S65 OFFICE

อาคารสำนักงานย่านเอกมัยที่ยังคงรักษา ‘จิตวิญญาณ’ ของพื้นที่เอาไว้เป็นหัวใจสำคัญ แม้สภาพแวดล้อมโดยรอบจะเปลี่ยนแปลงไป โดย M Space และ Walllasia

TEXT: KARN PONKIRD
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

การรักษา ‘จิตวิญญาณ’ ของสถานที่เอาไว้ เมื่อสภาพแวดล้อมโดยรอบเปลี่ยนแปลงไป เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักออกแบบอยู่เสมอ การมองให้เห็นถึง ‘แก่น’ ของพื้นที่ จึงเป็นงานสำคัญที่ทั้งผู้ออกแบบสถาปัตยกรรม อย่าง ภากร มหพันธ์ จากสตูดิโอ M Space และ สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ แห่ง Walllasia ซึ่งดูแลในส่วนการจัดภูมิทัศน์ ต้องรับโจทย์จากเจ้าของพื้นที่คือ เจนจิรา พรประภา ในการออกแบบอาคารสำนักงานแห่งใหม่ที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 250 ตารางเมตร ท่ามกลางสวนป่าขนาดครึ่งไร่ซึ่งอุดมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุมจนแทบไม่น่าเชื่อว่าอยู่ใจกลางย่านเอกมัย 

โครงการนี้สถาปนิกได้รับโจทย์จากเจ้าของโครงการว่ามีความต้องการสำคัญของพื้นที่ 2 ข้อ คือ 

  1. ต้องรักษาต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่เอาไว้ให้ได้มากที่สุด
  2. เก็บรักษาและใช้ศาลาไม้ที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์

หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ความต้องการทั้งสองข้อนี้ คือ ‘จิตวิญญาณ’ ของสถานที่ซึ่งผู้ออกแบบต้องยึดเป็นหัวใจสำคัญ เพราะสวนป่าแห่งนี้เองก็มีประวัติศาสตร์ยาวนาน สามารถสืบย้อนไปตั้งแต่สมัยที่ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ทองใหญ่ ทองใหญ่ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรยังเป็นเจ้าของ และปลูกต้นไม้รวมถึงดูแลพันธุ์ไม้ทุกต้นในสวนป่าแห่งนี้ ในเวลานั้นเองก็ได้ปลูกศาลาไม้ขนาดกะทัดรัดสำหรับเดินทางมาพักผ่อนในสวน ภายหลังด้วยความสัมพันธ์อันดี สวนป่ากลางกรุงของศาสตราจารย์ทองใหญ่จึงได้มาอยู่ในการดูแลของตระกูลพรประภา และส่งผ่านมายังเจนจิราในที่สุด เจตนารมณ์ในการเก็บรักษาต้นไม้และศาลาเก่าเอาไว้ก็ถูกสืบทอดต่อไป

ด้วยความตั้งใจที่จะให้สถาปัตยกรรมส่งผลกระทบกับต้นไม้ใหญ่ให้น้อยที่สุด การออกแบบอาคารที่ทำหน้าที่เป็นออฟฟิศจึงต้องสอดแทรกไปตามช่องว่างระหว่างแนวต้นไม้ เป็นอาคารหน้าแคบเพียง 4 เมตรลึกเข้าไปตามแนวที่ดิน แทรกระหว่างต้นไม้เดิม แม้กระทั่งทางเดินขึ้นอาคารก็ต้องแชร์พื้นที่กับกิ่งของต้นมะม่วงที่เอื้อมมาปกคลุมจนดูเหมือนเป็นการทักทายจากธรรมชาติ การยกพื้นหลักของอาคารให้ลอยเหนือพื้นดิน โดยจัดการให้ฐานรากแตะพื้นเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อในอนาคตการมีอยู่ของอาคารจะไม่กระทบกับการเติบโตของต้นไม้และระบบรากที่อยู่ใต้ดิน การเลือกใช้โครงสร้างหลักเป็นเหล็กทำให้สามารถคำนวณการตัด-ต่อชิ้นส่วน ก่อนขนย้ายมาประกอบที่หน้างานได้ อาคารจึงมีลักษณะเป็นกล่องวางซ้อนกันเป็นรูปตัว L เพื่อจัดการ space สำหรับใช้งานในอาคารที่พื้นที่ค่อนข้างกะทัดรัด การขีดเส้นแบ่งภายใน-ภายนอก จึงถูกทำให้พร่าเลือนจนขอบเขตของอาคารหายไป 

พื้นที่ใต้ฐานตัว L ซึ่งมีลักษณะเป็น semi-outdoor เปิดโล่งรับลมโกรกทางทิศใต้ถูกใช้เป็นโซนพักผ่อน โต๊ะไม้ตัวใหญ่ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์เก่าของครอบครัวถูกนำมาขัดผิวทำสีใหม่ เมื่อนำมาวางก็เติมเต็มพื้นที่ว่างบริเวณนี้ได้อย่างพอดิบพอดี space รวมถึงโต๊ะไม้ตัวนี้จึงถูกใช้เป็นทั้งโต๊ะรับรอง นั่งพูดคุย หรือเป็นที่พักผ่อนของพนักงานทุกคน ข้างๆ โซนพักผ่อนนี้คือออฟฟิศส่วนตัวของเจนจิรา ถูกจัดวางไว้ให้เป็นห้องขนาด compact ที่ล้อมรอบด้วยกระจกใสสั่งทำพิเศษ โดยเป็นความต้องการของเจนจิราเองที่ต้องการทำงานในออฟฟิศส่วนตัว ขณะที่เงาของร่มไม้และแสงแดดที่ลอดผ่านลงมากระทบกับพื้นผิววัสดุรอบตัว เสมือนเป็นการนั่งทำงานใต้ต้นไม้ในสวนโดยไม่มีขอบเขตของกำแพงมาบดบัง 

ถึงแม้พื้นที่ส่วนสำนักงานและที่ทำงานของพนักงานจะจัดเป็นสัดส่วนชัดเจน แต่ก็เปลี่ยนแปลงการรับรู้พื้นที่ โดยการใช้เฟอร์นิเจอร์กระจกใสซึ่งลดการมีสิ่งของปิดทึบสายตา ทำให้ห้องมีความโปร่งมากขึ้น หรือการออกแบบผนังกระจกขนาดใหญ่โดยใช้ประโยชน์จากสวนวิวภายนอก เมื่อนำองค์ประกอบเหล่านี้มารวมกัน space ของสำนักงานที่ตาเห็นจึงดูโปร่ง โล่ง และมีขนาดกว้างขวางกว่าพื้นที่จริง 

ส่วนการเก็บศาลาไม้หลังเก่าเอาไว้ก็มีการปรับปรุงเพื่อให้ตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้ใช้ใหม่ ทั้งในทางฟังก์ชันคือเปลี่ยนให้เป็นทั้งเรือนรับรอง ห้องนอนพร้อมห้องอาบน้ำ ครัวขนาดใหญ่ที่สามารถใช้จัดเลี้ยงหรือจัดปาร์ตี้ของสมาชิกในบริษัทในโอกาสต่างๆ และในทางสถาปัตยกรรม อาทิ การยกความสูงของศาลาขึ้นเพื่อลดปัญหาความชื้น การปรับปรุงฐานรากใหม่รวมไปถึงดีเทลการปิดร่องรอยต่อของแผ่นไม้ใต้พื้น ซึ่งเดิมทีมีประโยชน์ในการทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก แต่เมื่อทำการปรับปรุงให้ศาลาติดตั้งเครื่องปรับอากาศ การมีช่องเหล่านี้จึงทำให้แอร์ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝาไม้และเสาไม้เดิมถูกนำไปผ่านกระบวนการรักษาเนื้อไม้ใหม่ โดยรักษาสีแดงชาดซึ่งป็นสีเดิมของบ้านไม้เดิมที่ย้อมตามธรรมชาติ

ลักษณะของการตีฝาไม้แนวตั้งและสีแดงนี้ ยังยั่วล้อกับสีสนิมที่เกิดตามธรรมชาติของเหล็ก façade สำนักงาน ซึ่งผู้ออกแบบตั้งใจให้เชื่อมโยงถึงกันและกัน ไปจนถึงระยะการเว้นจังหวะของแผงเหล็กแนวตั้งกันแดด ก็ถอดมาจากรูปแบบผนังไม้ของศาลาหลังนี้อีกด้วย และยังสามารถเลื่อนสลับเพื่อปรับแสงและระบายอากาศ ล้อมรอบด้วยเส้นแนวตั้งของผนังและลำต้นไม้

ส่วนงานปรับปรุงภูมิทัศน์ สุริยะย้ำว่ามาจากการถอดลักษณะที่มีอยู่แล้ว ทั้งจากสถาปัตยกรรมและจากพื้นที่เดิม เป็นเสมือนการให้ความเคารพทั้งผู้ออกแบบและพื้นที่ การเพิ่มทางเดินสำหรับเชื่อมต่อระหว่างออฟฟิศส่วนตัวของเจนจิราและศาลาไม้หลังเก่า เป็นเหมือนการยึดโยงทั้งสิ่งเก่า-สิ่งใหม่เอาไว้ด้วยกัน และความตั้งใจของการออกแบบภูมิทัศน์ให้ ‘กลมกลืน’ ไปกับสภาวะแวดล้อม ผู้ออกแบบจึงแต่งแต้มบล็อกทางเดินเหล็กบนพื้นกรวดลงไประหว่างช่องว่างของสถาปัตยกรรมสองยุคสมัย แผ่นเหล็กหนาสีสนิมที่ล้อไปกับสี façade อาคารสำนักงานถูกจัดวางเป็นระยะจนดูเหมือนลอยอยู่บนผิวหินกรวดอย่างพอดิบพอดี และทำหน้าที่เป็นเส้นนำสายตาไปสู่ที่ตั้งของศาลพระภูมิ ซึ่งแม้สัดส่วนและตัวเลขระยะจะถูกต้องตามขนบมงคล ก็ผ่านการออกแบบอีกครั้งให้เหมาะกับ space ตำแหน่งนี้พอดิบพอดี รวมถึงฉากหลังก็ได้นำลายฉลุแบบเดียวกับเชิงชายศาลาไม้มาใช้เป็น pattern อย่างกลมกลืน

‘ทุกคนล้วนต้องมองเห็นหัวใจของพื้นที่นี้เป็นอย่างเดียวกัน’ กลายเป็นแนวคิดซึ่งยึดโยงให้ทุกคนมองเห็นปลายทางเดียวกัน การจะรักษาไว้ซึ่งจิตวิญญาณของพื้นที่ไม่อาจทำได้จากความต้องการของผู้ออกแบบเพียงฝ่ายเดียว แต่รวมไปถึงวิสัยทัศน์ของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของพื้นที่และผู้อยู่อาศัยในการเห็นศักยภาพของบริบท และความปรารถนาที่จะรักษาคุณค่าเหล่านี้ให้สืบไป

mspace.co.th
walllasia.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *