pbm ออกแบบอาคารหลังนี้ภายใต้โจทย์ที่ว่า ฟังก์ชันภายในต้องเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ ทั้งยังต้องสามารถสื่อสารภาพลักษณ์ขององค์กรที่โปร่งใส บล็อกแก้วจึงถูกหยิบยกมาเป็นวัสดุหลัก
TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO: SPACESHIFT STUDIO
(For English, press here)
อาคารหลังนี้เกิดจากความต้องการหลากหลาย ตั้งแต่การเป็นโกดังสำหรับเก็บสินค้าของกลุ่มผลิตภัณฑ์ผู้นำเข้ายาและวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ การขยับขยายพื้นที่สำหรับเป็นส่วนขยายสำนักงานบริษัท การเป็นสถานที่ที่เจ้าของโครงการเข้ามาพักผ่อน ใช้พักอาศัยได้ระหว่างแวะเข้ามาดูแลกิจการ โดยยังต้องเชื่อมต่อพื้นที่ของคลังสินค้า สำนักงาน และพื้นที่พักอาศัยอย่างไร้รอยต่อ เพื่อสร้างความรู้สึกที่สถานที่ทำงานกับพื้นที่ส่วนตัวสอดผสานเข้าไปในจังหวะไลฟ์สไตล์ของกันและกัน ทั้งหมดนี้คือโจทย์ของทีมงานสถาปนิก pbm ที่ต้องจัดการเรียงลำดับ และจัดวาง space อาคาร Where’s House Warehouse แห่งนี้ ลงบนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ และพื้นที่ใช้สอย 2,000 ตารางเมตร โดยประมาณ โดยไม่ให้เพียงเป็นอาคารคลังสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องสะท้อนภาพลักษณ์ขององค์กร และฟังก์ชันที่เกิดจากการรวมหลากหลายกิจกรรมและความต้องการเข้าไว้ด้วยกันอีกด้วย
สถาปนิกเริ่มจากการจัดวางฟังก์ชันที่จำเป็นที่สุดอย่างส่วนอาคารโกดังก่อน โดยคำนึงถึงระบบการจัดการสินค้า ขั้นตอนในการขนย้าย sequence ของแต่ละ space ในการเข้า-ออกของรถขนส่ง ความต่อเนื่อง (flow) ต้องมีประสิทธิภาพและพื้นที่เพียงพอ การกำหนดพื้นที่ loading เข้าและออกที่แยกสัดส่วนอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้การจัดทำบัญชี การสำรวจจัดเก็บข้อมูลสต็อกสินค้ารวดเร็วและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ทำให้อาคารในส่วนโกดัง เกิดเป็นรูปตัว L ขนาดใหญ่ที่ล้อไปกับรูปร่างของไซต์ และการจัดการจราจรของระบบรถขนส่งให้เกาะอยู่กับขอบไซต์ทั้ง 2 ด้านซ้าย-ขวาเป็นทางเข้าและทางออก ก็สร้างการสัญจรของรถขนส่งของบริษัทที่ไม่ cross กันได้เป็นอย่างดี
ความโดดเด่นของโครงการนี้ คือส่วนอาคารกิจกรรมที่เสมือนแทรกตัวเพิ่มขึ้นมาและเต็มไปด้วยฟังก์ชันที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนพื้นที่ทำงานของผู้บริหาร ส่วนพักอาศัย ส่วนสำนักงาน รวมไปถึงส่วนทานอาหารของพนักงาน และพื้นที่เสริมสำหรับใช้งานอเนกประสงค์ การจัดวางที่สถาปนิกนิยามว่า ‘มีความเฉพาะตัวของผู้ใช้อาคาร’ เพราะการเชื่อมโยง space หลายๆ ส่วนก็เป็นไปตามความต้องการ และลักษณะเฉพาะตัวของผู้ใช้งาน อาทิ การเชื่อมต่อกันของส่วนห้องทำงานของผู้บริหาร และสำนักงานของคลังสินค้าที่อยู่ใกล้กันและใช้พื้นที่สัญจรเดียวกัน สถาปนิกใช้การออกแบบโดยเพิ่มลูกเล่นทางพื้นที่อย่างการเปลี่ยนระดับ โดยทำจุดเชื่อมเป็นขั้นบันไดเสมือน amphitheater ขนาดเล็กๆ เรียงด้วยบล็อกแก้วแบบ random เพื่อให้การเดินผ่านบริเวณนี้ ต้องเปลี่ยนจังหวะการเดินให้ช้าลง สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับห้องผู้บริหารได้มากขึ้น แต่ยังคงความรู้สึกของการเชื่อมต่อระหว่าง 2 space ไว้ตลอดเวลา
อีกสิ่งที่โดดเด่นและสะดุดตาตั้งแต่แรกเห็นของโครงการคือการออกแบบระบบ façade ที่มีเอกลักษณ์ การใช้วัสดุหลากหลายประเภทตั้งแต่บล็อกแก้ว กระจก ไปจนถึงแผ่นอะคริลิคขุ่น สร้างสภาวะของความทึบ-โปร่งที่แตกต่างกัน โดยแนวคิดนี้มาจากความต้องการสะท้อนภาพลักษณ์ขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ นำเสนออกมาเป็นเรื่องของความใสและสะอาด อีกทั้งการตีความพื้นที่ของอาคาร ซึ่งมีความพร่าเลือนของพื้นที่ภายใน-ภายนอก บรรยากาศที่ทางเจ้าของโครงการต้องการให้อาคารแห่งนี้มีความผ่อนคลาย เหมือนบ้านพัก-สำนักงานสำหรับตากอากาศ
วัสดุบล็อกแก้วถูกนำมาพิจารณาเป็นวัสดุหลักทั้งภายนอกและภายในโครงการ ด้วยคุณสมบัติโปร่งแสงแต่ก็ยังทำหน้าที่เป็นฉนวนความร้อนได้เพราะช่องว่างอากาศภายในตัว การใช้วัสดุใสภายในอาคารทำให้เกิดประสบการณ์การใช้งานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในพื้นที่ เช่นการนำวัสดุบล็อกแก้วมาใช้กับโถงโครงสร้างลิฟต์ หรือผนัง partition กั้นพื้นที่ต่างๆ เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของลิฟต์ หรือผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ก็จะเกิดเงาพาดผ่านความพร่าเลือนของ space ทำให้เกิดเป็นเอฟเฟ็กต์เฉพาะตัว ซึ่งเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับการใช้เวลาทำกิจกรรมในสำนักงานแห่งนี้มากขึ้น พร้อมกันนี้อาคารยังสอดแทรกไปด้วยวัสดุโปร่งแสงชนิดอื่นเช่นแผ่นอะคริลิกซึ่งทำหน้าที่เป็น façade ของห้องอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ยอมให้แสงผ่านเข้ามาให้ความสว่างภายในห้องแล้ว การจัดเรียงแผ่นอะคริลิคใสและขุ่น ยังถูกจัดให้เอียงในองศาที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างเป็นกราฟิกของโลโก้บริษัทสำหรับสื่อสารกับคนภายนอก แทนการแขวนป้ายอักษรแบบทั่วไปอีกด้วย
นอกจากนี้ งาน façade บล็อกแก้วของอาคารหลังนี้ยังได้รับการออกแบบรายละเอียดเป็นพิเศษร่วมกับผู้ผลิต ด้วยความต้องการที่จะลดรอยต่อระหว่างบล็อกที่ติดตั้งตามแบบทั่วไป จำเป็นต้องเสริมเหล็กเส้นและปูนเชื่อมประสานระหว่างบล็อก ทำให้เกิดเป็นเส้นปูนทึบที่ไม่สื่อถึงความใสและแสงทะลุผ่านได้เท่าที่ตั้งใจ สถาปนิกจึงออกแบบการลดขนาดรอยต่อโดยการเชื่อมบล็อกแก้วเป็นชุด ชุดละ 4 บล็อกด้วยกาว epoxy และนำอะลูมิเนียม flat bar รัดรอบเพื่อเสริมความแข็งแรง และนำแต่ละชุดมาประกอบกันเป็นแผง façade ในที่สุด