พาไปชมอาคาร CPAC 3D MODULAR SPACE ที่ผลิตจากนวัตกรรม CPAC 3D Printing Solution ซึ่งช่วยประหยัดเวลาการก่อสร้าง และเพิ่มความเป็นไปได้ให้งานออกแบบ
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: WORAPAS DUSADEEWIJAI EXCEPT AS NOTED
ปัญหาที่พบเจออยู่ตลอดในการทำงานก่อสร้าง ก็คือคุณภาพการก่อสร้างที่อยู่เหนือการควบคุม เมื่องานออกมาไม่ได้อย่างใจหวัง บางครั้งก็ต้องทุบแก้ไขใหม่จนกระทบเงินในกระเป๋า ไม่เพียงเท่านั้น งานก่อสร้างก็มักสร้างเศษขยะกองพะเนิน ทั้งจากวัสดุเหลือ ไปจนถึงไม้แบบที่ใช้ในการหล่อคอนกรีต สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เหตุผลเหล่านี้เอง CPAC Green Solution เลยพัฒนานวัตกรรมก่อสร้าง CPAC 3D Printing Solution พร้อมเปิดตัวอาคารต้นแบบที่สร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในชื่อ CPAC 3D MODULAR SPACE ซึ่งพัฒนาเทคนิคและกระบวนการก่อสร้างที่เคยดูเหมือนเป็นเรื่องในนิยายวิทยาศาสตร์ในอนาคต ให้เป็นความจริงที่ disrupt งานก่อสร้างงานในรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันได้สำเร็จแล้วในปัจจุบัน
CPAC 3D MODULAR SPACE เป็นอาคารสองชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอย 58 ตารางเมตร ตัวอาคารก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution ผสมผสานกับเทคโนโลยี Prefabricated Prefinished Volumetric Construction (PPVC) มาขึ้นรูปชิ้นส่วนด้วยการพิมพ์คอนกรีตซ้อนกันเป็นชั้นๆ จากโรงงาน ก่อนจะนำแต่ละชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน พร้อมจบงานด้วยวัสดุตกแต่งอื่นภายหลัง เทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution ทำให้การสร้างผนังโค้งเว้าสวยงามเป็นไปได้อย่างง่ายดาย และมีความแม่นยำด้วยการก่อสร้างโดยเครื่องจักรแบบ machine-made เมื่อเทียบกับการสร้างผนังด้วยกระบวนการก่ออิฐฉาบปูนทั่วไปที่ต้องอาศัยทักษะจากช่าง ที่อาจเกิดความผิดพลาดจาก human error ได้ และมีความเป็นไปได้ของรูปทรงที่จำกัด
นอกจากนี้การสร้าง CPAC 3D MODULAR SPACE ขึ้นมาเหมือนจะใช้เวลานาน แต่จริงๆ แล้วใช้เวลาผลิตชิ้นส่วนเพียง 33 วัน รวมติดตั้งอีก 1 วัน เป็นแค่ 34 วันเท่านั้น ซึ่งถ้าเทียบกับการก่อสร้างรูปแบบธรรมดาต้องใช้เวลาประมาณ 90 วันก็ถือว่าเร็วขึ้นเกือบ 3 เท่า และยังไม่ก่อให้เกิดขยะจากการก่อสร้างทั้งไม้แบบและนั่งร้านต่างๆ รวมทั้งไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจเรื่องมลภาวะฝุ่นและเสียงให้เพื่อนบ้านรอบข้างอีกด้วย
การก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี CPAC 3D Printing Solution ยังช่วยลดการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่อาคารได้ เนื่องด้วยเทคนิคการพิมพ์คอนกรีตที่มีการเว้นช่องอากาศโล่งตรงกลางระหว่างชั้นผนังภายนอกและชั้นผนังภายใน เกิดเป็นช่องโล่งที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนในผนังตลอดแนวซึ่งยังทำหน้าที่เป็นฉนวนกันเสียงจากภายนอกได้ด้วย นอกจากนี้ ความเป็นผนังที่ไม่เรียบด้วยเส้นคอนกรีตที่ซ้อนทับเป็นชั้นๆ ยังช่วยลดการสะท้อนกลับของเสียงและลดเสียงก้องในสเปซภายในอีกด้วย
CPAC 3D Printing Solution ไม่ได้เหมาะกับการสร้างอาคารเพียงอย่างเดียว เพราะเทคโนโลยีนี้ยังนำไปรังสรรค์งานดีไซน์อย่างอื่นได้เช่นกัน ในงานเปิดตัว CPAC 3D MODULAR SPACE ทาง CPAC Green Solution ก็ได้เชื้อเชิญดีไซเนอร์มาอวดผลงานที่ผลิตด้วยการพิมพ์คอนกรีต 3D Printing
เริ่มต้นจาก พิพิธ โค้วสุวรรณ Design Director จากสตูดิโอ Salt and Pepper Studio กับ flow เฟอร์นิเจอร์ภายนอกที่ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีมาสร้างเส้นสายอิสระ กฤษฎา หนูเล็ก Head Designer จาก Mobella Galleria ดึงความเชี่ยวชาญการออกแบบเฟอร์นิเจอร์หุ้มเบาะ มาผสมผสานกับการพิมพ์คอนกรีตในลวดลายคล้ายเครื่องจักรสานไทย เกิดเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้กลิ่นอายงานหัตถกรรมไทยเข้ามาด้วย สุดท้ายคือ เศณวี ชาตะเมธีวงศ์ สถาปนิกจาก DesireSynthesis ที่ทดลองทะลุขอบเขตความสามารถของงานพิมพ์คอนกรีต เช่น การทดลองทำโครงสร้างแรงอัด แทนการพิมพ์เพื่อสร้างโครงสร้างรับน้ำหนักตามปกติ
ราคาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างด้วย CPAC 3D Printing Solution คงเป็นสิ่งที่หลายคนกังวล แม้ค่าก่อสร้างจะสูงกว่าการก่อสร้างแบบเดิมที่คุ้นชิน แต่หากนำเรื่องเวลา การควบคุมคุณภาพ และแรงงาน เข้ามาในสมการ จะพบว่างานพิมพ์คอนกรีตอาจจะคุ้มค่ากว่า เทคโนโลยี 3D Printing จาก CPAC Green Solution ยังเอื้อกับการทำงานหลายรูปแบบ มีทั้งการผลิตชิ้นส่วนจากโรงงานแล้วมาต่อประกอบ หรือจะยกเครื่องจักรมาพิมพ์ที่ไซต์งานก็เป็นไปได้ หากต้องการผลิตงานจำนวนมากเป็น mass production ก็มีเครื่องพิมพ์ขนาดเล็กที่ตอบโจทย์การผลิตงานเช่นกัน
เมื่อก่อนเทคโนโลยีการก่อสร้างคอนกรีต 3D Printing อาจดูล้ำสมัยไกลตัว แต่ตอนนี้ CPAC Green Solution นำมาพัฒนาจนเทคนิคนี้เข้าถึงได้อย่างง่ายดายสำหรับใครที่สนใจอยากทดลองก่อสร้างด้วยเทคนิคนี้แต่ไม่รู้จะจับต้นชนปลายอย่างไร สามารถปรึกษาทีมจาก CPAC Green Solution ที่เพียบพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญได้เลยที่ CPAC Solution Center (CSC) ทุกสาขา หรือติดต่อ CPAC Contact Center ทางเบอร์ 02-555-5555