art4d นั่งคุยกับ Oliver Lin รองประธานของ Taiwan Design Research Institute (TDRI) ถึงแนวทางการนำงานวิจัยมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมงานออกแบบ
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO COURTESY OF TAIWAN DESIGN RESEARCH INSTITUTE
(For English, press here)
‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ปรากฏขึ้นในนโยบายหลักของหลากหลายประเทศในฐานะเครื่องมือเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจองค์รวม เช่นเดียวกันกับที่ไต้หวันเอง ที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์กลางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นในชื่อของ Taiwan Design Research Institute (TDRI) ในปี 2020 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นองค์กรและ ‘แพลตฟอร์ม’ ที่ใช้ข้อมูลและการวิจัยในการผลักดันนวัตกรรมและงานออกแบบที่เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากทางภาครัฐหรือเอกชนเองก็ตาม
เนื่องในโอกาสที่ art4d ได้จัดกิจกรรม ‘art4d PINNED PLACE’ เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ได้พาผู้ที่สนใจในงานออกแบบเดินทางไปยังไต้หวัน รวมถึงได้เข้าร่วมกับทั้งกิจกรรม Golden Pin Design Award และ Taiwan Design Week ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน art4d จึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับ Oliver Lin รองประธานสถาบันวิจัยการออกแบบแห่งไต้หวัน หรือ Taiwan Design Research Institute (TDRI) ถึงเป้าหมายหลักของ TDRI การใช้งานวิจัยและข้อมูลเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมงานออกแบบ และมุมมองต่อการผลักดันองคาพยพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการร่วมมือกันระหว่างประเทศ อันนำมาสู่โอกาสและความเป็นไปได้มหาศาลของงานออกแบบในอนาคต
art4d: ก่อนอื่นเลย เราอยากจะให้คุณช่วยแนะนำให้คนอ่านรู้จักกับ Taiwan Design Research Institute (TDRI) และขอบข่ายการทำงานของสถาบันสักหน่อย
Oliver Lin: TDRI เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับการสนับสนุนกึ่งหนึ่งจากรัฐ โดยก่อนหน้านี้สถาบันใช้ชื่อว่า Taiwan Design Center พันธกิจของเราคือการช่วยเปลี่ยนแปลงไต้หวันผ่านการบูรณาการเอางานออกแบบเข้าไปในหลากหลายวิทยาการและมิติ ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมเชิงพาณิชย์ สังคม วัฒนธรรม ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่างๆ เช่นการเดินทางขนส่งและสาธารณสุข
ทิศทางของและหน้าที่ของ TDRI นั้นจะประกอบไปด้วยห้าหมวดด้วยกัน คือ นโยบายด้านการออกแบบ (Design Policy) นวัตกรรมทางอุตสาหกรรม (Industrial Innovation) การบริการสาธารณะ (Public Service) นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) และการทูตทางการออกแบบ (Design Diplomacy) โดยหมวดหมู่ทั้งห้านี้วางตัวอยู่บนการทำงานวิจัยด้านการออกแบบของสถาบัน อันประกอบไปด้วยทีมงานกว่า 200 ชีวิต ที่ถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่ดูเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบ กลุ่มที่สองซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมดูแลอยู่ จะครอบคลุมเรื่องนวัตกรรมการออกแบบ นวัตกรรมทางอุตสาหกรรม และการทูตทางการออกแบบ ส่วนกลุ่มที่สามจะดูแลเรื่องการบริการสาธารณะ และนวัตกรรมทางสังคม
นอกจากนี้แล้ว เรายังมีทีมออกแบบที่ประกอบไปด้วยสมาชิกในทีมกว่า 40 คน ซึ่งจะรับหน้าที่ออกแบบโครงการต่างๆ ที่ได้รับการริเริ่มผ่านการวิจัยของเรา แนวทางปฏิบัตินี้สร้างฐานรากของวิธีการทำงานของเรา ทิศทางที่ชัดเจนของทั้งห้าหมวดยังช่วยนำทางทีมงานของเราที่ประกอบไปด้วยบุคคลจากหลากหลายประสบการณ์และความรู้ และส่งผลต่อโครงสร้างและการทำงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรเรา
art4d: คุณช่วยยกตัวอย่างโครงการวิจัยที่คุณได้ทำสักหนึ่งโครงการได้ไหม?
OL: ยกตัวอย่างนะครับ เราได้พิมพ์หนังสือไปสองเล่มแล้วจากงานวิจัยของเรา คือ ‘Perspective: why DIT Matters’ และ ‘Circular Design Guideline’ หนังสือเล่มแรกเป็นเหมือนการสรุปรวมความเข้าใจต่อความสำคัญของการออกแบบ และพลังของการออกแบบที่มีรากฐานมาจากแนวคิดหลักที่มาจากคำภาษาจีนสามคำคือ Shan (การสร้าง) Chuang (สร้าง) และ Hsiang (แบ่งปัน)
ส่วนหนังสือเล่มที่สอง ‘Circular Design’ ว่าด้วยเรื่องแนวคิดของการออกแบบหมุนเวียนผ่านการนำเสนอมุมมองความคิดเห็นต่อการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้งาน รวมไปถึงให้คำแนะนำคนที่กำลังริเริ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะไปเน้นที่การออกแบบแต่เพียงอย่างเดียว กลยุทธ์ของเราจะเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นกระบวนการการออกแบบด้วยการวิจัยและข้อมูล ทำการวางรากฐานก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ ไป
art4d: อ้างอิงจากงานวิจัยของคุณ มูลค่าของงานออกแบบไต้หวันคืออะไร?
OL: จากการวิจัยของเรา เราคิดว่าคุณค่าของงานออกแบบของไต้หวันประกอบไปด้วยเสาหลัก 3 ประการ คือ ความยั่งยืน ความเป็นมิตร และเทคโนโลยี
เสาหลักแรกเลยคือเรื่องของความยั่งยืนที่ปรากฏอยู่ในทุกมิติของไต้หวัน เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความยั่งยืน ไปจนถึงเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และระบบต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ทั้งโดยรัฐบาลและประชาชน เสาหลักที่สองคือความเป็นมิตร เพราะนักออกแบบไต้หวันให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อทั้งคนและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เสาหลักที่สามคือเทคโนโลยี ซึ่งปรากฏให้เห็นในความสามารถที่แข็งแกร่งของไต้หวันในฐานะผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ เราได้มีการบูรณาการเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับผลิตภัณฑ์และการออกแบบของเรา
ผมคิดว่าคุณสมบัติเหล่านี้คือสิ่งที่เป็นคุณค่าหลักของงานออกแบบไต้หวัน ทุกครั้งที่เรามีส่วนร่วมในเทศกาลงานออกแบบนานาชาติ เช่น งาน London Design Biennale หรืองาน Bangkok Design Festival เราก็ใช้เสาหลักทั้งสามนี้เป็นเครื่องมือในการแสดงถึงหลักการทางการออกแบบของเราให้โลกเห็น
art4d: จากประสบการณ์ของคุณ คุณคิดว่าความแตกต่างระหว่างอุตสาหกรรมดีไซน์ของไต้หวันและไทยคืออะไร?
OL: ถึงแม้ว่าสิ่งที่เหมือนกันระหว่างประเทศไทยและไต้หวันคือความหลากหลายและความเป็นวัฒนธรรมเอเชีย แต่ผมคิดว่าความแตกต่างอยู่ที่การออกแบบของไต้หวันจะเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีไฮเทค เนื่องจากความเชี่ยวชาญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือสารกึ่งตัวนำคุณภาพสูงของเรา ในทางกลับกัน ประเทศไทยเป็นที่รู้จักดีในฐานะของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร งานออกแบบผลิตภัณฑ์แฮนด์เมด และเสื้อผ้า ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมโยงที่แข็งแรงระหว่างการออกแบบกับชีวิตประจำวันของผู้คน
ความแตกต่างอีกประการระหว่างไทยและไต้หวันคือขนาดและลักษณะของตลาด ประชากรของประเทศไทยมีประมาณสามถึงสี่เท่าของประชากรของไต้หวัน ในขณะที่ไต้หวันเป็นเกาะเล็กๆ และส่งออกประมาณ 90% ของสินค้าที่ตัวเองผลิตไปทั่วโลก นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลักษณะของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน
สินค้าของไต้หวันจำเป็นต้องมีความสามารถที่จะถูกนำไปปรับใช้กับวัฒนธรรมหลายประเทศ ในทางกลับกันการออกแบบของไทยมีลักษณะเด่นอยู่ที่รูปแบบของมัน แสดงถึงสุนทรียะที่มีความสนุกสนาน สบายๆ แต่ก็เต็มไปด้วยองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ เมื่อไหร่ที่ผมไปประเทศไทย ผมมักจะซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ กลับมาบ้านด้วยเสมอ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ผมใช้อยู่ตอนนี้ก็มาจากประเทศไทยนะครับ
art4d: วัตถุประสงค์ของรางวัล Golden Pin Design Award และงาน Taiwan Design Week คืออะไร?
OL: รางวัล Golden Pin Design Award (GDPA) เป็นเวทีการออกแบบที่เน้นที่ผลงานจากเอเชียเป็นสำคัญ โดยที่ประมาณ 95% ของผลงานที่ส่งเข้าประกวดมาจากประเทศในเอเชีย เช่น จีนและประเทศไทย ในปัจจุบัน ประมาณครึ่งหนึ่งของผลงานมาจากไต้หวัน และอีกครึ่งหนึ่งมาจากทั่วโลก เราหวังว่า Golden Pin Design Award จะได้รับการยอมรับในระดับเดียวกับรางวัลออกแบบสำคัญอื่นๆ เช่น Red Dot Award และ iF Design Award ทุกวันนี้เรามีผลงานที่ส่งเข้าประกวดประมาณ 3,000 ชิ้น เทียบกับ iF Design Award ที่มีประมาณ 6,000 และ Red Dot Award ที่มีประมาณ 8,000 จุดมุ่งหมายสูงสุดของเราคือ วันหนึ่งรางวัล Golden Pin Design Award จะสามารถสร้างอิทธิพลไม่เพียงแต่ในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่ในระดับโลกด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ตอนนี้เราต้องทำงานหนักขึ้น การเดินทางนี้ยังอีกยาวไกลครับ
อย่างในส่วนของงาน Taiwan Design Week (TDW) หลายปีที่แล้ว เราเคยมีกิจกรรมที่คล้ายกันชื่อ ‘Taiwan Designers Week’ ซึ่งจัดโดย Taiwan Designers’ Web แต่มันเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นมาก ในปัจจุบัน TDRI ได้สร้างแบรนด์ใหม่ให้กิจกรรมนี้ ให้วิธีการและการวางตำแหน่งทางการตลาดแบบใหม่ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้งาน Taiwan Design Week เปลี่ยนจุดมุ่งหมายของการจัดงานไปที่ระดับนานาชาติ และพุ่งเป้าไปที่การเชื่อมโยงการออกแบบของไต้หวันกับเวทีโลก การเปลี่ยนแปลงนี้รวมถึงการทำให้งานนี้สามารถดึงดูดคณะกรรมการและวิทยากรจากหลายประเทศให้เข้าร่วม เพื่อจะได้นำพาเหล่านักออกแบบและผลงานของพวกเขาไปสู่การเป็นที่รู้จักในระดับโลก
art4d: เกี่ยวกับโปรแกรม ‘art4d PINNED PLACED’ ของเรา ที่นำกลุ่มคนที่มีความสนใจงานออกแบบจากประเทศไทยมาทำความรู้จักงานออกแบบไต้หวันให้มากกว่าเดิม คุณมีความคาดหวังอย่างไรต่อโปรแกรมนี้และศักยภาพของมันในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและไต้หวัน?
OL: ผมรู้สึกขอบคุณแล้วก็ยินดีสำหรับการริเริ่มพาบุคคลที่สนใจในงานออกแบบมาที่นี่ TDRI หวังเสมอว่าจะสามารถเชื่อมโยงชุมชนออกแบบในเอเชีย โดยเฉพาะระหว่างประเทศไทยและไต้หวัน ผมเชื่อว่าโปรแกรมนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับจุดมุ่งหมายนั้นนะครับ เมื่อผู้เข้าร่วมโครงการกลับไป พวกเขาอาจจะสามารถมองเห็นความเป็นไปได้และโอกาสต่างๆ ในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและงานออกแบบไต้หวันและไทยได้
นอกจากนี้ โครงการยังอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการร่วมมือในอนาคต เช่น นักออกแบบผลิตภัณฑ์ไทยสามารถร่วมมือกับนักออกแบบกราฟิกไต้หวันในการสร้างนวัตกรรมทางการออกแบบใหม่ๆ ให้กับตลาดโลก ไม่มีอะไรดีไปกว่าโอกาสในการเข้าใจคุณค่าของประเทศอื่นๆ และการค้นพบโอกาสในการร่วมมือ เพื่อที่จะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมออกแบบไปด้วยกัน