FICTIONAL REALITY ARCHITECTURE

‘WHAT WOULD BANGKOK LOOK LIKE IN THE YEAR 2600?’ IS THE CORE AND PRIMARY QUESTION OF THE WORKSHOP ‘FICTIONAL REALITY ARCHITECTURE’ CO-HOSTED BY SUPERMACHINE STUDIO AND LED BY PITUPONG CHAOWAKUL TOGETHER WITH THE DEPARTMENT OF ARCHITECTURE OF KASETSART UNIVERSITY’S FACULTY OF ARCHITECTURE

TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO COURTESY OF THE DESIGNERS

(For English, press here)

กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2600 จะมีหน้าตาอย่างไร? นี่เป็นคำถามตั้งต้นของเวิร์คช็อป ‘Fictional Reality Architecture’ ที่ทาง Supermachine Studio โดยปิตุพงษ์ เชาวกุล จัดขึ้นร่วมกับภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเชิญชวนให้นักศึกษาจำนวน 10 คน ร่วมกันทดลองสร้างนวนิยาย (fiction) ที่บอกเล่าถึงภาพของเมืองกรุงเทพฯ ในอนาคตในแบบฉบับของพวกเขาเอง โดยใช้สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นจุดตั้งต้นสำหรับการคาดการณ์ (และจินตนาการ) ถึงสิ่งที่ “อาจจะ” เป็นจริงได้ในอนาคต

ภาพของกรุงเทพฯ ในอนาคต ที่นักศึกษาทั้ง 10 คนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันจินตนาการขึ้นมาในครั้งนี้มีจุดร่วมกันที่น่าสนใจคือความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งถูกถ่ายทอดออกมาในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เมืองที่ประสบปัญหาฝุ่นควันและมลพิษอย่างหนักใน Blurry City จนถึงเมืองที่ความเหลื่อมล้ำถูกผลักไปถึงขีดสุดด้วยการคอรัปชั่นและระบบ social credit ที่ถูกใช้อย่างผิดวิธีใน VIP Territory

Blurry City

การเข้ามามีอิทธิพลจนล้นเกินของกลุ่มทุน รวมทั้งพฤติกรรมของคนที่ถูกพลิกโฉมไปอย่างมหาศาลเนื่องจากเทคโนโลยี เป็นอีกประเด็นน่าสนใจที่ถูกนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเมืองที่คนเลิกออกจากบ้านและไม่เกิดการใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานอีกต่อไปเพราะการซื้อของออนไลน์ จนทั้งเมืองเต็มไปด้วยท่อลำเลียงสินค้าใน Delivery Bangkok เมืองที่ประชาชนชาวไทยกลับกลายมาเป็นเกษตรกรยุคอนาคตเพื่อป้อนผลผลิตให้กับประเทศจีนใน Slave Farming Metropolis หรือใน Thailand Co., Ltd. ที่กลุ่มทุนเพียงบริษัทเดียวกลายเป็นผู้คุมอำนาจเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ แถมเคราะห์ซ้ำที่งานแทบทุกอย่างยังถูกแทนที่โดยหุ่นยนตร์ไปอีก


Slave Farming Metropolis

ถ้าจะว่ากันตามกระบวนการ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างงานวรรณกรรมและงานออกแบบอย่าง Design Fiction ถูกใช้เป็นฐานคิดให้กับนักออกแบบเพื่อตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในอนาคตมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะด้วยฉากทัศน์ (scenario) ที่ถูกสมมติขึ้น หรือผลงานออแบบเชิง speculative design ที่เผลอๆ อาจจะกลายเป็นต้นแบบของสิ่งประดิษฐ์บางอย่างในที่สุด สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ถูกใช้มาเป็นตัวแปรผลักดันการคิดถึงภาพในอนาคตเหล่านี้มักจะเป็นมุมลบเสียส่วนใหญ่ จนทำให้ภาพที่ได้นั้นมักจะเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากข้อจำกัดของโลกแบบ Dystopia ซึ่งภาพของกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2600 ในครั้งนี้ ก็ถูกจินตนาการออกมาในรูปแบบที่ไม่ต่างกัน น่าคิดเหมือนกันว่าหากประเทศไทยในอนาคตจะต้องกลายเป็นอย่างที่เวิร์คช็อปในครั้งนี้นำเสนอขึ้นมาจริงๆ เราจะคิดหาหนทางแก้ไขมันอย่างไร หรือแท้จริงแล้วเราควรจะร่วมจัดการกับต้นตอของปัญหาเหล่านั้นเสียตั้งแต่วันนี้เพื่อไม่ให้มันลุกลามจนเกินแก้ไข

Delivery Bangkok

fb.com/Supermachine-studio
architecture.arch.ku.ac.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *