PEARL CERAMICS

THROUGH THE COLLABORATION WITH LOCAL ARTISAN, SARAPHI CERAMICS ARTS AND DESIGNS,  SHER MAKER INTRODUCES US TO THE PEARL CERAMIC USED IN PTT GAS STATION IN CHIANG MAI THAT CREATES BOTH  DELICATE REFLECTIONS WHEN TOUCHED BY NATURAL LIGHT AS WELL AS EMBRACING THE LOCAL IDENTITY

TEXT: JANJITRA HORWONGSAKUL
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT

For English, press here

พัชรดา อินแปลง สถาปนิกจาก SHER MAKER นำ ‘กระเบื้องเซรามิกเคลือบมุก’ มาใช้เป็น façade โปรเจ็คต์รีโนเวทปั๊มน้ำมันปตท. ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างอัตลักษณ์และความเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่แก่ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากบทบาทของมันที่ทำให้ปั๊มน้ำมันที่นี่พิเศษกว่าปั๊มอื่นๆ รายละเอียดในตัวมันเองก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

ความน่าสนใจของกระเบื้องเคลือบมุกนี้ เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างความรู้ การทดลอง และทักษะของสถาปนิก และผู้ผลิตเซรามิกท้องถิ่นในเชียงใหม่ ที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อนำเสนอ กระเบื้องเซรามิก ซึ่งเป็นงานฝีมือประจำท้องถิ่นออกมาในมิติใหม่ให้แตกต่างไปจากเดิม กระเบื้องกว่า 3,500 แผ่น จึงถูกออกแบบใหม่ตั้งแต่ต้น เริ่มจากการออกแบบรูปทรงของกระเบื้องให้มีส่วนเว้าส่วนโค้ง เพื่อทำให้แสงธรรมชาติที่สะท้อนกับวัสดุมีความนิ่มนวลมากขึ้น กระเบื้องเซรามิกแต่ละแผ่นมีขนาด 30 x 30 เซ็นติเมตร ซึ่งเป็นขนาดต่อแผ่นที่ถือว่าไม่ใหญ่มาก มีน้ำหนักเบาและสามารถติดตั้งบนโครงสร้างเหล็กได้ โดยมีเดือยรูปเครื่องหมายบวกวางตามแนวโครงคร่าว เพื่อเป็นฐานสำหรับวางกระเบื้องเซรามิกแต่ละแผ่นและยึดความแข็งแรงระหว่างวัสดุและโครงคร่าวเข้าด้วยกัน

“กระเบื้องเซรามิกเคลือบสีมุกในงานสถาปัตยกรรมมักอยู่ผิดที่ ไม่ค่อยโดดเด่นและมักจะถูกมองข้ามไป แต่จริงๆมันสวยนะ ถ้าใช้กับพื้นที่ที่ค่อนข้างเยอะแล้วสะท้อนกับแสง มันมีเอฟเฟ็กต์สวยงามมาก” พัชรดา กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกเคลือบสีของกระเบื้องเซรามิกด้วยสีมุก ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ไม่ใช่โรงงานทุกที่จะทำได้ หลังจากตระเวนหาโรงงานที่มีศักยภาพ สุดท้ายจึงได้ร่วมงานกับ Sarapee Ceramics arts and designs ที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการทำสีเคลือบมุก มาร่วมสร้างสรรค์งานกระเบื้องเซรามิกเคลือบมุกให้เกิดขึ้นจริงอย่างสวยงาม

ขั้นตอนในการผลิตกระเบื้องเซรามิกนั้นต้องอาศัยเทคนิคและระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรเมื่อเทียบกับการผลิตวัสดุอื่นๆ เพราะมีขั้นตอนตั้งแต่การหล่อโมเดล ถอดแบบ ตากแห้งเพื่อไล่ความชื้นจนหมดก่อนนำเข้าเตาเผา เมื่อเผาเสร็จออกมาเป็นกระเบื้องเนื้อสีส้มๆ หรือเรียกว่า ‘บิสกิต’ แล้ว ยังต้องเคลือบน้ำยาเปลี่ยนเป็นสีมุก และนำเข้าเตาเผาอีกครั้งเพื่อเคลือบไฟกลางเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งในแต่ละครั้งจะทำเป็นล็อต ล็อตหนึ่งมากกว่า 1,000 แผ่น โปรเจ็คต์นี้จึงใช้เวลาร่วมหลายเดือนเลยทีเดียว

งานเซรามิกถือว่าเป็นภูมิปัญญาของฝั่งเอเชีย หลายคนคุ้นชินกับวัสดุปิดผิวอย่างกระเบื้องดินขอของเชียงใหม่ที่มีมาหลายยุคหลายสมัย แต่กลับไม่ค่อยถูกนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมในปัจจุบันสักเท่าไหร่ การเคลือบเบสขาวมุกก็เช่นเดียวกัน เป็นวัสดุที่ถูกมองข้าม ไม่ว่ากับคนท้องถิ่น สถาปนิกหรือแม้แต่โรงงานผู้ผลิตวัสดุเองก็ตาม แต่หากเปลี่ยนมิติของวัสดุนี้ให้อยู่ถูกที่ ถูกเวลา และพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น โปรเจ็คต์นี้ก็น่าจะพอบอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับมิติด้านใหม่ๆ ของวัสดุใกล้ตัว ที่นอกจากจะสะท้อนเอกลักษณ์ของพื้นที่ออกมาผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว ยังทำให้คนท้องถิ่นรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่พวกเขามีด้วย

shermaker.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *