ART4D AND PROFESSOR TONKAO PANIN TAKE A VIRTUAL TOUR AND RECAP THE HIGHLIGHTS OF 2021’S VENICE ARCHITECTURE BIENNALE WHICH ASKS THE SIMPLE AND URGENT QUESTION ‘HOW WILL WE LIVE TOGETHER?’
TEXT: TONKAO PANIN
PHOTO COURTESY OF LA BIENNALE DI VENEZIA, FRANCESCO GALLI EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ในปีนี้การเดินทางไปต่างประเทศไม่ค่อยสะดวกนัก แต่สำหรับคนที่สนใจเรื่องสถาปัตยกรรม โชคดีที่ได้ อาจารย์ต้นข้าว ปาณินท์ ชวนไปเที่ยวทิพย์ในงาน Venice Architecture Biennale 2021 กันอย่างเพลิดเพลินในเฟสบุ๊กของเธอ art4d ขอให้อาจารย์ช่วยคัดเอา pavilion ที่คิดว่าน่าสนใจที่สุดในนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 17 นี้ ที่จัดขึ้นภายใต้คำถามที่เรียบง่ายแต่เร่งด่วนอย่าง “How Will we live together?” ของ Harkim Sarkis สถาปนิกและคณบดีจาก MIT ที่รับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ในปีนี้มาฝากกัน
Pavilion of BELGIUM
Composite Presence การผสมผสานที่แสดงออกถึงปัจจุบัน ภายใต้แนวความคิดของกลุ่ม Flemish Community และ Flanders Architecture Institute (VAi) โดยภัณฑารักษ์ Dirk Somers อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ และสถาปนิกผู้ก่อตั้งสำนักงาน Bovenbouw Architectuur นิทรรศการแสดงความสัมพันธ์อันซับซ้อนแบบทั้งรักทั้งชัง ระหว่างงานสถาปัตยกรรมกับเมือง ในหัวข้อ “Memory as a Design Studio”
ภายในนิทรรศการนำเสนอ 50 ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ที่มีความแตกต่างของโปรแกรม หน้าที่ใช้สอย และประเภทอาคาร จากทั้งหมด 45 สตูดิโอ ผ่านหุ่นจำลองขนาด 1:15 จัดวางบนโต๊ะในระดับสายตา สร้างประสบการณ์และภาพภูมิทัศน์ในจินตนาการ ที่เป็นตัวแทนของเมืองและบริบทของเบลเยียมในปัจจุบัน
ความหลากหลายของผลงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานสร้างใหม่ ปรับปรุง ดัดแปลงอาคารเดิม ขนาดเล็ก-ใหญ่ การจัดการกับประวัติศาสตร์ของเมือง ล้วนแบ่งปันตัวอย่างวิธีการแก้ปัญหา ตอบคำถามของการอยู่อาศัยและการอยู่ร่วมกันของสถาปัตยกรรมกับเมืองได้เป็นปัจจุบันตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประเทศ แสดงออกถึงความสำคัญของกฎระเบียบข้อบังคับ นโยบาย กฎหมายอาคาร และผังเมือง รวมไปถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพของเมืองนี้ขึ้นมา ผู้ลงทุน เจ้าของโครงการ สถาปนิก รัฐบาล ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดข้อบังคับใช้ที่มีผลต่อการออกแบบและสร้างสภาพแวดล้อมของเมือง ประกอบกันออกมาเป็นภาพในจินตนาการ ตอบคำถามที่ว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ด้วยมุมมองที่หลากหลาย และแสดงออกถึงความเป็นปัจจุบันของประเทศได้เป็นอย่างดี
Pavilion of JAPAN
จากเศษไม้ที่รื้อถอนจากบ้านเก่าอายุกว่า 65 ปี ในญี่ปุ่นที่ประชากรมีแนวโน้มลดลง การรื้อถอนอาคารบ้านเรือนเก่า สู่นิทรรศการสถาปัตยกรรมเวนิสเบียนนาเล่ เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ภายใต้เทคโนโลยีการขนส่งปัจจุบันที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและราคาที่จับต้องได้ แสดงออกถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการรีไซเคิล จากวัสดุเดิม เปลี่ยนแปลงรูปร่าง หน้าที่ และสร้างประโยชน์ใช้สอยใหม่ ตอบกลับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและกระแสบริโภคนิยมในปัจจุบัน
ภายใต้หัวข้อ Co-ownership of Action: Trajectories of Elements โดยภัณฑารักษ์ Kozo Kadowaki ออกแบบนิทรรศการนำทีมโดย Schemata Architects นำเสนอประเด็นความยั่งยืนของการรีไซเคิล โดยแสดงชิ้นส่วนที่มาของวัสดุ ขั้นตอนการรื้อถอน และการออกแบบนำกลับมาใช้ใหม่ แสดงออกซึ่งประวัติศาสตร์ ที่มาของการก่อสร้างในอดีต ทักษะของแรงงาน ช่างฝีมือ เทคนิคการก่อสร้างและการรื้อถอนที่ละเอียดอ่อน และนอกเหนือไปจากแสดงความเป็นไปได้ของการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ยังมีเวิร์คช็อปอุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทดลองการแปรรูปวัสดุ เพื่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ๆ เปลี่ยนโฉมรูปร่างหน้าตาให้ทันสมัย
Pavilion of NORDIC COUNTRIES
“What We Share” นิทรรศการที่จำลองพื้นที่อยู่อาศัย co-housing ขนาด 1:1 โดยสตูดิโอสถาปัตยกรรม Helen & Hard แสดงให้เห็นว่าสถาปนิกมีบทบาทในการออกแบบและสร้างชุมชนได้จากประเด็นของการมีส่วนร่วมและการแบ่งปัน พื้นที่อยู่อาศัยรวมแบบ co-living เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพิ่มความมั่นคงของที่อยู่อาศัย ต่อสู้และจัดการกับความเหงาและการแบ่งแยกที่เพิ่มมากขึ้นในสังคม และยังช่วยในประเด็นสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการก่อสร้างและอยู่อาศัย
สาธิตวิธีการก่อสร้างจากระบบแผงไม้สปรูซที่เป็นของแข็งซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยเดือยทำจากไม้บีช โดยไม่จำเป็นต้องใช้กาว เพิ่มความสามารถในการปรับเปลี่ยน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พื้นที่ใช้สอยต่างๆ ใน Nordic Pavilion มีชีวิตชีวาขึ้นด้วยเฟอร์นิเจอร์และ “ฉาก” ที่ออกแบบโดยผู้กำกับภาพยนตร์ Pål Jackman และนักวาดภาพ Nina Bjerch-Andresen
นอกจากนี้ยังมีวิดีโอซึ่งได้รับมอบหมายจากศิลปิน Anna Ihle ซึ่งเน้นย้ำถึงผู้อยู่อาศัยที่ Vindmøllebakken ทำให้เราเห็นภาพมุมทางสังคมและการเมืองของการอยู่ร่วมกันในบริบทกลุ่มประเทศ Nordic อีกด้วย
Pavilion of REPUBLIC OF UZBEKISTAN
การเข้าร่วมนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติเป็นครั้งแรกของประเทศอุสเบกิสถานนำเสนอรูปแบบวัฒนธรรมการอยู่อาศัย เค้าโครงร่าง Outline ขนาด 1:1 ของรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเขตชานเมือง แสดงออกถึงศูนย์กลางความสัมพันธ์ของครอบครัวและวิถีชีวิตชุมชนชานเมือง ภายใต้ลักษณะการแผ่ขยายของเมืองในทางราบที่มีความหนาแน่นสูง รูปแบบบ้านคอร์ตยาร์ดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และกำลังจะสูญหายไปจากการขยายตัวของเมือง ตอบคำถามเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคม นำเสนอรูปแบบการอยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมเมือง ภายใต้ชื่อนิทรรศการ Mahalla: Rural Urban Living ผลงานการวิจัยของภัณฑารักษ์ Emanuel Christ และ Christoph Gantenbein อาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งสำนักงานสถาปนิก Christ & Gantenbein ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ชมรายละเอียดเพิ่มเติมและกิจกรรมอื่นๆ ใน Venice Architecture Biennale 2021 ได้ที่