Nikken Sekkei Thailand เฉลิมฉลองครบรอบ 5 ปีกับการจัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนไอเดียในการพัฒนาเมืองระหว่างญี่ปุ่นและไทย
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF NIKKEN SEKKEI THAILAND
(For English, press here)
เมื่อไม่นานมานี้โครงสร้างของระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมีการขยับไปข้างหน้าอีกขั้น ด้วยการมาถึงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) รวมถึงที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้อย่างรถไฟฟ้าสายสีแดงซึ่งเชื่อมต่อเมืองหลวงกับจังหวัดข้างเคียง ทำให้คนเมืองเริ่มมีตัวเลือกสำหรับวิธีการเดินทาง และจุดหมายที่หลากหลายมากขึ้น
ระบบขนส่งสาธารณะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมือง การมาถึงของผู้คนจะทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ หลายกิจกรรมรวมตัวกันเป็นชุมชน จากนั้นจึงกลายเป็น ‘เมือง’ และเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของ Nikken Sekkei Thailand จึงหยิบยกหัวข้อ ‘Urban Innovations / TOD and Beyond’ มาเป็นหัวข้อในการสัมมนาระดับนานาชาติ โดย TOD ย่อมาจากคำว่า Transit Oriented Development หรือการพัฒนาเมืองโดยมีระบบขนส่งสาธารณะเป็นแกนหลักนั่นเอง
ภายในงาน Nikken Sekkei International Seminar & Nikken Sekkei Thailand 5th Anniversary Celebration ซึ่งจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ Waldorf Astoria Bangkok นอกจากจะมีการให้ความเข้าใจแนวคิด TOD and Beyond จากทางฝั่งญี่ปุ่นแล้ว ยังมีสปีคเกอร์จากฝั่งไทยที่ช่วยให้เราเห็นภาพการนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในไทย และหนทางในการเตรียมเมืองและคนให้พร้อมรับการพัฒนาในอนาคต
งานสัมมนาเริ่มโหมโรงโดย Wataru Tanaka, Executive Director จาก Nikken Sekkei และ ธนิชา นิยมวัน Deputy Vice President จาก Research & Development, Architects One Hundred and Ten Co., Ltd. กับการเกริ่นนำด้วยหัวข้อ TOD and Beyond ทั้งในญี่ปุ่นและในไทย ถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและความเป็นไปได้ในการผลักดันแนวคิดให้สามารถพัฒนาและขยับขยายความเป็นเมือง ด้วยการผสมผสานปัจจัยด้านความยั่งยืนและด้านอื่นๆ ร่วมด้วย
งานสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย 3 หัวข้อ ได้แก่ Growing with Sustainability การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดย Yushi Yoshida จาก Nikken Sekkei Researcher Institute (NSRI) และ สมพัตสร บุณยรัตพันธุ์ Senior Vice President, PD Design, Project Development Department จาก Nebula Co.,Ltd. ถัดมาคือหัวข้อ Regenerating Public Space โดย Masaya Sato จาก Nikken Sekkei และ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปิดท้ายด้วยหัวข้อ Exploring Value by DX การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นส่วนช่วยให้เมืองพัฒนา โดย Takahiro Kawayoke จาก NSRI และ ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เราเต็มอิ่มกับความรู้ใหม่ๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง
บรรยากาศภายในงานมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นระยะ แน่นอนว่าเมืองหลวงของทั้ง 2 ประเทศมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงความทันสมัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนเพื่อขยับขยายเมืองต่อไป แต่การได้เข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ ก็พอทำให้ได้ทราบทิศทางความเป็นไปได้ของกรุงเทพฯ ที่ไม่ใช่เพียงการเพิ่มห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าลงในย่านที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว