RED RIDING WOOD

Red Riding Wood

Sher Maker นำเสนอสถาปัตยกรรมอันเกิดจากกระบวนการผ่านการประยุกต์และฟื้นฟูอาคารเดิม เกิดเป็นอาคารสีแดงชาดที่เชื่อมโยงเข้ากับบริบทและจินตนาการของนิทาน ‘หนูน้อยหมวกแดง’

TEXT: BHUMIBHAT PROMBOOT
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT

(For English, press  here)

สีแดงและสีเขียว เป็นสีคู่ตรงข้ามที่มักพบเห็นได้บ่อยในธรรมชาติ ทั้งเป็นสีที่เกิดจากทั้งพืชพรรณ ดอกไม้ สัตว์และแมลงต่างๆ ก่อเกิดเป็นขอบและเขตของการอยู่อาศัย หรือเป็นที่หลบซ่อนพรางตัว โดยทั้งเป็นการสร้างความกลมกลืน แนบเนียนไปกับสภาพแวดล้อมหรือเป็นการสร้างความน่าสนใจหรือจุดเด่นขึ้นมา ที่ต่างกันออกไปตามแต่ละจุดประสงค์ที่ไม่เหมือนกัน

Red Riding Wood

ผนังสีแดงสดที่ทอดยาว ที่ทั้งรูปแบบและเฉดสีได้สร้างความตัดกันกับบริบทพื้นที่ป่าต้นสัก จนเกิดเป็นความน่าสนใจและดึงดูดให้กับโครงการ Red Riding Wood ที่เป็นโครงการโรงแรมกึ่งพักอาศัย ที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ผลงานการออกแบบจาก Sher Maker ที่ใช้เวลาในการสังเกตและออกแบบ เสมือนเป็นห้องทดลององค์ประกอบต่างๆ โดยผ่านการเฝ้าดูและตีความ ทั้งความเป็นถิ่นที่อยู่เดิม สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงบริบทในช่วงเวลาต่างๆ ผ่านเรื่องราวของตัววัสดุอาคารเดิม ร่มเงาของป่าต้นสัก และสัตว์อย่างกิ้งกือตะเข็บแดง ก็ได้ถูกนำมาร้อยเรียงเรื่องราวของโครงการนี้ อย่างพิถีพิถันในทุกขั้นตอน

Red Riding Wood

การปรับปรุง ฟื้นฟูและต่อยอดกิจการเดิมของครอบครัวขึ้นมาใหม่นั้น ก่อให้เกิดการรื้อสร้างอาณาเขตขึ้นมาใหม่ ภายในโครงการ ที่พื้นที่แต่เดิมนั้น เป็นพื้นที่ที่ประกอบธุรกิจโรงแรมของครอบครัวมาอย่างยาวนาน แต่ภายหลังได้มีการแบ่งสัดแบ่งส่วนและจัดสรรพื้นที่แบ่งแปลงใหม่ จึงส่งผลให้เกิดโครงการ Red Riding Wood ขึ้น ที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบของธุรกิจ สภาพพื้นที่ กิจกรรมต่างๆและชีวิตใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาใช้งานพื้นที่แห่งนี้ โดยโครงการ Red Riding Wood ประกอบไปด้วย Pool Villa เดิมจำนวน 2 หลัง อาคารกระท่อมที่พัก ยกสูงจำนวน 1 หลัง อาคารส่วนต้อนรับและสนามเด็กเล่น ที่ถูกเชื่อมต่อด้วยผนังสีแดงสด วางเป็นแนวเรียงนำสายตาไปสู่แต่ละอาคาร ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของป่าต้นสัก

Red Riding Wood

โดยกระบวนการออกแบบภายในโครงการ Red Riding Wood จะแบ่งกระบวนการทำงานเป็นสองส่วนหลักๆ คือ อย่างแรกคือ การรีโนเวทอาคารเดิมในส่วนของอาคาร Pool Villa ที่ได้มีการรื้อวัสดุเดิมที่ผุพังออกไป และแทนที่ด้วยวัสดุใหม่ โดยที่ทางสถาปนิกยังคงรูปแบบการใช้งานและการจัดวางแปลนแบบเดิมของตัว Pool Villa ไว้ให้มากที่สุด ส่วนการรื้อถอนวัสดุไม้เดิมต่างๆ เช่นการรื้อตัวศาลาเดิมออกไป โดยไม้จันทันหรือไม้ตงบางส่วนของศาลาเดิมได้ถูกนำมาแปรรูปใหม่ให้เป็นส่วนโครงสร้างหลังคาให้กับอาคารส่วนต้อนรับ ที่เป็นลักษณะของโครงสร้างทรัสส์ไม้วางตามแนวยาวของอาคาร ที่มักค่อนข้างหาพบได้ยากในงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยใหม่ๆ ในปัจจุบัน

Red Riding Wood

ส่วนของอาคารกระท่อมที่พัก อาคารต้อนรับและสนามเด็กเล่น คือส่วนที่สอง ที่เป็นส่วนที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในโครงการ Red Riding Wood ที่ทางสถาปนิกได้หยิบจับบริบทแวดล้อมและความต้องการของเจ้าโครงการมาออกแบบอาคาร อย่างเช่นในส่วนของอาคารกระท่อมที่พัก ที่เปรียบเสมือนเป็นทีพักของทางเจ้าของโครงการ โดยถูกออกแบบให้เป็นอาคาร 2 ชั้น 2 ฟังก์ชัน ที่เป็นส่วนของห้องนั่งเล่นและห้องนอน โดยได้ทำการยกตัวอาคารสูงจากพื้นเพื่อให้ตัวอาคารนั้น ได้มองเห็นยอดของป่าต้นสัก อีกนัยหนึ่งก็เพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัวแก่ผู้ใช้งาน อาคารกระท่อมที่พักนั้น ได้แสดงถึงความเรียบง่ายทั้งการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่น้อยชิ้น หรือการใช้องค์ประกอบทางโครงสร้างบางส่วน โดยนำมาเพื่อสร้างอาณาเขตหรือประโยชน์ในเชิงใช้สอยให้กับอาคาร เช่นส่วนโครงสร้างไม้พาดด้านหน้า ที่ถูกยืดออกไปเป็นส่วนรับราวจับกันตกของบันไดทางขึ้นอาคาร หรือการยืดโครงสร้างออกมาจากทางด้านข้างและการทำค้ำยันไม้ทางพื้นชั้นล่าง ก็เป็นการสร้างอาณาเขตพื้นที่ความเป็นส่วนตัวให้กับอาคารกระท่อมหลังนี้

ฉะนั้นโดยภาพรวมและตำแหน่งทิศทางของที่ตั้งของอาคาร ทางสถาปนิกจึงวางหันตัวด้านอาคารที่เปิดโล่งไปในทิศทางตรงข้ามกับพื้นที่สวนตรงกลาง ส่วนด้านอาคารที่ติดกับสวนตรงกลาง สถาปนิกได้ทำการปิดหุ้มอาคารด้วยกระจกฝ้าเพื่อให้อาคารดูไม่ทึบตัน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานของอาคารไว้อยู่ได้

Red Riding Wood

Red Riding Wood

และส่วนของอาคารต้อนรับ ก็ถูกออกแบบอย่างเรียบง่ายเช่นกัน เพื่อเตรียมไว้สำหรับกิจกรรมในอนาคตอย่างเช่นเป็นพื้นที่ คาเฟ่หรือทำกิจกรรมเอนกประสงค์อื่นๆ โดยทางสถาปนิกได้แบ่งอาคารออกเป็นสองส่วนคือส่วนภายในและส่วนภายนอก ที่กั้นกลางด้วยกระจกใสที่มองทะลุหากันได้ ที่พื้นที่ทั้งสองส่วนนั้น อยู่ภายใต้หลังคาโครงสร้างทรัสส์ไม้ที่เป็นชิ้นส่วนจากการรื้อศาลาในส่วนของ Pool Villa และปิดทับโครงด้วยแผ่นหลังคาโปร่งแสง ที่สามารถมองทะลุเห็นเฉดและร่มเงาของป่าต้นสักในบริเวณโดยรอบได้

RED RIDING WOOD

Red Riding Wood

การรื้อถอน การถอดประกอบ การแปรรูป การปรับและเปลี่ยนหรือแม้แต่การสร้างองค์ประกอบบางส่วนขึ้นมาใหม่ คือภาษาและกระบวนการทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นภายในโครงการ Red Riding Wood โดยการฟื้นฟู เชื่อมต่อ อดีต ปัจจุบันและอนาคตขององค์ประกอบของเดิมและของใหม่ไว้ด้วยกัน ผ่านการหยิบยืมบริบทแวดล้อมโดยรอบเพื่อสร้างภาษาและร้อยเรื่องราวในพื้นที่ขึ้นมาใหม่ ที่ทั้งสนุกและชวนให้ติดตาม ผ่านการใช้สีแดงชาด ที่เป็นการตีความผ่านสีของตัวตะเข็บแดง และสีแดงชาดยังถือว่าเป็นสีแดงที่สดที่สุด สะท้อนถึงการมีชีวิตชีวาท่ามกลางการผลัดใบในแต่ละฤดูของป่าต้นสักที่มีฤดูกาลที่ร่มรื่นและแห้งแล้ง โดยสีแดงชาดนั้นถูกนำมาใช้เป็นสีหลักขององค์ประกอบในงานภูมิสถาปัตยกรรมทั้งส่วนของ สนามเด็กเล่น ผนังส่วนทางเข้าและแนวเส้นที่นั่งในบริเวณรอบๆพื้นที่โครงการ ที่ที่สีแดงชาดกำลังตัดสลับกับความเขียวขจีของหญ้าพื้นถิ่นที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในพื้นที่โครงการ

Red Riding Wood

ในขณะเดียวกัน สีแดงชาดบางส่วนก็ได้รุกล้ำเข้าไปอยู่ในพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมเช่นกัน เช่น ในส่วนโครงอาคารกระท่อมที่พักและบางส่วนก็ถูกนำมาใช้เป็นสีของผนังตกแต่งภายในพื้นที่ Pool Villa เพื่อสร้างความเชื่อมโยงให้กับกลุ่มอาคารต่างๆ ไว้ด้วยกัน การประยุกต์และผสานองค์ประกอบของตัวสีแดงชาดนี้  สะท้อนถึงการเดินทาง ประสบการณ์และภูมิหลังที่หลากหลาย ไม่ใช่การแสดงออกมาเพียงแค่มองเห็นว่าเป็นสีแดงชาดเท่านั้น แต่ยังลงลึกไปถึงความเรียบและความหยาบของระนาบพื้นผิวต่างๆ ผ่านรูปแบบและองค์ประกอบที่ชวนสงสัย ที่ได้ถูกแต่งเติมขอบเขตความสร้างสรรค์ไปเรื่อยๆ เสมือนเรากำลังวิ่งเล่น อยู่ภายในอาณาเขตของนิทานเรื่อง หนูน้อยหมวกแดง ที่เจ้าของโครงการและผู้ออกแบบ ได้หยิบยืมลักษณะและความรู้สึกที่ต้องการอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ให้เกิดขึ้นมาในพื้นที่ป่าต้นสักแห่งนี้

Red Riding Wood

shermaker.com
facebook.com/shermaker

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *