FROM PAVILLON LE CORBUSIER TO THE EUROPAALLEE BAUFELD IN ZURICH-WEST, LET’S EXPLORE THE CITY OF ZURICH AND EXPERIENCE ITS BUILT ENVIRONMENT WITH US IN THIS BRIEF ARCHITECTURE TOUR ORGANIZED BY ZÜRICH TOURISM
TEXT: KAMOLTHIP KIMAREE
PHOTO: KAMOLTHIP KIMAREE EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
หากพูดถึงเรื่องคุณภาพของเมืองในด้านต่างๆ ทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบผังเมือง การออกแบบภูมิทัศน์รวมไปถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีคุณภาพสูงและจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องของการมีสภาพแวดล้อมที่ดีและการเป็นเมืองน่าอยู่ ในย่านเมืองเก่าของซูริคซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อนั้นอาคารและสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมในยุคกลาง เรื่องของการอนุรักษ์อาคารเก่าจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีข้อกฎหมายบังคับใช้อย่างเข้มข้น
สถาปนิกและทีมออกแบบที่นี่มักได้รับโจทย์ที่ไม่ง่ายนักในการรีโนเวทอาคารเก่าให้กลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างเช่น โรงแรม ร้านอาหาร หรือพื้นที่ให้บริการเชิงความรู้อย่าง The Landesmuseum (Swiss National Museum) สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของอาคารในย่านเมืองเก่าคือ คอร์ทยาร์ดกลางอาคารที่มีอยู่ทุกอาคารซึ่งมีฟังก์ชั่นของการเป็นพื้นที่เอนกประสงค์และช่วยในการเชื่อมต่อในเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้อาคารรอบๆ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากอาคารเก่า การมีคอร์ทยาร์ดกลางอาคารยังเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในอาคารใหม่ที่เพิ่งสร้างและคงความสำคัญในแง่ของการใช้สอยที่มากไปกว่าแค่เรื่องของความงาม เช่น อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ UBS (Union Bank of Switzerland) ในย่านเมืองใหม่ Europaallee ที่เกิดจากการออกแบบร่วมกันของ 3 สตูดิโอได้แก่ David Chipperfield, Max Dudler และ Gigon/Guyer
THE EXPANSION OF THE LANDESMUSEUM DESIGNED BY CHRIST & GANTENBEIN
พื้นที่สีเขียวและระบบนิเวศถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เมืองซูริคให้ความสำคัญ โปรแกรมอย่าง Bee Housing บนอาคารใหม่ต่างๆ ที่ช่วยในเรื่องของการขยายพันธุ์ผึ้งในเมืองซึ่งมีส่วนช่วยในการผสมเกสรของต้นไม้และพืชพรรณต่างๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้น พื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สวนกลางเมืองที่ Zürichhorn เป็นอีกพื้นที่ที่รัฐบาลดูแล พัฒนา และให้ความสำคัญในเรื่องของความสะดวกสบายและความปลอดภัย สวนสาธารณะที่นี่จึงเป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่ออกมาพบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ และด้วยความต้องการพัฒนาสวนแห่งนี้ให้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว โปรเจ็คต์รีโนเวท Pavillon Le Corbusier ผลงานชิ้นสุดท้ายที่ Le Corbusier ออกแบบ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2017 โดยรัฐบาลซูริคมอบหมายให้ Silvio Schmed และ Arthur Rüegg สองสถาปนิกชาวสวิสมาช่วยในการรีโนเวทแลนด์มาร์คสำคัญชิ้นนี้
หลังการรีโนเวทเสร็จสิ้น Pavillon Le Corbusier ได้เปิดตัวขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2019 โดยแรกเริ่ม Heidi Weber นักสะสมผลงานศิลปะชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้ให้ Le Corbusier ออกแบบบ้านหลังนี้ซึ่งเขาได้เสียชีวิตลงหลังจากเริ่มก่อสร้างไปได้ไม่นาน โดยทางรัฐบาลซูริคเองก็มอบพื้นที่ในสวนสาธารณะแห่งนี้ให้สำหรับการก่อสร้างโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าเป็นระยะเวลา 50 ปี เมื่อสัญญาเช่านี้หมดลงในปี 2014 บ้านหลังนี้จึงได้กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลซูริค ปัจจุบันบ้านหลังนี้อยู่ภายใต้การดูแลและจัดการของ Museum für Gestaltung (The Museum of Design) ซึ่งนอกจากเรื่องของแนวคิดหน่วยที่อยู่อาศัย (Housing Unit) ที่ถูกนำเสนออยู่ภายในตัวอาคาร พื้นที่พาวิลเลียนแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่นิทรรศการแสดงเรื่องราวชีวประวัติ ภาพสเก็ตซ์ งานปั้น ของสะสมต่างๆ ของ Le Corbusier พร้อมๆ กับการเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ และการจัดงานอีเว้นท์
PAVILLON LE CORBUSIER, THE LAST BUILDING DESIGNED BY THE SWISS ARCHITECT LE CORBUSIER
ใกล้กันกับตัวเมืองซูริค พื้นที่ย่าน Zurich-West ก็เป็นอีกย่านหนึ่งที่มีความน่าสนใจในเรื่องของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการจัดการผังเมือง ภายหลังจากการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งในย่าน โครงการปรับปรุงพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมให้กลายเป็นเมืองจึงเริ่มขึ้นในย่าน Zurich-West จึงมีสถานที่ที่เกิดจากการปรับปรุงโรงงานหรือโกดังเก่าเกิดขึ้นมากมาย จริงๆ แล้วประเภทของสถานที่ที่ถูกสร้างหรือปรับปรุงขึ้นมาใหม่ในย่านนี้ก็เป็นประเภทของสถานที่ที่ในย่านเมืองทั่วๆ ไปควรจะมี เช่น อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร บาร์ โรงเรียน สถาบันการศึกษา หรือร้านค้าต่างๆ แต่สิ่งที่ดูจะต่างจากเมืองอีกหลายๆ เมืองคงจะเป็นเรื่องของแนวคิดของการอยู่ร่วมกันแบบ Neighborhood ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการมีส่วนร่วมและผลกระทบของการใช้พื้นที่หรือสถานที่นั้นๆ กับบริบทโดยรอบ การวางผังเมืองของที่นี่จึงถูกศึกษาและวางแผนมาอย่างดีทั้งในเรื่องของพฤติกรรมของคนในย่าน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และเรื่องของประชากรศาสตร์
PULS 5 IN ZURICH-WEST DESIGNED BY KYNCL SCHALLER ARCHITEKTEN
นอกเหนือจาก Zurich-West ยังมีเมืองใกล้เคียงที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมที่ปิดตัวลงให้กลายเป็นย่านใหม่ของเมือง อย่างเช่น Winterthur เมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่อาคารเก่าต่างๆ ได้ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และพิพิธภัณฑ์อย่าง Fotomuseum (Museum of Photography and Photographic Media) และพิพิธภัณฑ์ Am Römerholz ที่จัดแสดงผลงานของศิลปินชื่อดังจากหลายยุคสมัยในยุโรป เช่น Peter Paul Rubens, Francisco de Goya และ Lucas Cranach อีกเมืองหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันคือ Rapperswil ซึ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยปราสาทขนาดต่างๆ ตั้งอยู่ทั่วเมือง พิพิธภัณฑ์ที่ปรับปรุงมาจากปราสาทสมัยศตวรรษที่ 14 และ 15 ที่เจ้าของเดิมตั้งใจอุทิศให้กับจุดประสงค์ทางวัฒนธรรมอย่าง Stadtmuseum Rapperswil-Jona ได้ถูกปรับปรุงและเปิดตัวใหม่อีกครั้งในปี 2012 โดยเป็นผลงานที่ชนะการประกวดแบบจากสตูดิโอ MLZD ซึ่งคาแร็คเตอร์เดิมของปราสาทได้ถูกเก็บรักษาไว้ให้อยู่ร่วมกับส่วนที่เป็นการออกแบบใหม่ได้อย่างชาญฉลาด โดยภายในพิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่จัดแสดงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ของเมืองในแต่ละยุคสมัยและเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม
จะว่าไปแล้วเรื่องของการจัดการเมืองให้มีคุณภาพนั้น สัมพันธ์กับการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์โดยตรง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพก็ส่งผลให้การพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก นอกจากความมีคุณภาพของเมือง เรายังพบว่าสวิตเซอร์แลนด์นั้นเป็นประเทศที่ใส่ใจเรื่องการอนุรักษ์และมีความภูมิใจในชาติ เราจึงมีโอกาสได้เห็นกระเป๋าจากแบรนด์ Freitag เป็นส่วนหนึ่งในยูนิฟอร์มของเจ้าหน้าที่นำทัวร์จากหน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งเมืองซูริค แม้ทริปท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรมครั้งนี้จะเริ่มที่สถานีรถไฟในเมืองที่มีรูปแบบแปลกตาเป็นที่น่าจดจำ ออกแบบโดย Santiago Calatrava สถาปนิก วิศวกร และประติมากร ซึ่งมีผลงานที่เป็นที่รู้จักกันดีในซูริคอย่างห้องสมุดของ University of Zurich
STADELHOFEN RAILWAY STATION IN ZURICH DESIGNED BY SANTIAGO CALATRAVA
แต่สิ่งที่น่าจดจำยิ่งกว่าคือประโยคที่เจ้าหน้าที่นำทัวร์พูดออกตัวอย่างเขินๆ ก่อนเริ่มทัวร์ว่า “วันนี้เราจะมาทัวร์สถาปัตยกรรมในเมืองซูริค แต่ขอบอกก่อนว่าโปรเจ็คต์ของรัฐบาลที่นี่แม้จะออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังมันก็อาจจะไม่ได้ดูอลังการเหมือนกับโปรเจ็คต์อื่นๆ ที่คุณเคยเห็นมาหรอกนะ เพราะโจทย์ที่รัฐบาลให้กับสถาปนิกก็คือคุณจะออกแบบยังไงให้งานออกมาดีและไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมาก เพราะรัฐบาลต้องตระหนักไว้เสมอว่าเงินที่รัฐบาลใช้จ่ายมันคือภาษีที่เก็บมาจากประชาชน”