ชมพื้นที่สำนักงานเก่าสองชั้นในโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้าง ที่ PHTAA ปรับปรุงใหม่ด้วยการเน้นวัสดุอลูมิเนียมให้บทบาทสำคัญในงานดีไซน์และเติมแต่งให้ออกมาเป็นพื้นที่รองรับลูกค้าและคาเฟ่รูปลักษณ์สะดุดตา
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KUKKONG THIRATHOMRONGKIAT
(For English, press here)
ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ที่ re-appropriate จะเป็นคำที่ PHTAA ใช้อธิบายผลงานตัวเองอยู่บ่อยๆ เพราะถ้าลองย้อนดูพอร์ตโฟลิโอของ PHTAA งานที่พวกเขาถนัดและทำได้ดีคือการนำวัสดุมาเรียบเรียงใหม่หรือใช้งานบริบทที่ต่างไปจากเดิม เกิดเป็น composition ในงานดีไซน์ที่สดใหม่ สร้างการรับรู้ของสเปซที่ต่างจากคุ้นชิน หลังเคยเอาบัวหัวเสามาวางซ้อนกันในงาน found จับซุ้มโค้งมาดัดแปลงในงาน AUBE เอาคิ้วและบัวไม้มาประยุกต์เป็นเก้าอี้ คราวนี้ถึงทีที่พวกเขาจะลองพลิกบทบาทของอลูมิเนียมดู
Fameline Café คืองานการปรับปรุงพื้นที่สำนักงานเก่าสองชั้น ในโรงงานผลิตวัสดุอลูมิเนียมในงานก่อสร้าง ให้กลายเป็นคาเฟ่และพื้นที่รับรองลูกค้า โดย PHTAA เอาผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมของโรงงานมาดัดแปลงและใช้เป็นพระเอกหลักของงาน ยังไม่ต้องเข้าไปในคาเฟ่ ก็เจอเข้ากับประติมากรรมกล่องสี่เหลี่ยมสีเงินสามกล่องด้านหน้า ที่ฉกฉวยความสนใจไปได้ด้วยรูปลักษณ์สะดุดตา ถึงจะเป็นกล่องสีเงิน ไม่ต่างกับสีแผงเมทัลชีทที่กรุอาคารข้างหลัง แต่ประติมากรรมชิ้นนี้กลับโดดเด่นออกมาด้วยเส้นนอนสอดสลับทั้งหนาบางที่พันรอบตัว ทั้งสามกล่องเจาะช่องโล่งที่เปิดให้คนเดินลัดเลาะทะลุผ่านเข้าไปได้ และข้างในก็มีเก้าอี้พร้อมโต๊ะสำหรับคนที่อยากนั่งพักผ่อน หรือจิบกาแฟปล่อยใจไปกับทิวทัศน์ของต้นไม้อันร่มรื่น
เส้นสายที่ขดรอบผลงานคือระแนงอลูมิเนียมที่ปกติใช้บังแดดให้อาคาร ตามปกติเรามักคุ้นเคยกับการนำโปรไฟล์อลูมิเนียมชนิดเดียวมาติดตั้งบนอาคารด้วยการวางเรียงในระยะที่เท่ากัน เกิดท่วงทำนองของวัสดุที่สม่ำเสมอเป็นระเบียบ แต่คราวนี้สถาปนิกสร้างจังหวะจะโคนขึ้นใหม่ ด้วยการหยิบเอาโปรไฟล์อลูมิเนียมที่ต่างกันมาติดบนโครงคร่าวเหล็ก และจัดเรียงสลับกัน จนเกิดกรอบที่ขยักเข้าขยักออกคาดเดาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากมองในภาพรวม จะเห็นรูปแบบการเรียงของเส้นจากการมัดรวมกันอย่างหนาแน่นด้านบน สู่การปล่อยพื้นที่เว้นระยะที่ด้านล่าง เป็นดั่งบทเพลงที่เริ่มต้นอย่างเร่งรีบ แล้วชะลอตัวลงอย่างเชื่องช้า
ภายในคาเฟ่ถูกออกแบบให้อาบด้วยความมันเงาของแผ่นอลูมิเนียมที่กรุเต็มผนังและฝ้า สะท้อนแสง และบรรยากาศจากภายนอกเข้ามาพรางให้พื้นที่ดูโอ่โถง แผ่นอลูมิเนียมที่กรุผนังเป็นแผ่นที่ออกแบบพิเศษเป็นสีอลูมิเนียมธรรมชาติ เพื่อขับเสน่ห์ของเนื้อแท้ วัสดุให้เฉิดฉาย ไม่ใช่แค่ผนังและฝ้าที่ประกอบด้วยอลูมิเนียม ตามเฟอร์นิเจอร์ เช่น เคาน์เตอร์ เก้าอี้ โต๊ะ ก็มีแผ่นอลูมิเนียมเข้ามาสอดแทรกแทบทุกหนทุกแห่ง เป็นการนำแผ่นอลูมิเนียมไปอยู่ในอาณาบริเวณที่ต่างจากที่คุ้นชิน เช่น ผนัง ฝ้า หรือฟาสาด ยกเว้นบริเวณที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น เคาน์เตอร์เสิร์ฟกาแฟ ที่สถาปนิกไม่ได้เอาอลูมิเนียมไปใช้ เนื่องจากคุณสมบัติของอลูมิเนียมที่ไม่เหมาะกับการรับน้ำหนักมาก
สเปซไม่ได้ห่อล้อมด้วยอลูมิเนียมอย่างเดียวจนทำเอาคลื่นเหียน PHTAA ผสมผสานวัสดุธรรมชาติเข้ามาในดีไซน์เพื่อขับกล่อมรสชาติให้กลมกล่อมลงตัว รอบโถงเปิดโล่ง เชื่อมชั้นหนึ่งและสองเข้าด้วยกันคือสายสลิงที่ห้อยแขวนด้วยแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิท และเศษไม้ ทำหน้าที่เป็นสกรีนกั้นส่วนเคาน์เตอร์กาแฟและที่นั่งออกจากกัน สำหรับส่วนที่ต้องการเปิดมุมมองให้เชื่อมถึงกัน สถาปนิกก็ลดทอนความหนาแน่นของไม้ และอลูมิเนียมบนเส้นสลิงลง เศษไม้ที่เกาะเกี่ยวบนสลิงสอดแทรกความเป็นธรรมชาติ และความอบอุ่นให้กับสเปซที่ปกคลุมด้วยความเย็นเยือกของแผ่นอลูมิเนียมสีเงินซึ่งเป็นวัสดุอุตสาหกรรม เช่นเดียวกัน เฟอร์นิเจอร์ไม้และพื้นทรายล้างก็ช่วยมอบท่าทีอันอ่อนโยนเป็นมิตรท่ามกลางบรรยากาศอันโฉบเฉี่ยวของคาเฟ่ด้วย
แม้งานนี้ PHTAA ไม่ได้เอาอลูมิเนียมไปเล่นแร่แปรธาตุหรือศัลยกรรมรูปโฉมจนเหนือความคาดหมาย แต่การเอาวัสดุมาเรียบเรียงในจังหวะใหม่ จับคู่กับเพื่อนวัสดุที่ภาพลักษณ์ต่างกันไป ก็สามารถสร้างความตื่นเต้นแปลกใหม่ให้วัสดุธรรมดาอย่างอลูมิเนียมได้น่าสนใจดีทีเดียว