THEMATIC PAVILION: WILSONART X PBM

Wilsonart x pbm thematic pavilion

บูธ Thematic Pavilion ของ Wilsonart ที่ได้ pbm มาออกแบบ ถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงานสถาปนิก’ 67 โดยมีวัตถุประสงค์คือการนำเสนอความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ผ่านผลงานรูปลักษณ์คล้ายเกลียวเคลื่อน

TEXT: WARUT DUANGKAEWKART
IMAGE COURTESY OF PBM EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

อีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจภายในงานสถาปนิก’ 67 คือ Thematic Pavilion จาก Wilsonart ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับ pbm โดยทาง Wilsonart นั้นได้มีประสบการณ์ในการออกบูธมาอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันเอง ก็มองหาพื้นที่ที่จะบอกเล่าผลงานรวมไปถึงการทำงานร่วมกันกับ AICA Group ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันทั้งในเชิงของผลิตภัณฑ์ และ ในนามบริษัทด้วย ในงานสถาปนิกครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการเปิดตัวของแบรนด์ที่ทำงานร่วมกันภายใต้พื้นที่ Thematic Pavilion โดยเลือกจับมือกับสถาปนิกอย่าง pbm ที่มีความชำนาญทั้งงานออกแบบภายใน และ ภายนอก ซึ่งตอบโจทย์กับวัสดุของทางแบรนด์ที่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ทั้ง 2 แบบ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานครั้งนี้

Wilsonart x pbm

(ซ้ายไปขวา) ภาสกร อัศวรุจานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท วิลสันอาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด, กังวานสิริ เตชะวณิช และ จารุพัฒน์ วิจิตร์ตราภัทร์ จาก pbm | Photo: Worapas Dusadeewijai

โจทย์ของแบรนด์ที่ต้องการจะบอกเล่าคือ design variety ความหลากหลายของสีสันและลวดลายของผลิตภัณฑ์ที่เป็นลามิเนตเพื่อเป็นทางเลือกให้กับสถาปนิกในการนำไปใช้งาน อีกประเด็นหนึ่งคือการเป็น Total Solution Services ที่ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณสมบัติที่มากกว่าความงาม มีเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสมต่างๆ เข้ามาด้วย ซึ่งในส่วนของงานออกแบบนั้น pbm ได้นำโจทย์ไปพูดคุย และทำงานร่วมกันด้วยความอิสระ เป็นเสมือนทีมเฉพาะกิจที่สนใจในการทำ Thematic Pavilion นี้ ถือเป็นการทดลองรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่ไม่ได้แบ่งแยกว่างานนี้จะต้องเป็นสถาปนิกหรืออินทีเรียแต่เพียงเท่านั้น จึงเกิดแนวความคิดที่หลากหลายและน่าสนใจเพื่อนำไปต่อยอดในการทำงาน

Wilsonart x pbm

สำหรับแนวความคิดในการออกแบบเริ่มต้นมาจากการศึกษาจากแบรนด์ แล้วนำความหลากหลายที่มีอยู่มาสร้างให้เกิดขึ้นเป็นโลกที่ความหลากหลายนั้นเข้ามาหลอมรวมกันตามโจทย์ ทั้งการหลอมรวมกันของแบรนด์ การหลอมรวมกันของวัสดุ จนเกิดเป็นการหลอมรวมกันของผู้คนภายในพื้นที่ pavilion นี้ จนนำไปสู่การวางผังของพื้นที่ การจัดวางองค์ประกอบ รวมถึงออกแบบประสบการณ์การเดินต่างๆ ให้มีความผสมผสาน ค่อยๆ หลอมรวมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างมุมมองให้ผู้เข้าชมนั้นเห็นภาพที่ถูกออกแบบมาแล้วว่าพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร ความสูง ความต่ำ มุมนี้เห็นอะไร ต้องการสื่ออะไร มุมไหนสวยยังไง ผ่านการออกแบบ user experience ให้แต่ละทางเข้านั้นมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน รับรู้ในภาพที่เกิดขึ้นตรงหน้า รวมไปถึงการออกแบบประสบการณ์นี้จะช่วยให้สามารถจัดวางฟังก์ชันต่างๆ ตามจุดที่ออกแบบเพื่อให้คนเข้าถึง ได้รับข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดขึ้นภายในบูธ

Wilsonart x pbm

วัสดุที่เลือกนำมาใช้ภายในบูธนั้นเป็นแผ่นลามิเนตตัวอย่างที่โดยปกติแล้วจะเป็นวัสดุตัวอย่างที่ให้ลูกค้า หรือสถาปนิกผู้ออกแบบใช้เลือกในการทำงาน pbm เล็งเห็นถึงความน่าสนใจที่ความหลากหลายของตัวอย่างนั้น สามารถนำมาร้อยเรียงให้เกิดเป็นเสมือนเกลียวคลื่นที่ลื่นไหลภายในสเปซได้ ซึ่งแต่ละชนิดของวัสดุ หรือ เฉดสี ก็จะถูกจัดกลุ่มให้ไล่เรียงและแบ่งแยกออกตามโซนต่างๆ กระจายตัวออกเป็น pixel รวมไปถึงการซ่อนลูกเล่นอย่างลามิเนตใสให้กระจายไปทั่วพื้นที่ ซึ่งเมื่อรวมกับการเล่นระดับของพื้นที่โดยรอบ และฝ้าด้านบนแล้ว ก็ทำให้ความรู้สึกของพื้นที่ภายในนั้นมีความเคลื่อนไหว สอดคล้องไปกับแนวความคิดที่ต้องการหลอมรวมสเปซเข้าไว้ด้วยกันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งในแง่ของการใช้วัสดุนั้น ยังสามารถที่จะนำกลับมาใช้ได้ใหม่ หรือนำไปใช้งานเป็นตัวอย่างต่อไปได้ในอนาคต เป็นการคำนึงถึงทรัพยากรไปด้วยอีกทางหนึ่ง

Wilsonart x pbm work

จากพื้นที่ที่สร้างบรรยากาศโดยรอบ มาสู่ฟังก์ชันต่างๆ ที่ถูกแบ่งออกเป็น experience space และ event space มีพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่ Design for you & Design by you ที่สามารถนำแผ่นลามิเนตมาเลือกจับคู่สี เพื่อทดลองได้ ซึ่งผู้เข้าชมสามารถมาทดลองได้ด้วยตัวเอง ที่เป็นเสมือนจุดเด่นที่สำคัญในบูธของ Wilsonart มีพื้นที่ห้องเก็บของที่ใช้แผ่นลามิเนตขนาดใหญ่เข้ามาเพื่อสร้างมุมมองที่ต่างออกไป รวมไปถึงด้านบนของโครงสร้างทั้งหมดก็เป็นลามิเนต mirror ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ภายในบูธ

THEMATIC PAVILION: WILSONART X PBMTHEMATIC PAVILION: WILSONART X PBMTHEMATIC PAVILION: WILSONART X PBM

สำหรับ Thematic Pavilion นี้ นอกเหนือจากแนวความคิดในการออกแบบ กระบวนการพัฒนา ไปจนถึงการก่อสร้างบูธขึ้นมานั้น ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือการทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกและผู้ผลิต ที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องคำนึงถึงทั้งในแง่ของงานออกแบบเพื่อความสวยงาม และการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งทั้งสองส่วนอาจดูแตกต่างกัน แต่หากได้นำมาพูดคุยกันจนเกิดเป็นพื้นที่ตรงกลางที่ทั้งสองไอเดียได้มาหลอมรวมกันแล้วนั้น ความน่าสนใจของงานออกแบบและการใช้วัสดุจะถูกยกขึ้นไปอีกระดับอย่างแน่นอน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าจับตามองภายในงานสถาปนิก’ 67 นี้

wilsonart.co.th
pbm.co.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *