลย
อะไรคือความเหมือนและต่างระหว่างอาชีพหมอกับนักวาดภาพประกอบ?
อ้างอิงจากประสบการณ์ของเราเอง ทั้งสองหน้าที่นี้ล้วนต้องมีความคุ้นเคยและเข้าใจในกายวิภาคของมนุษย์ แล้วก็ต้องมือนิ่ง
สิ่งที่แตกต่างมากๆ ระหว่างงานทั้งสองสาขาคือความไม่แน่นอนในอาชีพ ในฐานะหมอ อนาคตของคุณเรียกได้ว่าถูกวางแผนไว้หมดแล้วทันทีที่คุณสอบเข้าโรงเรียนแพทย์ได้ เหมือนมีบันไดอยู่ข้างหน้าแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำก็คือปีนป่ายขึ้นบันไดนั้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่ถ้าคุณเป็นนักวาดภาพประกอบ คุณต้องสร้างบันไดนั้นด้วยตัวเอง แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่เหนื่อยและใช้เวลา แต่มันก็น่าสนใจมากในเวลาเดียวกัน ส่วนตัวเราคิดว่าชอบชีวิตที่คาดเดาได้บ้างไม่ได้บ้างแบบปัจจุบันนี้มากกว่า
เราเคยคิดว่าการเป็น perfectionism คือจุดที่คล้ายกันระหว่างทั้งสองอาชีพ แต่ไม่นานมานี้เอง ตัวเราในฐานะนักวาดภาพประกอบก็มีลองปล่อยตัวเองให้คลายลงบ้าง สมัยที่เป็นหมอเราต้องใส่ใจในทุกรายละเอียดเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันโดยตรงกับชีวิตคน แต่พอมาเป็นนักวาดภาพประกอบ บางทีการมองหาความแตกต่างให้กับงานตัวเองก็สำคัญกว่าความเพอร์เฟ็กต์ หมายความว่าคุณไม่ต้องลงรายละเอียดกับงานทุกซอกทุกมุมก็ได้ แค่ต้องคิดว่าจะนำเสนอประเด็นหลักๆ ในนั้นออกมาได้ยังไง ปรัชญาเดียวกันนี้สามารถนำมาปรับใช้กับแง่มุมอื่นๆ ของการทำงานศิลปะของเราได้เหมือนกัน
ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม?
เราขอเลือกตัวเองในเวอร์ชั่นอีก 30 ปีข้างหน้า อยากรู้ว่าตัวเองจะได้ทำทุกอย่างที่อยากทำระหว่างที่ยังมีชีวิตหรือเปล่า แล้วสิ่งที่ควรทำ / ไม่ควรทำเพื่อที่จะพัฒนาตัวเองมีอะไรบ้าง เราอยากจะถามตัวเองด้วยว่าการสาธารณสุขจะเป็นยังไงในอนาคต มีการค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยรักษาโรคที่ตอนนี้รักษาไม่ได้บ้างหรือยัง? ในอนาคตอวัยวะเทียมใช้ได้จริงไหม? ถ้าใช้ได้ แล้วแขนกลหรืออวัยวะเทียมใช้งานแทนที่อวัยวะมนุษย์ได้ดีแค่ไหน? คนสูงอายุอยู่กันยังไงเมื่อต้องมีชีวิตยืนยาวขึ้นกว่าเดิม? แล้วเวชศาสตร์ความงามช่วยให้คนยังดูเยาว์วัยได้อย่างไรในยุคนั้น? คงมีคำถามมากมายเกินกว่าจะถามให้ครบภายในช่วงเวลาของกาแฟแก้วเดียว มีคำถามมากมายไม่รู้จบในพรมแดนแห่งการแพทย์ที่รอให้เราทุกคนเข้าไปสำรวจ!