บ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบให้แสดงถึงความเรียบง่าย โปร่งสบาย และยังแฝงสีสันของรายละเอียดเล็กน้อย รวมถึงความเป็นมิตรต่อธรรมชาติ ซึ่งล้วนแต่บ่งบอกตัวตนของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี
TEXT: MONTHON PAOAROON
PHOTO: MARKUS GORTZ EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ในช่วงบ่ายของหน้าร้อนเดือนมีนาคมพวกเราขับรถจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาที่อำเภอแม่ริม เพราะมีนัดชมบ้านหลังหนึ่งผลงานออกแบบของบริษัทสถาปนิกดีไซน์กว่า บนถนนหลักเส้นทางขึ้นเขาที่เราขับผ่อนตลอดทางเป็นทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ผลัดใบที่ดูแห้งผสมหมอกควันจางๆ และอากาศร้อนตามฤดูกาล ก่อนจะมาหยุดรถหน้าที่ดินพื้นใหญ่ที่มองไปด้านในเห็นบ้านตั้งอยู่หลายหลัง เราจอดรถไว้ด้านนอกและเดินเข้ามาภายในตื่นตากับที่ดินที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่และมาหยุดอยู่ที่บ้านหลังที่ตั้งอยู่ลึกสุดและเป็นจุดหมายปลายทางของเราวันนี้ โดยได้นัดเจอกับ ธิตินาท ธรรมชูเชาวรัตน์ จาก ดีไซน์กว่า สถาปนิกผู้ดูแลโครงการที่บังเอิญขึ้นมาเชียงใหม่ในช่วงเดียวกันพอดี อาสาพาเราเยี่ยมชมและอธิบายที่มาที่ไปของบ้านแม่ริมหลังนี้ให้เราฟัง โดยก่อนจะเริ่มเล่าเรื่องราวของบ้านหลังนี้มีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากบอกว่าประทับใจและสัมผัสได้ตั้งแต่ยืนอยู่ตรงทางเข้าบ้านคือลมเอื่อยๆ ที่พัดเย็นสบายตลอดต่างจากบรรยากาศร้อนด้านนอกตามเส้นทางที่เดินทางมา
การวางผังบ้าน
ธิตินาทเริ่มเล่าที่มาที่ไปว่าที่ดินของบ้านหลังนี้เป็นของคุณแม่ของคุณปริศนา บู๊ทซ์ รังสิต เจ้าของบ้าน เป็นที่ดินพื้นใหญ่มีบ้านหลักกับบ้านที่ใช้รับแขกตั้งอยู่ก่อนแล้วและได้วางแผนกันพื้นที่มุมนึงของที่ดินไว้ให้คุณปริศนาที่เป็นลูกสาวและครอบครัวเพื่อสร้างบ้าน โดยการขุดบ่อน้ำเตรียมไว้และมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมเต็มพื้นที่ คุณปริศนาคิดสร้างบ้านหลังนี้ไว้เพื่อมาอยู่เชียงใหม่กับครอบครัวที่ประกอบด้วยตัวเอง สามี และลูกสามคนในตอนที่ลูกๆ เริ่มโตโดยให้โจทย์ในการสร้างบ้านที่เรียบง่าย คืออยากได้บ้านสไตล์บ้านชาวบ้านทั่วไป ชอบบ้านที่ดูโปร่งโล่งสบาย ถ่ายเทอากาศได้ดี ใช้ลมธรรมชาติ และสิ่งสำคัญที่เห็นพ้องต้องกันระหว่างผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านคือขอเก็บต้นไม้เดิมไว้ทุกต้น สถาปนิกจึงวางผังบ้านโดยอ้างอิงจากตำแหน่งบ่อน้ำและต้นจามจุรีที่มีอยู่แล้วให้เป็นจุดศูนย์กลาง โดยเรียงลำดับตามการเข้าถึงตั้งแต่ที่จอดรถด้านทิศเหนือของบ่อน้ำ ถัดมาเป็นส่วน service ของบ้านและทางเดินยาวที่ผ่านต้นจามจุรีทางทิศตะวันตกเพื่อเชื่อมอาคารหลัก (the barn) ที่เป็นห้องทานข้าว ห้องนั่งเล่น และห้องนอนแขกที่อยู่ทิศใต้ บริเวณทางเชื่อมมีบันไดขึ้นชั้นที่สองที่เมื่อเดินขึ้นมาจะเจอกับห้องนอนลูกอยู่เหนือส่วน service และห้องนอนใหญ่อยู่เหนือที่จอดรถ จัดวางฟังก์ชันให้เว้นระยะระหว่างกันเป็นเรือนแต่ละหลังเพื่อสร้างความเปิดโล่งให้ลมพัดผ่านได้และมีความเป็นส่วนตัวโดยไม่ต้องกังวลเรื่องเสียงรบกวนเพราะที่ดินอยู่ห่างจากถนนหลักค่อนข้างมาก ธิตินาทบอกว่าอีกไฮไลต์ของบ้านหลังนี้คือตอนมาดูพื้นที่ตอนแรกด้านหลังเห็นวิวภูเขาและพระอาทิตย์ตกสวยมาก แต่ต้องขึ้นไปสูงเหนือยอดไม้ถึงจะเห็นชัด จึงเป็นที่มาของการสร้างศาลาชมพระอาทิตย์ตกที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างเหล็กสูงสามชั้น
บ้านที่เป็นมิตรกับต้นไม้
จุดเด่นอีกอย่างของบ้านเมื่อแรกเห็นคือการผสมผสานการใช้โครงสร้างเหล็กและคอนกรีตที่ทำให้ตัวบ้านรู้สึกดูเบาลอย ธิตินาทเล่าว่าจากความต้องการของเจ้าของบ้านและทีมสถาปนิกที่อยากให้บ้านหลังนี้ดูเบาและต้องการเก็บต้นไม้เดิมไว้ จึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อให้เสาและคานของบ้านมีขนาดเล็กและเพราะน้ำหนักที่เบาลงกว่าการใช้โครงสร้างคอนกรีตทั้งหลังทำให้ตัวฐานรากของบ้านมีขนาดเล็กลงด้วย จุดสังเกตที่ชัดเจนในการพยายามออกแบบให้เป็นมิตรกับต้นไม้คือบริเวณทางเชื่อมอาคารที่จำเป็นต้องมีฟังก์ชันส่วน service ของบ้านตั้งอยู่ใกล้ต้นจามจุรีมาก แต่ถูกออกแบบให้โครงสร้างพื้นส่วนนี้พาดช่วงยาวกว่าปกติเพื่อลดจำนวนฐานราก และยกอาคารให้ลอยจากพื้นดินให้รบกวนรากต้นไม้ให้น้อยที่สุด
บ้านรับลม
จากที่เจ้าของบ้านเป็นคนชอบลมธรรมชาติและไม่ชอบเปิดแอร์ ทางสถาปนิกจึงออกแบบให้ตัวบ้านเปิดรับ cross ventilation รูปตัดอาคารมีความผอมบางเพียงพอที่จะสามารถถ่ายเทอากาศได้ดีในทุกพื้นที่ ส่วนห้องนั่งเล่นและทานข้าวที่เป็นเรือนหลักซึ่งไม่ได้ติดแอร์ออกแบบให้สูงโปร่งใช้ span กว้างเพียงแค่เปิดบานเลื่อนอลูมิเนียมออกก็สามารถรับลมได้เต็มที่ สำหรับห้องนอนที่อยู่ชั้นที่ 2 ถูกออกแบบเป็นหลังคา 2 ชั้นทรงหมาแหงน ซ้อนกับหลังคาแบน โดยระหว่างหลังคาทั้งสองชั้นมีช่องหน้าต่างที่ติดตั้งบานเกล็ดไม้สามารถเปิดและปิดได้โดยใช้มือดึงบานเกล็ดบานกระทุ้งขึ้น-ลงจากไม้ที่ห้อยลงมาเพื่อเปิดระบายอากาศรับแสงในตอนกลางวันและปิดเมื่อต้องการเปิดแอร์ ความใส่ใจในการออกแบบนี้ผู้เขียนขอยืนยันจากตัวเองที่สัมผัสลมพัดสบายๆ ได้ตลอดการเดินชมบ้านทีละห้องๆ ทั้งพื้นที่กึ่งภายนอกรวมถึงภายใน และนอกจากเปิดรับลมแล้วบ้านหลังนี้ยังออกแบบให้มีหน้าต่างขนาดใหญ่อยู่ทุกห้องแม้แต่ภายในห้องน้ำทำให้แสงสว่างส่องทั่วถึงไม่ต้องเปิดไฟในเวลากลางวัน
ความสนุกอยู่ใน detail
ถ้าเราได้ตามงานของดีไซน์กว่ามาบ้าง จะเห็นว่านอกจากการให้ความสำคัญกับการออกแบบให้เข้ากับสภาพแวดล้อม การกันแดด และ natural ventilation แล้ว อีกอย่างคือความขี้เล่นที่สถาปนิกทีมนี้มักใส่รายละเอียดสนุกๆ ไว้ในงาน ในส่วนโครงการบ้านแม่ริมหลังนี้ขอยกตัวอย่าง detail ที่น่าสนใจเช่น หลังคาภายในห้องน้ำแขกที่ฝังขวดไวน์และขวดแชมเปญตัดครึ่งไว้ซึ่งเป็น detail ที่ธิตินาทเล่าว่าทางออฟฟิศได้ทดลองตัดขวดกันเองก่อนนำมาติดตั้งโดยได้แรงบันดาลใจมาจาก public bath house (hammam) ในประเทศทูร์เคีย (ตุรกี) โดยช่วงที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมบ้านนั้นเป็นตอนกลางวันจึงเห็นแสงลอดลงมาจากขวดสีต่างๆ เกิดสีสันสวยงามบนพื้นที่ shower ที่ออกแบบผังเป็นวงกลมแยกออกมาจากกรอบโครงหลักของบ้านที่เป็นผังสี่เหลี่ยม หรือการใช้กระเบื้องเหลือใช้มาทำเป็นผนังฉากหลังของพื้นที่นั่งเล่นภายนอกที่อยู่ระหว่างห้องนอนแขกและห้องนั่งเล่นของบ้าน ที่เจ้าของออฟฟิศดีไซน์กว่าคุณมาลินา ปานเสถียร เป็นคนเลือกกระเบื้องที่ขนาดและสีสันไม่เหมือนกันมาจัดเรียงจนได้มุมของบ้านที่สวยดูเป็นศิลปะจากวัสดุก่อสร้าง
ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกสีวัสดุของบ้านทางสถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนของคุณ Will Klose สามีเจ้าของบ้านที่เป็นศิลปิน painter จากการสังเกตสีบรรยากาศในรูปภาพที่มีสีออกอมเขียวและชมพูโดยนำมาปรับใช้กับสีขององค์ประกอบภายในบ้าน โดยเลือกใช้พื้นห้องเป็นหินขัด (terrazzo) สีชมพูที่ทดลองทำตัวอย่างสีขึ้นเองกับช่างหน้างานก่อสร้าง ใช้สีเขียวบนผนังฉาบเรียบทาสีและผนังคอนกรีตเปลือยหล่อในที่ที่เวลาดูด้วยตาเปล่าในแสงธรรมชาติจะมีสีออกอมเขียวเช่นกัน ทำให้เวลาเดินชมภายในบ้านตัวภาพเขียนที่วาดโดยคุณ Will ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ และบรรยากาศภายในดูส่งเสริมกลมกลืนกัน นอกจากนี้ผนังบล็อกช่องลมบริเวณบันไดที่มีสีเขียวโดดเด่นที่สุดในบ้านทางทีมสถาปนิกให้ทางคุณ Will เป็นคนเลือกสีด้วยตัวเอง ส่วนลูกสาวคนสุดท้องก็มีส่วนร่วมขอเลือกสีประตูภายในห้องนอนหลักเป็นสีชมพูเพราะชอบสีชมพูมากในช่วงเวลานั้น
ตัวตนของบ้าน ผู้อยู่อาศัย และสถาปนิก
เราถามตบท้ายธิตินาทว่าชอบอะไรมากที่สุดในการทำโครงการบ้านหลังนี้ ธิตินาทบอกเราว่าสำหรับเขาแล้วบ้านหลังนี้เป็นผลลัพธ์ที่แสดงตัวตนของเจ้าของบ้านอย่างคุณปริศนาที่จริงๆ แล้วตัวเองเป็นลูกครึ่งแต่กลับใช้ชีวิตเรียบง่าย ชอบใส่ผ้าถุงหรือชุดชาวบ้านสบายๆ ใช้ชีวิตที่เข้ากับธรรมชาติ ส่วนตัวสามีที่เป็นคนต่างชาติก็เป็นศิลปินทำงานศิลปะที่เล่นกับมุมมองและสีสัน ตัวตนของทั้งครอบครัวจึงถูกสะท้อนมาที่การออกแบบกายภาพของบ้านหลังนี้ที่เข้ากับธรรมชาติแวดล้อมและวิถีชีวิตของเจ้าของ แฝงมุมปลายตาในบ้านที่มีความเป็นศิลปะและ sculpture ลงลึกไปจนถึงการเลือกใช้วัสดุในการสร้างบ้านที่ไม่ได้ใช้ของแพงแต่เป็นวัสดุธรรมชาติที่ส่วนใหญ่หาได้ง่ายในเชียงใหม่ สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือตัวตนของดีไซน์กว่าสถาปนิกผู้ออกแบบที่ไม่ลืมที่จะใส่ความสนุกขี้เล่นของตัวเองแฝงอยู่ตามจุดต่างๆ ของบ้านหลังนี้