โลกภายนอกและโลกภายใน ว่าด้วยวันๆ หนึ่งที่เลิศวิไลใน Perfect Days
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF MASTER MIND LTD.
(For English, press here)
พึ่งจะได้มีโอกาสดู Perfect Days หนังตัวแทนประเทศญี่ปุ่น ชิงรางวัลออสการ์ปี 2024 ที่มี วิม เวนเดอร์ ผู้กำกับเป็นชาวเยอรมัน ยุทธศาสตร์ครั้งนี้ล้ำลึกมาก เพราะเป็นการยกมาตรฐานคุณภาพหนังที่เป็นตัวแทนญี่ปุ่น (ที่วางตำแหน่งตัวเองเทียบเท่าโลกตะวันตก และไม่เคยคิดว่าจะมาเกี่ยวข้องกับทวีปเอเชีย) ซึ่งคู่แข่งสำคัญในเอเชียด้วยกันย่อมหนีไม่พ้นเกาหลีใต้ที่พา Parasite คว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว การเลือก Perfect Days ที่มี pacing และ storytelling ต่างจาก Parasite โดยสิ้นเชิง เหมือนกับจะบอกว่ารสนิยมเราน่ะ ไม่เน้นความหวือหวา กระชากอารมณ์ หักมุมหลังหัก 360 องศา แบบพวกเธอนะ ของเราน่ะเรียบง่าย ลุ่มลึก งานผู้กำกับอย่าง วิม เวนเดอร์, ยาสุจิโร่ โอสุ หรือกระทั่ง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จะมีความเนิบนาบ เหมือนการเดินทางด้านในมีปรัชญาตะวันออกแฝงอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน
ประสบการณ์ที่ชอบที่สุดของการชมภาพยนตร์เรื่องนี้คือ การทัวร์ห้องน้ำสาธารณะในโครงการ The Tokyo Toilet ที่มีความเลิศวิไล และการฟังเพลงร่วมไปกับลุงฮิรายามาและวิม เวนเดอร์ ที่ใช้เทปคาสเซทเล่นเพลงยุค 70 ไล่มาตั้งแต่เพลงแรก The House Of The Rising Sun ของ The Animals เพลงนี้มีเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น ชื่อ Asahi-You ร้องโดย Asakawa Maki ในหนังยังมีซีนที่คุณป้าเจ้าของร้าน / บาร์ ร้องสดตามคำขอของลูกค้าด้วย และยังมีเพลงเพราะๆ อย่าง Pale Blue Eyes ของ Velvet Underground, (Sittin’ On) The Dock of the Bay ของ Otis Redding, Redondo Beach ของ Patti Smith, Aoi Sakana (Blue Fish) ของ Sachiko Kanenobu, Brown Eyed Girl ของ Van Morrison, Perfect Day ของ Lou Reed ปิดท้ายด้วย Feeling Good ของ Nina Simone มีบทสนทนาตอนหนึ่ง หลานสาวถามว่า เพลงพวกนี้มีใน Spotify หรือเปล่า? ตาลุงสงสัย “ร้านที่ว่านั่นมันอยู่ที่ไหนนะ?”
ดารานำของเรื่อง Perfect Days นี้นอกจาก Koji Yakusho แล้ว ที่เด่นไม่แพ้กันก็คือ Tokyo Public Toilet ห้องน้ำญี่ปุ่นนั้นขึ้นชื่อว่าทันสมัยที่สุดในโลก จะเรียกว่า super toilet ก็ว่าได้ ลองอ่านบทความเกี่ยวกับ The Tokyo Toilet ชิ้นนี้ดูได้ที่ https://art4d.com/2021/08/the-tokyo-toilet-project
โปรเจกต์ The Tokyo Toilet นี้คือการรวบรวมสถาปัตยกรรมและนักออกแบบตัวท็อปๆ อาทิ Toyo Ito, Tadao Ando, Kengo Kuma และ Fumihiko Maki จำนวน 17 สตูดิโอ มาช่วยออกแบบห้องน้ำสาธารณะ 17 แห่ง เวนเดอร์เลือกห้องน้ำบางแห่งมาใช้เป็นโลเคชั่นในหนัง เพื่อเสริมปรัชญาในการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่น ที่สะท้อนความสันโดษ ความเรียบง่าย และความงดงามในชีวิตประจำวันตามแกนหลักของเรื่องนี้ ห้องน้ำที่ปรากฏอยู่ในหนังแยกตัวโดดเด่นออกมาจากสภาพแวดล้อม กลายเป็นโลกส่วนตัวเล็กๆ อีกใบที่ช่วยให้ลุงฮิรายามาหลุดออกมาจากความวุ่นวายเบื้องนอกของโตเกียว
ขอยกตัวอย่างงานบางชิ้น เช่น ห้องน้ำโปร่งใส ของ Shigeru Ban ที่เป็นผนังกระจกสี เวลาล็อคประตู กระจกจะกลายเป็นทึบแสงขึ้นมาทันทีเล่นกับความเป็น public กับ private space หรือห้องน้ำของ Nao Tamura สีแดงสด ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Origata หรือการห่อของขวัญด้วยกระดาษ หรือแม้แต่ห้องน้ำยุคหินใหม่ของ Wonderwall ที่ตั้งใจออกแบบให้มีความ ‘ไม่เป็นทางการ’ เหมือนสิ่งปลูกสร้างที่ชาวบ้านทำกันเอง โดยใช้ผนังคอนกรีต 15 แผ่น มาประกอบเข้าด้วยกัน
งานสนุกๆ อย่าง ห้องน้ำปลาหมึกในสวน Ebisu East Park โดย Fumihiko Maki ตั้งใจให้มีรูปลักษณ์คล้ายกับเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น หมู่บ้านสาธารณะ ของ Kengo Kuma เป็นเหมือนกระท่อม 5 หลัง มัดรวมกัน งานตกแต่งภายในใช้ไม้เป็นวัสดุหลักให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในบ้าน
งานออกแบบทุกๆ ชิ้นในโปรเจกต์นี้สะท้อนคำพูดของเวนเดอร์ที่ว่า “ห้องน้ำคือสถานที่ที่ทุกๆ คนมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีเรื่องรวย จน แก่ เด็ก ทุกๆ คนล้วนเป็นมนุษย์” ความพิถีพิถันในงานสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม และความพิถีพิถันในเรื่องงานทำความสะอาดของลุงฮิรายามา รวมไปถึงวิถีชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การอาบน้ำในโรงอาบน้ำสาธารณะ การอ่านหนังสือ การฟังเพลง ล้วนเป็นความงดงามในชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสถานะและความร่ำรวยมั่งคั่ง
งานสถาปัตยกรรมระดับ iconic ที่เราเห็นในหนังล้วนเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ความสงบ ความเรียบง่าย ในขณะเดียวกันก็แปรเปลี่ยนตัวเองเป็นพื้นที่พิเศษที่หลุดจากบรรยากาศภายนอก และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของลุงฮิรายามาไปด้วย
โลกของเราใบนี้มีโลกอีกหลายใบทับซ้อนอยู่ด้วยกัน บางโลกเชื่อมต่อกัน บางโลกไม่ได้เชื่อมต่อกับโลกใบอื่น โลกของลุงฮิรายามา (นำแสดงโดย โคจิ ยาคุโช) เป็นโลกของการใช้ชีวิตปกติทุกๆ วันในแบบที่เจ้าตัวเลือกเอง เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะในโตเกียว เขามีวิถีชีวิตเรียบง่ายที่ตัวเองพึงพอใจ ต่างจากความสำเร็จในความหมายของคนทั่วไป เขาใช้ชีวิตแบบอนาล็อกในโลกสมัยใหม่แบบมีความสุข ฟังเพลงจากเทปคาสเซท อ่านหนังสือที่ซื้อจากร้านมือสอง ชอบต้นไม้เป็นพิเศษ มีงานอดิเรกที่ทำจริงจังคือถ่ายภาพธรรมชาติด้วยกล้องฟิล์ม ชีวิตของคุณฮิรายามา มีความปกติสุขดีจนกระทั่งมีคนอื่นๆ เข้ามาในชีวิต นั่นทำให้ความทรงจำในอดีตของเขาถูกรื้อฟื้นขึ้นมา…
ฮิรายามาเป็นคนพูดน้อยถึงน้อยมาก นานๆ จะพูดสักครั้ง แต่ดูเขาจะเข้าใจความรู้สึกของผู้คนรอบตัวได้ดี มีถ้อยคำเรียบง่าย คล้ายดังบทกวีจากปากเขาที่น่าจดจำ ‘วันหลังก็คือวันหลัง วันนี้ก็คือวันนี้’ ใช่แล้วถ้อยคำนี้คือ ‘message’ จากวิม เวนเดอร์ส่งถึงกรรมการตัดสินรางวัลออสการ์ในฐานะตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น มันคือปรัชญาตะวันออก Finding Joy in Everyday Life นั่นเอง