BEIJING CITY LIBRARY

Beijing City Library

ความรู้สึกราวกับได้นั่งอ่านหนังสืออยู่บนเนินดินใต้ร่มไม้คือสิ่งที่ห้องสมุดแห่งนี้มอบให้ผู้ใช้งาน สตูดิโอ Snøhetta เนรมิตบรรยากาศนี้ด้วยอาคารโครงสร้างสูงโปร่งและฝ้ารูปใบไม้ เกิดเป็นทัศนียภาพของ ‘ป่าแปะก๊วย’ ที่สวยงาม

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: YUMENG ZHU

(For English, press here)

หากได้ติดตามผลงานของสตูดิโอสถาปัตยกรรมจากนอร์เวย์ Snøhetta จะเห็นว่าหลายอาคารที่พวกเขาออกแบบไม่ใช่อาคารที่เป็นเอกเทศจากเมือง จากภูมิทัศน์ จากสาธารณชน แต่เป็นอาคารที่หาทางผสานตัวเป็นหนึ่งเดียวกับเนื้อเมืองและโลกภายนอกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างเช่น Oslo Opera House ในนอร์เวย์ที่กลมกลืนไปกับทะเลสาบ และยังเปิดให้ชาวเมือง Oslo ขึ้นไปไต่ปีนหลังคาอาคาร หรืองาน Tverrfjellhytta พาวิลเลียนชมกวางเรนเดียร์ในเทือกเขา Dovrefjell ประเทศนอร์เวย์ที่ม้านั่งไม้ภายในถูกการแกะสลักอย่างวิจิตรให้เว้าโค้งเฉกเช่นรูปทรงภูเขารายล้อมข้างนอก เชื่อมต่อความรู้สึกของการอยู่ภายนอกแม้จะอยู่ภายใน และเหมือนแนวคิดเหล่านี้ก็ถูกส่งต่อไปที่ผลงาน Beijing City Library ของพวกเขาด้วย

Snøhetta คว้าโปรเจ็กต์นี้มาได้จากการชนะเลิศประกวดแบบในปี 2018 โดยพวกเขาออกแบบงานนี้ร่วมกันกับ ECADI สตูดิโอสถาปัตยกรรมจากจีน Beijing City Library ตั้งอยู่ในเขต Tongzhou อยู่ทางตะวันออกของกรุงปักกิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกเขต Tongzhou ให้เป็นจุดหมายปลายทางศิลปะวัฒนธรรมอันคึกคักแห่งใหม่ ห้องสมุดมีเนื้อที่กว่า 75,000 ตารางเมตร นับเป็นห้องสมุดปิดปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดของโลกในตอนนี้

Beijing City Library by Snøhetta

Beijing City Library by Snøhetta

Beijing City Library by Snøhetta

เมื่ออยู่ภายนอก ภาพที่ปะทะเข้ากับตาคืออาคารขนาดมหึมาที่ห่อหุ้มด้วยกระจกใสและเรียงรายไปด้วยเสาสีขาวต้นโตรูปร่างดั่งต้นไม้ กระจกที่ล้อมรอบอยู่เป็นกระจกใสรับน้ำหนักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน ซึ่งระนาบกระจกอันมโหฬารช่วยเชื่อมโยงให้คนด้านในรับรู้ถึงด้านนอก ด้านนอกรับรู้ถึงด้านในอย่างเต็มตา

Beijing City Library by Snøhetta

ภายในอาคารกว้างใหญ่โอ่โถงด้วยระยะฝ้าที่สูงกว่า 16 เมตร มีเนินเขาน้อยใหญ่เรียงรายกับขั้นบันไดลดหลั่นไว้ให้คนนั่งเล่น เป็นพื้นที่สำหรับคนที่อยากพบปะสังสรรค์โดยไม่รบกวนคนอ่านหนังสือ ที่นั่งเปิดมุมมองไปยังทางเดินตรงกลางที่เชื่อมต่อทางเข้าทิศเหนือกับทิศใต้เข้าด้วยกัน เป็นทางเดินคดโค้งที่สร้างความเชื่อมโยงกับแม่น้ำ Tonghui ที่อยู่ไม่ไกล สำหรับคนที่ต้องการอ่านหนังสืออย่างจริงจัง ก็ไปอ่านได้ที่ส่วนอ่านหนังสือด้านข้างและบนยอดตัวเนิน ใช่ว่าพื้นที่ใต้เนินจะถูกปล่อยให้ไร้ประโยชน์ เพราะส่วนนี้ได้รับการจัดสรรเป็นห้องอ่านหนังสือ ห้องจัดประชุม และห้องจัดกิจกรรมอเนกประสงค์

Beijing City Library by Snøhetta

Beijing City Library by Snøhetta

เสาสีขาวที่ชูช่อแตกยอดมาเป็นฝ้ารูปใบไม้ อ้างอิงรูปลักษณ์จากต้นแปะก๊วยซึ่งเป็นต้นไม้ที่ถือกำเนิดจากจีน คล้ายเป็นสัญลักษณ์แทน ‘ความเป็นจีน’ อย่างไรอย่างนั้น แผงฝ้าใบไม้วางเหลื่อมกันเปิดให้แสงธรรมชาติสอดส่องเข้ามาข้างในได้ เหมือนว่าฝ้าเหล่านี้จะเรียงรายกันแบบสุ่มจนเกิดภาพดั่งร่มไม้ของป่าแปะก๊วย แต่แท้จริงแล้วฝ้าและเสาได้รับการออกแบบเป็นโมดูลขนาด 9×9 เมตร ที่เหมือนกัน ซึ่งภาพของการสุ่มเกิดจากการนำโมดูลที่หมุนด้วยองศาที่ต่างมาวางต่อกันเท่านั้นเอง

Beijing City Library by SnøhettaBeijing City Library by Snøhetta

ถึงจะเป็นอาคารขนาดใหญ่ ใช้ทรัพยากรการก่อสร้างมหาศาล แต่สถาปนิกก็หาวิธีช่วยให้อาคารมีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการทำเสาและฝ้าเป็นโมดูลซึ่งลดเศษขยะจากการก่อสร้าง การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เหนือผืนหลังคาต้นแปะก๊วย และการยื่นระนาบหลังคาต่อเนื่องออกมานอกอาคารเพื่อลดทอนแสงแดดที่สองเข้ามา ช่วยรักษาการใช้พลังงานให้อาคาร

Beijing City Library by Snøhetta

Beijing City Library by Snøhetta

Beijing City Library by Snøhetta

เพราะหนังสือต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมความชื้น อุณหภูมิ และคุณภาพแสงเพื่อให้คงอยู่ยาวนาน จึงสมเหตุสมผลที่สถาปนิกจะสร้างห้องสมุดเป็นอาคารปิด ถึงอย่างนั้นก็ตาม การสอดแทรกธรรมชาติจำลองเข้าไปใน Beijing City Library ก็เป็นการต่อรองกับข้อจำกัด เพื่อสืบเจตนารมณ์การสร้างอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งกับบริบทโดยรอบ ไม่ใช่แค่ก้อนอิฐก้อนปูนอันเดียวดาย

Beijing City Library by Snøhetta

snohetta.com
facebook.com/snohetta
instagram.com/snohetta

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *