DO IT THAI VERSION

LAST WEEK, WE PICKED AN ARTICLE ABOUT THE EXPERIMENTAL ART EXHIBITION ‘DO IT’ WHICH FLEXIBLE AND OPEN-ENDED BY INVITING INTERNATIONAL ARTISTS TO SEND ‘INSTRUCTION’ TO CREATE AN ARTWORK INTERNATIONALLY THAT INCLUDED THAILAND. HERE, TAKE READ A SHORT CONVERSATION BETWEEN ART4D AND THE ARTISTS WHO PARTICIPATE IN A THAI VERSION OF DO IT, THAT TALK ABOUT THE BACKGROUND INCLUDED A WORKING METHOD FOLLOWING THE ‘INSTRUCTION’ THEY RECEIVED.

จากบทความว่าด้วย Do it โครงการทดลองในรูปแบบนิทรรศการที่มีความยืดหยุ่นและปลายเปิด ด้วยการเชิญศิลปินนานาชาติให้ร่วมส่ง ‘คำสั่ง’ (instruction) ในการสร้างงานศิลปะไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ที่เราเสนอไปเมื่ออาทิตย์ก่อน คราวนี้ลองมาอ่านบทสนทนาสั้นๆ ระหว่าง art4d กับศิลปินใน Do it เวอร์ชั่นไทย เกี่ยวกับที่มาที่ไป รวมไปถึงวิธีคิดในการทำงานตาม instruction ที่พวกเขาได้รับกันบ้าง

art4d: พอทราบว่ามี project นี้แล้วทำไมถึงสนใจ…

อ.จิตติ เกษมวัฒนา: ตอนแรกพอได้รับแจ้งจากสมาคมฝรั่งเศสว่ามีโปรเจ็คท์นี้อยู่ เขาก็ถามว่าสนใจที่จะทำไหม และถ้าสนใจให้ช่วยหาสถานที่และก็บุคคลที่จะมาทำงานนี้

อ.สุรสีห์ กุศลวงศ์: ในที่สุดทางสมาคมก็เห็นว่าน่าจะมาลงที่ ม. กรุงเทพ ผมกับโจก็คุยกันว่าที่ตรงนี้มันอาจจะคับแคบไปสำหรับโปรเจ็คท์ซึ่งมี instruction ถึง 12 คนที่เป็น original version ของตัวความคิดเริ่มแรกของ Do it แต่ตอนนั้นก็จะมีศิลปินใหญ่น้อยเพิ่มตามมามากมาย เป็น 20 กว่าคน ซึ่งเขาจะแฟกซ์เข้ามาเรื่อยๆ และคิดว่าเรามีที่พอจะลง แต่ด้วยเวลาและอะไรทั้งหมดนี่ ท้ายสุดเรากำหนดว่า Do it ทั้ง 12 คน จะต้องถูกทำขึ้นมาแล้วตอนหลังเพิ่มมาอีก 2 คนคือ Erwin Wurm กับ Andreas Slominski


Ilya Kabalov ได้มอบหมายให้สุรสีห์

art4d: ในส่วนของ thai version นี่แบ่งศิลปินกันอย่างไร?

อ.สุรสีห์: ก็จริงๆแล้วแบ่งโดยไม่ได้พูดกันเลย คือผมกับโจนี่จะเป็น coordinator กับสมาคมฝรั่งเศส ก็มาคุยกันว่าพื้นที่เท่านี้กับศิลปินคนใดที่เขาจะมาสนุกกับเราได้บ้าง ซึ่งเรื่องของงบประมาณก็มีขีดจำกัดมาก ผมกับโจก็หาคนที่จะมาร่วมคนละครึ่งหนึ่งแล้วก็ discuss ว่าใครจะเหมาะกับอะไร โดยให้เขาเลือกกันก่อน ส่วนอะไรที่มันจะยุ่งยากมาก เราสองคนจะรับมาทำเอง ก็ทาบทามกันหลายคนซึ่งก็ปฏิเสธไปหลายคนเหมือนกัน

อ.ญาณวิทย์ กุญแจทอง: คือคุยเรื่องโปรเจ็คท์นี้นะครับ มันเป็นโปรเจ็คท์ใหญ่ที่ทำกันทั่วโลก ศิลปินแต่ละคนมีชื่อเสียงมีงานที่กำลังฮิตอยู่ในขณะนี้ ทีแรกคนจะไม่สนใจกันเพราะรู้สึกว่าทำตามอาร์ติสแล้วตัวเองไม่อยากจะทำล่ะ นึกออกไม๊ครับ แต่ของผมนี่ผมเห็น instruction ที่ อ. สุรสีห์ให้มาคือของ อลิสัน โนว์เลส ผมเห็นปั๊บผมขอทำงานของคนนี้ได้ไหม เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งผมใช้สีแดงทั้งหมดแล้วมันก็สนุก รวมทั้งมันมีเรื่องส่วนตัวกับการใช้สีแดง

อ.สุรสีห์: เพราะฉะนั้นงานที่ออกมาก็จะขึ้นอยู่กับ อ.ญาณวิทย์ด้วย จะไม่ขึ้นอยู่กับศิลปินที่ออก instruction แล้ว

อ.ญาณวิทย์: มีการมองกลับไปหาอะไรต่างๆ ความคิดระหว่างตัวเองกับลูกด้วยซ้ำ พวกของเล่นอะไรพวกนี้หรือแม้แต่นามบัตรผมเองก็สีแดงทั้ง 3 version


Alison Knowles กำกับโจทย์มาใน concept ของสีแดง โดยมีญาณวิทย์ กุญแจทอง ศิลปินผู้ที่นิยมสีแดงอยู่แล้วเป็นผู้ถ่ายทอดอีกที

อ.สุรสีห์: อีกส่วนหนึ่งเราก็อยากให้กว้างออกไป มีทั้งศิลปิน มีสถาปนิก มีดีไซเนอร์เข้ามาร่วมด้วย

อ.จิตติ: คือโดยเริ่มต้นแล้วนี่โปรเจ็คท์นี้มันไม่ใช่โปรเจ็คท์ที่ให้อาร์ติสเข้ามาทำ เป็นโปรเจ็คท์ที่ต้องรับผิดชอบโดย institution แต่พอคุยกันแล้วเราคิดว่าโปรเจ็คท์นี้ดึงมาให้ศิลปินทำดีกว่า เพื่อเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ contemporary art บ้าง อีกแง่หนึ่งก็พยายามจะดึงคนข้างนอกเข้ามาทำ แต่ผมก็เอาแต่คนที่ใกล้ชิดกันที่สุด เพราะว่าโปรเจ็คท์นี้มันไม่มีค่าตอบแทนอะไรเลย แล้วยังต้องควักกระเป๋าอีกพอสมควรและอยากให้คนที่มาทำนี้มีความเข้าใจเกี่ยวกับ contemporary art พอสมควร หรือไม่ก็ต้องมีความสนใจจริงๆ เพราะคิดว่าโปรเจ็คท์แรกนี่มันจะเป็นการให้การศึกษากับคนทั้งภายในและภายนอกด้วย

art4d: ในวันที่ 19 ตุลาคม ทราบว่ามี curator มาด้วย แล้วจะมีกิจกรรมอะไรพิเศษบ้าง?

อ.จิตติ: ก็จะมี lecture จริงๆ เราตั้งใจว่าน่าจะเป็นการ discuss ในเชิงของ seminar มากกว่า คือช่วงแรกก็จะเปิดให้ curator พูดถึงงานที่เขาเคยทำมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เป็น conceptual base ซึ่งบางทีอาจจะไปจัดในครัวที่บ้านเขา ในวัด หรือห้องสมุด lecture นี้ก็อาจจะให้เขาปูว่าเขามายังไง เพราะโปรเจ็คท์ของเขานี้ไม่ใช่ว่าหนึ่งอันแล้วจบ เพราะตอนนี้ Do it แตกแขนงออกไปเยอะ อย่างเช่น TV Do it แล้วก็ Home Do it ซึ่งในวันนั้นเขาจะพูดถึงด้วย แล้วก็เปิดให้คนซักถาม


‘Do it’ TV-version 1995/1996 Gibert + George

อ.สุรสีห์: แล้วก็ตั้งใจที่จะสัมภาษณ์สดศิลปินอย่าง ฤกษ์ฤทธิ์ ข้ามทวีปด้วยแต่ยังไม่คอนเฟิร์มนะ ก็ต้องอยู่ที่เจ้าของสถานที่จะต้องเตรียมส่วนนั้นว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนอย่างไร

art4d: ถามความคิดเห็นศิลปินที่เข้าร่วมโครงการกันบ้างดีกว่า

อ.ฐิตพล สุวรรณกุศลส่ง: ก็หลังจากได้รับรู้โปรเจ็คท์นี้แล้ว ก็ค่อนข้างจะน่าสนใจเพราะว่าอย่างแรกผลประโยชน์ไม่มี ได้แค่อยากจะมาร่วมทำ จะเป็นการทำ instruction ที่เค้าเขียนขึ้นมา ลงท้ายแล้วนี่ผมได้มาทำของ ฤกษ์ฤทธิ์ ซึ่งเป็น artist คนไทยที่เขาทำเกี่ยวกับ eat art มันค่อนข้างจะน่าสนใจเพราะว่ากรรมวิธีที่เขาเขียนขึ้นมามันจะเป็นรูปแบบที่กำลังนึกอยู่ว่ามันจะเป็นอาหารหรือจะเป็นอะไร พอไปตีความดูแล้วนี้รู้สึกว่ามันจะคล้ายๆ กับแกงน้ำพริกเผาอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งการที่เราจะต้องไปเสาะหาของหลายๆ อย่างที่จะมารวมกันซึ่งมันหาง่ายมาก

art4d: แล้วมันจะทานได้หรือเปล่า?

อ.ฐิตพล: นี่แหละคือคำถามที่ตามมา คือมีคนถามอย่างนี้มาหลายคนแล้วว่าต้องกินได้นะ เพราะว่าใน instruction เขาบอกเลยว่าพอทำเสร็จแล้วมันมีกรรมวิธีหลายขั้นตอนมาก และพอทำเสร็จแล้วให้ใส่ขวดโหล แล้วทุกคนก็หยิบกลับบ้านไปทาน

อ.สิทธิชัย ปรัชญารัติกุล: ผมเข้ามาทีหลังแล้วก็ได้รับการทาบทามจาก อ.สุรสีห์ แล้วก็ในที่สุดได้ศิลปินคือ GETTE พอได้มาศึกษางานแล้วก็โดยส่วนตัวก็ทำงานเกี่ยวกับดินอยู่แล้ว ก็พอใจที่ได้ทำ แต่ของผมนี่ใน instruction มันบังคับว่าต้องไปเอาวัสดุที่เป็นธรรมชาติรอบๆ แกลเลอรี่เมื่อถึงเวลาที่ใกล้ติดตั้ง ช่วงนี้เป็นช่วงขึ้น process


instruction ของ GETTE รับปฏิบัติการโดย สิทธิชัย ปรัชญารัติกุล

art4d: ถ้าเปรียบเทียบกับ Do it ในประเทศอื่น ๆ ที่มีสถาบันรองรับและเปิดโอกาสให้ศิลปะไปหาวงการอื่นๆ แต่พอถึงเมืองไทยนี่มันไม่มีช่องทางนั้น artist ก็เลยต้องกระโดดเข้ามาจับเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้คิดว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร?

อ. สุรสีห์: แต่ที่อเมริกาเองก็เป็น museum ทำเหมือนกันแล้วก็เชิญ artist 24 คนมาทำ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประเด็นที่ผมคุยกันอยู่ คือจริงๆ มันไปตามเงื่อนไขนั้นจริงๆ หรือเปล่า ผมว่าไอ้ตัวนี้มันเป็นเหมือนเด็กที่กำลังโตแล้วก็พยายามปรับตัวเองให้เข้ากับความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แม้แต่ตัว curator ในบทสัมภาษณ์ครั้งหลังนี้ก็บอกว่า อาเซียนเวอร์ชั่น จะเกิดขึ้นในทางด้านเอเชีย แล้วเราเป็นประเทศแรกแล้วต่อไปก็มีที่กรุงโซล โตเกียว ไทเป ซึ่งผมว่า context ของแต่ละสถานที่นั้นๆ นี่มันน่าสนใจว่า art form มันจะเป็นอย่างไร?

 

Originally published in art4d #19 (September 1996)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *