‘O’ IN SUVARNABHUMI

Hole in Suvarnabhumbi- feature

งานออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัยโดย สุภาวี ศิรินคราภรณ์ ว่าด้วย ‘รู’ ซึ่งเกิดจากการผสมผสานแนวคิดของรูปแบบเครื่องประดับในดินแดนสุวรรณภูมิยุคโบราณ ทฤษฎีทางปรัชญา และวิทยาศาสตร์


TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO COURTESY OF SUPAVEE SIRINKRAPORN

(For English, press here)

รูเป็นลักษณะที่มักปรากฏร่วมบนงานเครื่องประดับประเภทลูกปัดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อันเป็นหนึ่งในประเภทเครื่องประดับที่ถูกค้นพบจำนวนมากในแถบดินแดนสุวรรณภูมิหรือประเทศไทย สืบเนื่องด้วยการศึกษาต่อจากงานวิจัยโครงการวิจัย ‘โครงการกำเนิด พัฒนาการ และความสำคัญของเครื่องประดับ ในดินแดนสุวรรณภูมิ’ โดยอาจารย์ ดร.ผุสดี รอดเจริญ และรองศาสตราจารย์ ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธ์ นำไปสู่ปรับพัฒนาอ้างอิงรูปร่างภายนอกของลูกปัดสำหรับผลงานออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัย ‘รู’ ในสุวรรณภูมิ หนึ่งในงานวิจัยภายใต้โครงการวิจัย ‘สุวรรณภูมิร่วมสมัย : มรดกแห่งการประดับประดาและบริบูรณ์’ ซึ่งค้นคว้าและออกแบบโดย สุภาวี ศิรินคราภรณ์ โดยเพิ่งได้เผยแพร่เป็นครั้งแรกผ่านกิจกรรมเสวนา และจัดแสดงผลงานออกแบบในนิทรรศการ ‘รู’ ในสุวรรณภูมิ: การแสดงผลงานเครื่องประดับร่วมสมัย ณ สเฟียร์แกลเลอรี่ ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

Hole in SuvarnabhumiHole in Suvarnabhumi

“ถ้าหากต้องเลือกทำงานออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัย เราก็อยากทำให้ลูกปัดสามารถออกมาเล่าเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม ค่านิยม ศิลปะประเภทต่างๆ หรือภาพตัวแทน ทางอุดมคติของเครื่องประดับ” สุภาวี เล่าขยายความถึงจุดริเริ่มในการออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัย ‘รู’ ในสุวรรณภูมิ ก่อนอธิบายต่อถึงแนวคิดในการออกแบบประกอบขึ้นด้วยสองแนวคิดหลัก นั้นคือ การทำใหญ่กว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างการปะทะอันผิดไปกว่าปกติพิสัยต่อผู้พบเห็น โดยในการออกแบบนั้นก็เริ่มต้นจากการเทียบเคียงทางสถิติทางด้านรูปแบบและขนาดของเครื่องประดับจากงานวิจัยในข้างต้น จนพบว่าเครื่องประดับลูกปัดที่ขุดค้นพบจะอยู่ในรูปทรงเรขาคณิต ทั้งรูปกลม รูปทรงคล้ายกรวย และสี่เหลี่ยมคางหมู ก่อนนำไปสู่การผนวกรวมทฤษฎีเรื่องวงกลมกับการทำความเข้าใจเรื่องรูของนักปรัชญา Carl Jung และเมื่อนำรูปทรงมาคิดพิจารณาก่อนการออกแบบ จึงนำไปสู่การผสานสองรูปลักษณ์เข้ากับชุดคำอธิบายรูหนอนของ Albert Einstein ที่เข้ามาช่วยร้อยสร้างความหมายให้เกิดการสอดคล้องกันทั้งในแง่ความหมายรูปธรรม ในรูปลักษณ์สอดรับเช่นเดียวกันด้วยรูปทรงกรวยที่ประกบเข้าหากัน และในนามธรรมระหว่างการเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

Hole in Suvarnabhumi

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ผลงานออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัยจำนวน 5 ชิ้น อันประกอบด้วย เข็มกลัดและจี้ จำนวน 2 ชิ้น แหวนและจี้ จำนวน 2 ชิ้น และกำไล 1 ชิ้น ด้วยรูปลักษณะที่เลือกผสานรวมสองวัสดุอย่างไม้สักที่สื่อแทนถึงเรื่องราวความเป็นอดีต ชีวิต และความอ่อนนุ่ม เข้ากับวัสดุเงินที่ใช้เป็นส่วนแกนกลางรูปทรงกรวยมีรูบรรจบเชื่อมส่วนหัว-ท้าย กล่าวคือส่วนแกนนี้นอกจากจะช่วยสร้างความโดดเด่น รวมไปถึงความหมายใหม่ให้กับเครื่องประดับแล้ว ยังเป็นส่วนแกนยึดให้กับการประกอบรวมแต่ละส่วนเข้าไว้ด้วยกัน สำหรับการเลือกใช้วัสดุเงินก็เนื่องด้วยต้องการใช้พื้นผิวอันมันวาวขับเน้นถึงความล้ำยุค หรือเรื่องของอนาคตร่วมไปในผลงานออกแบบ โดยในผลงานออกแบบเครื่องประดับชุดนี้มีกำไลเท่านั้นที่เป็นงานออกแบบที่เลือกใช้วัสดุไม้เพียงอย่างเดียว หากพิจารณาต่อร่วมกับแนวคิดในการออกแบบอาจกล่าวได้ว่า ผลงานออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัยในฐานะวัตถุเสริมสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะระหว่างเครื่องประดับกับผู้สวมใส่นี้ ได้แฝงเร้นได้ด้วยสาระสำคัญอีกสองประเด็นได้พร้อมกัน นั่นคือการแสวงหาความจริงในสิ่งที่ปรากฏและการบรรจบกันของปริภูมิและเวลาในสิ่งที่เป็นจริง โดยอาศัยเครื่องประดับนำพาผู้สวมใส่ให้ได้สัมผัสเข้ากับการเดินทางข้ามมิติย้อนกลับไปในห้วงเวลาแห่งอดีตหรือสามารถก้าวล่วงไปสู่อนาคตได้เช่นกัน

Hole in SuvarnabhumiHole in SuvarnabhumiHole in Suvarnabhumbi

“เครื่องประดับชุดนี้จึงถูกแกะขึ้นมาให้มีรูปร่างภายนอกเหมือนกับลูกปัดที่ได้ทำการคำนวณหาค่าเฉลี่ยตรงกลาง สำหรับลักษณะรายละเอียดทางด้านลวดลายก็จะมีการใส่เส้นการบิดรูปทรงจากทฤษฎีรูหนอน อีกทั้งในส่วนบริเวณรูส่วนกลางของเครื่องประดับก็จะถูกขับเน้นด้วยรูปทรงกรวยรูหนอนที่ทำขึ้นจากวัสดุเงินแท้ เมื่อรูถูกแทนที่ด้วยวัสดุทรงกรวยเงางามก็จะทำหน้าที่เป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง และขณะเดียวกันเมื่อถอดออกก็จะกลายเป็นเครื่องประดับอีกชิ้นหรือสองชิ้น หรือเป็นประติมากรรมตกแต่งบ้านก็ได้เช่นกัน”

Hole in Suvarnabhumi

น่าสนใจว่า อีกด้านหนึ่งนั้นผลงานออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัย ‘รู’ ในสุวรรณภูมิ ได้นำเสนอการเล่าเรื่องราวความรู้วิทยาการในอดีตผ่านงานเครื่องประดับไปในเวลาเดียวกัน ประกอบกับรูปลักษณ์ที่มีความเป็นกลาง ปรากฏเพียงแต่ช่องว่างที่มีขนาดชวนเคลือบแคลง รวมไปถึงการไม่ได้ชี้ชัดระบุวิธีการสวมใส่ที่ชัดเจน ด้วยรูปแบบประโยชน์ใช้สอยที่กำกวม จึงนำไปสู่การสร้างปฏิเสธรูปแบบการการบังคับให้สวมใส่พร้อมกับร่วมประกอบสร้างให้เกิดหลากหลายความหมายให้กับความเป็นเครื่องประดับร่วมสมัยเหล่านี้ไปในที สุภาวีกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจและชวนให้คิดต่อว่า “เครื่องประดับไม่ได้มีคุณค่าเพียงเฉพาะการตกแต่งร่างกาย ดังนั้นถ้าต้องการทำเครื่องประดับที่มีคุณค่าสักชิ้นหนึ่ง เราควรสร้างเครื่องประดับที่ทำให้ผู้สวมใส่ สามารถเรียนรู้อะไรที่มากกว่าการประดับตกแต่งร่างกายได้”

facebook.com/supavee.sirinkraporn
instagram.com/_pears_

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *