THE TOKYO TOILET

Three Mushrooms, Yoyogi-Hachiman by Toyo Ito

PEEK THROUGH THE FASCINATING TOILET DESIGN FROM THE PROJECT INITIATED BY THE NIPPON FOUNDATION, SHIBUYA TOURISM ASSOCIATION, AND SHIBUYA CITY GOVERNMENT THAT INVITES RENOWNED DESIGNERS AND ARCHITECTS FROM 17 STUDIOS TO DESIGN 17 TOILETS AROUND SHIBUYA

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: SATOSHI NAGARE, COURTESY OF THE NIPPON FOUNDATION EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ถ้าหากไม่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 กรุงโตเกียวในช่วงโอลิมปิกคงคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่แห่แหนเข้ามาชมมหกรรมกีฬาของมนุษยชาติ ถึงญี่ปุ่นจะไม่มีโอกาสได้ต้อนรับแขกเหรื่ออย่างหวัง แต่อย่างน้อย เราก็ได้เห็นจิตวิญญาณการต้อนรับแบบนัมเบอร์วันของชาวญี่ปุ่น ผ่านแนวคิดริเริ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่นการปรับปรุงทางเท้าให้คนทุกเพศทุกวัยใช้งานได้โดยสะดวก หรือการเปลี่ยนภูมิทัศน์เมืองให้สวยงามขึ้นด้วยการจัดการกับเสาไฟที่ระเกะระกะ  นอกจากนี้ ยังมีไฮไลต์เด็ดที่ไม่พูดถึงไปไม่ได้เลย นั่นคือโปรเจ็คต์ The Tokyo Toilet โครงการปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะในย่านชิบูย่าของกรุงโตเกียว

A Walk in the Woods, Nabeshima Shoto Park by Kengo Kuma

The Tokyo Toilet เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย The Nippon Foundation มูลนิธิที่สนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุข สวัสดิการทางสังคม และการพัฒนาทางทะเล ร่วมมือกับสำนักงานเขตชิบูย่า (Shibuya City Government) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชิบูย่า (Shibuya Tourism Association) เพื่อพลิกโฉมห้องน้ำสาธารณะในย่านชิบูย่าให้ดูน่าใช้งาน พร้อมเปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยใช้ได้อย่างสะดวกสบาย ถือเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ความเอาใจใส่ของชาวญี่ปุ่น และเฉลิมฉลองความหลากหลายของผู้คน ซึ่งเป็นหนึ่งในสโลแกนของชิบูย่า ไปในตัว

โครงการเชื้อเชิญสถาปนิกและนักออกแบบชั้นนำจาก 17 สตูดิโอ ให้มาร่วมออกแบบห้องน้ำทั้งหมด 17 แห่งในชิบูย่า พร้อมได้ Kashiwa Satō กราฟิกดีไซเนอร์ในตำนานผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้แบรนด์ญี่ปุ่นดังๆ อย่าง Uniqlo มาออกแบบ signage ของห้องน้ำทั้งหมดในโครงการ (นอกจากนี้เขายังได้รับมอบหมายให้ออกแบบห้องน้ำ 1 แห่งอีกด้วย) ในปัจจุบัน โครงการได้ก่อสร้างและเปิดห้องน้ำจำนวนหนึ่งให้ใช้งานกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนห้องน้ำที่เหลือจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม ปี 2022

Photo courtesy of the Nippon Foundation

ไม่เพียงโครงการให้ความสำคัญกับการออกแบบ การดูแลรักษาห้องน้ำให้สะอาดเอี่ยมอ่องก็เป็นเรื่องที่ The Tokyo Toilet ให้ความใส่ใจไม่แพ้กัน เห็นได้จากการจัดตั้งทีมดูแลทำความสะอาดที่มาพร้อมเครื่องแบบใหม่เอี่ยม ออกแบบโดย NIGO® แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสตรีทชื่อดัง A Bathing Ape (BAPE) (และเช่นเดียวกันกับ Kashiwa Satō ตัวของ NIGO® เองก็มีส่วนร่วมออกแบบห้องน้ำในโครงการนี้เหมือนกัน) 

Photo courtesy of the Nippon Foundation

หลังจากได้รู้จักที่มาของโครงการพอหอมปากหอมคอแล้ว art4d ก็อยากชวนไปลงลึกรายละเอียดการออกแบบของห้องน้ำบางหลังที่เราเห็นว่าโดดเด่นและน่าสนใจกัน 

Andon Toilet 
ผู้ออกแบบ: Takenosuke Sakakura
สถานที่: Nishihara Itchome Park

Andon Toilet, Nishihara Itchome Park by Takenosuke Sakakura

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสถาปนิก Takenosuke Sakakura ถึงตั้งชื่อห้องน้ำแห่งนี้ว่า ‘Andon’ (行灯) ซึ่งเป็นคำในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงตะเกียงไฟกระดาษรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เพราะเมื่อเวลาค่ำคืนมาเยือน ห้องน้ำทรงสี่เหลี่ยมที่กรุกระจกฝ้าโดยรอบแห่งนี้ ก็จะทำหน้าที่เหมือนตะเกียงที่มอบแสงสว่างให้กับพื้นที่สวนสาธารณะเล็กๆ เช่นกัน กลายเป็นว่าสวนสาธารณะก็ดูปลอดภัยน่าใช้งานตามไปด้วย นอกจากนั้น เมื่อเข้าไปในห้องน้ำและปิดประตูห้องเรียบร้อย เราก็จะเห็นลายพิมพ์ต้นไม้ด้านใน ทำให้บรรยากาศภายในห้องน้ำดูผ่อนคลายยิ่งขึ้น และอีกจุดเด่นก็คือห้องน้ำทั้งสามห้องเป็นห้องน้ำแบบ unisex ตอบรับแนวคิดความหลากหลายของผู้คนได้เป็นอย่างดี

The House
ผู้ออกแบบ: NIGO®
สถานที่: Jingumae

The House, Jingumae by NIGO®

The House, Jingumae by NIGO®

NIGO® ถ่ายทอดความผูกพันธ์ที่เขามีต่อย่านชินจูกุด้วยการออกแบบห้องน้ำให้เป็นรูปทรงบ้านหลังเล็กน่ารักที่อ้างอิงหน้าตาของบ้านใน Washington Heights หมู่บ้านทหารอเมริกันที่เคยตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะ Yoyogi ในปัจจุบัน ถือเป็นการสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านงานออกแบบได้น่าสนใจทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้น ห้องน้ำหลังนี้ยังมีดีเทลกระจุกกระจิกที่เติมแต่งให้ห้องน้ำดูเป็นมิตรมากขึ้น อย่างเช่นรั้วขนาดเล็กที่ล้อมโดยรอบ หรือประตูด้านหน้าห้องน้ำที่ดีไซเนอร์ตั้งใจให้เปิดตลอดเวลา 

Modern Kawaya
ผู้ออกแบบ: Masamichi Katayama / Wonderwall®
สถานที่: Ebisu Park

Modern Kawaya, Ebisu Park by Masamichi Katayama / Wonderwall®

Modern Kawaya เป็นอีกผลงานนำประวัติศาสตร์มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ Masamichi Katayama ดีไซเนอร์จาก Wonderwall® จำลองบรรยากาศของกระท่อม kawaya กระท่อมห้องน้ำในสมัย Jomon (ตั้งแต่ 10,000 – 6,000 ปีก่อนคริสตกาล) ที่ทำมาจากดินอัดและไม้ ออกมาเป็นห้องน้ำที่สร้างจากการวางกำแพงคอนกรีตเปลือยพร้อมพื้นผิวคล้ายไม้และดินอัดแบบสุ่มๆ คล้ายกับเขาวงกต โดยสถาปนิกตั้งใจให้ห้องน้ำเป็นเสมือนสิ่งของชิ้นหนึ่งที่อยู่อย่างกลมกลืนกับสวน ไม่แตกต่างจากเครื่องเล่นหรือต้นไม้ต่างๆ และเมื่อมองจากภายนอกก็จะไม่รู้ในทันทีว่าเป็นห้องน้ำ

Toilet In Higashi Sanchome 
ผู้ออกแบบ: Nao Tamura
สถานที่: Higashi Sanchome

Toilet In Higashi Sanchome, Higashi Sanchome by Nao Tamura | Photo: SS Co.,Ltd. Hojo Hiroko

Toilet In Higashi Sanchome, Higashi Sanchome by Nao Tamura | Photo: SS Co.,Ltd. Hojo Hiroko

หากผลงานห้องน้ำของ Wonderwall® เน้นความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ห้องน้ำหลังนี้จาก Nao Tamura ก็ถือเป็นขั้วตรงข้ามกันเลยทีเดียว เพราะห้องน้ำนี้จัดจ้านด้วยสีแดงที่โดดออกมาจากสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นได้ชัด ผลงานออกแบบนี้ ดีไซเนอร์ได้แรงบันดาลใจจากวิธีพับกระดาษห่อของขวัญแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เรียกว่า ‘Origata’ เพื่อเป็นการสื่อสารความมีไมตรีจิตของคนญี่ปุ่น และทำให้ห้องน้ำหลังนี้เป็นเสมือนของขวัญที่ชาวญี่ปุ่นมอบให้กับผู้เยี่ยมเยือน ห้องน้ำสร้างจากแผ่นเหล็กที่มีความบางพร้อมเส้นสายที่มีความแหลมคมที่สื่อถึงการพับกระดาษ ส่วนสีแดงอันเตะตา ก็มาจากความตั้งใจของนักออกแบบที่อยากให้ห้องน้ำแห่งนี้เป็นที่สังเกตได้ง่าย หากเกิดเหตุท้องไส้ปั่นป่วนขึ้นมาก็จะรู้ทันทีว่าต้องวิ่งไปที่ไหน

และยังมีห้องน้ำจาก Shigerun Ban สถาปนิกรางวัล Pritzker ที่ art4d เคยกล่าวถึงไว้ด้วย สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://art4d.com/en/2020/08/the-tokyo-toilet

เพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนที่หยิบยกมา เราก็สัมผัสได้ถึงความหลากหลายของดีไซน์และแนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง แต่ถึงผลงานแต่ละชิ้นจะมีความแตกต่างกัน จุดร่วมที่ห้องน้ำเหล่านี้มีก็คือการแสดงความเอาใจใส่ในแบบญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น และการคำนึงเรื่องความเป็นมิตรกับคนทุกเพศทุกวัย อย่างการมีห้องน้ำอย่างน้อย 1 ห้องที่เป็น Universal Design เสมอ คงจะดีไม่น้อยถ้าหากเมืองต่างๆ จะหันมาใส่ใจกับการออกแบบและดูแลรักษาห้องน้ำสาธารณะดีๆ เหมือนอย่างห้องน้ำในโครงการ The Tokyo Toilet บ้าง 

tokyotoilet.jp/en

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *