ONLY HUMAN STUDIO

พื้นที่ทำงานของสตูดิโอ Only Human ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงห้องทำงานเล็กๆ ในสวนหลังบ้าน ก่อนต่อเติมจนกลายเป็นสตูดิโอที่ใครๆ ที่มาคุยงานต่างก็ขอมาเป็น reference


TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here) 

ย้อนกลับไปตอน 2561 ปีที่กำลังจะเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี สองสถาปนิก รัญชน์ จักรสมิทธานนท์ และชยาลักษณ์ พีชะพัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Only Human มีงานเข้ามาพร้อมกัน 3 โปรเจกต์ หนึ่งในนั้นคือโปรเจกต์ Sohelou St.Marc Catholic Chapel สุด dramatic ที่จังหวัดตาก และพร้อมๆ กัน พวกเขาก็สร้าง Only Human Studio ไว้ในสวนหลังบ้านของตัวเองซึ่งไปๆ มาๆ ดันกลายเป็นโปรเจกต์ reference สำคัญที่ใครๆ มาคุยงานที่นี่ก็อยากให้ Only Human สร้างแบบนี้ให้บ้าง

“ความจริงตรงนี้เคยเป็นสวนที่เราเคยสร้างห้องทำงานเล็กๆ กับดาดฟ้าเอาไว้ขึ้นไปนั่งเล่นรับลม” รัญชน์ เล่าถึงที่ไปที่มาของสตูดิโอแห่งนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นห้องทำงานในสวนที่สร้างขึ้นตอนระหว่างทำธีสิส ก่อนจะต่อเติมเป็นสตูดิโอในวันที่เริ่มมีงานเข้ามาจริงจัง “เราไม่ตอกเสาเข็มด้วยซ้ำ เพราะตอนแรกทำไว้แค่หนึ่งชั้นกับดาดฟ้าที่ทำโครงเหล็กไว้เป็นสเต็ปๆ ไม่เท่ากัน เอาไว้นั่งเล่น” 

ด้วยความที่ฐานรากอาคารยังคงเป็นฐานแผ่แล้วปลูกเรือนขึ้นมาเลย ทั้งคู่บอกกับ art4d ว่าวัสดุหลักของโครงสร้างจึงมีแค่เหล็กกล่องขนาด 4×4 นิ้ว กับ 2×2 นิ้ว เท่านั้น โดยผนังอาคารทั้งหมดถูกปิดด้วยแผ่นซีเมนต์บอร์ดเพื่อให้อาคารเบาที่สุด ส่วนฝ้าเพดานก็ปิดด้วยไม้อัดยางที่มีราคาไม่แพง การใช้สีก็เป็นไปอย่างเรียบง่ายคือใช้สีเทาเบอร์เดียวกับสีรองพื้นเหล็ก เพื่อให้อาคารกลืนไปกับสวน ด้านในทาสีเขียวเพื่อให้เชื่อมโยงกับสีของต้นไม้ภายนอก และใช้สีส้มกับบางพื้นที่เพื่อให้เป็นตัวเชื่อมระหว่างสีของไม้อัดกับสีเขียว

“ทั้งโปรเจกต์มีแค่ช่างเหล็ก 1 คน คนงานอีก 1 คน กับพวกเรา 2 คน พวกเราไม่มี drawing ของอาคารด้วยซ้ำ” สตูดิโอพื้นที่ใช้สอยรวมกัน 2 ชั้นประมาณ 120 ตารางเมตร ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นจากการทำงานหน้าไซต์แต่ละวันของสองสถาปนิก โดยที่พวกเขาออกแบบอาคารตาม negative space ของต้นไม้ที่อยู่รายรอบอาคารเพราะไม่อยากตัดต้นไม้เดิมในสวน

“ที่เห็นเป็นก้อนยื่นออกไปด้านหน้า มันมาจากว่าเราอยากขยายพื้นที่ชั้นบนให้กว้างขึ้น ก็เลยลงไปยืนข้างล่างแล้วมองขึ้นไปบนฟ้าเพื่อดูว่าเหลือสเปซตรงไหนบ้างนะที่จะขยายได้โดยไม่กวนต้นไม้” รัญชน์ เล่าถึงที่มาของอาคารส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้าอาคารกว่า 3 เมตร โดยชยาลักษณ์เสริมต่อไปว่า “ที่เห็นเป็นโครงเหล็กทั้งหมดนี้ไม่ใช่ decoration เลย แต่มันมีฟังก์ชัน” พร้อมกับชี้ให้เห็นโครงสร้างอาคารที่มีการเชื่อมเหล็กกล่องแนวทแยงเป็น truss เพื่อดึงยึดอาคารส่วนที่ยื่นออกไปให้แข็งแรงขึ้น “เราตั้งใจโชว์ element ของโครงสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของความงามของอาคาร”

มาดูกันที่พื้นที่การใช้งานกันบ้าง พื้นที่ทำงานซึ่งอยู่บนชั้นสอง (ชั้นล่างเป็นออฟฟิศส่วนตัวสำหรับทำงานด้าน illustration) ต้องเดินเข้าจากทางบันไดภายนอกอาคาร โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ทำงานของพนักงานและโต๊ะประชุม ห้องนั่งเล่น (พื้นที่อาคารที่สร้างยื่นออกไป) ห้องเก็บของขนาดเล็กที่ต้องเดินลงไปหนึ่งขั้นบันไดซึ่งมีด้านบนเป็นชั้นวางโมเดล (ตอนแรกตั้งใจทำไว้เป็นที่นอนแบบโดราเอมอน) และโซนพื้นที่ทำงานของ founder สองคน (ส่วนที่ทาสีส้ม) ที่ต้องเดินขึ้นมาอีกสี่ขั้น สเต็ปบันไดเหล่านี้เป็นไปตามการเล่นระดับของดาดฟ้าเดิม ซึ่งช่วยสร้างความน่าสนใจแก่พื้นที่ ทำให้ที่นี่ไม่ใช่สตูดิโอ 2 ชั้นแบนๆ ทั่วไป แต่มีการใช้งานพื้นที่เชิงปริมาตร คือใช้ประโยชน์จากระยะความสูงของฝ้าเพดานในจุดต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน

อีกหนึ่งดีเทลที่น่าสนใจคือการที่บางโต๊ะทำงาน ชั้นหนังสือ และชั้นวางโมเดลแทบทั้งหมดถูก integrate เข้าไปกับโครงสร้างตั้งแต่ตอนแรกสร้างอาคาร “มันคือ structural built-in furniture เลย ที่เห็นว่าเป็นชั้นหนังสือ มันก็คือเสาของอาคารที่เราแค่เชื่อมเหล็กเข้าไปแล้วก็วางท็อป” ชยาลักษณ์ ยังเสริมเรื่องดีเทลอาคารต่อไปอีกว่า ถ้าซูมอินไปที่ขอบของโครงเหล็กกล่องจุดที่เชื่อมต่อกับแผ่นซีเมนต์บอร์ด เราจะเห็นขอบบัวผนังที่ทำจากเหล็กฉาก “จริงๆ แล้วมันไม่ใช่บัวด้วยซ้ำ คือเรา adapt เหล็กฉากมาใช้เก็บรายละเอียดตรงรอยต่อระหว่างเหล็กกล่องกับแผ่นซีเมนต์บอร์ด” ซึ่งในท้ายที่สุดมันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างความเรียบร้อยและความต่อเนื่องของวัสดุทั้งภายนอกและภายในอาคาร

“สำหรับผมอาคารนี้สำคัญที่ structure การเลือก material การใช้สี แล้วก็พวกช่องเปิดที่เราพยายามรักษาฟีลลิ่งแบบดาดฟ้าเอาไว้ พยายามทำให้เมื่อไม่เปิดแอร์ เปิดแค่หน้าต่างแล้วยังได้ลมแบบดาดฟ้าอยู่เหมือนเดิม” 

คงไม่ผิดถ้าจะพูดว่าพวกเขาสร้าง Only Human Studio ขึ้นมาได้ถูกจังหวะ โปรเจกต์นี้ให้โอกาสสถาปนิกทั้งคู่ได้ลองผิดลองถูกแบบเป็นตัวเองได้เต็มที่ การทำงานหน้าไซต์กับช่างเหล็กทำให้พวกเขารู้ลิมิตของเหล็ก เทคนิคการเชื่อม การตัดเหล็ก และเอาความรู้นี้ไปใช้สร้าง Sohelou St.Marc Catholic Chapel ที่จังหวัดตาก จนเสร็จออกมามีกลิ่นอายบางอย่างที่คล้ายคลึงกันระหว่างสองผลงาน “ลูกค้าจะชอบบอกว่าเอาเหมือนกับสตูดิโอ ความท้าทายของเราตอนนี้คือทำยังไงก็ได้ให้งานมันออกมาไม่เหมือนกัน แต่ยังคงกลิ่นอายบางอย่างไว้” อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ทิ้งท้ายและเน้นย้ำกับ art4d ว่าในความจริงแล้ว สิ่งที่ Only Human พยายามทำในทุกๆ โปรเจกต์ หัวใจมันคือการพยายามออกแบบอย่างตรงไปตรงมาและให้น้อยที่สุดต่างหาก

onlyhuman-studio.com
facebook.com/studioonlyhuman

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *