HARUKI OKU DESIGN AND PAN-PROJECTS DESIGN THIS SHOP IN TOKYO AS A THEATRE THAT ALLOWS ADAPTABILITY IN FUNCTIONAL REQUIREMENTS
TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO: KENJI SEO
(For English, press here)
เวลากว่าปีของสถานการณ์โควิด-19 นับตั้งแต่เริ่มต้นขึ้น นอกจากจะเป็นโอกาสให้โลกดิจิทัลได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเปลี่ยนโฉมหน้าการทำงานของผู้คนแล้ว การจำกัดความคำว่า ‘พื้นที่’ ก็มีบริบททางด้านออนไลน์เพิ่มเติมมากขึ้น รวมทั้งข้อสงสัยที่ว่า เราจะออกไปใช้ชีวิตในพื้นที่จริงได้อย่างไร? หรือพื้นที่ในชีวิตจริงต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับพฤติกรรมจำเป็นเช่นทุกวันนี้?
เช่นเดียวกันกับการออกแบบอาคารของ The Playhouse แบรนด์แฟชั่นจากอังกฤษในย่าน Aoyama ถนนการค้าระดับไฮเอนด์ของโตเกียว ที่โจทย์ของ PAN-PROJECTS ออฟฟิศออกแบบจากลอนดอน และ Haruki Oku Design สตูดิโอสถาปนิกเจ้าภาพจะต้องร่วมกันขบคิดว่า อัตลักษณ์ของแบรนด์จะถูกแสดงออกได้อย่างไรในอาคารแห่งนี้ จุดประสงค์ของงานดีไซน์อาคารแห่งนี้จึงเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์การใช้งานพื้นที่จริงของลูกค้าภายใน และดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่ตั้งแต่หน้าร้าน
โรงละคร จึงถูกเลือกมาเป็นภาพลักษณ์ตั้งต้น ทั้งในแง่การออกแบบหน้าตา ประสบการณ์ และความรู้สึกที่พ้องกับชื่อแบรนด์ โดยใช้ผ้าม่านเป็นตัวละครสำคัญในการจัดสรรพื้นที่ ทั้งกับผ้าม่านจับจีบขนาดใหญ่เลื่อนขึ้นลงได้ ซึ่งเป็นทั้ง façade สำหรับอาคารหรือใช้เป็นฉากหลังสำหรับการจัดอีเวนต์ และผ้าม่านสีขาวโปร่งภายในบนชั้น 2 ที่ใช้กั้นแบ่งพื้นที่ได้ตามความต้องการใช้งาน อย่างการประชุมกลุ่มย่อย ทำกิจกรรม หรือแม้แต่จัดวางดิสเพลย์สินค้าเองก็ตาม
นอกจากการกั้นแบ่งด้วยผืนผ้าแล้ว พื้นที่ชั้นล่างยังออกแบบแผ่นผนังต่างขนาดที่หมุนได้รอบตัว เพื่อใช้จัดการขอบเขตให้กลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับรองรับการจัดกิจกรรมทั้งของแบรนด์เอง และกิจกรรมส่วนรวม อย่างแฟชั่นโชว์ ตลาดป๊อปอัพ หรือเวิร์คชอปได้ถึง 50 คน ซึ่งสามารถเลือกทิศทาง รูปแบบของพื้นที่ รวมทั้งพื้นผิวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบผิวเรียบมันเงา เมทัลลิก หรือผิวระแนง
แม้ว่าการใช้ผนังอเนกประสงค์ หรือการกั้นแบ่งพื้นที่เช่นนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับงานออกแบบภายใน แต่ถ้าหากออกแบบแล้ว ได้รูปลักษณ์ และการใช้งานที่ตอบสนองความต้องการทั้งด้านฟังก์ชั่น และความงามแล้ว การออกค้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับแนวความคิด และภาพลักษณ์ของแบรนด์ ก็ยังเป็นโจทย์ทางด้านองค์ประกอบศิลป์ และดีเทลที่ท้าทายสำหรับนักออกแบบอยู่เสมอ