Found คือสตูดิโอจัดงานแต่งงานที่สตูดิโอ PHTAA ประกอบร่างขึ้นจาก ‘บัวหัวเสา’ แบบไทยๆ ที่ลอกเลียนสไตล์ตะวันตก จนเกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อนำเสนอสเปซอันเหมือนฝัน และสะท้อนบริบทแบบไทยๆ ในรูปแบบใหม่
TEXT : PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: BEER SINGNOI
(For English, press here)
เรื่องราวของความรักอันยิ่งใหญ่บางครั้งอาจเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ เช่นการสบตากันเพียงแวบเดียว found สถานที่ให้เช่าจัดงานแต่งงานในย่านบึงกุ่ม ก็มีเรื่องราวคล้ายกับตำนานรักเช่นนี้ เพราะองค์ประกอบงานดีไซน์ภายในที่ช่วยเนรมิตโครงการให้เป็นดั่งวิมานในฝัน ต่างมีจุดเริ่มต้นมาจากจุดเดียวนั่นคือ ‘บัวหัวเสา’
พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิกจาก PHTAA ผู้ออกแบบโครงการ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการหยิบบัวหัวเสามาเป็นจุดเริ่มต้นของงานดีไซน์ “เราอยากเริ่ม architecture จากหน่วยย่อยที่สุด” พลวิทย์กล่าว “เพราะมันจะได้สเปซที่ให้สัมผัสใกล้ชิด และรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ เราเลยเริ่มต้นจากการตามหา material แล้วก็ไปเจอกับร้านนนทศิลป์ ที่ทำหัวเสาโรมันลอกเลียนสถาปัตยกรรมตะวันตก”
นอกจากบัวหัวเสาจะตรงตามสเป็คเพราะเป็นองค์ประกอบหน่วยย่อยแล้ว อีกเหตุผลที่ทำให้มันเตะตาพลวิทย์ก็คือ บัวหัวเสาเหล่านี้เกิดจากลอกเลียนบัวหัวเสาในสถาปัตยกรรมตะวันตก แต่ทว่ากลับมีสัดส่วนผิดเพี้ยนจากต้นฉบับ มันจึงกลายเป็นบัวหัวเสาในรูปแบบไทยๆ ที่มีความเฉพาะตัวไปโดยปริยาย สำหรับพลวิทย์ การหยิบบัวหัวเสาเหล่านี้มาใช้ เลยถือเป็นการสะท้อนบริบทและตัวตนความเป็นไทยออกมาในเวลาเดียวกัน
เพื่อระลึกถึงต้นตอที่สำคัญของงานออกแบบ PHTAA จึงนำบัวหัวเสาเก่าๆ ที่กองทิ้งไว้ในร้านนนทศิลป์เพราะหมดความนิยม มาวางซ้อนกันเป็นทิวเสาขนาดย่อม ทิวเสาหลายต้นถูกจัดวางเป็นแถวแนวในสวนหิน เกิดเป็นพื้นที่ส่วน garden of columns ขึ้นมา
จาก garden of columns บัวหัวเสาถูกคลี่คลายต่อยอดเป็นองค์ประกอบอื่นๆ ภายในโครงการ องค์ประกอบแรกที่เห็นเด่นชัดตั้งแต่ทางเข้าก็คือ ท่าเทียบรถซุ้มโค้งขนาดใหญ่พร้อมลวดลายช่อดอกไม้ห้อยย้อยลงมา พลวิทย์บอกถึงที่มาของหน้าตาท่าเทียบรถอันแปลกตานี้ว่า เกิดมาจากการนำบัวหลายอันมาวางเรียงกันในแนวตั้ง จากนั้นเขาก็ค่อยๆ เอารูปทรงวงกลมคว้านบัวเหล่านี้ออก จนเกิดเป็นโครงหลังคาโค้งพร้อมกับแพทเทิร์นบัวที่โชว์แนวตัด
ในด้านการก่อสร้างจริง พลวิทย์ใช้โฟมหลายก้อนที่แกะสลักเป็นแพทเทิร์นบัวมายึดติดกับโครง smartboard ด้านบนด้วยกาวทาโฟม จากนั้นก็ให้ช่างค่อยๆ ปาดแพทเทิร์นโฟมออกจนได้ซุ้มที่มีความโค้งเหมือนอย่างที่ออกแบบไว้ นอกจากซุ้มทางเข้าจะเป็นจุดที่ทำให้โครงการสะดุดตาออกมา พลวิทย์เสริมแกมหยอกว่ามันยังเป็นการท้าทายฝีมือช่างก่อสร้างอีกเช่นกัน
องค์ประกอบถัดมาที่ถูกคลี่คลายจากบัวหัวเสาก็คือ เสาประติมากรรมและงานตกแต่งนูนต่ำบริเวณทางเดินภายใน แต่ก่อนที่พลวิทย์จะพูดถึงส่วนประกอบเหล่านี้ เขาเล่าให้เราฟังถึงพื้นที่ทางเดิน ที่มีต้นตอจากปัญหาที่เขาพบบ่อยๆ ในงานแต่งงาน
“ปกติ flow ของคนก่อนเข้าฮอลล์งานแต่งงานจะไม่ค่อยดี เพราะมันจะมีกิจกรรมเยอะแยะ ทั้งโต๊ะของชำร่วย จุดถ่ายรูป และหลายที่ก็ไม่ได้ออกแบบเผื่อตรงนี้ไว้ เราเลยทำทางเดินตรงนี้เป็น node วงกลม 3 node แล้วยืดทางเดินออกเพื่อกระจายคน ให้คนไม่ออกัน แต่ละ node สามารถใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ได้ อย่างเป็นที่วางโต๊ะของชำร่วย หรือเป็นที่ให้บ่าวสาวถ่ายรูปกับแขก”
สำหรับเสาตกแต่งบริเวณทางเดินที่มีรูปทรงอันแปลกตา พลวิทย์บอกว่ามาจากการนำบัวหัวเสามาวางซ้อนและยืดขยายจนได้รูปร่างอย่างที่เห็น เช่นเดียวกับงานนูนต่ำบริเวณกำแพงโค้ง ที่มาจากการนำส่วนตัดของบัวหัวเสามาแผ่ ยืดขยาย และจัดเรียงใหม่ ทั้งเสาและงานนูนต่ำต่างสร้างมาจากโฟมแกะสลักเช่นเดียวกับซุ้มทางเข้าด้านหน้า แต่มีการเสริมด้วยลวดกรงไก่และฉาบปูนทับประมาณสองชั้นเพื่อเสริมความแข็งแรง ถึงองค์ประกอบดังกล่าวจะไม่ได้มีฟังก์ชันการใช้งานอะไรเป็นพิเศษ แต่มันก็ขับกล่อมสเปซทางเดินให้ดูนุ่มนวล ไม่ใช่แค่ทางเดินสีขาวโพลนอันเย็นชา
ภายในหอจัดงานแต่งงานก็มีการประดับประดาด้วยเส้นบัว PVC ที่มีเส้นสายคล้ายบัวหัวเสา เส้นบัว PVC ถูกนำมาเรียงต่อกันจนเกิดเป็นเส้นที่ลากยาวต่อตั้งแต่กำแพงไปจนถึงเพดาน ซึ่งลวดลายของเส้นบัวก็ช่วยลดทอนสเกลของสเปซ สร้างผิวสัมผัสทางสายตา ทำให้หอจัดงานดูเป็นกันเองขึ้น แม้จะจุคนหลายร้อยคนภายใน
อย่างที่พลวิทย์ว่าไว้ว่าดีไซน์ของ found เกิดมาจากองค์ประกอบหน่วยย่อยสถาปัตยกรรม จึงไม่แปลกใจที่เวลาอยู่ในโครงการ เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นภาพตึกโดยรวม แต่จะซึมซับไปกับสเปซย่อยๆ หรือองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ด้านใน การรับรู้สเปซผ่านสเกลย่อยๆ ก็เหมาะเจาะกันดีกับการสร้างความรู้สึกอันเป็นมิตรชิดเชื้อ สอดคล้องไปกับตัวโครงการที่เป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน
ภาพหลากอิริยาบทของคู่รักข้าวใหม่ปลามันที่ถ่ายใน found ปรากฎอยู่เต็มหน้าเพจของโครงการ บ้างไปยืนบนบันไดกลางแจ้ง พร้อมทำท่าโอบฝ่ายหนึ่งจากด้านหลัง เหมือนแจ๊คที่โอบโรสในหนังเรื่องไททานิก บ้างก็แต่งตัวเป็นมนุษย์อวกาศ และโบกไม้โบกมือราวกับกำลังออกไปสำรวจดาวเคราะห์ในอวกาศ ไม่ว่าในคนในภาพจะแสดงท่าทางหรือสวมใส่เสื้อผ้าอะไรก็ตาม จุดร่วมที่แต่ละภาพมีเหมือนกันก็คือ การดื่มด่ำกับความสุขในสเปซเหมือนฝัน ของคนสองคนที่หากันจนเจอ