PERCEPTION OF EMPTINESS

กุลธิดา ทรงกิตติภักดี จาก HAS design and research มองความว่างเปล่าที่ปรากฏบนวัตถุและพื้นที่ในสถาปัตยกรรม ในฐานะเครื่องมือเพื่อสร้างการรับรู้ที่ไร้ขอบเขต น่าค้นหา และเป็นอนันต์

TEXT: KULTHIDA SONGKITTIPAKDEE
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here

ก้อนหินก้อนหนึ่งทึบตัน วางเด่นเป็นสง่า 

ก้อนหินอีกก้อนหนึ่งถูกธรรมชาติกัดเซาะ มีช่องให้หายใจ ให้น้ำ ให้สายลมลอดผ่าน 

วัตถุชนิดเดียวกันถูกปฏิบัติด้วยวิธีที่ต่างกัน ทำให้การรับรู้ของผู้คนที่มีต่อวัตถุนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ศิลปินชาวอเมริกัน Gordon Matta-Clark ได้ทดลองตัดอาคารที่ถูกทิ้งร้างให้กลับมามีชีวิต ผนังภายในอันทึบตันถูกเชื่อมโยงพื้นที่เข้าหากัน ขณะที่ช่องเปิดของผนังภายนอกสร้างที่ว่างอันกำกวมจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าเป็นภายนอกหรือภายใน ผลงาน A W-HOLE HOUSE และ CONICAL INTERSECT ที่เขาทดลองระหว่างปี ค.ศ. 1972-1975   ได้สร้างความประหลาดใจและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกรุ่นใหม่ในยุคนั้น อย่าง Rem Koolhass, Thom Mayne, และ Steven Holl การซ้อนทับของพื้นที่ที่เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสภาพแวดล้อมภายนอกไหลเวียนเข้าหาพื้นที่ภายในได้สร้างเรื่องราวทะลุทะลวงอันแยบยลในงานสถาปัตยกรรมที่ถูกทิ้งร้าง หากผลงานของ Matta-Clark เปรียบสถาปัตยกรรมเสมือนร่างกายคน สถาปัตยกรรมเหล่านั้นคงต้องการการไหลเวียนของเลือดลมเพื่อฟื้นชีวิตขึ้นมา 

เมื่อช่องเปิดเป็นตัวกลางปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายในกับภายนอก ที่ว่างจึงเป็นตัวแทนของลมหายใจ และสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับประสาทสัมผัสผ่านการมองเห็น องค์ประกอบนี้ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลวงตาที่สถาปนิกรังสรรค์พื้นที่กำกวมให้เกิดขึ้นในอาคารจวบจนปัจจุบัน หากจะจำแนกลักษณะการรับรู้ที่ทาง HAS design and research นำมาใช้ในผลงานสามารถแบ่งเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 

‘การรับรู้อันไร้ขอบเขต’ เกิดจากการสร้างที่ว่างที่ทำให้การรับรู้ระหว่างภายนอกและภายในเลือนหายกลายเป็นพื้นที่เดียวกัน เช่นผลงาน Casa de Zanotta ที่ใช้กระจกโค้งเพียงชิ้นเดียวและหลังคากระจกใสที่มีความหนาเป็นพิเศษโดยซ่อนโครงสร้างไว้ในผนัง ทำให้พื้นที่ภายในประสานไปกับภายนอกจนแยกขอบเขตออกจากกันไม่ได้ ขณะที่มุมมองภายนอกที่มองอาคารในเวลากลางคืนก็มีมิติที่ต่างออกไป

The interior space of Casa de Zanotta

พื้นที่ภายในของผลงาน Casa de Zanotta ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมภายนอกโดยใช้กระจกเพียงชิ้นเดียว l Photo: Gun Yang

openess ceiling

การจำกัดมุมมองเพื่อความเป็นส่วนตัวของพื้นที่ห้องน้ำในผลงาน Casa de Zanotta โดยช่องเปิดได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติภายนอกที่เผยให้เห็นเพียงท้องฟ้าและพื้นดิน l Photo: Gun Yang

ลักษณะของกระจกที่ใสทะลุปรุโปร่งนั้น ได้ส่งเสริมจินตนาการในการออกแบบองค์ประกอบภายนอกของอาคารให้สอดทะลุเข้าไปเป็นส่วนเดียวกันกับองค์ประกอบในอาคารได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังเช่นผลงาน MoMA

MoMa facade

ทางเข้าอาคาร MoMA ถูกออกแบบให้องค์ประกอบภายนอกของอาคารสอดทะลุเข้าไปเป็นส่วนเดียวกันกับองค์ประกอบในอาคาร l Photo: W Workspace

อีกหนึ่งการรับรู้คือ การบิดเบือนภาพที่เห็นให้เกิดความเลือนลางไม่ชัดเจน กลายเป็น ‘การรับรู้ที่น่าค้นหา’ สร้างความสงสัยให้กับผู้พบเห็นและจินตนาการถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังช่องเปิดนั้น เช่นผลงาน The Glade Bookstore ที่ใช้กระจกฝ้ากั้นบริเวณร้านหนังสือกับทางเดินด้านนอก เพื่อกำหนดการรับรู้ของพื้นที่โดยใช้ความไม่ชัดเจนของสินค้าเป็นตัวดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาในอาคาร วิธีการเดียวกันนี้ยังสามารถพบเห็นได้จากงานค้นคว้าของ HAS ผ่านทางบริบทเมืองที่พบว่าชาวบ้านท้องถิ่นในชุมชนเมืองกว่างโจว (urban village) ซึ่งอยู่อาศัยกันอย่างแออัดและมีความหลากหลายของอายุ มีร้านขายของเล่นเฉพาะผู้ใหญ่ที่เปิด 24 ชั่วโมงในชุมชนนั้น ได้นำม่านพลาสติกสีขาวขุ่นมาเซนเซอร์ภาพของสินค้าที่ขายอยู่ภายในเพื่อไม่ให้เด็กในชุมชนเห็น แต่กลับสร้างความรู้สึกน่าค้นหาให้กับผู้ใหญ่อยากจะก้าวขาเข้าไปในเวลาเดียวกัน

transparent door

การใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาบิดเบือนภาพที่ไม่ต้องการให้เด็กเห็นในร้านขายของเล่นเฉพาะผู้ใหญ่ที่เปิด 24 ชั่วโมง ชุมชนซานหยวนหลี่ (Sanyuanli) เมืองกว่างโจว หนึ่งในงานค้นคว้าของ HAS ผ่านทางบริบทเมือง l Photo: HAS design and research

กระจกฝ้ากั้นบริเวณร้านหนังสือ The Glade Bookstore กับทางเดินด้านนอก ทำให้เกิดการรับรู้ของพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน l Photo: Yu Bai

เมื่อภาพที่เห็นจากช่องเปิดต่างไปจากความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า ก่อให้เกิด ‘การรับรู้แบบอนันต์’ หันเห หักมุมสร้างภาพใหม่ผ่านการสะท้อนภาพในอาคารหรือสะท้อนบริบทที่อยู่โดยรอบอาคาร ทำให้ผู้ชมไม่สามารถแยกแยะภาพจริงกับภาพสะท้อนที่เห็นในแวบแรกได้ เกิดเป็นภาพลวงตาอันเวิ้งว้างหาจุดสิ้นสุดไม่ได้ในสถาปัตยกรรม

ภาพสะท้อนของอุโมงค์ทางเข้าในงาน MoMA ที่ย้อนกลับให้เห็นมุมมองภายในอาคาร ซึ่งถูกเชื่อมโยงกันจนไม่มีจุดสิ้นสุด l Photo: W Workspace

ความสมมาตรในพื้นที่ทางเข้าของร้านหนังสือ The Glade Bookstore กลายเป็นภาพใหม่ที่ต่างไปจากความเป็นจริง l Photo: Yu Bai

การรับรู้ผ่านความว่างเปล่าเหล่านี้ ได้กลายมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้คนซึ่งยังคงค้นหาความพึงพอใจในคุณภาพของพื้นที่ และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับบริบทที่สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่หรือการเลือนหายไปอย่างไร้ร่องรอยของวัตถุอย่างสถาปัตยกรรม ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สถาปนิกผู้ซึ่งมีอำนาจมหาศาล ในการกำหนดประสบการณ์การรับรู้ของสถาปัตยกรรมเติมเต็มจินตนาการที่มีอยู่ได้อย่างไม่สิ้นสุด

hasdesignandresearch.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *