ออกสำรวจเรื่องราวการเดินทางตลอด 10 ปี ของ LAMUNLAMAI. CRAFTSTUDIO ผ่านภาชนะเซรามิกจำนวน 300 ใบที่ต่างมีเรื่องราวของตนเอง
TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO COURTESY OF LAMUNLAMAI. CRAFTSTUDIO EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ภาชนะลำดับที่ 296 We represent ourselves in this.
“สิบปีที่แล้วจากธีสิสของไหม เราปั้นแก้วทรงนี้ สีนี้ ขึ้นมาด้วยกัน สิบปีต่อมา เรายังคงปั้นแก้ว (อีกสารพัดรูปแบบมากมาย) ด้วยกัน” (…)
แก้วเซรามิกสโตนแวร์สีน้ำตาลแดงเนื้อดินในขนาดกะทัดรัด โดดเด่นด้วยพลวัตการเคลื่อนไหวที่ทั้งสอดผสานและขัดแย้งกันในที จากรูปทรงปล้องโค้งสอบต่อเนื่องกับเส้นเฉียงขูดเรียงซ้อนชั้นตลอดทั้งพื้นผิวภายนอก รูปลักษณ์จำเพาะของแก้วลำดับหมายเลข 296 นี้ เป็นหนึ่งในภาชนะต้องประสงค์เซรามิกสามร้อยใบที่ขึ้นรูป ลงสี และอบด้วยมือตลอดทั้งกระบวนการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของ LAMUNLAMAI. CRAFTSTUDIO คราฟท์สตูดิโอผู้สร้างสรรค์ภาชนะเซรามิกด้วยความรักและความเชื่อในความสามารถสื่อความหมายและโอบรับรวมความรู้สึกเข้าไปยังผลงานคราฟต์เซรามิกมากไปกว่าความสวยงามและประโยชน์ใช้ในการสอย ซึ่งก่อตั้งโดย นล เนตรพรหม และ ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล
‘ภาชนะต้องประสงค์’ หลากหลายทรวดทรง สีสัน พื้นผิว แม้แต่การนำไปใช้งาน ทั้งหมดล้วนคลึงปั้นด้วยความตั้งใจให้ผลงานจำนวนที่สร้างขึ้นเพื่อโอกาสพิเศษนี้ทั้งสามร้อยใบได้มีเอกลักษณ์อันเฉพาะเจาะจงสัมพันธ์ไปกับเรื่องราวสามร้อยเหตุการณ์ความท้าทายและการก้าวข้ามความล้มเหลวที่ผ่านมาของละมุนละไม. ที่เกินเลยไปกว่าเรื่องราวของพวกเขา แต่นับเป็นเหตุการณ์ที่พวกเราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งหรือสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน นำไปสู่การออกแบบโปรเจกต์แชร์ ส่งต่อ และเป็นเจ้าของ ‘วัตถุความทรงจำ’ ที่เป็นดั่งกำลังใจที่จะคอยซับพอร์ตผู้ถือครอง พร้อมไปกับสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดแสดงชิ้นงานกับพวกเขาในรูปแบบนิทรรศการ โปรเจกต์นี้จึงเน้นย้ำการเติบโตที่ไม่ได้มีเพียงพวกเขา หากแต่กลุ่มผู้ติดตามและสนับสนุนเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามดำเนินต่อไป
ณพกมลขยายความเสริมถึงผลงานเซรามิกแต่ละชิ้นว่า “แก้วแต่ละใบก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันแปรผันไปตามชื่อและเรื่องราว แต่ไหม (ณพกมล) มองว่าเทคนิคพิเศษที่เลือกใช้ในการทำแก้วแต่ละใบล้วนมีความเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นดิน วัสดุ ไปจนถึงสีเคลือบที่เลือกใช้ เมื่อถามต่อว่าเราทำเพื่ออะไร ด้วยต้องการแสดงศักยภาพในการรังสรรค์ผลงานเซรามิก ซึ่งเรามีประสบการณ์การทดลองและค้นพบความเป็นไปได้ของการผสมผสานแต่ละวัสดุ ผ่านการนำเสนอด้วยรูปทรง สีสัน การตกแต่ง สีเคลือบ หรือแม้แต่แร่ธาตุที่เรานำมาใช้กับแก้วแต่ละใบ โดยจะแบ่งรวมเป็นซีรีส์ อาทิ ซีรีส์สีขาว-น้ำเงิน ซึ่งเป็นที่นิยมแต่แรกเริ่มของงานเซรามิกของละมุนละไม. หรือสีเคลือบแบบ gradient หรือรูปทรง found object ที่เรานำมาตีความด้วยความตลกขบขัน อย่างวันไหน when life gives you a lemon ก็สามารถเติมวอดกาเข้าไปได้เลยในแก้วทรงมาร์ตินี่ที่เราออกแบบ”
นิทรรศการ ‘ภาชนะต้องประสงค์: ทศวรรษแห่งการเดินทางสู่งานฝีมือที่มีความหมายและความยั่งยืน’ คิวเรทโดย นิ่ม นิยมศิลป์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งนำผลงานเซรามิกในครอบครองของเหล่าผู้สนับสนุนร่วมจัดวางแสดงกับผลงานแก้วของละมุนละไม.ตามลำดับบนผนังทั้งสามร้อยใบ นอกจากผลงานแก้วเซรามิก ภายในพื้นที่รูปครึ่งวงกลมได้เรียงย่อย ร้อยบอกเล่าเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่ ความกังวลใจ (concern) การทำงานร่วมกัน (collaboration) และการพิจารณา (consideration) พาผู้ชมร่วมสำรวจก้าวเดินที่ผ่านมา และหลักหมุดสำหรับเส้นทางเดินต่อไปของพวกเธอ/ เขา/ เรา
ส่วนแรก concern ถ่ายทอดด้วยผลงานชุด Lifetime collection จากการศึกษาทดลองวัสดุประกอบกระบวนการทำงานออกและการสร้างสรรค์ของทั้งสองผู้ก่อตั้งขณะการเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สหราชอาณาจักร ผลงานเหล่านี้แสดงให้เห็นการนำเศษอาหารที่เหลือภายหลังการบริโภคมาประยุกต์ใช้แทนแร่ธาตุ ร่วมกับการทดลองสร้างน้ำยาเคลือบสูตรพิเศษ และสูตรการผสมดินที่เฉพาะ เพื่อเสนอการสร้างผลงานเซรามิกที่ยั่งยืน ต่อด้วยแนวกำแพงเซรามิกในพาร์ท consideration แสดงผลงานแก้วต้องประสงค์ทั้งสามร้อยใบ ที่แทรกคั่นความต่อเนื่องของเรื่องราวด้วยส่วน collaboration แผนผังความคิดและแนวทางการทดลองสีสันและวัสดุ ซึ่งเผยให้เห็นความพยายามใช้ทักษะและวัสดุที่หาได้ในประเทศไทย ย้ำถึงการทำงานร่วมกันระหว่างคราฟต์สตูดิโอกับผู้ประกอบการ โรงงานผู้ผลิต วัสดุท้องถิ่น และแรงงานฝีมือในแต่ละภูมิภาค
การเล่าเรื่องที่ไม่เป็นเส้นตรงอันสมบูรณ์ หยอกล้อไปกับผืนภูมิทัศน์อันแตกต่าง ขรุขระ และบิดเบี้ยวจากสิ่งที่เคยมีมา อันหลอมประกอบขึ้นผ่านรูปทรง หน้าตา หูจับ ปากแก้ว ลวดลาย หรือผิวสัมผัสตามแบบเฉพาะของแต่ละภาชนะได้อย่างชวนให้ขบคิดและอาจคิดต่อซ้อนอีกทบถึงความเป็นวัตถุความทรงจำอันจำเพาะที่ปั้นขึ้นรูปด้วยการเป็นส่วนต่อโครงข่ายเรื่องราวและรูปลักษณ์ของแก้วแต่ละใบ ในกรณีนี้ผลงานเซรามิก ‘ภาชนะที่มีจุดประสงค์’ ทั้งสามร้อยใบนี้ จึงอาจเป็นชิ้นงานที่มีเป้าประสงค์ในบทบาทวัตถุสื่อกลางซึ่งเสริมสร้างบทสนทนาและเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างผู้สรรค์สร้าง แก้ว เรื่องราว และผู้ใช้งาน ผ่านรูปแบบการดำเนินเล่าเรื่องที่ตัดต่อสับหว่าง ระหว่างอดีตและอนาคตที่กำลังจะเป็น ราวกับ ‘a perfect cup that comes in an imperfect shape.’
ร่วมไตร่ตรองภาชนะ ออกสำรวจเรื่องราวในนิทรรศการ ‘ภาชนะต้องประสงค์: ทศวรรษแห่งการเดินทางสู่งานฝีมือที่มีความหมายและความยั่งยืน’ ได้ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 17 พฤศจิกายน 2567 ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสามารถติดตามอ่านหนังสือพ็อกเกตบุ๊คที่เล่าอธิบายความเป็นละมุนละไม. หรือ LAMUNLAMAI. CRAFTSTUDIO ซึ่งกำลังจะตีพิมพ์เผยแพร่ในลำดับต่อไป
lamunlamaicraftstudio.com/pots-of-purpose
facebook.com/lamunlamai.craftstudio