นิทรรศการ ‘Planetary Seed’ ซึ่งนำเสนองานศิลปะว่าด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อ เลือกสื่อสารด้วยการเดินที่สับสนราวกับเขาวงกตอันชวนให้เราได้ตั้งคำถามจากทุกสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่พบพาน
TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
ความเชื่อเดินทางผ่านยุคสมัย แปรเปลี่ยนไปตามพลวัต หรือแม้แต่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด นิทรรศการ ‘Planetary Seed ● จร ● 惑星的共自在性’ โดยวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ และกลุ่มศิลปิน living room for seed พาเราเดินทางบนเส้นทางความเชื่ออันหลากหลายของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า ผ่านพื้นที่เขาวงกตอันซับซ้อนอันเปี่ยมไปด้วยกลไกที่ชวนให้เราได้ตั้งคำถามสำคัญกันว่า ณ จุดที่ความเชื่อทั้งหลายได้ซ้อนทับ และเข้าปะทะกับผัสสะของผู้ที่อยู่ในวัฒนธรรม ผู้ที่อยู่นอกวัฒนธรรม หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมใดๆ นั้นเป็นอย่างไร ในปริมณฑลของดาวโลกที่ทุกสิ่งพัวพันและซ้อนทับอย่างมิอาจแยกออกจากกัน
เริ่มต้นจากตัวเขาวงกตในนิทรรศการนี้อันมีที่มาจากจากประเพณี ‘ปอยหมั่งกะป่า’ ที่ปรากฏในวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่ ชาวกะเหรี่ยง ไปจนถึงบางพื้นที่ของภาคอีสาน โดยเป็นเขาวงกตที่ปรากฏในเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก หากแทนที่จะเป็นเขาวงกตธรรมดา ศิลปินได้เลือกใช้กลไกเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของผนังเมื่อผู้ชมได้สัมผัสกับระบบเซนเซอร์ ทำให้เขาวงกตในพื้นที่ถูกเปลี่ยนเส้นทางใหม่และไม่สามารถคาดคะเนได้ตลอดเวลา ไม่เพียงแต่ผู้ชมจะมีโอกาสหลงภายในเขาวงกต เขาวงกตยังได้สร้างสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ด้วยผนังที่เปลี่ยนแปลงให้วิดีโอและเสียงที่เเตกต่างกันเข้ามากระทบกับผัสสะ
นอกเหนือจากในเชิงพื้นที่ นิทรรศการนี้ยังมีการฉายวิดีโอในสี่ทิศทาง ซึ่งต่างนำเสนอประเพณีความเชื่อและภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่เเตกต่างกันในสี่พื้นที่ เริ่มจากด้านทิศใต้ที่บอกเล่าถึงวัฒนธรรมของชาวมุสลิมผ่านเสียงอ่านคัมภีร์อัลกุรอานจากชายคนหนึ่ง ทิศตะวันตก ฉายภาพพระพุทธรูปที่มีร่องรอยการสักการะ วิดีโอในทิศเหนือฉายภาพพ่อเฒ่ากำลังท่องบทสวดในพิธีกรรมเลี้ยงผี และสุดท้าย ทิศตะวันออก พาเราข้ามพ้นไปจากพรมแดนประเทศไทย สู่ภูเขาแห่งหนึ่งซึ่งนักบวชญี่ปุ่นร่ายรำอยู่ท่ามกลางทิวทัศน์ของต้นไม้และหิมะที่ปลิวตามสายลม วิดีโอเหล่านี้ทำงานควบคู่ไปกับพลวัตของพื้นที่ที่ไม่ตายตัว สร้างการเปลี่ยนแปลงของระยะในการมองภาพในวิดีโออยู่เสมอ ผู้ชมในนิทรรศการจึงได้มีโอกาสสัมผัสกับวิดีโอที่บอกเล่าเนื้อหาเดิมภายใต้การรับรู้ที่ไม่อาจคาดเดา บ้างใกล้ บ้างไกล บ้างชัด บ้างเบลอ สิ่งเดียวที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เห็นทีคงมีแต่เสียงในนิทรรศการที่ให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศของความยิ่งใหญ่ ศักดิ์สิทธิ์ ผ่านภาษาที่เราไม่อาจเข้าใจ
เขาวงกตในนิทรรศการนี้ยังมีรายละเอียดที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและความเชื่อของวัฒนธรรมหนึ่งๆ ที่อาจปรากฏขึ้นผ่าน ‘วัตถุ’ อาทิ การใช้เซนเซอร์เเขวนในเฉลวจักสานรูปดาว การตัดกระดาษเป็นรูปสัญลักษณ์ ที่สื่อถึงประเพณีวัฒนธรรมนั้นๆ ควบคู่กันไปกับวิดีโอที่ตั้งอยู่ตรงข้าม เช่น กระดาษรูปแพะที่ปรากฏในเรื่องเล่าของวัฒนธรรมมุสลิม วัตถุในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งประดิษฐ์จากมนุษย์ รวมไปถึงวัตถุตามธรรมชาติที่มนุษย์ได้เพียงสังเกต แต่มิอาจควบคุม เช่น การใช้รูปพระจันทร์ที่เปลี่ยนไปตามข้างขึ้นข้างแรมเพื่อบ่งบอกถึงเส้นทางการเดินในนิทรรศการ ส่วนหนึ่งเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าชมนิทรรศการ ส่วนหนึ่งเพื่อสะท้อนถึงพระจันทร์ที่มีบทบาทต่อการออกสำรวจและเดินทางของผู้คนในสมัยก่อน
สิ่งที่ศิลปินถ่ายทอดในนิทรรศการเผยให้เห็นปฏิบัติการของพิธีกรรมในฐานะภาพสะท้อนของเรื่องเล่าอันหลากหลายที่ควบคู่ไปกับผู้คนในสังคมหนึ่งๆ ด้วยอำนาจของเสียงที่เปล่ง ภาษาที่เฉพาะ และดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์กับคนในพิธีกรรมหรือชุมชนทางศาสนา ขณะเดียวกันก็ได้ใช้การโคจรของดวงจันทร์ให้ได้เดินทางข้ามผ่าน โดยไม่ได้ใช้ตัวอักษรที่บอกในพื้นที่นิทรรศการว่าอะไรต้องเป็นอะไร เมื่ออยู่ด้านในนิทรรศการจะถูกบังคับด้วยทิศทางของเทคโนโลยีที่เป็นกลไกการจัดวาง ทั้งรูปแบบที่มองเห็นว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร และมองไม่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร บางครั้งอาจให้ความรู้สึกว่าจะอยู่ภายในพื้นที่แล้วจะออกไปทางใด เป็นการให้เดินหลง และยังสามารถมีระยะต่อพิธีกรรมระหว่างทางด้วยความเป็นอื่น ด้วยความเเตกต่างในสายตาของคนนอกวัฒนธรรม และท้ายที่สุดก็ให้เดินออกมาจากเขาวงกตด้วยตนเอง
นิทรรศการ Planetary Seed ● จร ● 惑星的共自在性 จัดแสดงที่ 100 Tonson Foundation ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 24 พฤศจิกายน 2567