WHICH ONE?

SUMANATSYA VOHARN WALKS US THROUGH ‘WHICH ONE?,’ THE LATEST EXHIBITION HELD AT TCDC CHIANG MAI THAT KICKED OFF DURING THE CHIANG MAI DESIGN WEEK 2019, AND GIVES US HER VIEW ON THE VALUE OF EVERYDAY OBJECTS WE USUALLY FIND AT THE LOCAL MARKET

TEXT: SUMANATSYA VOHARN
PHOTO COURTESY OF TCDC CHIANG MAI

(For English, press here)

ประเด็นเกี่ยวกับสัญชาติญาณแห่งการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ในความเป็นท้องถิ่นและแรงบันดาลใจแห่งการสร้างสรรค์ เริ่มต้นด้วยการเสวนาเปิดนิทรรศการผ่านมุมมองความคิดของ ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล สถาปนิกผู้ก่อตั้ง CHAT architects ซึ่งทำงานวิจัยส่วนตัว BANGKOK BASTARDS หรือสถาปัตยกรรมสาระเลว และอาจารย์นุสรา เตียงเกตุ อดีตนักสังคมสงเคราะห์ ผู้ผันตัวมาทำงานพัฒนาหัตถกรรมชุมชนมากกว่ายี่สิบปีในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรมท้องถิ่นและสิ่งทอ

ประตูบานใหญ่ที่แสดงเครื่องหมายคำถามมากมายด้านหน้าอาคารศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่ (TCDC Chiang Mai) ชี้ชวนให้เราตั้งข้อสงสัยถึงสิ่งที่จะได้ชมก่อนเข้านิทรรศการ ทางเลือกแรกคือช่องทางเดินระยะกว้างเพียงหนึ่งเมตร บังตาด้วยม่านสีดำขนาดใหญ่ เราในฐานะผู้ชมต้องเลือกว่าจะเดินเข้าด้านซ้ายหรือขวาที่มีความแตกต่างกันตรงพรมเช็ดเท้า ด้านซ้าย – พรมพลาสติกสีเขียวคำว่า welcome และทางขวาต้อนรับด้วยที่เช็ดเท้าจากใยมะพร้าวที่เราเห็นจนชินตา

ผ่านช่องทางเดินเข้ามา เราจะพบกับวัตถุหลากหลายที่คุ้นเคยในประเทศที่มีสติกเกอร์กำหนดราคาให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น กรงไก่ลักษณะต่างๆ กระติ๊บข้าวรูปทรงหลากหลาย อุปกรณ์จับสัตว์ เครื่องมือช่าง และอื่นๆ ที่ถูกวางไล่เรียงบนแท่นจัดแสดงขนาดใหญ่ ประกอบกับข้อความบรรยายกึ่งกวีที่ปนเปทั้งภาษาไทยกลางและภาษาท้องถิ่นเป็นบทสนทนาสั้นยาว ชวนให้สงสัยถึงเบื้องหลังวัตถุจัดแสดงแต่ละชิ้น ภัณฑารักษ์ได้พาเราย้อนสู่ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้ใช้ ชี้ชวนแต่ไม่ชักนำให้คิดสะท้อนถึงสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาการเดินทางค้นหารวบรวมวัตถุเหล่านั้น


ในต่างประเทศ โดยมากแล้วนิทรรศการด้านการออกแบบที่นำเสนอแง่มุมความพิเศษในความสามัญธรรมดาของวัตถุในชีวิตประจำวันมักจะถูกคัดเลือกโดยภัณฑารักษ์นักออกแบบ ที่หยิบยกนิยามแห่งความธรรมดาขึ้นมาให้เราพิจารณา “สิ่งที่เป็นอยู่” กันอย่างละเอียดๆ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ Super Normal และ The Hard Life ที่คิวเรตโดย Jasper Morrison หรือ The Boundary Between Kogei and Design ที่ Naoto Fukasawa รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ นำทางให้เราย้อนคิดถึงเหตุผลในความเป็นไปของสิ่งรอบตัวจากเครื่องใช้สอยผ่านงานหัตถกรรมไปสู่งานออกแบบ

สำหรับในบ้านเรา approach การจัดนิทรรศการแบบข้างต้น น่าแปลกที่เราจะเห็นได้กับแค่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเท่านั้น เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ที่นำเสนอข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวจังหวัดพิษณุโลกแบบตรงไปตรงมา เพราะในบ้านเรามันจะมีขนบการให้คุณค่าสิ่งของรูปแบบหนึ่งที่พื้นที่ในพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการนั้นจะถูกสำรองไว้ให้กับวัตถุที่มี “สถานะทางสังคม” เท่านั้น ส่วนนิทรรศการครั้งนี้ สร้างสรรค์ ณ สุนทร เลือกใช้วิธีที่ต่างออกไป ด้วยการคิวเรตข้าวของในนิทรรศการจาก “ตลาด”

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมของแต่ละชิ้นจึงยังมีป้ายราคาพลาสติกห้อยอยู่ นอกจากนั้นยังยึดโยงให้สิ่งของในนิทรรศการยังคงสัมพันธ์กับการซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดชุมชนท้องถิ่นทางภาคเหนือ หรือพูดอีกแบบก็คือยังยึดโยงกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงเคลื่อนไหวและมีความทับซ้อนในหลายมิติ ทั้งด้านที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี สันทนาการ สุนทรียภาพแห่งการใช้ชีวิตและอื่นๆ การเปิดคำถามแรกด้วยประโยคหลักคำสำคัญของนิทรรศการ “อันไหนดี” ได้นำมาสู่การเปรียบเทียบวัตถุจัดแสดงข้างเคียงกันที่มีลักษณะการใช้งานเหมือนกัน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไป ตามด้วยข้อสงสัยอื่นๆ จากผู้ชม ที่ว่า ดีอย่างไร? ดีเพื่อใคร? ใครทำ? ใครใช้? ใครตัดสินใจว่า? อันไหนดี?

แม้ว่านิทรรศการจะไม่ได้เตรียมคำตอบเหล่านี้ไว้ให้ แต่ภัณฑารักษ์เองก็ได้นำเสนอแนวทางที่แยบคายซึ่งนำเรากลับสู่รากฐานทางความคิดในกระบวนการสร้างงานหัตถกรรมในสามระดับ เริ่มจากขั้นแรก งานหัตถกรรมเกิดขึ้นจากความต้องการแก้ปัญหาภายใต้ข้อจำกัดเพื่อการเอาชีวิตรอด ในขั้นที่สอง เพื่อความสะดวกสบาย แสดงสถานะ และดื่มด่ำความรื่นรมย์จากวัตถุ และในระดับที่สามคือการพิจารณาวัตถุด้วยประสบการณ์ชีวิต ปัญญา และสัจจะแห่งธรรมชาติ

หากในปัจจุบันสังคมเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นเพื่อนำเสนอคุณค่าในด้านรูปแบบ เทคนิค และวัสดุเชิงพาณิชย์ นิทรรศการนี้อาจเปิดประตูทางเลือกที่จะย้อนมุมมองในการสร้างงานเพื่อเหตุผลในการเอาตัวรอด การคงอยู่และเปลี่ยนแปลงไปของของวัตถุ ที่อาจเกิดเป็นคำถามปลายเปิด ต่างมุมมอง ในพื้นที่บ่มเพาะความคิดทางการออกแบบเพื่อให้ผู้ชมที่หลากหลายได้มีส่วนร่วมค้นหาประเด็นต่างๆ ด้วยตัวเอง ได้ย้อนมองวัตถุสามัญกับกลไกทางความคิดเบื้องหลังที่เป็นต้นทุนสำคัญต่อการพัฒนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมองเห็นสิ่งสำเร็จรูปที่อยู่เบื้องหน้า

นิทรรศการเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 – 1 มีนาคม 2563

tcdc.or.th/chiangmai
fb.com/TCDCChiangMai

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *