BEYOND THE WEST : NEW GLOBAL ARCHITECTURE

EXPLORE ARCHITECTURE OUTSIDE EUROPEAN AND AMERICAN NARRATIVE WITH THIS BOOK FROM GESTALTEN

TEXT: PONGSIRI KEMAYUTTANA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

Gestalten, 2020
9.84 x 1.18 x 12.09 inches
304 pages
Hardcover
ISBN 978-3899558791

สถาปัตยกรรมตะวันตกได้สร้างวาทกรรมและอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมไปทั่วโลกมาเป็นเวลานานมากแล้ว เพิ่งไม่นานมานี้เองที่สถาปนิกจากภูมิภาคอื่นสามารถเปล่ง ‘เสียง’ ให้ได้ยิน ได้รับการยอมรับและได้รับความสนใจจากประเทศตะวันตกได้อย่างแท้จริง จริงๆ แล้วความท้าทายทั่วไปของการทำงานสถาปัตยกรรมยังคงเหมือนๆ กันทั่วโลก แต่สถาปนิกในประเทศที่ถูกมองว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีวิธีการแก้ปัญหาและวิธีการตอบโจทย์ที่ไม่เหมือนกับประเทศตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความยั่งยืน การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เทคนิคการก่อสร้าง ไปจนถึงเรื่องของขนบและวัฒนธรรมของท้องถิ่น

หนังสือของ Gestalten เล่มนี้นำเสนอสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสถาปนิกในภูมิภาคเหล่านี้ตอบประเด็นต่างๆ ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันด้วยวิธีคิดและวิธีการอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางปฎิบัติของแต่ละท้องถิ่นที่ต้องตอบสนองโปรแกรมและความต้องการของแต่ละพื้นที่ แต่ละเวลา

ตัวอย่างต่างๆ ที่หนังสือคัดเลือกมาถือว่าน่าสนใจใช้ได้เลยทีเดียว  เช่นในนามิเบีย ที่พักขนาดเล็กในเขตอนุรักษ์พันธ์ุสัตว์ป่าที่ออกแบบโดย Porky Hefer เป็นเหมือนกับรังของนกในท้องถิ่น ในเม็กซิโก สถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์โดยสถาปนิกที่มาแรงอย่าง Frida Escobedo ก่อสร้างขึ้นในของบริบทของเมืองในลักษณะที่เหมือนเติบโตไปด้วยกัน มีเอกลักษณ์ ยืดหยุ่นและไม่เคยหยุดนิ่ง และในประเทศไทย ผลงานของอาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา ได้รับการหยิบยกมาเป็นหนึ่งในตัวแทนสถาปัตยกรรมของภูมิภาคเอเชีย ผ่านงานออกแบบอาคารสถาบันกันตนา และ The Wine อยุธยา พร้อมกับคำชื่นชมที่บอกว่างานของอาจารย์บุญเสริม ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้วัสดุที่ธรรมดาสามัญและมักถูกมองข้าม แต่ถูกยกระดับและสร้างคุณค่าโดยพลังของการออกแบบ

อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่าข้อจำกัดอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรม ก็คือมันเป็นงานสร้างสรรค์ที่ติดอยู่กับที่ ท้องที่ พื้นที่ ที่ตั้งที่มันอยู่ เราจะเข้าใจและชื่นชมมันได้ ณ สถานที่ที่มันอยู่เท่านั้น ข้อดีของ Beyond the West ก็คือช่วยเปิดหูเปิดตาและจุดประกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับชาวตะวันตก ให้มองผ่านพรมแดนแคบๆ ของตัวเองไปยังโลกนอกเหนือยุโรปและอเมริกา ไปเห็นสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจบ้าง แม้จะไม่สามารถไปสัมผัสด้วยตัวเอง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เห็น หรือไม่รู้อะไรเลยว่ามีอะไรดีๆ อยู่หลังกำแพงนั้น

gestalten.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *