PAT YINGCHAROEN: COLLECTIVE CONVALESCENCE

หนังสือ Collective Convalescence รวบรวมผลงานของ พัทธ์ ยิ่งเจริญ ที่นำภาพเขียนมาจำกัดความใหม่ด้วยการผนวกกับภาพถ่าย เพื่อให้ผู้อ่านขบคิดถึงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: KETSIREE WONGWAN 

(For English, press here)

Pat Yingcharoen: Collective Convalescence
Pat Yingcharoen
Karava Publishing, 2023
Edition of 300 copies
Dust jacketed hardcover, Offset Printing (4 colors)
24 x 30 cm
160 pages
ISBN 978-616-60471-7-2

“จะเป็นอย่างไรหากประวัติศาสตร์ที่เราเคยรับรู้กันมากมายได้กลับกลายเป็นเพียงคำโกหกที่หยิบยืมภาพถ่ายจากเหตุการณ์อื่น ในยุคที่ภาพหรือความทรงจำของคนแปลกหน้าในอดีตมากมายต่างล่องลอย ถูกเผยแพร่และผลิตซ้ำโดยสาธารณะบนอินเทอร์เน็ต”

พัทธ์ ยิ่งเจริญ เป็นจิตรกรร่วมสมัย เริ่มต้นด้วยความสนใจในการทดลองทางจิตรกรรม เพื่อมองหาขอบเขตหรือนิยามความหมายใหม่สำหรับยุคสมัยในปัจจุบัน ผ่านกระบวนการรื้อสร้าง แยกส่วน และประกอบขึ้นใหม่ จนนำไปสู่ความเป็นอื่นทางความหมายที่มีอยู่แต่เดิม (หรืออาจกระทั่งในความหมายใหม่ด้วย) ก่อนเคลื่อนตัวมาสู่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ที่ผลงานจิตรกรรมของเขาได้ผนวกรวมภาพถ่ายเข้าไว้ และปรับเปลี่ยนดำรงสถานะเป็นวัตถุสื่อกลางทางประวัติศาสตร์ ซึ่งถกถามและเชื่อมร้อยประวัติศาสตร์ไทยด้วยประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติในภาพรวม

ประเด็นดังกล่าวจึงน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพิจารณาภาพผลงานศิลปินให้ยอกย้อนเฉกเช่นคำถามข้างต้นของ กร คารวะ ที่ชวนให้ขบคิดไกลเกินกว่าขอบเขตอำนาจของข้อเท็จจริงของภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ที่ผสมกลืนเป็นระนาบเดียวกันกับเรื่องราวปรัมปรา หรือเหตุการณ์ใกล้ตัวที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวของจิตรกรรมของศิลปิน ตอนหนึ่งจากบทบรรณาธิการ หนังสือ ‘Collective Convalescence’ ซึ่งรวบรวมภาพผลงานจิตรกรรมตลอดระยะเวลา 8 ปีของการสร้างสรรค์ ที่ไม่เคยถูกตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อนเข้าไว้เป็นเล่มแรกของพัทธ์ ซึ่งนับว่าค่อนข้างแปลกใหม่และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งด้วยรูปแบบการนำเสนอมุมมองเนื้อหาที่ขับเน้นเคียงคู่โลกทางวิชาการเข้ากับโลกแห่งทักษะในระบบนิเวศทางศิลปะ เพื่อให้เห็นถึงประสิทธิผลของการทำงานร่วมกันและริเริ่มผสานรอยราวที่เกิดขึ้นนี้ไปพร้อมกัน

ในหนังสือยังมีข้อเขียนอีกสามบทความ ที่พาไปรื้อฟื้นและสำรวจอีกหลายแง่มุม ผ่านความเรียงที่เชิญชวนให้ร่วมสืบเสาะ วิเคราะห์ และตีความ นับตั้งแต่การทำความเข้าใจกระบวนการทำงานของภาพจิตรกรรม ตลอดจนความเป็นไปได้ในประเด็นต่างๆ อย่างมากมายภายในขอบเขตสัมพันธบทเดียวกันของ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ นักเขียน กราฟิกดีไซเนอร์ คอลัมนิสต์ และคอนเทนครีเอเตอร์ผู้เชี่ยวชาญและให้ความสนใจทางด้านศิลปะในหลากหลายแขนง ตามด้วยความเรียงที่แจกแจงถึงรายละเอียดขั้นตอนการสรรค์สร้างผลงานจิตรกรรมในเชิงลึก กระทั่งการเลือกใช้อุปกรณ์ ไปจนถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ ที่อธิบายถ่ายทอดโดยศิลปิน และปิดท้ายด้วยบทสัมภาษณ์ศิลปินเกี่ยวกับแนวทางความคิด กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท้าทายถึงความเป็นไปได้ทางด้านรูปแบบและโทนสีของผลงานชุดใหม่ไว้อย่างน่าติดตาม

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์จำนวนจำกัดเพียง 300 เล่ม โดยทุกเล่มจะมีหมายเลขฉบับกำกับ พร้อมลายเซ็นศิลปิน งานออกแบบเป็นผลงานของ ณัทธร ตัณฑ์สุรัตน์ กราฟิกดีไซเนอร์หญิงรุ่นใหม่ ด้วยรูปเล่มปกแข็งหุ้มผ้า ขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ก็ยังสามารถพกพาได้อย่างสะดวก โดยห่อทับอีกครั้งด้วยใบคลุมปกที่เลียนล้อกับกระบวนการตัด-แปะ-ต่อ ตามอย่างผลงานจิตรกรรม ซึ่งชวนให้ต้องย้อนกลับมาคิดพิจารณาถึงความต่อเนื่องที่เกือบจะเป็นผืนภาพเดียวกันบนปกหน้าและหลัง ซึ่งหยิบยืมจากละเอียดเฉพาะจุดจากภาพผลงานจิตรกรรมในสองนิทรรศการแรกเริ่มของ พัทธ์ ยิ่งเจริญ อีกครั้ง

‘Collective Convalescence’ ได้เสนอกรอบนิยามและปักหลักหมุดหมายเพื่อสร้างชุดคำจำกัดความที่จะฉายบันทึกไว้เป็นหนึ่งในภูมิทัศน์ภาพจำอันสำคัญของแนวทางสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน ณ ห้วงขณะเวลาอันพอดิบพอดี อันจะช่วยขยายต่อ สร้างความเข้าใจ ความเป็นอื่น และเน้นแนะถึงจุดแยกของเส้นแขนงที่กำลังจะผลิแตกเป็นยอดอ่อนแห่งการพัฒนาใหม่ ซึ่งจะเติบโตเป็นกิ่งก้านรอการขยายออกหรือผกผันไปอย่างมิรู้จบ ในขณะเดียวกันนั้น ก็ล้อรับเข้ากันกับบริบทซึ่งเสริมสัมพันธ์แก่กันและกันจากความยอกย้อนของเรื่องราวเนื้อหาและรูปลักษณ์ของผลงาน ตลกร้ายจากการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ความเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบไทยๆ หรือแม้กระทั่งภูมิทัศน์ของผลงานปลายเปิดที่จะถูกเติมแต่งและพอกพูน จากผู้อ่าน ผู้ชม และศิลปิน ที่มักจะผันแปรไม่แน่นิ่งอยู่เสมอจากกระบวนการคิดวกกลับย้อนพินิจหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง

facebook.com/karavapublishing
instagram.com/patt159

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *