HELD AT BANGKOK DESIGN WEEK 2021 FROM JULY 3RD TO 11TH, THE EXHIBITION IS A COLLECTION OF IDEAS AND OPINIONS FROM CREATIVE PROFESSIONALS TO PROPOSE POSSIBLE SOLUTIONS AND SELF-SUPPORT GIVEN DURING THE PANDEMIC
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
แม้จะเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งการอิมโพรไวส์ที่เก่งฉกาจในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าขนาดไหน เจอความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 และการจัดการของรัฐบาลนี้เข้าไปก็คงจอดสนิท เช่นเดียวกับ Bangkok Design Week 2021 ที่ไม่ได้หมายถึงแค่เจ้าภาพอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่รวมถึงศิลปินและนักออกแบบ ผู้จัดกิจกรรมและผู้สนับสนุน เป็นร้อยๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนแผนกันอุตลุด แม้กระทั่งวันที่ เริ่มเขียนบทความนี้ (27 มิถุนายน 2564) อีกไม่ถึงอาทิตย์ก่อนที่ Creative Virus จะถูกจัดขึ้น จู่ๆ ตอนกลางดึกก็มีประกาศสั่งห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหารทั่วกรุงเทพฯ และห้ามจัดกิจกรรมใดๆ ที่มีการรวมตัวกันของคนเกิน 20 คน ทั้งๆ ที่ลุงตู่เพิ่งออกมาชูสองนิ้ว หัวเราะร่าบอกกับนักข่าวว่า “ไม่ล็อกดาวน์แน่นอน!”
เอาเป็นว่าในที่สุด Creative Virus ก็เกิดขึ้นจริงใน Bangkok Design Week 2021 นิทรรศการนี้จัดโดย art4d มีที่มาจาก art4d 273 We will meet again ที่เผยแพร่ไปเมื่อกลางปี 2020 เป็นการรวบรวมความคิดความเห็น วิธีการแก้ปัญหาและการเยียวยา (ตัวเอง) ของสถาปนิก ศิลปิน นักออกแบบ ผู้กำกับ และคนทำงานสร้างสรรค์แขนงอื่นๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งแรก ช่วงต้น – กลางปี 2020 ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ https://bit.ly/3eYIHtV
จากผลงานในเล่มทั้งสิ้น 85 ผลงาน ครั้งนี้มี 33 ผลงาน และ 14 โปรเจ็คต์ จากโครงการ Design Hero : The New Normal (โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) จัดแสดงในห้อง Gallery ชั้น 1 (อาคารส่วนหลัง) TCDC กรุงเทพฯ โดยได้ Imaginary Objects (iO) เป็นผู้ออกแบบพื้นที่นิทรรศการ
ตัวสเปซเองคือผลงานชิ้นที่ 34 ของนิทรรศการที่ Imaginary Objects (iO) ตีตารางพื้นห้องนิทรรศการให้เกิดระบบในการจัดวางผลงานและพื้นที่ 64 ช่อง เส้นทางสัญจร และระยะปลอดภัย ให้ผู้ชมเว้นระยะห่างกันได้ง่ายๆ ส่วนไอเดียเบื้องหลังของงานชิ้นนี้ ญารินดา บุนนาค บอกกับเราว่า เธอได้ไอเดียมาจากกระดานเกมบันไดงู (Moksha Patam)
ใช่แล้ว เส้นที่คุณเห็นบนพื้นคือ “บันได” กับ “งู” ทางลัดที่จะพาเราไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของกระดานนิทรรศการ และยังมีฟังก์ชั่นเป็น label แบ่งหมวดหมู่ของผลงาน – งานศิลปะ / งานออกแบบผลิตภัณฑ์ / งานออกแบบกราฟิก / สถาปัตยกรรม และผลงานจากโครงการ Design Hero : The New Normal ไปในตัว
ปฏิเสธได้ยากว่า COVID-19 มีอิมแพ็คต่อสังคมเรามาก ชนิดที่ถ้าเทียบกับภาพยนตร์ก็คงเป็นแกนหลักของเรื่องที่นำไปสู่ชุดเหตุการณ์ “ไม่ปกติ” มากมาย นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมโจทย์กว้างๆ 4 ข้อ ที่ art4d ถามเพื่อนๆ นักออกแบบอย่าง 1) Creative Solutions 2) Design from Home 3) What Art Can Do? – Art in the Age of Global Pandemic และ 4) COVID Diary จะนำมาสู่ผลงานเกือบร้อยชิ้นที่ไม่ซ้ำกันแม้แต่ชิ้นเดียว
เพราะความต่างทางวิชาชีพ สภาพแวดล้อม ประสบการณ์ชีวิต รสนิยม ฯลฯ แต่ละคนจึงมองเห็น “ประเด็น” ที่แตกต่างกัน ปิยะพงศ์ ภูมิจิตร ใช้จำนวน transaction ของการซื้อขายต้นไม้ มาเปรียบเทียบกับไทม์ไลน์เหตุการณ์การล็อคดาวน์ในกรุงเทพฯ Nut Dao ทำงาน illustration สีสันสวยงามเสียดสีนิสัยแย่ๆ ของชนชั้นกลางที่มักจะดูถูกคนชั้นล่างว่า “เป็นไงล่ะ ก็พวกคุณมันไม่รู้จัดอดออมเอง!” PAVA architects ออกสำรวจระเบียงของอาคารที่อยู่อาศัยหนาแน่นเพื่อหาวิธีใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่แคบๆ เหล่านั้น PHTAA living design และณัฐวัฒน์ คำรณฤทธิศร สร้างโมเดล ‘สถานีตักบาตร’ นำเสนอการตักบาตรอย่างปลอดภัยในยุค COVID-19 YUNE มองเห็นปัญหาการขาดแคลนเลือด ในยุคที่คนไม่กล้าออกจากบ้านไปไหนไกล THINKK Studio ทำงานบนประเด็นความไม่สัมพันธ์ของมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม กับพื้นที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ทุกตารางนิ้วมีค่าพอๆ กับทอง ในขณะที่ Studiotofu จินตนาการว่าถ้าหากยุทโธปกรณ์ของกองทัพถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่านี้ก็คงจะดีไม่น้อย (แต่เรือดำน้ำคงเอาออกมาใช้งานยากในสถานการณ์นี้)
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานในนิทรรศการ Creative Virus เท่านั้น อีกด้านหนึ่งของห้องนิทรรศการคือกลุ่มผลงานจากโครงการ Design Hero : The New Normal มีทั้งภาพยนตร์สั้น บอร์ดเกม ตู้ปลูกผัก หน้ากากอนามัย โครงการศิลปะ แอพพลิเคชั่น ฯลฯ จากทีมนักสร้างสรรค์ระดับนักเรียนนักศึกษา โดย 1 ใน 14 ผลงานนี้จะเป็นผู้ได้รับรางวัล สมเด็จพระกนิษฐาธิราช เจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นอกจากการสนับสนุนผลงานสร้างสรรค์ในระดับนักเรียนนักศึกษา แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังสนับสนุนดีไซเนอร์มืออาชีพพัฒนาโครงการนำร่อง (Pilot Project) ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการ คือ RE-APPROPRIATE (ALMSGIVING STATION) โดย PHTAA living design และ ณัฐวัฒน์ คำรณฤทธิศร ที่ได้กล่าวถึงไปในย่อหน้าก่อน กลุ่ม we!park กับโปรเจ็คต์พัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็ก (Pocket Park) ริมคลองผดุงกรงเกษม ตั้งแต่สถานีรถไฟหัวลำโพงถึงท่าเรือสี่พระยาในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เพื่อเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมืองในพื้นที่ที่เรียกได้ว่ามีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวน้อยที่สุดในกรุงเทพฯ และผลงานจาก WISHULADA ศิลปะจัดวางที่มุ่งเน้นสื่อสารถึงเรื่องราวน่าสนใจในพื้นที่รอบๆ คลองหลอดวัดราชนัดดาในรูปแบบแผนที่มุมสูง เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนภายนอกพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลการท่องเที่ยวย่าน ทั้งร้านอาหาร สถานที่สำคัญ ไปจนถึงธุรกิจดั้งเดิม ที่กำลังประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งสามผลงานนี้อยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของวัตถุประสงค์โครงการ นั่นคือการสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม
Creative Virus ไม่ใช่นิทรรศการที่มองโลกในแง่ดี แต่เป็นสื่อกลางในการนำความคิดความเห็นของคนในวงการสร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งออกมาให้สังคมได้รับรู้ อย่างไรก็ดี เรื่องที่ควรจะทดไว้ในใจระหว่างการเดินดูงาน Creative Virus ก็คือ ผลงานทั้งหมดนี้ถูกคิดขึ้นในปี 2020 วันนี้ในเดือนกรกฎาคม 2021 ทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกๆ creative solution ในนิทรรศการยังดูใช้ได้ดีกับสถานการณ์ปัจจุบัน พูดตรงๆ แบบไม่โลกสวยก็คือ หลายๆ ผลงานสื่อสารเป็นนัยว่า สถานการณ์ในนาทีนี้ยังคล้ายเดิมราวกับว่าพวกเราทุกคนไม่ได้เดินหน้าไปไหนจากปี 2020 แม้แต่นิดเดียว
Creative Virus จัดขึ้นที่ ห้อง Gallery ชั้น 1 (อาคารส่วนหลัง) TCDC กรุงเทพฯ ถนนเจริญกรุง ภายใต้ร่มใหญ่ของ Bangkok Design Week 2021 ระหว่างวันที่ 3 – 11 กรกฎาคม 2021 อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัย สแกนไทยชนะก่อนเข้าห้องนิทรรศการ