#LITTLESHELTERHOTEL

A VARIETY OF ARCHITECTURAL ELEMENTS OF THE LITTLE SHELTER HOTEL IN CHIANG MAI, INCLUDING ITS PHOTOGENIC FAÇADE AND INTERIOR DESIGNS, SHOW US HOW DEPARTMENT OF ARCHITECTURE REINTERPRETS THE SENSE OF ‘CHIANG MAI’ WITH A CONTEMPORARY SPIRIT

TEXT: JIRAWIT YAMKLEEB / SUKONTHIP SA-NGIAMVONGSE
PHOTO: W WORKSPACE 

เมื่อเอ่ยถึงเชียงใหม่หลายคนคงนึกถึงทิวทัศน์แนวเขาอันงดงามและอากาศเย็นในฤดูหนาวที่เด็กๆ ในยุคปัจจุบันแทบจะไม่เคยได้สัมผัสแล้วในกรุงเทพฯ อีกกลุ่มหนึ่งอาจมองว่าเชียงใหม่เป็นเมืองเก่าซึ่งเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมอันเก่าแก่และงานฝีมืออันวิจิตรตระการตาแห่งหนึ่งของบ้านเรา จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่อาคารสำคัญๆ รวมไปถึงโรงแรมต่างๆ ในเชียงใหม่ได้นำเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมบางส่วนมาใช้เป็นองค์ประกอบในการออกแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยที่คำว่าอัตลักษณ์ไทยในบริบทร่วมสมัยและสากลนั้นดูจะเป็นสิ่งที่เรายังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์ที่ Instagram และ Pinterest มีบทบาทเป็นอย่างมากในวงการออกแบบไม่เฉพาะแต่สถาปัตยกรรม

“ทำอย่างไรให้อาคารสื่อถึงความเป็นเชียงใหม่ในวิธีที่ไม่ซ้ำเดิม” คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ อมตะ หลูไพบูลย์ สถาปนิกจาก Department of Architecture เล่าให้ art4d ฟังถึงแนวคิดในการออกแบบ Little Shelter Hotel สถาปัตยกรรมรูปทรงเรียบง่ายรายละเอียดแน่น ด้วยลักษณะของที่ตั้งซึ่งมีขนาดเล็ก มวลอาคารจึงเป็นการถอดเอารูปทรงที่สามารถสร้างได้เต็มที่ภายในความสูงและระยะร่นตามที่กฎหมายอาคารกำหนด โดยมีรูปทรงหลังคาที่อ้างอิงมาจากแบบปั้นหยา หากแต่ลดทอนความแข็งของรูปทรงเรขาคณิตสมบูรณ์ด้วยการบิดเล็กน้อยแบบอสมมาตรให้ดูเป็นธรรมชาติกลมกลืนไปกับทิวไม้ที่อยู่โดยรอบ

ทีมออกแบบเลือกแป้นเกล็ดไม้ หรือ Wood shingles มาเป็นหนึ่งในวัสดุหลักของงานปิดผิวอาคารเนื่องจากต้องการให้มีความเชื่อมโยงกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยแป้นเกล็ดที่นำมาใช้เป็นการนำเศษไม้เก่ามาตัด ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ไม้เก่าที่ผ่านสภาวะอากาศมายังมีปัญหาน้อยกว่าไม้ใหม่อีกด้วย อีกหนึ่งวัสดุที่เลือกใช้เพื่อให้อาคารดูร่วมสมัยมากขึ้นคือแผ่นโพลีคาร์บอเนต ซึ่งทีมออกแบบเลือกมา 2 ยี่ห้อ 2 แบบ ที่มีความใสมากและขุ่นมากต่างกันจากกองตัวอย่างแผ่นโพลีคาร์บอเนตทุกยี่ห้อที่มีจำหน่ายในประเทศ อมตะเล่าให้ฟังว่าเบื้องหลังการนำวัสดุที่แตกต่างกัน 2 ประเภทนี้มาใช้นั้นมีความน่าสนใจมากเพราะมันมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว สำหรับแป้นเกล็ดไม้นั้น ไซส์ของมันสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่งเพราะช่างตัดมาจากเศษไม้หลายขนาด แต่โพลีคาร์บอเนตเป็นวัสดุระบบอุตสาหกรรมที่มีขนาดแผ่นตายตัว ดังนั้นการกำหนดโมดูลของ 2 สิ่งนี้มาใช้ร่วมกันจึงต้องคิดในลักษณะของการหาตัวหารร่วมมาก (ห.ร.ม.) เพื่อให้เหลือเศษวัสดุของทั้ง 2 ประเภทให้น้อยที่สุด หลังคาทั้งผืนรวมถึงผนังด้านข้างกรุด้วยแป้นเกล็ด ในขณะที่ผนังด้านที่หันออกสู่แม่น้ำกรุด้วยโพลีคาร์บอเนตทั้งหมด ส่วนผนังด้านทางเข้าหลักด้านบนกรุด้วยเกล็ดไม้แล้วค่อยๆ กระจายตัวผสมกันกับแผ่นโพลีคาร์บอเนตที่ใช้ทางด้านล่างของ façade ในลักษณะของสายฝน หรือยอดไม้ ตามแต่จินตนาการของผู้มอง 

รายละเอียดการติดตั้งแป้นเกล็ดนั้นเป็นแบบยึดด้วยสกรูโดยตรงเข้ากับโครง โดยให้แผ่นซ้อนกันเหมือนเกล็ดปลาเพื่อกันน้ำเข้าภายในอาคารซึ่งเป็นดีเทลดั้งเดิมตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยในส่วนที่เป็นแป้นเกล็ดไม้ เขาเลือกใช้โครงไม้ ในขณะที่ส่วนที่เป็นแป้นเกล็ดโพลีคาร์บอเนตก็ใช้โครงวัสดุเดียวกันเพื่อให้ดูกลมกลืน อมตะเล่าให้ฟังว่าสกรูที่เลือกใช้ในตอนแรกเป็นแบบโลหะทั้งหมด แต่ด้วยความใสของวัสดุในช่วงที่เป็นโพลีคาร์บอเนตนั้นทำให้ความไม่เรียบร้อยของสกรูที่ช่างยึดไว้อย่างไม่เป็นแถวเป็นแนว และไม่เป็นจังหวะจะโคนที่สม่ำเสมอฟ้องออกมาอย่างชัดเจน ทางทีมออกแบบแก้ปัญหาโดยการนำเข้าสกรูแบบใสจากประเทศจีน โดยมีการลองผิดลองถูกกับสกรูใสที่สั่งมาหลายรูปแบบหลายขนาด จนมาลงตัวกับแบบที่ให้เอฟเฟ็กต์ของการหายไปของ stud & screw ได้ดีที่สุด นับว่าเป็นการหาทางออกอันนำมาซึ่งดีเทลในการก่อสร้างแบบใหม่ได้อย่างน่าสนใจโดยไม่ยึดติดกับดีเทลที่เขียนไว้ในแบบก่อสร้างตั้งแต่แรก

แป้นเกล็ดโพลีคาร์บอเนตที่ผสมกันระหว่างแบบใสและขุ่นนั้นนอกจากจะช่วยเพิ่มมิติให้กับรูปด้านอาคารแล้ว ความเงาของตัววัสดุเองยังให้เอฟเฟ็กต์ที่แวววาวเมื่อโดนแสงแดดตกกระทบ และยังส่องสว่างยามค่ำคืนคล้ายโคมไฟโดยแสงจากภายในที่ส่องผ่านออกมา ด้วยคุณลักษณะไม่ทึบแสงทำให้แสงธรรมชาติสามารถทะลุผ่านเข้ามาภายในได้ค่อนข้างมาก จึงไม่จำเป็นต้องมีหน้าต่างบนรูปด้าน ส่งผลให้ตัวสถาปัตยกรรมมีความเป็น building น้อยลง และมีความเป็น craft มากขึ้น โถงทางเข้าด้านในเป็นลักษณะโถงสูงตลอดความสูงเพื่อลดทอนความอึดอัดของอาคารที่มีขนาดเล็ก ใช้สีขาวในการตกแต่งในทุกพื้นผิวและเฟอร์นิเจอร์ในบริเวณนั้น เพื่อช่วยกระจายแสงที่ทะลุผ่าน façade โพลีคาร์บอเนตเข้ามา ทำให้สเปซบริเวณนี้ดูโปร่งและเบา โถงสูงดังกล่าวมีการแขวนประติมากรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากร่มบ่อสร้างของเชียงใหม่เอง สีที่ใช้เป็นสีขาวสลับไม้เพื่อให้เข้ากันกับ façade อาคาร ถัดเข้ามาด้านในเป็นส่วนของร้านอาหารและบาร์เครื่องดื่มที่ตกแต่งด้วยโทนสีเข้มเพื่อให้คอนทราสต์กับโถงทางเข้า มีการติดตั้งประติมากรรมกึ่งโคมไฟเพดานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากร่มบ่อสร้างเช่นกันแต่เป็นการจัดวางในลักษณะที่แตกต่างกัน ประติมากรรมทั้ง 2 ชุดนี้ สถาปนิกทำงานร่วมกันกับศิลปินอย่างใกล้ชิดเพื่อนำเสนองานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นให้ออกมามีความน่าสนใจและร่วมสมัย

การวางผังห้องพักเป็นไปอย่างเรียบง่ายเนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุด หากแต่เพิ่มความน่าสนใจด้วยการนำเสนอความเป็นพื้นถิ่นในมุมมองแบบใหม่ด้วยการติดภาพสถานที่สำคัญและกิจกรรมยอดนิยมของเมืองเชียงใหม่ไว้บนฝ้าเพดาน โดยในแต่ละห้องจะเป็นภาพที่ไม่เหมือนกันในธีมที่แตกต่างกันออกไป และให้ภาพต่างๆ เหล่านี้สะท้อนลงมาบนวัสดุเงาที่กรุอยู่บนผนังห้องทั้ง 2 ด้านแบบกระจายตัวในภาษาเดียวกันกับแป้นเกล็ดบน façade อาคาร ซึ่งเงาสะท้อนกลับไปกลับมาบนผนังผิวเงาทั้ง 2 ฝั่งนี้ช่วยสร้างความต่อเนื่องของฝ้าเพดานและผนัง และคุณลักษณะของที่ว่างที่ดูเหนือจริง

ในอนาคตอันใกล้เงาสะท้อนที่ว่านี้อาจจะทำให้มันเป็นฝ้าเพดานโรงแรมที่ได้รับการถ่ายรูปลง Instagram มากที่สุดในโลกก็เป็นได้ ช่องเปิดของผนังตรงระเบียงห้องพักทางทีมออกแบบก็จงใจให้เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพื่อเฟรมวิวทิวทัศน์ภายนอกสำหรับการถ่ายภาพลง Instagram ความโปร่งแสงของโพลีคาร์บอเนตที่ใช้กับ façade อาคารด้านหันออกสู่แม่น้ำนี้ช่วยให้ไม่รู้สึกอึดอัด และแขกที่มาพักก็สามารถตากผ้าเล็กๆ น้อยๆ บริเวณนี้ได้โดยไม่สร้างทัศนอุจาดเมื่อมองจากภายนอก ซึ่งอมตะได้ให้ความคิดเห็นถึงบทบาทของนักออกแบบที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมการเสพภาพถ่ายในยุคดิจิตอล กับการออกแบบอาคารให้เป็นที่น่าจดจำในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจว่า ไม่ใช่อาคารทุกประเภทที่ต้องออกแบบให้ถ่ายรูปสวย หากแต่เป็นอาคารบางประเภทที่มีความสำคัญในเรื่องภาพลักษณ์ เช่น โรงแรม และความสวยนั้นก็ขึ้นอยู่กับสายตาของผู้มอง เช่น อาจจะสวยในสายตาของดีไซเนอร์แต่น่าเบื่อในสายตาของคนทั่วไป เมื่อสถาปัตยกรรมสามารถเป็นที่เข้าใจและรับรู้ถึงความ “สวย” ได้ง่ายจากคนทั่วไป ก็จะได้รับการถ่ายภาพและแชร์ลงใน social media มากเป็นธรรมดา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อเจ้าของธุรกิจหรือโรงแรมนั้นๆ และนั่นก็นับว่าเป็นการตอบโจทย์ของบทบาทที่ดีในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบโครงการ

ในบทบรรยายแนวความคิดในการออกแบบโดย Department of Architecture ปิดท้ายด้วยประโยคที่ว่า “Little Shelter is not only a place to sleep.  It is an introduction of the past, the present, and probably the future of Chiang Mai to its visitors.” ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นกายภาพโดยแป้นเกล็ดไม้เป็นตัวแทนของอดีต และแป้นเกล็ดโพลีคาร์บอเนตหมายถึงปัจจุบันหรือความร่วมสมัย เมื่อถามถึงคำว่าอนาคตที่ต้องการสื่อถึงในประโยคนี้ อมตะให้คำตอบกับเราว่า เขาต้องการให้ผู้คนเปลี่ยนมุมมองที่บางคนมีต่อการนำเอาความ traditional มาใส่ในงานออกแบบว่าเป็นเรื่องน่าขัน ให้เราเอาของเก่ามาใช้ในวิธีใหม่ๆ ให้เราสนุกไปกับการเอาของเก่ามาใช้แบบใหม่ แป้นเกล็ดไม้บน façade ที่วันนี้ยังเป็นสีไม้อยู่ ในอนาคตเมื่อผ่านกาลเวลาสีก็จะซีดลงกลายเป็นสีเทาเงิน แป้นเกล็ดโพลีคาร์บอเนตสีขาวก็อาจจะมีการเปลี่ยนสีบ้าง ก็คงต้องดูกันไปยาวๆ ว่าสถาปัตยกรรมใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติและความเก่านี้จะแก่ลงอย่างมีคุณค่าไปในอนาคตมากน้อยเพียงใด

departmentofarchitecture.co.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *