THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE]

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE] review

ศิลปินฝาแฝด Zeharn และ Zeherng บันทึกความทรงจำของห้าง Peace Centre ในสิงคโปร์ที่ปิดตัวลง ผ่านมุมมองที่พิสดารต่างจากคนอื่น นั่นคือจากสายตาของคนหรือตัวการ์ตูนในโปสเตอร์โฆษณา

TEXT & PHOTO: PRATCHAYAPOL LERTWICHA

(For English, press here)

Lim Zeharn and Lim Zeherng
2023
Comb bound
14.8 x 21 cm
218 pages

คงเป็นเพราะสถาปัตยกรรมยากที่จะจำลองออกมาในสเกล 1 ต่อ 1 อย่างเช่นงานประติมากรรม งานจิตรกรรม หรือ product design ภาพถ่ายเลยเป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการเก็บบันทึกตัวตนของสถาปัตยกรรม และเมื่อสถาปัตยกรรมถึงเวลาโบกมือลา ภาพถ่ายยิ่งมีความสำคัญแบบทวีคูณ เพราะภาพถ่ายจะช่วยเก็บบันทึกรายละเอียดและความทรงจำที่ห่อล้อมอาคาร เป็นดั่งวิญญาณที่หลงเหลือในวันที่สิ่งปลูกสร้างไม่ได้อยู่บนโลกอีกต่อไป

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE] review

Peace Centre เป็นห้างสรรพสินค้าห้างแรกๆ ที่เปิดตัวหลังสิงคโปร์ได้รับเอกราช ตอนที่ห้างเปิดทำการในเดือนธันวาคม ปี 1974 Peace Centre คือสัญลักษณ์ของความล้ำหน้าทันสมัย ถ้าอยากมาเล่นโบว์ลิ่งในลานโบว์ที่ใหม่ที่สุดและใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ก็ต้องแวะมาที่นี่ แต่พอเวลาผ่านไป ภาพของ Peace Centre พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ห้างปรับตัวตามห้างสรรพสินค้าใหม่ๆ ไม่ทัน สภาพภายในเริ่มขะมุกขะมอมซอมซ่อ จากห้างอันฟู่ฟ่า Peace Centre ก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งร้านปรินต์ราคาถูกและเล้าจ์คาราโอเกะที่ส่งเสียงโหยหวนไปทั่วอาคาร

ถึงภาพลักษณ์ช่วงหลังจะไม่สู้ดี แต่ Peace Centre ยังคงเป็นอาคารในความทรงจำของชาวสิงคโปร์ เมื่อห้างถูกขายและกำหนดปิดตัวลงในปี 2024 ศูนย์ศิลปะการถ่ายภาพ DECK จึงเชิญชวนนักสร้างสรรค์มาร่วมสร้างนิทรรศการและผลงานในพื้นที่ Peace Centre โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Singapore Art Week ปี 2023 Zeharn & Zeherng ฝาแฝดคู่หูนักสร้างสรรค์ชาวสิงคโปร์คือหนึ่งในศิลปินที่ตอบรับเข้าร่วม และผลงานที่ทั้งสองฝากไว้คือหนังสือภาพถ่ายบันทึกบรรยากาศของห้างในชื่อ Through their Eyes [Peace Centre]

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE] review

เมื่อพูดถึงการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เรามักจะนึกถึงภาพถ่ายอันเกลี้ยงเกลาที่ฉายไปยังห้องหับด้านใน รูปโฉมอาคารอันงดงาม façade อาคารแต่ละด้าน ซึ่งช่วยให้เราเห็นทรวดทรงอาคารและบริบทที่แวดล้อมตัวมันอยู่ แต่ภาพ Peace Centre ในหนังสือเล่มนี้กลับมีมุมมองแปลกประหลาดเหนือความคาดหมาย

ในแต่ละคู่หน้าหนังสือประกอบด้วยภาพถ่ายสองประเภทที่วางควบคู่กันตลอด อย่างแรกคือภาพถ่ายมุมมองพิสดาร เดี๋ยวก็ผนังเปล่า เดี๋ยวก็ฝ้าเพดานที่เผยอออก อีกรูปคือคนตามโปสเตอร์โฆษณาหรือไม่ก็การ์ตูนมากหน้าหลายตาบนฝาผนัง ภาพถ่ายอันพิลึกกึกกือเกิดจากการเอากล้องถ่ายภาพโทรศัพท์มือถือไปแนบกับดวงตาของคนบนโปสเตอร์หรือตัวการ์ตูน แล้วถ่ายออกมาเป็นภาพที่คนในโฆษณาจดจ้องทุกเมื่อเชื่อวัน

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE] review

“ตอนที่มีการประกาศออกมาว่า Peace Centre ถูกขายเพื่อการพัฒนาใหม่ สื่อให้ความสนใจส่วนใหญ่ไปกับผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบ” Zeharn & Zeherng คลี่คลายที่มาของโปรเจ็กต์ให้ฟัง “ถึงเราจะเห็นใจกับสภาวะอันยากลำบากของผู้คน แต่เรารู้สึกว่าเรื่องราวของ Peace Centre ที่น่าสนใจและไม่ค่อยถูกพูดถึงก็คือ คาแร็กเตอร์อันโดดเด่นของอาคารที่นอกเหนือไปจากโครงสร้างกายภาพ ตั้งแต่กระเบื้องปูพื้นที่น่าจดจำ ราวกันตกไม้ หรือกำแพงสีเขียวพาสเทลที่ซีดเซียว”

“และสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับเราคือบรรดาโปสเตอร์ในตึกที่มีภาพวาดและใบหน้าที่ดูอวดโอ้เกินจริง สำหรับเรา องค์ประกอบเหล่านี้ไม่ใช่แค่ของตกแต่ง แต่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่มอบชีวิตให้กับพื้นที่ที่ดูน่าเบื่อ ของเหล่านี้สมควรถูกจดจำในฐานะผู้พำนักในห้างด้วยเหมือนกัน”

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE] review

ไม่ใช่โครงสร้างตึก ไม่ใช่ผู้คน วัสดุ ข้าวของสิ่งละอันพันละน้อยต่างหากที่ Zeharn & Zeherng สนใจ ภาพที่แสดงออกจึงจดจ่ออยู่ที่รายละเอียดสิ่งของใน Peace Centre และหากย้อนไปถึงที่มาของภาพ จะเห็นว่าพวกเขายกสิ่งของให้เป็นพระเอกตั้งแต่กระบวนการทำงานเลยด้วยซ้ำ แทนที่จะถ่ายภาพผ่านสายตาของตัวเอง พวกเขาถอยตัวเองออกมา แล้วปล่อยให้คนในโปสเตอร์และบรรดาตัวการ์ตูนเป็นเจ้าของมุมมอง ภาพที่เห็นจึงเป็นภาพที่สิ่งของมองไปยังสิ่งของด้วยกันเอง ไม่แปลกใจที่มุมมองจะแปลกประหลาดเกินกว่าคนเดินห้างทั่วไปจะได้เห็น อย่างเช่น ภาพเอียงมุมเสยที่ดูฝ้าเพดานอันผุพัง ภาพถ่ายแนบพื้น บางทีคนในโปสเตอร์ก็ทอดสายตาออกไปนอกอาคาร มองไปยังท้องฟ้าอันว่างเปล่าและต้นไม้เขียวขจีรายรอบที่แสนธรรมดาและไม่ได้น่าจดจำ

แล้วคุณค่าของการเก็บภาพที่ดูไม่มีความหมายอย่างฝ้ายิปซัมผุพัง กำแพงผืนเปล่า คืออะไร อย่างน้อย มันบ่งบอกชีวิตความเป็นไปในตึกอย่างจริงใจ ผ่านคราบเกรอะกรังหรือร่องรอยที่แนบติดวัสดุเหล่านั้น รอยเทปที่แปะซ้ำซ้อนบนฝ้าน่าจะเป็นการต่อกรแบบบ้านๆ กับน้ำที่รั่วซึม บ่งบอกถึงความโชกโชนที่ตึกพบเจอตลอดระยะเวลายาวนาน รายละเอียดเหล่านี้คงโดนมองข้ามและไม่ชูโรงเป็นพระเอกบนภาพถ่ายสถาปัตยกรรมสายตาคน

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE] review

ภาพถ่ายเช่น ราวกันตกไม้ พื้นกระเบื้อง เป็นบทบันทึกถึงดีเทลวัสดุที่ประกอบร่างกันเป็นบรรยากาศในอาคาร จากการพัฒนาเมืองในสิงคโปร์ที่เร่งรุดไปอย่างก้าวกระโดด ตึกเก่าถูกแทนที่ด้วยตึกใหม่ตลอดเวลา ดีเทลเหล่านี้อาจเป็นดีเทลที่ยากจะพบเจอในอนาคต เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมชั้นดีของสิงคโปร์ อาจฟังดูเกินจริง แต่ขนาดบ้านชั้นเดียวกรุฝาไม้หลังคามุงสังกะสีที่เจอได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ยังกลายเป็นของหายากในสิงคโปร์ มีเหลือให้เห็นต่างหน้าไม่กี่ที่ เช่นใน Kampung Lorong Buangkok หรือ Pulau Ubin หมู่บ้านบรรยากาศชนบทไม่กี่แห่งในสิงคโปร์ที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปเสียแล้ว มุมมองที่มองทอดไปด้านนอกบันทึกบริบทและหมู่มวลบรรยากาศที่ห่อล้อมอาคารไว้อย่างตรงไปตรงมาและไร้เดียงสา เช่นเดียวกันกับตึก ภาพธรรมดาสามัญเหล่านี้อาจจะไม่มีให้เห็นในอนาคตก็ได้

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE] review

เมื่อเลือกแสดงเพียงภาพคนในโปสเตอร์แบบโคลสอัพและภาพที่คนในโปสเตอร์เห็น ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นคือคนอ่านอาจรู้สึกหลงทิศหลงทาง ไม่รู้ว่าภาพโฆษณาเหล่านั้นทอดสายตาไปทางไหน และโปสเตอร์นั้นอยู่แห่งหนใดของห้อง การจัดเรียงภาพในกริด 2×2 คือวิธีอันชาญฉลาดในการบอกใบ้ข้อมูลและเติมมิติความเป็นสเปซบนแผ่นหนังสือเรียบแบน เมื่อภาพนางแบบอยู่ทางขวาล่าง แต่ภาพบรรยากาศอยู่ซ้ายบน เราพออนุมานได้ว่านางแบบมองเฉียงไปด้านบนของตัวเอง การจัดวางสองรูปที่ช่องกริดด้านบน ก็ขับเน้นว่ามุมมองที่เห็นเป็นมุมมองเหนือระดับสายตา

หนังสือพิมพ์ลงบนกระดาษเนื้อธรรมดาไม่วิเศษวิโส หน้าปกคลุมด้วยแผ่นกระดาษใสและเข้าเล่มด้วยสันกระดูกงูอันดาษดื่น มองผิวเผินอาจคิดว่าหนังสือทำมาอย่างลวกๆ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น Zeharn & Zeherng นำหนังสือไปผลิตที่ร้าน Ho Services ร้านพิมพ์และถ่ายเอกสารที่เปิดบริการมายาวนานที่สุดของ Peace Centre เพื่อสะท้อนตัวตนห้างระยะหลังของ Peace Centre ในฐานะแหล่งร้านปรินต์ราคาย่อมเยาว์ตั้งแต่กระบวนการผลิต

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE] review

การเก็บภาพจำสถาปัตยกรรมนั้นทำได้มากมายหลายมุมมองไม่รู้จบ สำหรับ Through their Eyes [Peace Centre] การถ่ายโอนสายตาไปให้สิ่งของ คือการเผยมุมมองที่มนุษย์ธรรมดาละเลย เปิดพื้นที่ให้สิ่งของไร้คุณค่า ดีเทลไร้ความหมาย ซึ่งใครจะไปรู้ว่าในอนาคต มันอาจจะเป็นมรดกความทรงจำอันล้ำค่าก็ได้

facebook.com/zeharn.zeherng

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *