CHI YI CHANG

สนทนากับ Chi Yi Chang ประธานของ Taiwan Design Research Institute (TDRI) – สถาบันวิจัยงานออกแบบ ผู้เป็นเจ้าของเวที Golden Pin Design Award

TEXT: KAMOLTHIP KIMAREE
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press  here)

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้สร้างความเคลื่อนไหวในหลากหลายมิติและส่งผลต่อหลายอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมการออกแบบก็เป็นหนึ่งในนั้น ปัจจุบันบทบาทของนักออกแบบกำลังถูกท้าทายให้ก้าวข้ามกรอบเดิมๆ และต้องสามารถตอบสนองต่อยุคสมัยที่ดูเหมือนจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาได้อย่างฉับไว ในบทสัมภาษณ์พิเศษนี้ art4d ได้พูดคุยกับ Chi Yi Chang ประธานของ Taiwan Design Research Institute (TDRI) – สถาบันวิจัยงานออกแบบผู้เป็นเจ้าของเวที Golden Pin Design Award ซึ่งเป็นเวทีระดับนานาชาติที่ช่วยผลักดันผลงานออกแบบจากไต้หวันและทั่วเอเชียให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก หนึ่งในบทบาทสำคัญของ TDRI คือการส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานงานออกแบบของประเทศไต้หวันโดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา TDRI ได้ขยับบทบาทของตนเองจากศูนย์การออกแบบไปสู่สถาบันวิจัยที่พยายามผลักดันในเรื่องของการนำงานออกแบบมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมและสังคมให้มีประสิทธิภาพ

art4d: ในฐานะประธานของ TDRI คุณมีแนวทางอย่างไรในการปรับวิสัยทัศน์ของ TDRI ให้สอดคล้องกับแนวโน้มหรือความท้าทายของอุตสาหกรรมการออกแบบระดับโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในไต้หวัน?

Chi Yi Chang: TDRI เป็นแพลตฟอร์มด้านการออกแบบที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน เป้าหมายหลักของเราคือยกระดับงานออกแบบให้สามารถเชื่อมโยงกับทั้งประเทศและเวทีโลก ดังนั้นตั้งแต่ปี 2023 เราจึงเริ่มจัด Taiwan Design Week ขึ้นเพื่อเป็นเวทีที่เชื่อมโยงไต้หวันกับชุมชนออกแบบระดับนานาชาติ ธีมของ Taiwan Design Week 2023 คือ Elastic Bridging ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้ไต้หวันจะเป็นเกาะเล็กๆ แต่ก็มีความยืดหยุ่นสูง เราสามารถรักษาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการออกแบบตั้งแต่กระบวนการสร้างสรรค์ไปจนถึงการผลิตได้อย่างครบวงจรแม้เราจะมีขนาดเล็ก

  1. 1
  2. 2

สำหรับปีนี้ประเด็นหลักที่เราให้ความสำคัญคือ AI ทั้งไต้หวันและทั่วโลกต่างเผชิญกับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับปัญญาประดิษฐ์ ทุกวันนี้ AI สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของสังคม อุตสาหกรรม และนักออกแบบได้อย่างสิ้นเชิงซึ่งนี่เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสครั้งใหญ่ อย่างที่ทราบกันดีว่าไต้หวันมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของ AI ดังนั้น เราควรมอง AI เป็นโอกาสที่จะช่วยให้นักออกแบบกล้าลองใช้ AI ให้เป็นผู้ช่วยหรือคู่คิดในการสร้างสรรค์อนาคต นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในปีนี้เราจึงมุ่งเน้นไปที่ AI อย่างจริงจัง เราได้ทำการวิจัยเรื่อง AI มาตลอดสองปีที่ผ่านมาและได้พัฒนาเครื่องมือ AI จำนวน 7 รายการ ที่ Taiwan Design Research Institute โดยในเดือนธันวาคม 2024 เราได้เปิดตัวและแจกจ่ายเครื่องมือเหล่านี้ให้กับนักออกแบบทั่วไต้หวันรวมถึงกระจายไปยังอุตสาหกรรมการออกแบบ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจแนวทางการใช้นวัตกรรมที่มี AI เป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ของผลงานในอนาคต

art4d: TDRI มีแนวทางในการทำงานร่วมกับนักออกแบบและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมออกแบบอย่างไร เพื่อเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยกับการประยุกต์ใช้ในการออกแบบจริง?

CC: ในปี 2020 Taiwan Design Center ได้รับการยกระดับเป็น Taiwan Design Research Institute (TDRI) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของเราว่าการออกแบบไม่ควรจำกัดอยู่แค่การจัดนิทรรศการหรือการส่งเสริมเท่านั้น แต่ควรเป็นสิ่งที่มองไปข้างหน้าและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตและการจะทำเช่นนั้นได้จำเป็นต้องมีศักยภาพด้านงานวิจัย ตลอดสี่ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้ง TDRI เราได้สร้างทีมวิจัยเพื่อดำเนินงานด้าน R&D ปัจจุบันเรามีพนักงานประจำกว่า 200 คน และมีนักวิจัย 40 คน ที่มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยในเชิงลึกและหลากหลาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการออกแบบควรมีบทบาทคล้ายกับวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี กล่าวคือต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต นอกจากนี้ TDRI ยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีโครงการที่ร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน ไม่เพียงแต่กับภาครัฐเท่านั้นแต่ยังทำงานร่วมกับภาคเอกชน เราทำโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ จุดแข็งของเราคือการเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถดำเนินโครงการขนาดใหญ่ได้ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานวิจัยควบคู่กันไปได้ด้วย สำหรับโครงการขนาดใหญ่เราจะเริ่มต้นด้วยการทำวิจัยก่อนเสมอ ซึ่งเรามีกระบวนการที่เป็นระบบเพื่อพัฒนาโครงสร้างทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

art4d: เราเห็นแล้วว่า TDRI มีทีมวิจัยขนาดใหญ่ที่ทำงานวิจัยในหลากหลายด้าน แต่ TDRI มีแนวทางอย่างไรในการทำให้ผลงานวิจัยของทีมโดยเฉพาะของนักวิจัยในองค์กรสามารถตอบสนองต่อชุมชนในไต้หวันและสะท้อนความต้องการของพวกเขาได้จริง?

CC: นับตั้งแต่ก่อตั้งมา TDRI ได้ดำเนินงานในหลายมิติ อย่างหนึ่งคือนวัตกรรมทางสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการออกแบบ, นวัตกรรมทางอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยการออกแบบ, และที่สำคัญที่สุดคือนวัตกรรมการบริการสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยการออกแบบ ภาครัฐมักเผชิญความยากลำบากในการนำแนวคิดใหม่ๆ มาปรับใช้หรือผลักดันนวัตกรรม แต่ในช่วงสี่ถึงห้าปีที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคมและสื่อสาร กระทรวงดิจิทัล กระทรวงวัฒนธรรม และแม้แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง เราไม่ได้เพียงแค่ให้คำปรึกษา แต่ยังเข้าไปทำงานในโครงการจริง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาดีมากเลยทีเดียว

art4d: สิ่งที่คุณอยากจะฝากถึงหรือประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับ TDRI

CC: เราต้องขอขอบคุณสื่อของคุณเป็นอย่างยิ่ง เพราะด้วยความช่วยเหลือของคุณ Golden Pin Design Award ในปีนี้ได้มีผลงานส่งเข้าประกวดจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ผมคิดว่าพวกคุณทำมันได้อย่างยอดเยี่ยม และอยากจะขอขอบคุณจริงๆ ครับ

tdri.org.tw/en
facebook.com/TWTDRI

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *