ADULAYA HOONTRAKUL

art4d ชวนวิชญ มุกดามณี คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาพูดคุยกับ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) คนใหม่ ถึงเป้าหมายของ BACC ภายใต้แรงขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ อนาคตของศิลปะร่วมสมัยในไทย รวมถึงบทบาทของ art space ในฐานะพื้นที่อันเปิดกว้างสำหรับทุกความคิด

INTERVIEW AND TEXT BY VICHAYA MUKDAMANEE 
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

art4d ชวนวิชญ มุกดามณี คณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาสัมภาษณ์ อดุลญา ฮุนตระกูล (คิม) ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) คนใหม่ ว่าด้วยเรื่องบทบาทของการเป็นผู้บริหารองค์กรและสถาบันทางศิลปะระดับชาติที่เราน่าจะเรียกทั้งคู่ได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ


วิชญ
มุกดามณี: ก่อนอื่นเราขอแสดงความยินดีกับคิมก่อน ที่เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในเบื้องต้นเลย เป็นอย่างไรบ้างกับการเริ่มต้นทำงานในบทบาทนี้ 

อดุลญา ฮุนตระกูล: ต้องบอกว่าตำแหน่งนี้สำหรับเรามันมาเร็วกว่าที่วางแผนไว้กับชีวิต อีกอย่างตอนนี้เราเองก็กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ด้วย แต่ว่ามันก็เป็นโอกาสที่มาแล้ว ก็จะทำให้เต็มที่ สิ่งแรกที่ตกใจกับตัวเองก็คือ เรานี่ก็ enjoy เรื่อง management เหมือนกันนะ เพราะว่าแต่เดิมเราคิดว่าตัวเองอาจจะเชี่ยวชาญมากกว่าในเรื่องงานวิจัย งาน research เพราะว่ามาจากฐานทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่พอมาจับงาน management ก็เป็นความท้าทายอีกแบบหนึ่ง ก็สนุกดี คิดว่ามีเรื่องที่ต้องทำหลายร้อยอย่างเลย พยายามวางแผนแล้วอยากจะทำให้ตัวหอศิลป์มันพัฒนาไปสู่สิ่งที่เราคิดเอาไว้ เป็นสิ่งใหม่ๆ ในแบบที่เราวางแผนไว้ ร่วมกันกับทีมงานของหอศิลป์ที่ทำงานกันหนักมากอยู่แล้ว และทุกคนก็อยู่มาด้วยใจรัก อย่างตอนที่มีปัญหาเรื่องงบประมาณก็ไม่ค่อยมีใครออกไปไหน เราก็อยากเดินหน้าต่อไปด้วยกันกับทีมนี้

VM: คิมเคยทำงานมาก่อนหน้านี้แล้วกับทีมของหอศิลป์ BACC ในฐานะคิวเรเตอร์ ถ้าลองนึกย้อนไป ก่อนจะมาเป็นผู้อำนวยการกับตอนที่ได้เป็นผู้อำนวยการแล้ว ความรู้สึกกับ BACC มันเปลี่ยนไปไหม

AH: BACC เป็นที่แรกเลยที่ให้โอกาสเรา ให้เราได้ curate เรียกว่าเป็นความตื้นตันมากกว่า ตอนนั้นพี่มานิต (มานิต ศรีวานิชภูมิ) เป็นคนดึงเราเข้ามา มาช่วยอาจารย์อภินันท์ (อภินันท์ โปษยานนท์) curate งานของพี่วสันต์ (วสันต์ สิทธิเขตต์) เป็นงานแรกเลยหลังจากที่เราเพิ่งเรียนจบออกมา ตอนนี้ ความรู้สึกก็ยังเหมือนเดิมนะ แต่ว่าอาจจะในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ความรับผิดชอบก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

Photo courtesy of BACC

VM: คิมมอง identity หรืออัตลักษณ์ของ BACC อย่างไร

AH: ในประเด็นเรื่อง identity สิ่งที่เราอยากทำไม่เชิงเป็นการปรับความเข้าใจของสังคม แต่เป็นการพยายามชักจูงหอศิลป์ให้มี identity ที่ชัดเจน ก็คือความเป็นศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมซึ่งหลายคนอาจจะใช้คำอื่นๆ ในการอธิบาย BACC เช่น พิพิธภัณฑ์บ้าง เป็นแกลเลอรี่บ้าง แต่สำหรับเรา BACC คือความเป็น art and culture center เป็นศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งคำนี้มันก็บอกอยู่ในตัวเองแล้วว่าจะต้องมีอะไรหลายๆ อย่างอยู่ในสถานที่เดียวกัน ทั้งศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งจะรวมไปถึงดนตรี และ performance ด้วย และมันจะต้องมีเรื่องกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องกิจกรรมเพื่อการศึกษา 

ความหลากหลายนี้อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของ service ทั้งในเชิงพื้นที่ที่ขอมาใช้ได้และในเชิงบุคลากรระดับ specialist ที่เรามี รวมทั้งเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประชาชนสามารถเข้ามาขอใช้บริการได้ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ระดับนานาชาติด้วย อย่างหลายๆ สถานฑูตหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาใช้พื้นที่ ก็ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปในตัว ถือเป็นหนึ่งในร้อยฟังก์ชันของ BACC

 

VM: ในเชิงการบริหารจัดการ BACC อะไรเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด

AH: คิดว่ามันก็ต้องกลับไปที่เรื่องเงินนะ ซึ่งเราไม่อยากใช้คำว่าปัญหา แต่มองว่าเป็นหนึ่งในงานใหญ่และงานหลักที่สำคัญที่สุดของเรา อย่างสาเหตุที่ต้องมีพื้นที่ร้านค้าสี่ชั้น ก็เพื่อหาทุนนำมาหมุนเวียนในการดำเนินงาน เพื่อให้ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมอยู่ได้ แล้วก็ เป็นการเพิ่มโอกาสการทำงานได้มากขึ้นจากงบประมาณที่เราได้รับในปัจจุบัน 

แม้ว่า BACC จะมีกิจกรรมระดมทุน หรือได้รับคำสัญญาที่จะเพิ่มทุนสนับสนุนให้มากขึ้นอย่างไรก็ตาม แต่เรายิ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ที่ให้การสนับสนุนเรา ทั้งจากภาครัฐและเอกชน อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำงานหนักขึ้น การสร้าง network ให้แข็งแรง การดำเนินการระดมทุนเพิ่มเติมต่อไป เพื่อจะได้เปิดโอกาสในการทำงานของ BACC ให้หลากหลายขึ้นกว่าปัจจุบัน อย่างเช่นงานนิทรรศการจากต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะเอางานศิลปินระดับใหญ่ๆ หรือมีชื่อเสียง import เข้ามา หรือบางครั้งการทำงานอาจไม่ได้พึ่งแต่เรื่องเงิน แต่ network ก็สำคัญ เช่น เรื่องภาษีนำเข้างานศิลปะ ที่เราจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ถ้าหลายอย่างมันปลดล็อคได้ เราก็จะทำกิจกรรมได้กว้างขึ้น

อีกอย่างหนึ่งที่เราคิดอย่างค่อนข้างจริงจังเลยคือการบริหารจัดการเรื่อง first impression ของคนที่เข้ามาศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม คืออย่างเวลาที่เราไปเดินเที่ยวหอศิลป์อื่น พิพิธภัณฑ์ หรือ art center อื่นๆ พอเดินเข้าไปแล้วเราก็จะรู้ทันทีเลยว่านี่คือ art center ตอนนี้เราเข้าใจว่าหลายๆ คนที่เดินเข้ามาใน BACC อย่างแรกคือเห็นร้านค้า เราไม่มีบูทที่จะต้องซื้อตั๋ว อาคารและการใช้งานห้องแสดงต่างๆ ของ BACC เป็นลักษณะพื้นที่เปิดกว้างให้สาธารณะ ซึ่งคนทั่วไปก็อาจจะงงๆ นิดนึงว่ากำลังเข้ามาสู่พื้นที่ของอะไร เราเลยอยากจะลองปรับปรุงเรื่อง first impression นี้สำหรับทุกคน สื่อสารว่าเข้ามาแล้วจะต้องเจอกับอะไร เกิดความเข้าใจตั้งแต่วินาทีวินาทีแรกเลย ว่านี่คือศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม สำหรับเรามันก็จะเหมือนกับการ curate ทั้งตึกเลย เป็นการ curate งาน site-specific ใหญ่ๆ

VM: มองว่าในปัจจุบันนี้คอนเทนต์ลักษณะแบบไหนทีน่าจะเป็นที่ต้องการหรือน่าสนใจสำหรับคนที่เข้ามาใช้บริการ BACC

AH: จริงๆ แล้วไม่อยากใช้คำนี้เท่าไหร่นะเพราะว่าใช้กันเยอะมาก แต่มันก็ตรงกับสิ่งที่เราอยากจะทำจริงๆ คือเรื่องของความหลากหลายหรือ diversity เราไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมา BACC ไม่ได้มีความหลากหลายนะ แต่เราอาจจะสนใจความหลากหลายที่มันตอบสนองต่อคนดูทุกวันนี้เป็นหลัก เราลองไปดูสถิติ พบว่าคนที่เข้ามาใช้บริการ BACC ทั้งมาดูนิทรรศการศิลปะหรือเข้ามาใช้บริการกิจกรรมของฝ่ายการศึกษา ส่วนใหญ่จะอายุประมาณ 15-16 ปีเท่านั้นเอง อย่างมากไม่เกิน 30 ปี อันนี้คือเป็น audience ที่เด็กมากนะ ประเทศอื่นหรือหอศิลป์อื่นอาจจะไม่ได้มี audience หลักที่เด็กขนาดนี้ เรามองว่าเป็น asset ที่พิเศษมาก ก็เลยสนใจจะสร้างเนื้อหาที่หลากหลายและตอบสนองต่อคนกลุ่มนี้ generation นี้ สนใจว่าเขาเสพศิลปะกันอย่างไร สื่อสารกันอย่างไร เพื่อจะได้ทำนิทรรศการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนที่เข้ามาดู และเราอาจจะมีการเรียนการสอนเพิ่มเติมทางด้านทักษะการ curate ให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาไปสู่การเป็นคิวเรเตอร์ที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่จริงๆ

VM: เนื่องจากธรรมชาติของ contemporary เปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่อาจไม่ใช่กระแสหลักทางศิลปะ การตั้งคำถามถึงสิ่งที่คนมองข้าม แต่ในฐานะที่เป็น art center ซึ่งต้องตอบสนองต่อสาธารณชน ต่อความเป็น mass ของคนทั่วไปด้วย คิมมองว่าจะสร้างสมดุล balance ระหว่างความเป็นกระแสหลักและกระแสทางเลือกของศิลปะร่วมสมัยอย่างไร

AH: คิดว่าสิ่งที่ช่วยให้ BACC สามารถแยกแยะนิทรรศการและเนื้อหาทางศิลปะได้หลากหลาย และสร้างสมดุลระหว่างกระแสหลักกระแสรองได้ค่อนข้างชัดเจนคือตัวตึก BACC หลังนี้เอง การออกแบบหน้าที่การใช้งานของแต่ละส่วนในอาคารในเชิงฟังก์ชันและขนาดที่ใหญ่เพียงพอจะกระจายความหลากหลายของเนื้อหาไปยังส่วนต่างๆ ได้เยอะมาก คร่าวๆ คือเราจะมีห้องจัดแสดงแกลเลอรี่หลักชั้น 7 – 8 – 9 ซึ่งพื้นที่นี้ดูแลด้วยทีมงานของหอศิลป์โดยเฉพาะ แล้วเราก็จะมีพื้นที่อื่นๆ ซึ่งอาจตอบโจทย์กับความเป็น Mass มากขึ้น เป็นพื้นที่ที่ informative มีข้อมูลที่เข้าใจง่าย หรือนำเสนอผลงานที่ค่อนข้างแสดงออกอย่างตรงไปตรงมามากกว่า สอดคล้องกับความต้องการของคนทั่วไป ที่เพียงอยากอยู่ใกล้ชิดกับศิลปะ ไม่จำเป็นต้องคร่ำเคร่งกับการอ่านหรือศึกษาข้อมูล เปิดดู curatorial statement เพื่อทำความเข้าใช้ผลงานศิลปะ รวมไปถึงพื้นที่ในเชิงกิจกรรมส่งเสริมการศึกษา พื้นที่ในการบรรยาย สัมมนา หรือห้องสมุด แต่ละส่วนเอื้อประโยชน์และมีหน้าที่การใช้งานแตกต่างกัน อันนี้คือข้อดีของความเป็น multi-function ของการออกแบบอาคาร BACC

VM: ในแง่การเป็นพื้นที่สาธารณะหรือการถูกใช้ประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์ ทั้งทางการเมืองและอื่นๆ มากมาย การชุมนุมประท้วงของหลากหลายแนวคิดก็มาจัดในพื้นที่ด้านหน้า BACC กันหลายครั้ง คิมมองสถานะของ BACC กับประเด็นนี้อย่างไร 

AH: เราคงต้องมองย้อนกลับไปถึงบทบาทของ BACC ก่อนวาระที่เราจะมาทำงานเป็นผู้อำนวยการก่อน ในฐานะประชาชนเราเห็นว่า BACC ไม่เคยจะต้องปิดประตู คือตอนที่มีเหตุการณ์ประท้วงกันหนักๆ ในย่านนี้ BACC ก็ยังเปิดให้บริการ พี่ๆ รปภ. ของที่นี่ก็ช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับทุกคน พอมาถึงในช่วงที่เราเป็นผู้อำนวยการนี้ อาจจะยังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ถ้าจะให้คิดถึงการเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์อะไรประมาณนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต คิดว่าจากการที่พิจารณาว่าสิ่งที่ BACC ได้เคยปฏิบัติมาแล้วมันมีความเหมาะสม เราก็คงจะสืบสานแนวทางนั้นต่อ 

เราเชื่อว่าสังคมเราไม่ควรจะเป็นพื้นที่ที่แบ่งแยกกัน เพราะมันไม่น่าจะสามารถแยกกันได้ คงไม่มีประเทศไหนที่ทุกคนจะคิดเหมือนกันได้หมด มันสำคัญนะที่เราสามารถคิดต่างกันได้ ขอเน้นคำว่าสามารถนะ เพราะว่านี่แหละมันจะทำให้เราพัฒนาไปข้างหน้า ถ้าทุกคนคิดไปในแนวทางเดียวกันหมด มันก็คงไปไหนไม่ได้ 

คือเรารู้ดีว่าหลายๆ คนอยากได้พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้แสดงความเห็น ได้แสดงความเป็นตัวตน การ express นี้มันอาจจะไม่จำเป็นต้องออกมาในเชิงศิลปะก็ได้นะ เราคิดว่า BACC ดีใจนะที่ตัวเองสามารถเป็นอีกพื้นที่นึงที่คนสามารถเข้ามามองหาสิ่งอะไรบางอย่างที่ใหม่ๆ ที่แตกต่าง นอกเหนือจากสิ่งที่เขาเคยเห็นตามถนนหนทาง ตาม immediate environment ของตัวเอง หรือไม่ก็ตามห้างสรรพสินค้าซึ่งปกติพวกเขาอาจจะเข้าบ่อยมาก BACC น่าจะสามารถเป็นพื้นที่ที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายและประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ได้ 

VM: ปฏิเสธไม่ได้แน่ๆ ว่าช่องว่างระหว่างศิลปะร่วมสมัยกับสังคมทั่วไปมันก็ยังกว้างอยู่มากๆ คิมคิดว่าจะทำอย่างไรให้สังคมทั่วไปอยากจะเข้ามาหาศิลปะร่วมสมัย ทำอย่างไรเพื่อลดช่องว่างระหว่างศิลปะร่วมสมัยกับสาธารณชน

AH: คือถ้าเราไปมองดูประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ศิลปะ การชักจูงให้คนเข้ามาสนใจศิลปะ เราจะเห็นป้ายโฆษณางานศิลปะ เกิดขึ้นอยู่ทั่วเมืองเลย มันเป็นภาพที่เรารู้สึกได้เลยว่าสุนทรียศาสตร์หรือความเป็นศิลปะมันผสานอยู่กับวิถีชีวิตประจำวันของคน เราคิดว่า art scene ของประเทศอื่นๆ เป็นอะไรที่ organic มาก มันเติบโตไปตามเศรษฐกิจและสังคมของยุคสมัย

ทีนี้ถ้าเราอยากให้กรุงเทพฯ มีบรรยากาศแบบนั้นบ้าง ในมุมมองของเราคิดว่ามันคงเป็นรถไฟที่เราขึ้นไม่ทันแล้วล่ะ รูปแบบการสื่อสารลักษณะนี้มันอาจจะไม่ใช่ขบวนของเราก็ได้ เราเสนอให้ลองมองในยุคนี้ดีกว่า ว่าอะไรที่สามารถแพร่ข้อมูลได้ไกลที่สุด ถึงมือคนมากที่สุด คำตอบง่ายๆ ก็คืออินเทอร์เน็ต แต่ต้องถามต่อว่าแล้วเราจะใช้มันอย่างไรให้ได้ผล อย่างตอนนี้ มีนโยบายจากภาครัฐมากมายที่ร่วมผลักดันให้ศิลปะลงไปสู่วิถีชีวิตประจำวันของคนเมืองกรุงเทพฯ และใช้สื่ออินเทอร์เน็ตในการเผยแพร่ เช่น แคมเปญ Colorful Bangkok 2022 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่ง BACC เป็นหนึ่งในผู้ร่วมระดมทุนและร่วมทีมทำงาน พร้อมทั้งมีเว็ปไซต์ชื่อ bangkokartcity.org ซึ่งเราเห็น potential และอยากให้ กทม. รับมาพัฒนาต่อในลักษณะที่มากกว่า project-based ไปสู้โครงการระยะยาวของกรุงเทพฯ ที่เรามี network ที่ทำให้สามารถพัฒนาเพื่อให้กิจกรรมเหล่านี้ผสานเข้ากับชีวิตของคนในปัจจุบันได้มากขึ้น

VM: ในฐานะ ผอ. คิมอยากจะบอกอะไรในมุมของคนที่กำลังเริ่มบริหาร BACC

AH: อยากได้เวลา (ยิ้ม) คือเราเข้าใจนะว่าหลายคนตั้งความหวังในแบบว่า พอมีคนใหม่มาแล้ว ต้องสามารถทำ X Y X อย่างนั้นอย่างนี้ได้ คือเราก็ต้องอธิบายจริงๆ ว่า ด้วยความตั้งใจแล้ว เราเต็มที่แน่นอน แต่ก็อยากจะขอเวลาในเชิงการทำงาน เพราะว่าหลายๆ อย่างมันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มันมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายที่เราต้องทำงานร่วมกัน 

เราคิดว่าบางทีความเปลี่ยนแปลงมันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาของเราก็ได้ เราคิดว่าสำคัญมากๆ ที่เราต้องคิดแบบนี้ เราในฐานะผู้อำนวยการก็ไม่ได้หวังนะว่าเราจะต้องก้าวเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่างในช่วงนี้ บางอย่างอาจจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงแต่ก็อย่างที่บอกว่าต้องอาศัยความร่วมมือ แต่เราคิดว่าเราจะเอาดินที่ดี ดินที่เหมาะสม เอามาวางไว้ตรงนี้ คนอื่นๆ หรือผู้บริหารคนต่อไปอาจจะเป็นคนที่หาเมล็ดที่มันใช่ เหมาะกับดินนี้มาปลูกลงไป คือทุกอย่างก็ต้องต่อยอดกันไปให้ได้ ตัวเราเองก็ต้องต่อยอดจากแนวคิดที่ทุกคนร่วมต่อสู้กันมาเยอะแยะมากมายเลยกว่าจะได้ตึกนี้ขึ้นมา มันก็หลาย generations หลายคนหลายเสียง เราอาจจะไม่ได้สร้างสิ่งใหม่ทั้งหมดเพราะแต่ละอย่างมันมีอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้เรามาจับมือกันมากขึ้น ทำงานด้วยกัน 

VM: ขอบคุณคิมมากๆ ที่มาคุยกันวันนี้ เราขอร่วมเป็นกำลังใจให้ด้วย 

bacc.or.th
facebook.com/baccpage

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *