THE FIG LOBBY

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

Chiangmai Life Architects รังสรรค์อพาร์ตเมนต์เก่าในย่านคลองเตย ให้กลายเป็นโรงแรมที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ และมีความสนุกสนานจัดจ้านไม่แพ้แขกผู้เข้าพัก

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ความแตกต่างหลากหลายคือเรื่องที่คนยุคใหม่ใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเกิดมาในเชื้อชาติอะไร มีตัวตนอย่างไร มีรสนิยมทางเพศแบบไหน คนยุคใหม่มองว่าทุกคนล้วนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

Photo courtesy of Chiangmai Life Architects

The Fig Lobby เป็นโรงแรมบูทีคบนนถนนริมทางรถไฟสายปากน้ำ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ที่ยึดเอาความหลากหลายมาเป็นแก่นสำคัญ พร้อมต้อนรับผู้คนหลากหลายตัวตน และหลากหลายทางเพศ ให้มาเข้าพัก และซึมซับบรรยากาศศิลปะ ซึ่งนอกจากการฟังก์ชันอย่างห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ หรือการบริการที่เป็นมิตรกับผู้คนไม่ว่าใครก็ตาม งานดีไซน์ของโรงแรมที่สนุกสนานแหวกแนว ก็สะท้อนคุณค่าของโรงแรมที่โอบกอดความแตกต่าง เห็นความงดงามที่หลากหลายของมนุษย์

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

Photo courtesy of Chiangmai Life Architects

The Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

Chiangmai Life Architects คือดีไซเนอร์ผู้เนรมิตโรงแรมออกมา แต่เดิมอาคารโรงแรมเคยเป็นอาคารอพาร์ตเมนต์เก่าๆ ที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่นักออกแบบพลิกโฉมอพาร์ตเมนต์ให้กลายเป็นอาคารดีไซน์จัดจ้าน โดยรอบประดับประดาด้วยเสารูปทรงแปลกประหลาด บนผืนผนังก็มีลวดลายอันพิลึกกึกกือ พลังงานความมีชีวิตชีวาของดีไซน์ ก็เข้ากันได้ดีกับบริบทที่ตั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างย่านสุขุมวิทที่คึกคักด้วยนักท่องเที่ยว และย่านคลองเตยที่จอแจไปด้วยผู้คนและชุมชนน้อยใหญ่ แถมไม่ใกล้ไม่ไกลคือถนนพระรามสี่ที่รถติดทั้งวี่ทั้งวัน

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

Markus Roselieb นักออกแบบจาก Chiangmai Life Architects บอกว่า เขาได้แรงบันดาลใจการดีไซน์จากสองศิลปินและสถาปนิกตัวจี๊ด Friedensreich Hundertwasser ศิลปินชาวออสเตรียผู้ชื่นชอบสีสันสดใสและเกลียดการใช้เส้นตรง และ Antoni Gaudí สถาปนิกชาวสเปนผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเปี่ยมพลังที่ถอดแบบมาจากธรรมชาติ เพราะทั้งคู่ต่างเสนอคุณค่าความงามนอกขนบอาคารกล่องสี่เหลี่ยม

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

The Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

ภายนอกอาคารและในล็อบบี้ เรียงรายไปด้วยเสาหลากสีที่ไม่เหมือนกันสักต้น ดูแล้วก็คล้ายคลึงกับเสาในงานของ Hundertwasser อย่าง Hundertwasserhaus เหมือนกัน Markus บอกว่าที่เขาทำเสาไม่เหมือนกัน เพราะอยากสะท้อนคุณค่าความหลากหลายที่โรงแรมยึดถือ ตราบใดที่คนในโลกนี้มีความชอบต่างกัน มีตัวตนต่างกัน เสาก็มีหน้าตาต่างกันได้

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

Markus เพิ่มแนวผนังภายนอกของห้องพักมาอีกชั้น เพื่อลดทอนแสงแดดที่ส่องตัวห้อง ผนังอาบด้วยสีสันและลวดลายยึกยือที่ได้กลิ่นอายของ Hundertwasser สะท้อนความมีชีวิตชีวาของย่านได้เป็นอย่างดี บนผนังเจาะช่องเปิดรูปทรงประหลาด เช่นเดียวกันกับเสาข้างล่าง ช่องเปิดตรงนี้ก็ไม่มีช่องไหนหน้าตาเหมือนกัน ที่หัวมุมอาคาร Markus กรุกระเบื้องทำมือเพื่อลดทอนความเหลี่ยมคมลงไป แหวกไปจากรูปแบบอาคารกล่องสี่เหลี่ยมอันจำเจ

The Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

ภายในอาคารละลานตาด้วยสีสันไม่แพ้ข้างนอก พื้นล็อบบีเป็นพื้นหินขัดที่ผสมเศษแก้วจากขวดเก่าลงไป ทำให้สเปซดูแวววับจับใจ บนกำแพงและฝ้ามีการทาสีคล้ายเศษกระเบื้อง ชวนให้เรานึกถึงงานของ Gaudí ที่มักเอากระเบื้องสีมาตกแต่งอย่างตระการตา ห้องพักแต่ละห้องรุ่มรวยด้วยสีสันและเส้นสายโค้งมน แม้แต่ทางเดิน Markus ก็อดไม่ได้ที่จะทาสีและใส่ซุ้มโค้งไปเป็นระยะ แม้ว่าผังผื้นของห้องพักและทางเดินจะเป็นผังสี่เหลี่ยมปกติ การตกแต่งกลับทำให้คนเข้าพักลืมความเหลี่ยมคมไปได้ง่ายๆ

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

The Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

พื้นชั้นบน Markus เลือกเก็บพื้นหินขัดเดิมไว้ เพราะเขาไม่อยากทุบพื้นเก่าแล้วปูพื้นใหม่ให้สิ้นเปลืองทรัพยากร ที่ทางเดินหน้าห้อง Markus ก็ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่เจาะช่องเปิดที่ปลายสองทางเดินเพื่อให้ลมพัดผ่าน เป็นการระบายอากาศตามธรรมชาติ ช่วยให้โรงแรมประหยัดพลังงานไปอีกทาง

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

นอกจากงานออกแบบของ Markus องค์ประกอบที่ช่วยเสริมความมีชีวิตให้โรงแรมได้ดีทีเดียวคืองานออกแบบจากศิลปินและดีไซเนอร์ไทยที่คับคั่งตามพื้นที่ต่างๆ เช่น wallpaper จาก Pomme Chan หรืองานเพ้นท์และเฟอร์นิเจอร์จาก Tuapennot เปิดเวทีให้นักออกแบบไทยได้เฉิดฉาย แสดงตัวตนที่หลากหลายอย่างเต็มที่

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

หากเทียบกับผลงานก่อนหน้าของ Chiangmai Life Architects จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า The Fig Lobby คือผลงานที่หลุดไปจากพวก เพราะปกติแล้ว Chiangmai Life Architects จะโปรดปรานกับการใช้วัสดุธรรมชาติเช่นไม้ไผ่ ดิน แต่งานนี้เป็นอาคารคอนกรีต ทาสี กรุกระเบื้อง คล้ายไม่ได้มีร่องรอยของ ‘วัสดุธรรมชาติ’ ให้เห็น

The Fig Lobby by Chiangmai Life ArchitectsThe Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

แม้วัสดุและรูปลักษณ์ภายนอกจะแตกแถวจากงานเก่าๆ แต่หากดูลึกไปที่แนวคิด จะพบว่า The Fig Lobby ก็ไม่ต่างกับงานก่อนๆ ของ Chiangmai Life Architects เท่าไหร่ เพราะงานนี้ก็ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ไม่แพง มาเรียบเรียงจนเกิดอาคารน่าดึงดูด เช่นสี กระเบื้อง เหมือนงานเก่าที่ใช้ไม้ไผ่ และดินซึ่งหาได้ไม่ยากเย็น เส้นสายของอาคารก็มีความเป็นอิสระไม่ต่างกับงานที่สร้างด้วยวัสดุธรรมชาติ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การออกแบบโดยคำนึงถึงบริบทแวดล้อมด้านต่างๆ ไม่ใช่การเอาไอเดียจากอากาศมาตั้งในไซต์

The Fig Lobby by Chiangmai Life Architects

และสำหรับ The Fig Lobby ที่มีบริบทสำคัญคือความแตกต่างหลากหลาย Chiangmai Life Architects ก็เลือกตอบมันออกมาด้วยการสร้างดีไซน์แปลกใหม่ เพื่อส่งเสียงออกมาว่า ในโลกที่มากด้วยความหลากหลายและความเป็นไปได้นั้นมีพื้นที่ให้ให้กับทุกคนเสมอ

bamboo-earth-architecture-construction.com
facebook.com/thefiglobby

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *