IN THE COLLABORATION WITH THE SCHOOL OF ARCHITECTURE, SRIPATUM UNIVERSITY, SUGIYAMA JOGAKUEN UNIVERSITY, AND MITSUE VILLAGE, SUGI LOGS HAVE BEEN TRANSPORTED TO THAILAND TO BE USED IN ASSEMBLING THE JAPANESE TEA PAVILION IN SRIPATUM UNIVERSITY
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
หลายคนตั้งคำถามถึงการนำไม้มาใช้ในงานสถาปัตยกรรมอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเพราะการหดหายไปของพื้นที่ป่า หรือปัญหาการลักลอบตัดไม้ ฯลฯ อย่างไรก็ดีที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ปัญหาของหมู่บ้านมิตสุเอะ ในจังหวัดนาระ ประเทศญี่ปุ่น ที่วางระบบการปลูกป่าทดแทนไว้อย่างดีมากๆ จนกลายเป็นว่าปัญหาของเขาคือ ไม้สน Sugi นั้นเหลือใช้จนเกินความต้องการของตลาดไปมากโข
ด้วยความร่วมมือระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัย Sugiyama Jogakuen และหมู่บ้านมิตสุเอะ ไม้ Sugi จำนวนไม่น้อยจึงได้ถูกขนย้ายข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศไทย เพื่อประกอบขึ้นเป็น ศาลาไม้ชงชา (Japanese Tea Pavilion) ในมหาวิทยาลัยศรีปทุม ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นอกจากการเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ให้นักศึกษาใช้เวลาว่างมานั่งเล่น ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน หรือเป็นสถานที่จัดนิทรรศการในอนาคต ศาลายังถูกใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในคลาส construction ของนักศึกษาสถาปัตย์อีกด้วย ดร.กฤษฎา อานโพธิ์ทอง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารและกิจการพิเศษ บอกกับ art4d ว่า ความน่าสนใจอยู่ที่รายละเอียดการก่อสร้างที่ไม้แต่ละชิ้นที่เราเห็นกันนี้ ถูกตัด ระบุตัวเลข และกำหนดวิธีการประกอบมาจากญี่ปุ่น “นายช่างใหญ่เขามาด้วยก็จริงนะ แต่ครั้งแรกที่ช่างไทยเราเห็นเครื่องไม้เครื่องมือ กับดีเทลการประกอบครั้งแรกนั้นถึงกับงงไปเลย เราจะเห็นว่ามีหลายจุดที่ช่างประกอบได้ไม่เนี้ยบ แต่สิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเทคนิคงานไม้ของแต่ละวัฒนธรรมนั้นมีความเฉพาะตัวเป็นอย่างมาก”
ถึงแม้อาคารจะสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อย แต่ยังคงมีรายละเอียดการประกอบที่มองเห็นได้อยู่ไม่ว่าจะเป็น รอยบากเส้นบางๆ ที่เซาะไว้เผื่อการขยายตัวของไม้ รายละเอียดการเข้าไม้แบบญี่ปุ่นบริเวณ façade หรือโครงสร้างหลังคา ไปจนถึงเรือนเล็ก ที่จำลองห้องชงชาของญี่ปุ่นในสเกลจริง หรือกลิ่นของไม้สน Sugi ที่มีความพิเศษและแตกต่างไปจากไม้สนทั่วไป เรียกได้ว่าคงไม่ต้องบินไปไกลถึงญี่ปุ่นแล้ว แค่นั่งรถไฟฟ้ามาลงสถานีบางบัว ก็มีบ้านญี่ปุ่นแท้ๆ ให้ได้สัมผัส และศึกษารายละเอียดการก่อสร้างกัน