BANGKOK ART BIENNALE 2024

art4d คัดสรร 7 ผลงานน่าสนใจใน Bangkok Art Biennale 2024 ภายใต้ธีม ‘Nurture Gaia’ อันเน้นไปยังเกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นผู้หญิง ธรรมชาติ ความเป็นผู้หญิง นิเวศวิทยา มาเล่าให้ฟัง

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press  here)

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale (BAB) จัดมาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยความใหม่ของคราวนี้คือ นอกจากจะมีผลงานศิลปะ 200 กว่าชิ้น จากศิลปิน 76 คน ที่มาจัดแสดงในหลายสถานที่ของกรุงเทพฯ 4 ใน 11 สถานที่นั้นยังถือเป็นสถานที่จัดงาน BAB เป็นครั้งแรก โดยที่เราแนะนำว่าไม่ควรพลาดคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ส่วน One Bangkok ที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ ก็มีงานจัดแสดงทั้งภายนอกอาคารและภายใน (ที่หายากมาก)

BAB ครั้งนี้มีผลงานน่าสนใจหลายชิ้น แต่ art4d ขอเลือกมาพูดถึง 7 ชิ้น โดยเน้นผลงานที่มีเนื้อหาน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติ ความเป็นผู้หญิง นิเวศวิทยา ฯลฯ ตามธีมประจำ BAB ครั้งนี้ นั่นคือ Nurture Gaia

‘It is, It isn’t’ (2023-2024)
Tony Cragg
Venue: One Bangkok Park

ประติมากรรมทำจากสเตนเลสสตีลขัดเงาสูง 7.8 เมตร ชิ้นนี้ของ Tony Cragg มองจากไกลๆ แล้วเห็นเป็นรูปทรงคล้ายกองหินที่ทับซ้อนกันขึ้นไปจากการถูกน้ำและลมกัดเซาะเป็นระยะเวลานาน ภาพที่เห็นนี้ตรงกับลักษณะข้อหนึ่งของศิลปะยี่ห้อ Cragg ที่มักได้แรงบันดาลใจมาจากโครงสร้างที่พบในธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็มักใช้วัสดุอุตสาหกรรมที่อยู่ในขั้วตรงข้ามกับธรรมชาติอย่างสเตนเลสสตีล

แต่เมื่อเข้ามาดู ‘It is, It isn’t’ ใกล้ๆ รวมทั้งลองเดินไปรอบๆ ก็จะพบว่ารูปทรงของประติมากรรมที่ซ้อนทับกันนั้น คล้ายกับใบหน้าหลายหลายของผู้คนปะปนกันอยู่ นอกจากนั้น ความเงาวาวของวัสดุยังสะท้อนภาพใบหน้าของเรา ผู้คนรอบข้าง ต้นไม้ และตึกสูงของกลางเมืองใหญ่ในบริเวณของ One Bangkok Park เกิดเป็นหลากหลายเรื่องราวปรากฎอยู่บนตัวประติมากรรมและเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ผู้คนที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการสำรวจความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างโลกของธรรมชาติและโลกที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์

แต่ที่เราชอบที่สุดคือ แม้ตัวประติมากรรมจะทำจากสเตนเลสสตีลที่มีคุณสมบัติแข็งแรงคงทน แต่รูปทรงเส้นสายที่ออกมากลับเหมือนจะกระเพื่อมเคลื่อนไหวได้เหมือนสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในธรรมชาติ ซึ่งทำให้คิดได้ว่าในกระบวนการสร้างสรรค์ สเตนเลสย่อมต้องถูกหลอมละลายและเคลื่อนไหวมาก่อนแล้วเช่นกัน

‘It is, It isn’t’ จัดแสดงเป็นการถาวรที่ One Bangkok Park เพราะฉะนั้นเรายังคงแวะเวียนไปดูกันได้เรื่อยๆ แม้ BAB 2024 จะจบลงแล้วก็ตาม

‘A Conversation with a Potter’ (2024)
Pim Sudhikam
Venue: The Storeys, 2nd Floor, One Bangkok

พื้นที่ส่วนแรกที่จัดแสดงผลงานของ พิม สุทธิคำ ให้ความรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณ เพราะไหนจะการจัดวางชิ้นงาน การจัดแสง แถมยังมีโครงกระดูกนอนกอด ‘หม้อสามขา’ อีกด้วย โดยหม้อสามขานี้ขุดพบทั้งในภาคตะวันตกและภาคใต้ของไทย เป็นภาชนะจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดจากจีน และถือเป็นเครื่องเซ่นผีที่จะบรรจุลงไปในหลุมฝังศพเพื่อแสดงสถานะทางสังคมของผู้ตาย

แน่นอนว่าหม้อสามขาที่เราเห็นเป็นผลงานที่พิมสร้างขึ้นใหม่ แต่สิ่งหนึ่งในผลงานชุดนี้ที่อาจเดินทางผ่านกาลเวลามายาวนานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ายุคสมัยเก่าก่อนนั้น คือ ‘ดิน’ ที่ถูกนำมาปั้นเป็นผลงาน ดินเหล่านี้เป็นดินเหนียวที่ศิลปินนำมาจากชั้นดินลึกที่ได้จากการขุดเจาะเพื่อก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งก็น่าจะรวมถึง One Bangkok สถานที่จัดแสดงผลงานชุดนี้ด้วย นอกจากนั้น ศิลปินยังใช้วิธีการปั้นด้วยมือ โดยปราศจากเครื่องไม้เครื่องมือใดๆ ไม่ทำสี ไม่เขียนลาย ทั้งหมดเป็นเทคนิคและข้อจำกัดแบบเดียวกับการทำเครื่องปั้นดินเผาในยุคก่อน

การนำดินจากไซต์ก่อสร้างเหล่านี้มาใช้นำไปสู่การเปิดกว้างการตีความที่น่าสนใจ เพราะการพัฒนาเมืองสู่อนาคตที่เน้นการก่อสร้างตึกสูงขึ้นเสียดฟ้า กลับต้องขุดลึกลงไปยังอดีต เช่นเดียวกันกับผลงานอีกชุดหนึ่งที่ถึงจะใช้ดินเหนียวเหมือนกัน แต่อยู่ในรูปทรงร่วมสมัยและมีจำนวนหลายต่อหลายชิ้นตั้งเรียงรายกัน ดูแล้วนึกถึงการทำงานขุดพบวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่มักนำเอาวัตถุมาจัดเรียง หรือในอีกแง่มุมหนึ่งก็เหมือนฟันเฟืองในอุตสาหกรรม

‘Mapping the Land Body Stories of its Past’ (2021)
Bagus Pandega & Kei Imazu
Venue: Bangkok Art and Culture Centre

ปัญหาการทำลายป่าในอินโดนีเซียนั้นขึ้นชื่อว่าติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะการเผาถางป่าเพื่อทำสวนปาล์มสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ไม่ว่าจะในสุมาตรา ปาปัว และกาลีมันตัน ก่อนหน้านี้ศิลปินสตรีทอาร์ต Ernest Zacharevic ก็เคยทำโปรเจกต์ศิลปะเพื่อเป็นกระบอกเสียงเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้ว โดยคราวนั้นเขาและเพื่อนๆ เล่นใหญ่ขนาดตัดต้นปาล์มส่วนหนึ่งในสุมาตราออก จนเมื่อมองจากเครื่องบินจะเห็นเป็นตัวอักษร SOS เตือนถึงภัยที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่

ถึงแม้ว่าการพูดถึงเรื่องการทำลายป่าอินโดฯ ใน BAB ครั้งนี้ของ Bagus และ Kei จะไม่ได้เป็นการเล่นใหญ่แบบนั้น แต่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ไม่ต่างกัน ผลงานของพวกเขาชิ้นนี้ (หรือที่หลายคนอาจรู้จักกันมาก่อนหน้าในชื่อ ‘Artificial Green by Nature Green’) เป็นภาพวาดขนาดใหญ่รูปป่าสีเขียวชอุ่มในอินโดฯ ที่ค่อยๆ วาดขึ้นด้วยแปรงที่ควบคุมโดยเครื่องจักร โดยหลังจากภาพป่านั้นถูกวาดจนเสร็จสมบูรณ์ เครื่องจักรก็จะทำการปล่อยน้ำเพื่อล้างสีทั้งหมดออกจนกลายเป็นภาพความว่างเปล่า จากนั้นก็วาดขึ้นใหม่ เวียนวนกันไป เปรียบเปรยถึงธรรมชาติที่ถูกใช้หาผลประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม ที่สำคัญ เครื่องจักรที่เคลื่อนไหวแปรงไปมาเพื่อวาดภาพนั้น ได้พลังงานที่เป็นกระแสไฟฟ้าชีวภาพ (bioelectricity) จากต้นปาล์มหนึ่งต้นที่ศิลปินจัดวางไว้ข้างๆ ภาพ ซึ่งก็ทำให้เราได้คิดอีกว่า แท้จริงแล้วรากฐานของทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีกันอยู่ทุกวันนี้ก็ล้วนมาจากธรรมชาติ

‘A Spoon Made from the Land’ (2009) / ‘Infinity Mirage’ (2021/2023-present) / ‘Anne and Anne’s Sculpture’ (2012)
Mai Yamashita + Naoto Kobayashi
Venue: Bangkok Art and Culture Centre

ในห้องแกลเลอรีที่จัดแสดงผลงานของ Mai และ Naoto มีอินสตอลเลชันกองทรายขนาดใหญ่ที่ด้านบนสุดมีช้อนหนึ่งคันปักอยู่ นี่คือผลงานชิ้นที่หนึ่งใน BAB ครั้งนี้ของพวกเขา ‘A Spoon Made from Land’ เป็นโปรเจกต์ที่พวกเขาเก็บทรายเหล็ก (iron sand) มาจากชายหาดอิโอกะ เมืองชิบะ จากนั้นจึงสกัดเหล็กออกและนำเหล็กที่ได้มาทำเป็นช้อนหนึ่งคัน

ภายในห้องยังมีวิดีโออินสตอลเลชันอีกสองชิ้น ชิ้นแรกคือ ‘Infinity Mirage’ ที่พวกเขาติดตั้งสัญลักษณ์คล้ายตัว ‘m’ เหนือเขื่อนชายฝั่งอิกุจิ จังหวัดโทยามะ สถานที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องภาพลวงตาที่เกิดจากการหักเหของแสง จากนั้นพวกเขาใช้กล้องที่ซูมได้จากระยะไกล (super telephoto camera) ถ่ายสัญลักษณ์ตัว ‘m’ นี้จากอูโอซุ ซึ่งอยู่ห่างจากอิกุจิ 8 กิโลเมตร และถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ตให้ผู้ชมทั่วโลกชมจากเว็บไซต์ได้แบบเรียลไทม์ โดยหวังว่าบางเวลาการหักเหของแสงจะทำให้สัญลักษณ์ตัว ‘m’ นั้น กลายเป็นสัญลักษณ์ infinity ที่ลอยอยู่เหนือเส้นขอบฟ้า แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าธรรมชาติจะสร้างให้เกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้นบ้างและเกิดขึ้นเมื่อไร

ผลงานของ Mai และ Naoto เป็นการนำเอาปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ในสถานที่ต่างๆ ของญี่ปุ่นมาใช้ โดยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและของใช้ธรรมดาในชีวิตประจำวัน และความไม่แน่นอนของธรรมชาติที่สะท้อนอยู่ในผลลัพธ์ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ โดยงานอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนนี้ คือ ‘Anne and Anne’s Sculpture’ ที่พวกเขาแกะไม้เป็นรูปสุนัขชื่อ แอน ของพวกเขา และมอบให้มันแทะเล่น จนเกิดเป็นการลดทอนและเปลี่ยนแปลงรูปร่างของงานศิลปะ โดยที่พวกเขาก็ไม่สามารถคาดเดาได้อีกเช่นกันว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

‘Golden Girl’ (2024), ‘Breathing’
Choi Jeong-Hwa
Venue: Bangkok Art and Culture Centre

ชื่อของ Choi Jeong-Hwa ไม่ใหม่แล้วสำหรับ BAB เพราะส่งผลงานมาสร้างสีสันตั้งแต่ BAB ครั้งแรกเมื่อปี 2018 ไม่ว่าจะเป็น ‘Breathing Flower’ (2016), ‘Love Me Pig’ (2013) และ ‘Fruit Tree’ (2017) เป็นต้น ผลงานทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นประติมากรรมเป่าลม ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของ Jeong-Hwa และในปีนี้ เขาก็กลับมาพร้อมกับประติมากรรมเป่าลมอีกเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็น ‘Golden Girl’ (2024) ที่เดาว่าน่าจะทำขึ้นเพื่อ BAB ครั้งนี้ที่อยู่ในธีม Nature Gaia โดยเฉพาะ เพราะเป็นประติมากรรมเป่าลมสีทองที่ทำเป็นรูปเหมือนนางฟ้ามีปีกหรือเทพีอะไรสักอย่าง แล้วติดตั้งบนเพดานของ BACC

แต่ชิ้นงานของ Jeong-Hwa ที่เราชอบมากกว่ากลับเป็น ‘Breathing series’ ที่คราวนี้นอกจากจะเอาดอกบัวยักษ์ขยับได้มาติดตั้งบนลานด้านหน้าของอาคารหอศิลป์แล้ว ก็ยังมีประติมากรรมเป่าลมรูปผักผลไม้ขนาดยักษ์ที่เหมือนตุ๊กตาล้มลุก เพราะงานสองชุดนี้สร้าง interaction กับผู้ชมที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคอศิลปะได้อย่างดี โดยขณะที่ผักผลไม้มีผู้ชมแวะเวียนมาถ่ายรูปด้วยแทบไม่ได้พัก ฟากดอกบัวยักษ์ก็กลายเป็นของเล่นที่เด็กๆ ทั้งนักท่องเที่ยวและเด็กในละแวกนั้นโปรดปราน

ศิลปะของ Jeong-Hwa มักพูดถึงวิถีชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบ ฉาบฉวย อย่างประติมากรรมเป่าลมก็แสดงให้เห็นถึงความสุขฉาบฉวยแบบชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนอย่างที่ผู้คนมายืนยิ้มถ่ายรูปคู่กับมัน โพสต์ลงโซเชียล แล้วก็จบ

‘The Thick of Time’ (2010-ongoing)
Chitra Ganesh
Venue: The National Gallery

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือที่เราเรียกกันว่า หอศิลป์เจ้าฟ้า เป็นหนึ่งในสามสถานที่จัดงานแห่งใหม่ของ BAB ครั้งนี้ โดยแม้พื้นที่ภายในหอศิลป์จะเป็นสเปซที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่พอมีงานศิลปะของศิลปินต่างชาติเข้าไปจัดแสดง ก็กลับดูแปลกใหม่ขึ้นมา

ห้องแกลเลอรีที่ติดตั้ง ‘The Thick of Time’ ผลงานของ Chitra Ganesh เป็นห้องที่เราชอบมากที่สุด เพราะพื้นที่เป็นลายตารางสีขาวดำ ผนังสีเขียว มีภาพปรินต์ขนาดใหญ่หลายภาพที่ดูคล้ายการ์ตูน Marvel ติดอยู่รอบด้าน ซึ่งรายละเอียดในแต่ละภาพล้วนมีตัวละครหลักเป็นผู้หญิง ส่วนเรื่องราวและรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ในภาพก็ผสมปนเปกันระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมทั้งความ surreal

‘The Thick of Time’ เป็นผลงานที่ Chitra สร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่องตลอด 12 ปีที่ผ่านมา โดยในจุดเริ่มต้นนั้น เธอได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Amar Chitra Katha’ หนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กที่ตีพิมพ์ในอินเดียเมื่อช่วงปี 1960s โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้เด็กๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อินเดีย ศาสนา และตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้า แต่ก็เหมือนกับตำราเรียนหรือหนังสือในกระแสหลักทั่วไปในเอเชียที่มักมีตัวละครหลักเป็นผู้ชาย เต็มไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้และชัยชนะ ที่สำคัญ ยังแบ่งฝ่ายดีฝ่ายร้ายเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง โลกไม่ได้มีแค่สีขาวและดำอย่างนั้น Chitra จึงเขียนการ์ตูนในเวอร์ชันของเธอขึ้นใหม่ โดยใช้ตัวละครหลักเป็นผู้หญิง และตัวละครนั้นมักอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน หรือเป็นการแสดงถึงความปรารถนาในใจของพวกเธอ ที่สำคัญ เธอไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด แต่ผลงานที่ออกมาเป็นไปในเชิงตั้งคำถามมากกว่า เหนือสิ่งอื่นใด ผลงานของเธอดูสนุกมาก เต็มไปด้วยสัญลักษณ์จากวัฒนธรรมที่หลากหลายและ pop culture เข้ากับตัวตนของเธอที่เป็นคนเชื้อสายอินเดียที่เกิดและเติบโตในนิวยอร์ก

‘Fish, Fire, Fallout’ (2024)
Nakrob Moonmanus
Venue: Siwamokkhaphiman Hall, National Museum Bangkok

ใน BAB 2024 นักรบมีผลงานจัดแสดง 3 ชิ้น คือ ‘Our Place in Their World’ (2023-2024) ที่เขาทำงานร่วมกับจิตติ เกษมกิจวัฒนา, ‘La, in the Trapeziums’ (2024) หรือ ‘ราหู, โลกา, คางหมู’ วิดีโออินสตอลเลชันที่จัดแสดงที่วัดโพธิ์ และอีกชิ้นที่เราขอเลือกมาพูดถึงคือ ‘Fish, Fire, Fallout’ (2024) หรือชื่อไทยที่น่าสนใจว่า ‘สีทันดรสันดาป’

ในภาพภายนอก ‘สีทันดรสันดาป’ อาจไม่เหมือนกับผลงานของนักรบที่หลายคนมักจำได้ว่าคืองานคอลลาจ (collage) เพราะงานชุดนี้เป็นงานสื่อผสมที่มีทั้งประติมากรรม วิดีโอ และดิจิทัลปรินต์ แต่จริงๆ แล้ว ‘สีทันดรสันดาป’ ก็คือการคอลลาจด้วยการนำเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าจากตำนาน บทกวีเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง และปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน โดยประติมากรรมปลาทั้ง 7 ตัวนั้น มาจากข้อเขียนของรัชกาลที่ 5 ที่กล่าวถึงปลาตัวใหญ่ในสระของวังหน้า (ซึ่งก็คือพระที่นั่งศิวโมกขพิมานที่เป็นสถานที่จัดแสดงงานครั้งนี้)

นักรบยังเชื่อมเรื่องราวของปลาเข้ากับจิตรกรรมบนบานประตูกลางของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยที่เป็นเรื่องของปลาที่หากว่ายทวนน้ำและกระโดดข้ามประตูมังกรได้ ก็จะกลายเป็นปลามังกร ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นสะท้อนอยู่ในวิดีโอที่มีเชฟป้อม ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล มาสาธิตการทอดปลาหมอคางดำ ตัดสลับกับภาพจากไตรภูมิพระร่วงที่พูดถึงวันสิ้นโลก และบนกระจกของตู้ที่แสดงงานยังมีข้อความที่นำมาจากวรรณคดี ตำนานปลาหลีฮื้อในไตรภูมิ ข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และกวีนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา ที่เคยเกิดขึ้น ณ บริเวณเดียวกันกับสถานที่จัดแสดงงานแห่งนี้ด้วย

‘สีทันดรสันดาป’ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อีกหนึ่งสถานที่จัดแสดงงานแห่งใหม่ของ BAB ครั้งนี้ โดยอีกหนึ่งความน่าสนใจอยู่ที่ทางพิพิธภัณฑ์ได้อนุญาตให้ศิลปินหยิบยืมเอาศิลปวัตถุในคลังสะสมมาจัดแสดงร่วมกับผลงานศิลปะที่จัดทำขึ้นใหม่ด้วย ทำให้เราได้เห็นศิลปะจากสองกาลเวลาอยู่เคียงข้างกัน

ซึ่งใครอยากแวะไปดูงานชิ้นต่างๆ ด้วยตาตัวเอง เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale (BAB) ยังมีจัดอยู่ตั้งแต่วันนี้ – 25 กุมภาพันธ์ 2568 โดยติดตามข่าวสารและตารางกิจกรรมได้ที่ bkkartbiennale.com และ facebook.com/bkkartbiennale

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *