TRANS-ARCHITECTURAL JOURNEY

LAST MONTH, BEFORE LIVE PERFORMANCES WERE BARRED, “LINDBERGH’S FLIGHT: A TRANS-ARCHITECTURAL JOURNEY”, AN INTERDISCIPLINARY COLLABORATION BY THAI AND JAPANESE ARTISTS RETOLD A TRANS-ATLANTIC VOYAGE. A SMALL GROUP OF AUDIENCES WENT THROUGH ALMOST EVERY SQUARE INCH OF SLURE: SPACE FOR ALTERNATIVE EXPLORATION, AND ONTO A SIDEWALK OF CHAROENKRUNG ROAD

TEXT: PAWIT MAHASARINAND
PHOTO: TEERAPHAN NGOWJEENANAN

(For English, press here)

ไม่ต้องเป็นคอละครเวทีก็รู้ดีว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของศิลปะที่อยู่คู่มนุษยชาติมานานหลายสหัสวรรษนี้ก็คือ การที่ผู้ชมและศิลปินอยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกัน นั่นก็แปลว่าในยุคโควิดที่เราต้องอยู่ติดบ้านแบบนี้ ศิลปะแขนงนี้ต้องหยุดชะงักงัน  ถึงแม้ว่าคณะละครและเทศกาลละครทั่วโลกที่ต้องเลื่อนการแสดงออกไปอย่างไม่มีกำหนดจะพยายามใช้ทางเลือกด้วยการนำวีดิทัศน์การแสดงเก่าๆ มาให้ชมออนไลน์ทั้งแบบเก็บค่าชมและเปิดรับบริจาค แต่อรรถรสและประสบการณ์ก็เทียบไม่ได้กับการไปชมการแสดงในสถานที่จริงร่วมกับผู้ชมคนอื่นๆ  ในบ้านเราเมื่อต้นเดือนที่แล้วหลังจากที่ละครเวทีฟอร์มใหญ่และฟอร์มกลางประกาศยกเลิกการแสดงก่อนที่กรุงเทพมหานครจะประกาศห้ามจัดการแสดงทุกชนิดในช่วงปลายเดือน การแสดงเล็กๆ ที่น่าสนไม่น้อยตั้งแต่ชื่อเรื่องอย่าง “Lindbergh’s Flight: A Trans-architectural Journey” ก็ได้เปิดให้ชม work-in-progress (แบบที่ work มานานจน progress มาไกลทีเดียว) ที่สลัว พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะบนถนนเจริญกรุง

“การเดินทางของลินด์เบิร์ก” งานสร้างสรรค์ของ Gecko Parade กลุ่มศิลปินญี่ปุ่นจากเขตไซตามะ ดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง “Der Lindberghflug” ของแบร์โทลต์ เบรชต์ นักการละครเยอรมัน ซึ่งจัดแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2472 เล่าเรื่องการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากลองไอแลนด์ นิวยอร์ค ไปกรุงปารีสเมื่อสองปีก่อนหน้านั้นของชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก นักบินอเมริกัน เมื่อครั้งที่แสดงที่ญี่ปุ่น มิซึฮิโตะ คุโรดะ ผู้กำกับละคร และมิซึโฮะ วาตานาเบะ ผู้ออกแบบฉากสถานที่และสถาปนิก สองในสามแกนนำของกลุ่มได้ใช้สถานที่ที่ปกติแล้วไม่ได้ใช้จัดการแสดง อย่างบ้าน พิพิธภัณฑ์ และโรงงานถั่วหมักเป็นที่จัดแสดง ทำนองเดียวกับงานชิ้นอื่นในชุด “trans-residential theatre” ของ Gecko Parade และยังไม่เคยไปแสดงนอกประเทศญี่ปุ่นมาก่อน

ด้วยความร่วมมือกันของเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ สลัว และประยูรเพื่อศิลปะ ผู้จัดเทศกาล Low Fat Art Fest ครั้งก่อน Gecko Parade ก็ได้สมาชิกใหม่ชั่วคราวและกลายเป็น Gecko Parade and Co.

สี่ศิลปินไทย จุฬญาณนนท์ ศิริผล ผู้กํากับภาพยนตร์ จารุนันท์ พันธชาติ ผู้กํากับละครและศิลปินศิลปาธร ศรชัย พงษ์ษา ศิลปินทัศนศิลป์ และเสาวคนธ์ ม่วงครวญ นักเชลโล ร่วมสร้างสรรค์และได้เครดิตเป็นผู้กำกับร่วมกับคุโรดะและวาตานาเบะด้วย ส่วนนักแสดงก็มีทั้งไทยและญี่ปุ่นชาติละสอง งานนี้จึงต้องเรียกว่าทั้งหลากสาขาและข้ามวัฒนธรรม

แรกเริ่มเดิมที “trans-architectural journey” นี้จะจัดที่สถาปัตยกรรมข้ามวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์อย่างอาคารมหาจุฬาลงกรณ์และอาคารมหาวชิราวุธ และเทศกาล “ชีวิตกับการแสดง” ภายใต้ร่มโครงการวิจัย “นิเวศวัฒนธรรมด้านการแสดง” ของจุฬาฯ ก็ให้การสนับสนุนแล้ว พอดีว่ามหาวิทยาลัยสั่งงดจัดกิจกรรมทุกชนิดเตรียมรับมือโควิดมาตั้งแต่ปลายกุมภาฯ แต่ผู้จัดการแสดงก็ปรับตัวเร็ว เปลี่ยนมาแสดงที่สลัว ตึกแถวสองคูหาสามชั้นที่เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ข้างๆ อู่กรุงเทพฯ อู่ต่อเรือที่มีประวัติความเป็นมากว่าศตวรรษ โดยจำกัดจำนวนผู้ชมรอบละเพียง 10 คน  

หลังจากวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ชม (ซึ่งในรอบปฐมทัศน์มีมากกว่า 10) เรียบร้อย การแสดงก็เริ่มที่ชั้นล่าง นักแสดงญี่ปุ่นในชุดนักบินสมัยต้นคริสตศตวรรษที่ 20 สวมบทบาทเป็นลินด์เบิร์กและให้ข้อมูลเบื้องต้นเรื่องการเดินทางบนเครื่องบินเครื่องยนต์เดี่ยวที่ชื่อ “จิตวิญญาณแห่งเมืองเซนต์หลุยส์” โดยมีคำแปลภาษาไทยและอังกฤษฉายที่ผนัง สลับกับนักแสดงชาวไทยที่มีบทสนทนาประกอบ บรรยายเพิ่ม และแปลบทให้บางส่วน ฉากต่อๆ มาเกิดขึ้นในห้องต่างๆ และโถงทางเดินระหว่างห้องบนชั้นสองและสาม โดยมีรองเท้าแตะเตรียมไว้ให้ผู้ชมได้เปลี่ยน ในช่วงแรกข้อมูลมากและภาษาก็สลับไปซ้ำมาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น พอได้ฟังดนตรีของเสาวคนธ์ จึงพอได้ผ่อนและพักบ้าง ส่วนงานศิลปะจัดวางของศรชัยและภาพยนตร์สั้นของจุฬญาณนนท์ ก็ได้เพิ่มการตีความทางสังคมและการเมืองตามแนวทางของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดทำให้เรื่องราววีรบุรุษชาวอเมริกันใกล้ตัวผู้ชมชาวไทยมากขึ้น ฉากสุดท้ายที่ลินด์เบิร์กมาถึงสนามบินเลอบูร์เจต์หลังจากที่บินผ่านอุปสรรคมากมายกว่า 34 ชั่วโมง แสดงที่ทางเท้าหน้าสลัวและประตูทางเข้าอู่ต่อเรือกรุงเทพฯ ผู้คนเดินผ่านไปมาประหลาดใจไม่น้อย อันที่จริงผู้ชมบางคนอาจจะอยากให้อู่ต่อเรือกรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของ “trans-architectural journey” มากกว่านี้ แต่เท่านี้เราทุกคนก็น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวการเดินทางที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ถ่ายทอดผ่านการแสดงที่ใช้ศิลปะหลากหลายสาขาเช่นนี้ และความรู้สึกสู้ไม่ถอยเช่นนี้เองที่เรานำมาใช้ต่อสู้กับศัตรูที่เรายังไม่รู้จักดีได้

คุโรดะกับวาตานาเบะเลือกใช้พื้นที่ต่างๆ ในสลัวเล่าเรื่องการเดินทางในฉากต่างๆ ได้ดี แต่ด้วยความที่ทั้งเนื้อหาของบทก็แน่นและรูปแบบการแสดงก็หลากหลายจัดจ้าน ผู้ชมก็เลยไม่มีช่วงว่างได้สำรวจพื้นที่เท่าไหร่ และผู้ชมที่สวมหน้ากากอนามัยบางคนก็พยายามอยู่ใกล้ๆ คนที่สวมหน้ากาก และออกห่างคนที่ไม่สวม ซึ่งก็รวมถึงนักแสดงด้วย พอผู้กำกับไม่ยอมปล่อยให้พื้นที่แสดงบทบาทบ้าง การแสดงก็เลยไม่ “site-responsive” อันที่จริงการแสดงนี้น่าจะเรียกกันตามหลักสากลเป็นคำกลางๆ ว่า “promenade performance” มากกว่า ผู้ชมจะได้ไม่คาดหวังว่าจะได้สำรวจ เรียนรู้ และสัมผัสพื้นที่จัดการแสดงด้วย  เรื่องน่านิยมอีกประการ คือ การเปิดโอกาสให้ศิลปินหลากหลายสาขาที่ไม่เคยทำงานร่วมกันได้มาร่วมสร้างสรรค์การแสดงนี้ แต่ก็ยังน่าเสียดายที่งานออกมาดูเหมือนต่างคนต่างทำกันคนละฉากแบบที่ดูออกดั้นทีว่าฉากไหนใครกำกับ ถ้าได้มีเวลานั่งประชุมระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากกว่านี้ งานก็น่าจะได้พัฒนาไปอีกขั้นจาก “multi-disciplinary” อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ กลายเป็น “inter-disciplinary” หรือ “cross-disciplinary” เลยก็ได้  ตรองมาคิดไปในทางกลับกัน ถ้างาน architectural tour ที่จัดกันอยู่เนืองๆ ในวงการสถาปัตยกรรม จะลองนำเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาผสม หรือจะชวนศิลปินสาขาอื่นๆ มาผสานบ้าง ผู้เข้าร่วมงานก็อาจจะเพิ่มจำนวนและมีความหลากหลายมากขึ้น ก็ไหนๆ สมัยนี้เรารณรงค์กันเรื่องการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย (diversity) และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนกัน (inclusion) อยู่แล้ว

ด้วยความที่งานนี้ยังอยู่ในขั้น work-in-progress ผู้ชมงานศิลปะอย่างเราก็ต้องรอต่อไปว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไปแล้ว เราจะได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับ “ลินด์เบิร์ก” อีกครั้งเมื่อไหร่

fb.com/jfbangkok
geckoparade.com/english-top

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *