นิทรรศการใน BACC ที่นำเสนอผลงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยจาก 8 สตูดิโอทั้งไทยและไต้หวัน แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับผืนดินที่ตั้งอยู่
TEXT: HAS DESIGN AND RESEARCH
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
นิทรรศการสถาปัตยกรรมครั้งแรกของปีนี้ ‘Infinity Ground – Thailand and Taiwan Contemporary Architecture Exhibition’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย สนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
โดยมี เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ประธานคณะทำงานนิทรรศการจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับกุลธิดา ทรงกิตติภักดี ผู้ร่วมก่อตั้งและสถาปนิกหลักจาก HAS Design and Research เป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ ได้คัดเลือกผลงานบริษัทสถาปนิก 8 บริษัทจากไทยและไต้หวันเข้าร่วมจัดแสดง ซึ่งประกอบด้วยบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (Architects 49 Limited) , บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด (Arsomsilp Community and Environment Architect) , บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด (Duangrit Bunnag Architect Limited) , บริษัท ดีพาร์ทเม้นท์ ออฟ อาร์คิเทคเจอร์ จำกัด (Department of ARCHITECTURE) และ Ambi Studio, MAYU architects, Behet Bondzio Lin Architekten, Atelier Or จากไต้หวัน
ผลงานสถาปัตยกรรมจาก 8 บริษัทที่นำมาจัดแสดงนั้น ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ พัทยา ปทุมธานี สมุทรสาคร นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา ส่วนในไต้หวันตั้งอยู่ที่เมืองซินจู๋ หนานโถว หยุนหลิน เกาสง ผิงตง และอี๋หลาน ผลงานทั้งหมดนั้นเป็นตัวแทนของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาสังคมที่ส่งผลต่องานสถาปัตยกรรมทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
เจอร์รี่ หง ประธานจัดงานนิทรรศการตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยภูมิศาสตร์และบริบทที่ต่างกัน สถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่เหล่านี้มีวิธีการตอบสนองและปฏิสัมพันธ์กับผืนดินในถิ่นที่โครงสร้างหยั่งรากลงอย่างไร แม้ว่าผืนดินเป็นส่วนต่อประสานเชื่อมโยงทุกสิ่งบนโลกในธรรมชาติเสมอมา พื้นผิวของมันกลับเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ไปจนถึงการปรับสมดุลบนโลกด้วยกลไกการทำงานของสิ่งแวดล้อม กว่าศตวรรษที่แล้ว อัลเฟรท โลทาร์ เวเกอเนอร์ (Alfred Lothar Wegener) นักธรณีวิทยาชาวเยอรมันได้เขียนหนังสือชื่อ The Origin of Continents and Oceans อธิบายว่าในอดีตโลกเคยรวมตัวกันเป็นมหาทวีปแพนเจีย (Pangea) ล้อมรอบด้วยผืนน้ำของแพนธาลัสซา (Panthalassa) ซึ่งต่อมาได้เคลื่อนที่และแตกออกเป็นเจ็ดทวีป ห้ามหาสมุทรในปัจจุบัน
นิทรรศการยังคงมุมมองของ ‘การเลื่อนไหล’ และ ‘การรวมตัว’ ของโลก โดยแบ่งการนำเสนอสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยและไต้หวันออกเป็น 2 หมวด คือ ‘การแลกเปลี่ยนบนผืนดิน’ (Ground Exchanges) และ ‘ความรู้สึกจากผืนดิน’ (Feeling Grounds) ที่แสดงวิถีชีวิตใหม่ของมนุษย์และธรรมชาติผ่านสถาปัตยกรรมบนพื้นฐานร่วมกันอันอุดมไปด้วยความสัมพันธ์, ความศักดิ์สิทธิ์, ลักษณะท้องถิ่น, การแทรกซึม, ความพิเศษ, การระลึกถึง, พื้นถิ่น, และไร้ขอบเขต
ในกลุ่มแรก ‘Ground Exchanges’ การแลกเปลี่ยนวิทยาการทางการก่อสร้างสมัยใหม่ได้กำหนดกรอบทิวทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะที่อุดมสมบูรณ์ของผืนดิน เช่น ผลงาน เวลา สินธร วิลเลจ ของบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด (ปีที่แล้วเสร็จพ.ศ. 2562) และโรงละคร สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์ (พ.ศ. 2560) อาคารทั้งสองเสมือนลอยตัวอยู่กลางอากาศเปิดพื้นที่ให้กับพื้นที่สาธารณะ โดยพื้นที่ธรรมชาติกระจายตัวล้อไปกับอาคาร ขณะที่ภาพลักษณ์ของอาคารสัมพันธ์ไปกับแสงและลมของพื้นที่
ผลงาน Eternal Hill Columbarium (พ.ศ. 2565) และ House of Roofs (พ.ศ. 2559) ของ Behet Bondzio Lin Architekten เป็นผลงานออกแบบที่ตอบสนองต่อสภาพอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุกของไต้หวัน และแฝงถึงความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนที่มีต่อพื้นดิน ผลงานวิหารแก้ว (พ.ศ. 2563) ของ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด งานสถาปัตยกรรมได้ส่งเสริมจิตวิญญาณอันเป็นนิรันดร์ให้กับสถานที่ ส่วนโครงการบ้านพักอาศัยประชาชื่น (พ.ศ. 2563) ผสานสภาพแวดล้อมสร้างความรู้สึกของพื้นที่แทรกซึมเข้าไปในอาคาร
โครงการห้องสมุดสาธารณะ Pingtung Public Library (พ.ศ. 2563) และ Kaohsiung American School Athletic Complex (พ.ศ. 2559) ของ MAYU architects การใช้รูปทรงเรขาคณิตที่ตรงไปตรงมาร่วมกับโครงสร้างอาคารที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนในท้องถิ่นเชื่อมโยงมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร้รอยต่อ
ในบรรดาผลงานของบริษัทสถาปนิกทั้งสี่นั้น Ground Exchanges ไม่เพียงแต่นำเสนอการแลกเปลี่ยนที่ประกอบขึ้นจากความสัมพันธ์, ความศักดิ์สิทธิ์, ลักษณะท้องถิ่น และการแทรกซึมระหว่างสถาปัตยกรรมกับผืนดินเพียงเท่านั้น แต่โครงการทั้งหมดยังแสดงให้เห็นทิศทางการอยู่ร่วมกันระหว่างสถาปัตยกรรมกับผืนดินในอนาคตอีกด้วย
ในกลุ่มที่สอง ‘Feeling Grounds’ ผสานแนวคิดจากสิ่งแวดล้อมกับงานฝีมือพื้นถิ่น วัสดุและเทคนิกการก่อสร้างที่ตกทอดกันมาได้ถ่ายทอดการรับรู้ทางความรู้สึกผ่านทางผืนดินในหลายมิติ เช่น ผลงานของบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โครงการอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี (พ.ศ. 2562) และห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้าท่าฉลอม (พ.ศ. 2565) อาคารเหล่านี้ยังคงไว้ซึ่งพื้นผิวภูมิทัศน์และเพิ่มด้วยคุณสมบัติที่สร้างระบบนิเวศในระดับจุลภาคให้กลมกลืนกับผืนดิน พื้นที่ว่างที่เกิดขึ้นกลายเป็นส่วนต่อประสานสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างคุณค่าเฉพาะถิ่น
สำหรับโครงการ Hushan Reservoir Archaeological Exhibition Hall (พ.ศ. 2566) และ Yuhsiu Museum of Arts (พ.ศ. 2558) โดยสถาปนิกจาก Ambi Studio ได้ออกแบบสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องไปกับภูมิประเทศพื้นถิ่นและสร้างสรรค์เส้นทางที่สื่อสารกับภูมิทัศน์โดยรอบ รวมทั้งยังสร้างความรู้สึกใหม่ในพื้นที่เดิมให้แก่ผู้เข้าชมและผสมวัสดุก่อสร้างที่เลือกใช้ได้อย่างน่าสนใจ
ถัดมาคือโครงการ The Commons ทองหล่อ (พ.ศ. 2559) และศาลาบางปะอิน (พ.ศ. 2564) ออกแบบโดยบริษัท ดีพาร์ทเม้นท์ ออฟ อาร์คิเทคเจอร์ จำกัด ได้สร้างความพิเศษในการเชื่อมโยงพื้นที่ร่มและพื้นที่กลางแจ้งบนผืนดินผ่านทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ด้วย ‘พื้นที่สีเทาด้านล่าง’ ซึ่งสะท้อนถึงพื้นที่อเนกประสงค์ ‘ใต้ถุน’ ในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย สำหรับโครงการ Sparkling Market ในเมืองซินจู๋ (พ.ศ. 2555) และ Pavilion for Hsinchu Bus Station Plaza (พ.ศ. 2561) ของ Atelier Or โครงสร้างขนาดเล็กและเบาได้ปลดปล่อยข้อจำกัดทางการมองเห็นอาคารแบบดั้งเดิม เกิดเป็นการบูรณาการระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกอย่างไร้ขอบเขต
ความรู้สึกที่ส่งต่อจากผืนดินผ่านมายังผลงานของสถาปนิกทั้งสี่กลุ่มใน Feeling Grounds นี้ ได้กระตุ้นให้ผลงานสถาปัตยกรรมสร้างกระบวนการเอื้อเฟื้อและเห็นอกเห็นใจต่อผืนดิน เกิดเป็นความพิเศษเหนือธรรมดา, การระลึกถึงถิ่นที่, การมีอยู่ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น, และการไร้ซึ่งขอบเขตของสถาปัตยกรรม
องค์ประกอบเหล่านี้เมื่อปรากฏต่างเวลาต่างสถานที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเชื่อมโยงให้กับโลกใบนี้ พื้นที่นิทรรศการที่ถูกโอบล้อมด้วยบ้านเก้าหลังลดหลั่นไม่เสมอกัน เกิดเป็นความหลากหลายของพื้นที่จัดแสดงที่มีทั้งพื้นที่ร่มและสว่างซึ่งเปิดโล่งและต่อเนื่องกัน ความลาดเอียงของหลังคาที่ต่อเนื่องไม่เพียงแต่จะนำเสนอภาพลักษณ์ของนิทรรศการแล้ว ยังสร้างความต่างของพื้นที่เกิดเป็นความมืดและสว่างร่วมกับภาพผลงานของสถาปนิกทั้ง 8 บริษัทที่นำมาจัดแสดง สร้างความสงบและผ่อนคลายให้กับผู้เยี่ยมชมหาคำตอบถึงอนาคตของหน้าที่สถาปัตยกรรมต่อผืนดินที่ตั้งอยู่ และมองหาการบรรจบกันของสถาปัตยกรรมที่สนองต่อบริบทของถิ่นที่และบริบทของโลกบนผืนดินที่ไม่สิ้นสุดนี้ร่วมกัน
_____________
Hosts: The Association of Siamese Architects Under Royal Patronage; Taipei Economic and Cultural Office in Thailand; Chulalongkorn University – Faculty of Architecture; King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang – School of Architecture, Art, and Design; King Mongkut’s University of Technology Thonburi – School of Architecture and Design; Silpakorn University – Faculty of Architecture
Co-Organizers: HAS design and research, Bangkok Art and Culture Centre, art4d, Alliance for Architectural Modernity Taiwan
Principal Curators: Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee
Participants: Architects 49 Limited, Behet Bondzio Lin Architekten, Duangrit Bunnag Architect Limited, MAYU architects, Arsomsilp Community and Environment Architect, Ambi Studio, Department of ARCHITECTURE, Atelier Or
Space Design: HAS design and research
Supporters: Alufence, Canon Thailand, Jorakay, Saint-Gobain, RichCons, FloraScape
Duration: 2023 July 18 – August 6
Opening Event: 2023 July 18, 14:00 (invitation only)
Opening Hours: Tuesday – Sunday, 10:00 – 20:00
Venue: Bangkok Art and Culture Centre LF; 939 Rama I Road, Wang Mai, Pathum Wan, Bangkok