Tag: photography
PHOTO ESSAY : GEOMETRIC FORMS IN URBAN ARCHITECTURE
TEXT & PHOTO: PUTTIPONG NIPATUTIT
(For English, press here)
รูปทรงเรขาคณิตกับงานสถาปัตยกรรมในเมืองผ่านมุมมองฟิล์ม
สถาปัตยกรรมในเมืองเต็มไปด้วยรูปทรงเรขาคณิตที่สะท้อนถึงโครงสร้างและแนวคิดการออกแบบของแต่ละยุคสมัย เส้นสายของอาคารมักเรียบง่าย แต่กลับแฝงด้วยมิติของแสง เงา และสีสันที่ทำให้เกิดอารมณ์ที่แตกต่าง
การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มช่วยเสริมเสน่ห์ให้กับองค์ประกอบเหล่านี้ด้วยโทนสีที่เป็นธรรมชาติ เนื้อฟิล์มช่วยให้ภาพดูมีมิติ นุ่มนวล และจับอารมณ์ของสถานที่ได้เป็นพิเศษ ฟิล์มยังมีข้อจำกัดด้านจำนวนภาพ ทำให้ผมต้องใส่ใจกับองค์ประกอบในแต่ละเฟรมมากขึ้น
ในภาพสถาปัตยกรรม เมืองอาจถูกลดทอนให้เหลือเพียงรูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือเส้นโค้งที่เรียบง่าย แต่เมื่อมองผ่านเลนส์ของกล้องฟิล์ม สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องราวของแสงและเงาที่เคลื่อนไหวไปตามเวลา ถ่ายทอดความงามของเมืองที่คงอยู่เหนือกาลเวลา
___________________
พุทธิพงศ์ นิพัทธอุทิศ (แอมป์) เจ้าของโรงพิมพ์ดิจิตอลเล็กๆ ที่ชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ
PHOTO ESSAY : HONG KONG SOLITAIRE
TEXT & PHOTO: PATRICK KASINGSING
(For English, press here)
ฮ่องกงทำให้ฉันประทับใจอย่างที่ไม่มีเมืองไหนทำได้ ตั้งแต่การเยือนครั้งแรกในปี 2017 จนถึงการแวะเยี่ยมเยียนครั้งล่าสุดเมื่อกันยายนที่ผ่านมา พื้นที่เพียง 1,108 ตารางกิโลเมตร อันเต็มไปด้วยความแตกต่างนี้ยังคงชวนให้ฉันกลับไปตลอด การเดินทางกลับมาทุกครั้งราวกับเป็นการค้นพบเรื่องราวครั้งใหม่อยู่เสมอ อะไรที่คุ้นเคยก็กลับมีบางอย่างแตกต่างไปตลอดเวลา มันเป็นดินแดนที่หอคอยกระจกและเหล็กตั้งสูงตระหง่านเหนือถนนหนทาง ขณะเดียวกันก็ยังคงตัวตนและจิตวิญญาณของช่วงเวลาที่แตกต่าง บนที่แห่งนี้ “นครหลวงของโลกเอเชีย” ค่อยๆ ละลายลงเป็นร่องรอยแห่งอดีตของการเป็นเมืองท่าที่รู้จักกันในนาม Fragrant Harbor
ฮ่องกงอื้ออึงไปด้วยความเร่งรีบ มันเร็ว อึกทึก และไม่หยุดยั้ง แต่ในบางครั้งคราว มันก็หยุดนิ่ง หายใจลึก และเผยโฉมด้านที่เงียบสงบ อันเป็นช่วงเวลาอันหาได้ยากที่ฉันต้องการบันทึกไว้ในภาพชุดนี้ ร่างของบุคคลเดียวดายยืนอยู่ใต้เงาตึกระฟ้า หญิงสวมชุดเขียวที่ตกอยู่ในห้วงความคิดตนเองริมถนน Avenue of Stars หรือถนนของเขตเยาวมาไตที่ค่อยๆ ตื่นขึ้นในยามรุ่งเช้า ช่วงเวลาเงียบสงบเหล่านี้ ซึ่งแทบจะถูกมองข้ามท่ามกลางความเร่งรีบของเมือง กลับเป็นสิ่งที่ฉันมักจะสนใจ เป็นรายละเอียดเล็กอันแท้จริงของมนุษย์ที่ซึ่งสะท้อนและก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นตัวตนของฮ่องกง
___________________
แพทริก คาซิงซิง (Patrick Kasingsing) เป็นผู้อำนวยการศิลป์ ช่างภาพ นักเขียน และนักอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมชาวฟิลิปปินส์ เขาก่อตั้งแพลตฟอร์ม @brutalistpilipinas และ @modernistpilipinas เพื่อเฉลิมฉลองมรดกทางสถาปัตยกรรมของประเทศ และเริ่มต้น Kanto.PH นิตยสารออนไลน์ที่นำเสนอการออกแบบและวัฒนธรรมในฟิลิปปินส์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขายังเคยเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของนิตยสารสถาปัตยกรรม BluPrint ที่ช่วยฟื้นฟูอัตลักษณ์องค์กร รวมถึงควบคุมการออกแบบสร้างสรรค์สำหรับสิ่งพิมพ์ของ One Mega Group หลายฉบับ ในฐานะผู้อำนวยการศิลป์ของนิตยสาร adobo เขาได้รับรางวัล Philippine Quill จากผลงานการปรับภาพลักษณ์ ผลงานเขียนและภาพถ่ายของเขายังปรากฏในสิ่งพิมพ์ต่างๆ อาทิ Birkhäuser Verlag, Braun, DOM Publishers, PURVEYR และ Vogue Philippines
PHOTO ESSAY : THE CITY’S COLORS: BANGKOK
TEXT & PHOTO: JULACHART PLEANSANIT
(For English, press here)
กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีความสนุกสนานที่สุดในโลก เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย วัฒนธรรมหลากหลาย และบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ โดดเด่นก็คือสีสันที่สดใส ทำให้เมืองนี้โดดเด่น มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งกลางวันและกลางคืน
สีสันในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญ ในการสร้างบรรยากาศและเอกลักษณ์ของเมืองอีกด้วย สีสันของเมืองนี้ปรากฏให้เห็นอย่างสดใสในทุกที่ ทั้งตามป้ายโฆษณา ผ้าใบกันสาด ยานพาหนะ แฟชั่น แม้กระทั่งอาคารบ้านเรือนและผู้คน อีกทั้งสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงินนั้น โดดเด่นจนสามารถพบเห็นอยู่ทั่วทั้งเมือง เมื่อได้ผสมผสานอยู่ท่ามกลางสีอื่นๆ จึงทำเมืองนี้ มีสีสันที่พิเศษกว่าเมืองไหนๆ
ในการถ่ายภาพแนวสตรีท สีสันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบแรกๆ ที่ผมมองหา เพราะสามารถสร้างภาพ ที่โดดเด่นขึ้นมาได้ เมื่อรวมกับการจัดองค์ประกอบที่เหมาะสม สีสันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องราว ในภาพน่าสนใจยิ่งขึ้น
ภาพถ่ายชุดนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้สีสันที่โดดเด่น ขณะเดียวกันยังสะท้อนความเป็น ‘street’ แบบไทย ที่มีเอกลักษณ์ ภาพแต่ละภาพ สะท้อนให้เห็นถึงการใช้สีสันของกรุงเทพฯ เพื่อสร้างบรรยากาศ และแต่งแต้มเรื่องราวให้เมืองนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวา
___________________
จุฬชาติ เปลี่ยนสนิท เป็นสถาปนิกและนักออกแบบอีเวนต์ event designer เมื่อประมาณปีที่แล้ว เขาได้เริ่มเดินถ่ายภาพสตรีทอย่างจริงจัง ระหว่างทาง เขาจะพยายามมองสิ่งรอบตัว ผ่านมุมมองของตนเอง โดยเชื่อว่าทุกสถานที่มีมุมมองที่ซ่อนอยู่เสมอ มันเหมือนกับการล่าสมบัติ ที่เขาเพียงแค่พยายามค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในที่ที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม
WUTHIPOL UJATHAMMARAT
สนทนากับ วุฒิพล อุจจธรรมรัตน์ ศิลปินสิ่งพิมพ์อิสระและนักออกแบบการสื่อสาร ที่ถูกจดจำในฐานะเจ้าของผลงานภาพถ่ายสีสันฉูดฉาดซึ่งมักกระตุ้นให้ผู้คนฉุกคิดและถกถามต่อสิ่งที่ปรากฏในภาพถ่ายของเขาอยู่เสมอ
PHOTO ESSAY : THE FABRIC OF SOCIETY
TEXT & PHOTO: BARRY MACDONALD
(For English, press here)
‘The Fabric of Society’ หรือ แปลเป็นภาษาไทย ‘ผืนผ้าของสังคม’ เป็นคำที่ใช้เปรียบเปรยในภาษาอังกฤษ หมายถึงโครงสร้างพื้นฐาน ความสัมพันธ์ ที่เชื่อมโยงที่ยึดถือสังคมไว้ด้วยกันเหมือนกับผ้าที่ทำจากเส้นด้ายแต่ละเส้นที่ถูกถักทอเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นผืนเดียว ‘ผืนผ้าของสังคม’ ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ เช่น ค่านิยมร่วมกัน บรรทัดฐาน กฎหมาย สถาบัน และวัฒนธรรมที่ผูกพันบุคคลและกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผืนผ้าผืนเดียวกัน
ผ้าใบ (ผ้าใบพลาสติกแถบสีน้ำเงินขาว) ภาพจำที่ทำให้เรานึกถึงเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นแรงงาน แต่อันที่จริงแล้วชีวิตของทุกคนต่างมีส่วนที่ข้องเกี่ยวกับผ้าใบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในอาหารทุกๆ มื้อที่เราทาน ถูกปลูก ตาก จับ ส่งขาย จนประกอบเป็นอาหาร ต่างล้วนมีผ้าใบเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการไม่มากก็น้อย อาคารที่ปลูกสร้างต่างต้องเคยใช้ผ้าใบมาแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในงานก่อสร้าง งานประปา และงานไฟฟ้าต้องพึ่งพาวัสดุอเนกประสงค์นี้ หรือแม้กระทั่งสิ่งของทุกอย่างที่เราซื้ออาจใช้ผ้าใบในการขนส่ง, การเก็บรักษา หรือแม้แต่การสร้างแผงขายของตลาด ปูพื้น ทำโต๊ะ มุงหลังคา และอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของไร้ราคาบนท้องถนน หรือไปจนถึงพระพุทธรูปที่มีค่าที่สุดในวัด ผ้าใบถูกเชื่อถือในการปกป้องรักษา ดูแลสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด
ภาพชุดนี้มองดูแล้วอาจจะเกี่ยวกับผ้าใบ แต่หากมองลึกลงไปแท้จริงแล้วผ้าใบสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับสังคมได้ในหลายมิติ เราจะเห็นถึงมิติแห่งกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ทุกคนต่างใช้ผลิตภัณฑ์เดียวกัน จากแหล่งที่มาเดียวกัน มิติเชิงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของการผลิตพลาสติกจำนวนมาก รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยในการดัดแปลงวัสดุให้เป็นรูปแบบและการใช้งานใหม่ๆ ไปจนถึงการสะท้อนเห็นปัญหาแรงงานข้ามชาติและอาชีพที่พวกเขาทำในประเทศไทย ที่พวกเขาบางคนอาศัยอยู่ในที่ที่สร้างขึ้นด้วยผ้าใบ
ชวนให้ตั้งคำถามว่า หากไม่มีผ้าใบ ประเทศจะยังคงสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หรือผ้าใบคือสิ่งที่แสดงออกถึง ‘ผืนผ้าของสังคม’ ในรูปธรรมที่แท้จริง
___________________
แบร์รี แมคโดนัลด์ (เกิดปี 2527) เป็นช่างภาพอิสระจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มต้นถ่ายภาพนักดนตรีและค้นพบความสนุกสนานในการเดินทางจากการไปทัวร์กับวงดนตรีทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา งานของเขาพัฒนามาเป็นการผสมผสานระหว่างการถ่ายภาพแนวสตรีทและสารคดี เขาสนใจสังคมวิทยาและพยายามมองวัฒนธรรมและธรรมชาติของมนุษย์ผ่านการถ่ายภาพของเขา เขาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2565
PHOTO ESSAY : CLUSTERED OF PATTERNS
TEXT & PHOTO: JUTI KLIPBUA
(For English, press here)
กลุ่มมวลของลวดลาย
การตกแต่งในสถาปัตยกรรมไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น การใส่รายละเอียดอาจมองเป็นเพียงงานตกแต่งเพื่อแสดงความวิจิตรงดงาม แต่ส่วนตัวของผมนั้นการสนใจรายละเอียดเหล่านี้ ในฐานะที่ทำหน้าที่ลดทอนสัดส่วนของอาคาร ลดความแข็งทื่อของจังหวะการปะทะกันของส่วนประกอบต่างๆ ผมเริ่มสนใจถ่ายภาพรายละเอียดส่วนต่างๆของอาคารเหล่านี้เก็บไว้เมื่อมีโอกาส ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสมัยเรียนสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคนั้นช่างน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักศึกษาอย่างเรา สถาปัตยกรรมไทยที่เห็นตามวัดวาที่ผ่านตามาตั้งแต่เด็กจนโตไม่อยู่ในความสนใจเท่าไรนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากประสบการณ์การทำงานและการเดินทาง ได้ขัดเกลาส่งผลต่อความเข้าใจในความงามและเชิงการช่างและงานฝีมือมีมากขึ้น ยอมรับเลยว่ากล้องของผมก็เต็มไปด้วยภาพถ่ายการย่อมุม ขอบหน้าต่าง การติดกระจกสี และรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมไทยและจนขยายไปถึงของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ที่ได้มีโอกาสไปเยือนมากมาย
ผมชอบที่วิธีการถ่ายเจาะและอัดจังหวะให้รายละเอียดเหล่านี้อยู่ในเฟรมเดียวกันโดยไม่ได้เสนอให้เห็นภาพใหญ่ของอาคารมากนัก หลายๆ ครั้งรายละเอียดเหล่านี้ก็กลายเป็นรูปทรงของสถาปัตยกรรมด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่นเหมือนขอบของแถวอาคารวัดวาโบราณต่อเนื่องกันเป็นแถวๆ และให้มุมมองคล้ายกับลวดลายผ้าหรือ graphic design ที่เป็นเอกลักษณ์ของช่วงยุคนั้นๆ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่องานออกแบบของผมเอง ไม่ว่าจะการใช้ pattern หรือ scale ต่างๆ กันอย่างตรงไปตรงมาหรือลดทอนนำเฉพาะสันหรือเส้นขอบบางส่วนไปใช้ทั้งในงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน และงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของ JUTI architects สิ่งที่เห็นจนชินตาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นสิ่งที่เราอยากจะสานต่อ ถ่ายทอดลงไปในสถาปัตยกรรมในยุคสมัยปัจจุบัน รายละเอียดที่เมื่อก่อนในความคิดว่าเป็นเพียงความวิจิตร ปัจจุบันสำหรับผม คือ จังหวะสัดส่วน และคุณค่าเชิงการช่างและศิลปะที่ร่วมสมัยอันงดงาม
___________________
จุติ กลีบบัว ผู้ก่อตั้งและ design director ของบริษัท จุติ อาร์คิเท็คส์ จำกัด (JUTI architects) นอกเหนือจากความสนใจในงานสถาปัตยกรรมตามสายงานอาชีพแล้วยังมีความสนใจในงานออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบรถยนต์ และภาพถ่าย ปัจจุบันงานอดิเรกที่ใช้เวลาส่วนใหญ่คือการถ่ายภาพ และกำลังฝึกฝนให้งานภาพถ่ายออกมาในรูปแบบ abstract photography จากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นชินในวันทำงานทั่วไปของเขา เช่น ไซต์งานก่อสร้าง เมืองระหว่างรถติด ธรรมชาติรอบตัวในไซต์งานต่างจังหวัด
PHOTO ESSAY : THE ARCHITECTURE STUDIO ATLAS
TEXT & PHOTO: MARC GOODWIN / ARCHMOSPHERES
(For English, press here)
‘The Architecture Studio Atlas’ เป็นเสมือนการเข้าไปสำรวจโลกของแต่ละสตูดิโอออกแบบที่มักซ่อนตัวอยู่หลังม่าน ซึ่งเผยให้เห็นถึงกระบวนการและหลักการทำงานของพวกเขา ผ่านเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่าง 20 เมืองในยุโรป รวมไปถึงมหานครทั่วโลกอย่าง โตเกียว โซล ไทเป ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ลอสแองเจลิส ปานามาซิตี เม็กซิโกซิตี และเซาเปาโล โดยให้ความสำคัญกับแนวทางการทำงานในแต่ละสตูดิโอ ตั้งแต่สตาร์ทอัพเฉพาะทางไปจนถึงสตูดิโอสถาปนิกที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง พร้อมกับภาพของผู้คนและบรรยากาศการทำงานที่สะท้อนทั้งแง่มุมที่จริงจังและสนุกสนาน ‘The Architecture Studio Atlas’ ทำให้เรื่องของสถาปัตยกรรมนั้นเปิดกว้าง สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเสมอภาคมากขึ้น
___________________
Marc Goodwin เป็นช่างภาพสถาปัตยกรรมผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Archmospheres นักเขียน และอาจารย์ เขาเกิดในลอนดอนและปัจจุบันแบ่งเวลาใช้ชีวิตในยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของเขาในหัวข้อ ‘การถ่ายภาพ, พื้นที่สนทนาของสถาปัตยกรรม’ (architecture’s discursive space, photography) ได้ศึกษาองค์ประกอบของการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมผ่านการเปรียบเทียบกับระบบของบรรยากาศ หลังจบปริญญาเขาเดินทางไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำงานให้ลูกค้าและทำหนังสือ The Architecture Studio Atlas
PHOTO ESSAY : THE REFLECTIONS OF OUR IMAGINED REALITIES
TEXT & PHOTO: NATTAKORN CHOONHAVAN
(For English, press here)
ผมตั้งโจทย์ก่อนการเดินเท้าไปถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ ว่าจะต้องมีคำว่า ‘สะท้อน‘ และ ‘สองด้าน’ เป็นตัวตั้ง เมื่อบังเอิญเจอภาพเหตุการณ์ที่ตรงกับโจทย์ของผม ผมจึงถ่ายเพื่อบันทึกเก็บเอาไว้ แล้วค่อยนำภาพเหล่านั้นมาวิเคราะห์ถึงความหมายที่ลึกลงไป ตัวอย่างเช่น ภาพสะท้อนจากน้ำซึ่งทำให้โลกบิดเบี้ยว กลับด้านและถูกดัดแปลงไป ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีของโลกคู่ขนาน หรือภาพใบบัวที่ถูกทับซ้อนกับตึกคอนกรีต ทำให้ผมนึกถึงการที่มนุษย์เปรียบเสมือนผู้เสพบัว (Lotus Eater) ในวงจรของระบบทุนนิยม หรือภาพผีเสื้อที่โบยบินอยู่ในกรง ทำให้ผมนึกถึงอิสรภาพของมนุษย์ที่แม้จะติดอยู่ในวงจรของสังสารวัฏ แต่ก็มีจิตใจที่โบยบินและจินตนาการถึงอิสรภาพ โจทย์ตั้งต้นที่กล่าวมา ทำให้ผมนึกถึงปรัชญาต่างๆ ของการมีชีวิต ผ่านภาพของวันธรรมดาของผม
Freedom in The Cage
แม้ร่างกายของผีเสื้อจะถูกขังในกรง แต่จิตใจของมันยังโบยบินไปที่อื่นได้ เปรียบดั่งจินตนาการของมนุษย์ที่ค้นหาอิสรภาพ และความหมายของชีวิต แม้จะติดอยู่ในระบบของสังคม กฎต่างๆ มิติที่เราอยู่ และ สังสารวัฏ เราก็ยังต้องมีจุดหมาย และตามหาความหมายของชีวิตให้ได้
The Reversed World and The Lotus Eater
หมายถึง การที่เรามีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏที่ไม่มีวันสิ้นสุด และโลกคู่ขนานที่ขยายออกไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะในโลกไหน เราก็อาจกลายเป็นผู้กินบัว/ผู้เสพบัว (มาจาก Lotus Eater ในเทพนิยายกรีก คือกลุ่มคนที่กินบัวเพื่อให้ ตัวเองมีความสุข แต่จะทำให้ลืมสิ่งต่างๆ ในชีวิต) ที่คอยวิ่งตามกิเลสและความอยากได้อยากมีไม่รู้จบ หากเราไม่ตระหนักถึงแก่นแท้และความหมายของการดำรงอยู่อย่างถ่องแท้

The Other Me (s)

The Dividing between the Two Worlds
The Other Me (s) and The Dividing between the Two Worlds
ทุกครั้งที่เห็นภาพสะท้อนบนน้ำ หรือกระจก ผมจะนึกถึงมิติอื่นๆ ที่เชื่อว่ามีอยู่ในจักรวาลนี้ สองภาพนี้จึงเป็นการ สะท้อนเราในมิติอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่ามีหลายมิติมาก แต่ไม่ว่าจะอยู่ในมิติไหน เราก็ยังต้องต่อสู้ในสิ่งที่เราต้องการ และปีนไต่ขึ้นไปเพื่อไปยังจุดหมายที่เราใฝ่ฝัน รวมถึงการพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เช่นกัน
The Encounter
เป็นภาพที่มองได้หลายมุม บางคนมองว่าเหมือนรูปสมอง บางคนมองว่าเหมือนรูปปอด แต่สำหรับผมมองว่า เหมือนกับภาพคน 2 คนที่ใส่หน้ากากแล้วเผชิญหน้าเข้าหากันและกัน ซึ่งการเผชิญหน้านี้ก็แปลได้สองความหมาย อย่างแรกคือเวลาเราใส่หน้ากากเราจะเป็นใครก็ได้ที่เราอยากจะเป็น และอย่างที่สองคือเมื่อเราใส่หน้ากาก ก็เหมือนกับมีอะไรบางอย่างมากั้นหน้าเรา ทำให้เรามีพื้นที่ที่จะสื่อสัตย์กับสิ่งที่เราเป็น และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด
_____________
ณัฏฐกรม์ ชุณหะวัณ ปัจจุบันเป็น founder และ designer ของแบรนด์เครื่องประดับ Middle M Jewelry ชื่นชอบการเดินเท้าเพื่อบันทึกภาพด้วยกล้องฟิล์ม เพราะการเดินทำให้สังเกตเรื่องราวของผู้คนที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น ณัฏฐกรม์มักใช้แสง เงา หรือการสะท้อน มาเป็นองค์ประกอบในการสร้างมิติ ให้แก่ภาพที่ถ่าย องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ภาพบันทึกของวันธรรมดากลายเป็นสิ่งพิเศษ ในการ บันทึกชีวิตประจำวันของผู้คนด้วยภาพฟิล์ม ณัฏฐกรม์มักจะใส่ความรู้สึกและความหมายที่ตีความ เข้าไปในเทคนิคของมุมกล้อง ระยะ และจังหวะเสมอ
PHOTO ESSAY : A SHAPE FOR BREATHING
TEXT & PHOTO: CHATCHAWIN THANASANSUB
(For English, press here)
ช่องว่างสำหรับหายใจ
ผมได้เห็นโครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อดคิดไม่ได้ว่า สภาพแวดล้อมของเมืองยังอึดอัดคับแคบไม่พออีกหรือ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการเบียดเสียดของกลุ่มอาคาร ท้องฟ้าถูกปกคลุมจากแผ่นพื้นและเสาคอนกรีตขนาดใหญ่ของสถานีรถไฟฟ้า บ้างแทรกตัวอยู่บนถนนที่แคบจนใกล้ชิดกับอาคารบ้านเรือน บ้างคาดผ่านเกาะกลางถนนที่ไร้ต้นไม้ให้ความร่มเงา
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นหัวใจหลักของคนเมืองที่อำนวยความสะดวกสบายและรวดเร็วกว่าการรอรถประจำทาง หรือหลีกหนีจากการจราจรที่แสนสาหัส แต่ในทางกลับกันความแห้งแล้งของผืนคอนกรีตที่ตั้งตระหง่านบนท้องฟ้ากลับทำให้เกิดความรู้สึกที่กดทับและหนักอึ้ง ซึ่งเปรียบเสมือน ‘เมืองที่หายใจไม่ออก’ โดยภาพถ่ายชุดนี้ผมพยายามที่จะแสดงถึงความรู้สึกอึดอัดผ่านช่องว่างที่ยังสามารถมองลอดผ่านจากการบดบังของสิ่งปลูกสร้างของโครงการรถไฟฟ้า โดยรูปทรงของช่องที่เกิดขึ้นนั้น ต่างเกิดขึ้นจากสภาพบริบทโดยรอบ ของสถานที่นั้นเอง ซึ่งระดับการบดบังและความทึบตันก็จะแสดงออกแตกต่างกันไปตามเส้นทางที่เดินผ่าน
ส่วนตัวผมเองได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ในระยะเวลาหนึ่ง ได้ซึมซับความเป็นระบบระเบียบในการวางแผนและการจัดการเมืองที่ดี รถไฟฟ้าถูกนำลงไปอยู่ใต้ดิน ทำให้ทัศนียภาพของเมืองเปิดออก ถึงแม้จะมีตึกสูงรายล้อมมากมาย แต่ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ถูกจัดวางอย่างตั้งใจ ได้สร้างความร่มรื่นด้วยเงาจากธรรมชาติ อดคิดอิจฉาไม่ได้เลยถ้ากรุงเทพฯ ของเราได้ถูกวางแผนแบบนั้นบ้าง ทัศนียภาพของเมืองจะมีชีวิตชีวามากแค่ไหน มีต้นไม้สูงสองข้างทาง มีท้องฟ้าที่สะอาดตา จริงอยู่เราไม่สามารถเปรียบเทียบได้ขนาดนั้น ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างของประเทศไทย แต่อย่างน้อยรูปถ่ายชุดนี้ขอเป็นพื้นที่ที่จะสะท้อนและแสดงออกถึงความรู้สึกอึดอัดต่อการบดบังทัศนียภาพของเมือง ในฐานะคนที่ชอบเดินในเมืองคนหนึ่ง
_____________
ชัชวินทร์ ธนสารทรัพย์ จบปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขณะนี้กลับมาศึกษาต่อปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชัชวินทร์เคยทำงานเป็น 3D visualizer และช่างภาพทางสถาปัตยกรรม แต่ผันตัวมาเป็น interior architect ที่ถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก มีความสนใจเกี่ยวกับบริบทของเมืองในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายระหว่าง คน พื้นที่สาธารณะ และสถาปัตยกรรม โดยบันทึกผ่านภาพถ่ายระหว่างทางที่พบเจอ