INFINITY GROUND

นิทรรศการใน BACC ที่นำเสนอผลงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยจาก 8 สตูดิโอทั้งไทยและไต้หวัน แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมกับผืนดินที่ตั้งอยู่

TEXT: HAS DESIGN AND RESEARCH
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

นิทรรศการสถาปัตยกรรมครั้งแรกของปีนี้ ‘Infinity Ground – Thailand and Taiwan Contemporary Architecture Exhibition’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย สนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดยมี เจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ประธานคณะทำงานนิทรรศการจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับกุลธิดา ทรงกิตติภักดี ผู้ร่วมก่อตั้งและสถาปนิกหลักจาก HAS Design and Research เป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ ได้คัดเลือกผลงานบริษัทสถาปนิก 8 บริษัทจากไทยและไต้หวันเข้าร่วมจัดแสดง ซึ่งประกอบด้วยบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (Architects 49 Limited) , บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด (Arsomsilp Community and Environment Architect) , บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด (Duangrit Bunnag Architect Limited) , บริษัท ดีพาร์ทเม้นท์ ออฟ อาร์คิเทคเจอร์ จำกัด (Department of ARCHITECTURE) และ Ambi Studio, MAYU architects, Behet Bondzio Lin Architekten, Atelier Or จากไต้หวัน

Photo courtesy of HAS design and research

ผลงานสถาปัตยกรรมจาก 8 บริษัทที่นำมาจัดแสดงนั้น ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ พัทยา ปทุมธานี สมุทรสาคร นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา ส่วนในไต้หวันตั้งอยู่ที่เมืองซินจู๋ หนานโถว หยุนหลิน เกาสง ผิงตง และอี๋หลาน ผลงานทั้งหมดนั้นเป็นตัวแทนของความหลากหลายทางวัฒนธรรม สภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาสังคมที่ส่งผลต่องานสถาปัตยกรรมทั้งทางตรงหรือทางอ้อม

เจอร์รี่ หง ประธานจัดงานนิทรรศการตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยภูมิศาสตร์และบริบทที่ต่างกัน สถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่เหล่านี้มีวิธีการตอบสนองและปฏิสัมพันธ์กับผืนดินในถิ่นที่โครงสร้างหยั่งรากลงอย่างไร แม้ว่าผืนดินเป็นส่วนต่อประสานเชื่อมโยงทุกสิ่งบนโลกในธรรมชาติเสมอมา พื้นผิวของมันกลับเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ไปจนถึงการปรับสมดุลบนโลกด้วยกลไกการทำงานของสิ่งแวดล้อม กว่าศตวรรษที่แล้ว อัลเฟรท โลทาร์ เวเกอเนอร์ (Alfred Lothar Wegener) นักธรณีวิทยาชาวเยอรมันได้เขียนหนังสือชื่อ The Origin of Continents and Oceans อธิบายว่าในอดีตโลกเคยรวมตัวกันเป็นมหาทวีปแพนเจีย (Pangea) ล้อมรอบด้วยผืนน้ำของแพนธาลัสซา (Panthalassa) ซึ่งต่อมาได้เคลื่อนที่และแตกออกเป็นเจ็ดทวีป ห้ามหาสมุทรในปัจจุบัน

Photo courtesy of HAS design and research

นิทรรศการยังคงมุมมองของ ‘การเลื่อนไหล’ และ ‘การรวมตัว’ ของโลก โดยแบ่งการนำเสนอสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยและไต้หวันออกเป็น 2 หมวด คือ ‘การแลกเปลี่ยนบนผืนดิน’ (Ground Exchanges) และ ‘ความรู้สึกจากผืนดิน’ (Feeling Grounds) ที่แสดงวิถีชีวิตใหม่ของมนุษย์และธรรมชาติผ่านสถาปัตยกรรมบนพื้นฐานร่วมกันอันอุดมไปด้วยความสัมพันธ์, ความศักดิ์สิทธิ์, ลักษณะท้องถิ่น, การแทรกซึม, ความพิเศษ, การระลึกถึง, พื้นถิ่น, และไร้ขอบเขต

ในกลุ่มแรก ‘Ground Exchanges’ การแลกเปลี่ยนวิทยาการทางการก่อสร้างสมัยใหม่ได้กำหนดกรอบทิวทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะที่อุดมสมบูรณ์ของผืนดิน เช่น ผลงาน เวลา สินธร วิลเลจ ของบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด (ปีที่แล้วเสร็จพ.ศ. 2562) และโรงละคร สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์ (พ.ศ. 2560) อาคารทั้งสองเสมือนลอยตัวอยู่กลางอากาศเปิดพื้นที่ให้กับพื้นที่สาธารณะ โดยพื้นที่ธรรมชาติกระจายตัวล้อไปกับอาคาร ขณะที่ภาพลักษณ์ของอาคารสัมพันธ์ไปกับแสงและลมของพื้นที่

Velaa Sindhorn Village Langsuan, Bangkok, Thailand by Architects 49 Limited | Photo: W Workspace

Singha D’luck Cinematic Theatre, Pattaya, Thailand by Architects 49 Limited | Photo: Chaovarith Poonphol

ผลงาน Eternal Hill Columbarium (พ.ศ. 2565) และ House of Roofs (พ.ศ. 2559) ของ Behet Bondzio Lin Architekten เป็นผลงานออกแบบที่ตอบสนองต่อสภาพอากาศร้อนชื้นและฝนตกชุกของไต้หวัน และแฝงถึงความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนที่มีต่อพื้นดิน ผลงานวิหารแก้ว (พ.ศ. 2563) ของ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด งานสถาปัตยกรรมได้ส่งเสริมจิตวิญญาณอันเป็นนิรันดร์ให้กับสถานที่ ส่วนโครงการบ้านพักอาศัยประชาชื่น (พ.ศ. 2563) ผสานสภาพแวดล้อมสร้างความรู้สึกของพื้นที่แทรกซึมเข้าไปในอาคาร

House of Roofs, Pingtung, Taiwan by Behet Bondzio Lin Architekten | Photo: YuChen Chao Photography

โครงการห้องสมุดสาธารณะ Pingtung Public Library (พ.ศ. 2563) และ Kaohsiung American School Athletic Complex (พ.ศ. 2559) ของ MAYU architects การใช้รูปทรงเรขาคณิตที่ตรงไปตรงมาร่วมกับโครงสร้างอาคารที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนในท้องถิ่นเชื่อมโยงมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร้รอยต่อ

Kaohsiung American School Athletic Complex, Kaohsiung, Taiwan by MAYU architects | Photo: YuChen Chao Photography

ในบรรดาผลงานของบริษัทสถาปนิกทั้งสี่นั้น Ground Exchanges ไม่เพียงแต่นำเสนอการแลกเปลี่ยนที่ประกอบขึ้นจากความสัมพันธ์, ความศักดิ์สิทธิ์, ลักษณะท้องถิ่น และการแทรกซึมระหว่างสถาปัตยกรรมกับผืนดินเพียงเท่านั้น แต่โครงการทั้งหมดยังแสดงให้เห็นทิศทางการอยู่ร่วมกันระหว่างสถาปัตยกรรมกับผืนดินในอนาคตอีกด้วย

Eternal Hill Columbarium, Hsinchu, Taiwan by Behet Bondzio Lin Architekten | Photo: YuChen Chao Photography

ในกลุ่มที่สอง ‘Feeling Grounds’ ผสานแนวคิดจากสิ่งแวดล้อมกับงานฝีมือพื้นถิ่น วัสดุและเทคนิกการก่อสร้างที่ตกทอดกันมาได้ถ่ายทอดการรับรู้ทางความรู้สึกผ่านทางผืนดินในหลายมิติ เช่น ผลงานของบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด โครงการอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี (พ.ศ. 2562) และห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้าท่าฉลอม (พ.ศ. 2565) อาคารเหล่านี้ยังคงไว้ซึ่งพื้นผิวภูมิทัศน์และเพิ่มด้วยคุณสมบัติที่สร้างระบบนิเวศในระดับจุลภาคให้กลมกลืนกับผืนดิน พื้นที่ว่างที่เกิดขึ้นกลายเป็นส่วนต่อประสานสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างคุณค่าเฉพาะถิ่น

Puey Ungphakorn Centenary Hall, Pathum Thani, Thailand by Arsomsilp Community and Environment Architect | Photo: Pat Phuchamni

Tha Chalom Sky Boat Library, Samut Sakhon, Thailand by Arsomsilp Community and Environment Architect | Photo: Srirath Somsawat

สำหรับโครงการ Hushan Reservoir Archaeological Exhibition Hall (พ.ศ. 2566) และ Yuhsiu Museum of Arts (พ.ศ. 2558) โดยสถาปนิกจาก Ambi Studio ได้ออกแบบสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องไปกับภูมิประเทศพื้นถิ่นและสร้างสรรค์เส้นทางที่สื่อสารกับภูมิทัศน์โดยรอบ รวมทั้งยังสร้างความรู้สึกใหม่ในพื้นที่เดิมให้แก่ผู้เข้าชมและผสมวัสดุก่อสร้างที่เลือกใช้ได้อย่างน่าสนใจ

ถัดมาคือโครงการ The Commons ทองหล่อ (พ.ศ. 2559) และศาลาบางปะอิน (พ.ศ. 2564) ออกแบบโดยบริษัท ดีพาร์ทเม้นท์ ออฟ อาร์คิเทคเจอร์ จำกัด ได้สร้างความพิเศษในการเชื่อมโยงพื้นที่ร่มและพื้นที่กลางแจ้งบนผืนดินผ่านทางสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ด้วย ‘พื้นที่สีเทาด้านล่าง’ ซึ่งสะท้อนถึงพื้นที่อเนกประสงค์ ‘ใต้ถุน’ ในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย สำหรับโครงการ Sparkling Market ในเมืองซินจู๋ (พ.ศ. 2555) และ Pavilion for Hsinchu Bus Station Plaza (พ.ศ. 2561) ของ Atelier Or โครงสร้างขนาดเล็กและเบาได้ปลดปล่อยข้อจำกัดทางการมองเห็นอาคารแบบดั้งเดิม เกิดเป็นการบูรณาการระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกอย่างไร้ขอบเขต

Pavilion for Hsinchu Bus Station Plaza, Hsinchu, Taiwan by Atelier Or | Photo: YuChen Chao Photography

Sparkling Market, Hsinchu, Taiwan by Atelier Or | Photo: YuChen Chao Photography

ความรู้สึกที่ส่งต่อจากผืนดินผ่านมายังผลงานของสถาปนิกทั้งสี่กลุ่มใน Feeling Grounds นี้ ได้กระตุ้นให้ผลงานสถาปัตยกรรมสร้างกระบวนการเอื้อเฟื้อและเห็นอกเห็นใจต่อผืนดิน เกิดเป็นความพิเศษเหนือธรรมดา, การระลึกถึงถิ่นที่, การมีอยู่ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น, และการไร้ซึ่งขอบเขตของสถาปัตยกรรม

องค์ประกอบเหล่านี้เมื่อปรากฏต่างเวลาต่างสถานที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเชื่อมโยงให้กับโลกใบนี้ พื้นที่นิทรรศการที่ถูกโอบล้อมด้วยบ้านเก้าหลังลดหลั่นไม่เสมอกัน เกิดเป็นความหลากหลายของพื้นที่จัดแสดงที่มีทั้งพื้นที่ร่มและสว่างซึ่งเปิดโล่งและต่อเนื่องกัน ความลาดเอียงของหลังคาที่ต่อเนื่องไม่เพียงแต่จะนำเสนอภาพลักษณ์ของนิทรรศการแล้ว ยังสร้างความต่างของพื้นที่เกิดเป็นความมืดและสว่างร่วมกับภาพผลงานของสถาปนิกทั้ง 8 บริษัทที่นำมาจัดแสดง สร้างความสงบและผ่อนคลายให้กับผู้เยี่ยมชมหาคำตอบถึงอนาคตของหน้าที่สถาปัตยกรรมต่อผืนดินที่ตั้งอยู่ และมองหาการบรรจบกันของสถาปัตยกรรมที่สนองต่อบริบทของถิ่นที่และบริบทของโลกบนผืนดินที่ไม่สิ้นสุดนี้ร่วมกัน

_____________

Hosts: The Association of Siamese Architects Under Royal Patronage; Taipei Economic and Cultural Office in Thailand; Chulalongkorn University – Faculty of Architecture; King Mongkut’s Institute of Technology Ladkrabang – School of Architecture, Art, and Design; King Mongkut’s University of Technology Thonburi – School of Architecture and Design; Silpakorn University – Faculty of Architecture
Co-Organizers: HAS design and research, Bangkok Art and Culture Centre, art4d, Alliance for Architectural Modernity Taiwan
Principal Curators: Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee
Participants: Architects 49 Limited, Behet Bondzio Lin Architekten, Duangrit Bunnag Architect Limited, MAYU architects, Arsomsilp Community and Environment Architect, Ambi Studio, Department of ARCHITECTURE, Atelier Or
Space Design: HAS design and research
Supporters: Alufence, Canon Thailand, Jorakay, Saint-Gobain, RichCons, FloraScape
Duration: 2023 July 18 – August 6
Opening Event: 2023 July 18, 14:00 (invitation only)
Opening Hours: Tuesday – Sunday, 10:00 – 20:00
Venue: Bangkok Art and Culture Centre LF; 939 Rama I Road, Wang Mai, Pathum Wan, Bangkok

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *