เปิดบทสนทนาสนทนากับ Por Thunwarath นักออกแบบรุ่นใหม่ที่หลงใหลในการเล่าเรื่องผ่านสิ่งพิมพ์ ถึงแรงบันดาลใจ และเส้นทางการทำงานของเธอ
TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
PHOTO & IMAGE COURTESY OF POR THUNWARATH
(For English, press here)
“เราโตมาก็ไม่ใช่ยุคทองของหนังสือแล้ว แต่โลกของคนอ่านก็ยังชอบของที่จับต้องได้ เป็นทางเลือกเหมือนหนัง เหมือนภาพยนตร์”
แม้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในยุคดิจิทัลและความรวดเร็วของเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก แต่ทว่า Por Thunwarath หรือ ธัญวรัตม์ งามวงศ์สกลเลิศ นักออกแบบรุ่นใหม่ก็ยังหลงใหลในการเล่าเรื่องผ่านสิ่งพิมพ์ ควบคู่ไปกับวัยเด็กที่มีประสบการณ์การอ่านนิยายแฟนตาซี และความสนใจที่หลากหลายได้พาเธอผ่านรั้วโรงเรียนของนักออกแบบอย่าง CommDe จุฬาฯ และได้ไปแลกเปลี่ยนเป็นเวลากว่าหนึ่งเทอมในสาขา Graphic Storytelling ที่ LUCA School of Arts ประเทศเบลเยียม
ในวัยของการเรียนรู้และทดลอง ผลงานที่ผสมผสานสีสันและเทคนิคการพิมพ์ Risograph พาเธอให้กลายมาเป็นนักออกแบบที่ร่วมแสดงผลงานในพื้นที่ของ Bangkok Illustration Fair มาแล้วกว่า 2 ครั้ง จนในปี 2024 Bangkok Illustration Fair ได้ย้ายมาจัดที่ centralwOrld บทบาทและผลงานของเธอเปลี่ยนแปลงไปในฐานะกราฟิกดีไซน์ที่ดูแลการออกแบบปกของสำนักพิมพ์ขวัญใจ Gen Z อย่างสำนักพิมพ์ biblio ซึ่งจัดวางหนังสือวรรณกรรม นิยายแปลจากเอเชีย สาระความรู้ จิตวิทยา บนหน้าแผงของร้านหนังสือชั้นนำ และร้านหนังสือออนไลน์อย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออย่าง บริการสุดท้ายแด่ผู้ตาย เก็บกวาดความแตกสลายของชีวิต, บ้านวิกลคนประหลาด 2, ใครเก็บความลับ คนนั้นเป็นศพ, รอยทรงจำในกระดูก, เธอผู้เป็นดั่งค่ำคืนสว่างไสว, ฆาตกรรมหลอนในคืนผีดุ ฯลฯ
นอกจากการดีไซน์หน้าปกหนังสือเป็นเหมือนสิ่งที่สร้างความประทับใจแรกให้กับผู้อ่าน ธัญวรัตม์บอกกับ art4d ว่าหมวกอีกใบของเธอนั้น เธอได้นิยามตัวเองว่าเป็น graphic storyteller เพราะมุมมองต่อการเล่าเรื่องเพื่อสื่อสาร ครอบคลุมการทำงานมากกว่ากราฟิกดีไซน์กับการวาดภาพประกอบเพียงอย่างเดียว และต่อไปนี้เป็นบางส่วนของบทสนทนาถึงไอเดีย แรงบันดาลใจ และเส้นทางในการทำงานออกแบบของเธอ
art4d: อะไรทำให้คุณเริ่มต้นสนใจการทำงานออกแบบกราฟิกหนังสือเล่ม
Thunwarath Ngamwongsakollert: เราชอบอ่านหนังสือแนวแฟนตาซี หนังสือของสำนักพิมพ์แซลมอนเรื่องอาชีพและการเดินทางไปที่ต่างๆ ได้ติดตามผลงานของนักวาดภาพปกนิยายแฟนตาซีของสำนักพิมพ์สถาพรชื่อ Enfer De Hell มาตลอด พอเรียนมหาวิทยาลัยก็เหมือนสนใจทุกอย่างเกี่ยวกับการปริ้นท์ในรูปสิ่งพิมพ์และกระดาษ ก็เลยยื่นฝึกงานสำนักพิมพ์อย่างเดียวเลย ช่วงฝึกงานได้มาฝึกกับสำนักพิมพ์ biblio ตอนนั้นไม่ได้ทำปกหนังสือ ก็เลยขอทำปกมาเรื่อยๆ จนสำนักพิมพ์ยอมให้ทำ
เราได้ออกแบบปกหนังสือเล่มแรกคือ ‘บริการสุดท้ายแด่ผู้ตาย เก็บกวาดความแตกสลายของชีวิต’ ของนักเขียนเกาหลีชื่อ คิมวัน เนื้อเรื่องคล้ายซีรีส์ใน Netflix เกี่ยวกับการเก็บกวาดสิ่งของของคนที่ตายไปแล้ว จนกระทั่งมาแสดงงานที่ Bangkok Illustration Fair ก็มีคนติดต่อมาจากอมรินทร์ให้ออกแบบปกหนังสือของ อกาธา คริสตี้ เป็นนิยายแนวสืบสวนสอบสวนฆาตกรรมเรื่อง ฆาตกรรมหลอนในคืนผีดุ เราขอกำหนดไดเรคชั่นและจัดกราฟิกเอง รู้สึกเข้ามือมาก แล้วคนรู้จักมากขึ้นจากงานปกหนังสือเล่มนี้ด้วย ส่วนตอนนี้ก็ได้ดูแลเรื่องงานออกแบบปกของสำนักพิมพ์ biblio เป็นหลัก ก็เลยได้ทำปกหนังสือ ตั้งแต่การอ่านหนังสือทั้งเล่ม ทำเหมือนตอนเรียนด้วยการจัด mood and tone ให้บรรณาธิการเล่มดูเพื่อให้ทิศทางตรงกันในเรื่องที่จะสื่อสารในการออกแบบ และร่วมงานกับนักวาดภาพประกอบท่านอื่นๆ
art4d: เรามีโอกาสได้เข้าไปดูผลงานหลายชิ้นของคุณ สนใจว่าเพราะอะไร ต้นไม้ ดอกไม้ ผู้หญิง จึงปรากฏในงานคุณบ่อยๆ
TN: อาจจะคล้ายเหตุผลในบทกวี ตำนาน นิทานที่มีผู้หญิง ต้นไม้ ดอกไม้ สัตว์ เพราะสิ่งเหล่านี้นี้ค่อนข้างรีเลทกับชีวิตคน มีความหมายแฝงทางสัญญะที่ผู้คนเข้าถึงได้ ช่วงโควิด19 วิชาเรียนที่มหาวิทยาลัยให้โจทย์เกี่ยวกับการออกไปข้างนอก แต่ไม่สามารถออกไปไหนได้ มีความรู้สึกอยากไปขึ้นเขาและออกไปเดินป่ามาก พอดีกับที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเพิ่งเปิดให้เข้าชม ก็เลยทำเป็นหนังสือออกมาแทนการเดินทางไป ในแง่ของการออกแบบจัดองค์ประกอบมาเป็นกวีไฮกุกับรูปดอกไม้ ต้นไม้ของที่เชียงดาว
art4d: ดูเหมือนว่า ในภาพโปรไฟล์ของ Por Thunwarath ในเว็บ Bangkok Illustration Fair 2024 ก็เป็นภาพของผู้หญิงที่มีสีสันสดใส ได้ไอเดียการออกแบบชิ้นนี้มาอย่างไร
TN: ช่วงไปแลกเปลี่ยนที่เบลเยียม อาจารย์กำหนดโจทย์ให้ใช้รีแอคชั่นโดยไม่มีตัวอักษรจึงทำออกมาเป็นเรื่องสั้น 2 หน้า ชิ้นงาน ‘Warming Up’ เป็น comic ประเภทหนึ่ง ในไทยเราจะคุ้นเคย comic แบบเป็นช่องๆ ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเวลาไปสระว่ายน้ำ กลัวน้ำเพราะน่าจะหนาว ถ่วงเวลาไม่อยากลงสระ ให้มีละอองน้ำนิดหน่อย แต่อยู่ดีๆ ก็กระโดดลงไปในสระ พอเกิดความรู้สึกหนาว ก็ขึ้นมาด้านบน และกระโดดลงไปใหม่ เลือกคาแร็กเตอร์จากตัวเอง เพราะเขาให้ใช้ตัวเองเป็นโจทย์ในการทำงาน แล้วก็เลือกเทคนิคการพิมพ์ออกมาเป็น Risograph ก็เลยเลือกใช้สีสดๆ เพิ่งนึกออกจริงๆ ก็ทำเรื่องผู้หญิงหลายชิ้นเหมือนกันนะ มีงานกึ่ง zine เล่าเรื่องผู้หญิง 2 คน เป็นสารคดีพูดถึงเสียงเพลง ชีวิต เราก็ตีความออกมาเป็นเรื่องเวลา เราสนใจฤดูกาล มันน่าจะดีไซน์เกี่ยวกับดอกไม้และเรื่องการเดินทางได้
art4d: ทุกวันนี้ได้ใช้กระบวนการออกแบบอะไรบ้างจากการเรียนรู้ที่ CommDe และ LUCA School of Arts
TN: เราคิดว่าแทบทั้งหมดเลยนะ ตอนอยู่ CommDe ได้เรียนรู้กระบวนการดีไซน์และวิธีคิดคอนเซ็ปต์ของงาน หากลุ่มคนที่จะสื่อสาร จึงสามารถใช้ลายเส้นได้หลากหลายแบบมาก ช่วงที่เรียนเราสามารถเปลี่ยนคอนเซ็ปต์การทำงานได้ โดยไม่ต้องมีสไตล์ที่ชัดเจน เรารู้สึกว่าตัวเองเบนไปทางดีไซเนอร์ ในการเปลี่ยนลายเส้นในการวาด แต่สไตล์ส่วนตัวที่มีกลิ่นอายการใช้สีเหมือนเดิม ตอนแรกวาดสีออกหม่นๆ แต่พอมาทำงานออกแบบปกหนังสือก็ต้องมีการปรับสีให้โดดเด่น สำหรับวางบนชั้นในร้านหนังสือให้คนได้เลือก
ส่วนตอนไปแลกเปลี่ยน เบลเยียมเป็นต้นกำเนิด comic เราเลยได้ใช้ illustration มากกว่าที่จุฬาหน่อย ได้ทดลองทำสิ่งพิมพ์และทำงาน comic เน้นการสำรวจมีเดียที่หลากหลายและเรียนรู้วิธีการรีเสิร์ชเป็นหลัก เรารู้สึกว่าสนุกกับการรีเสิร์ชมาก ขณะเดียวกันก็มีโอกาสได้เห็นชิ้นงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ที่เคยเรียนในห้องเรียน เรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะและศิลปะที่เป็นแนว contemporary ได้ลองเข้าไปเรียนรู้ทาง fine art เปิดโลกมาก เรื่องการทำงานกับความรู้สึกส่วนตัว ค่อนข้างต่างจากที่ไทย เวลาดีเบทกัน ที่นั่นคุยเรื่องความคิด ความรู้สึก มุมมอง มากกว่าสิ่งนี้สวยไม่สวย แล้วมันสนุก
art4d: เราเคยเห็นผลงานหลายชิ้นจำได้ว่าคนที่เรียน CommDe จะมีการจัดแสดงผลงานธีสิสของตัวเองก่อนเรียนจบ ด้วยความสนใจที่หลากหลายของคุณ ช่วงเวลานั้นทำออกมาเป็นอย่างไรบ้าง
TN: ตอนนั้นที่ทำเป็น zine และผลงานจัดแสดงเน้นเรื่องอาหารกับผู้หญิง ไม่อยากเล่าเรื่องที่ดูธรรมดา อยากให้มีมุมมองที่พิเศษ ผลพวงมาจากพอเราไปที่เบลเยียมแล้วไม่มีอาหารให้กิน มีความรู้สึกคิดถึงฝีมือของอาม่าที่ทำของตุ๋นยาจีน เลยเริ่มต้นสัมภาษณ์อาม่าเกี่ยวกับน้ำแกง ต่อมาอาม่าพูดถึงคนอื่นๆ ที่อยู่ในครอบครัว ซึ่งเราไม่เคยคุยด้วยเลย ลองลิสต์รายชื่อตามไปสัมภาษณ์ กลายเป็นว่าสามารถเชื่อมโยงกันได้หมด 5 ประเด็น ผูกกับประเด็นทางสังคมที่มีความไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องแรกผู้หญิงลูกคนจีนทำอาหาร เราก็เล่าว่า อาม่าอายุ 23 เขาเลือกที่จะแต่งงานแล้วนะ ขณะที่ช่วงอายุเดียวกัน เรากำลังทำธีสิสอยู่เลย เล่าในแง่ที่ค่อนข้างจริงใจ ส่วนตัว บางครอบครัวก็มีเหมือนกัน แต่เราแค่อาจจะไม่รู้ ตอนทำเป็นธีสิสออกมาก่อนเรื่องหลานม่าฉายอีกนะ
อีกส่วนเป็นเรื่องของผู้บริหารหญิงในครอบครัวรุ่นราวคราวเดียวกับอาม่า โดยที่เกี่ยวข้องกับอาหารไม่ใช่แค่การทำอาหารในครัว เขาทำงานด้านการตลาดแล้วมีโอกาสไปดีลกับบริษัทเซเว่นอัพ ก็เลยมีเซเว่นอัพขวดแรกของประเทศไทย งานชิ้นนี้มีประเด็นเรื่องบทบาทของผู้หญิงมากไปกว่าเรื่องในครัว แง่มุมอื่นๆ อาหารสืบทอดจากประเพณีมีการสอนกัน อย่างหมี่ซั่วที่ไหว้เจ้า ตอนทำสนุกมากๆ ได้สัมภาษณ์คนเยอะด้วย ก่อนจะเอาไปทำเป็นแสดงงาน คิดจะพิมพ์เป็นเล่ม แต่ติดที่ว่าคำนวณดูแล้วราคาแพงมาก ก็เลยทำด้วยวิธีอื่น
art4d: ได้เจออะไรบ้างจากการเข้าร่วมแสดงผลงานใน Bangkok Illustration Fair มาแล้วสองครั้ง
TN: ได้พูดคุยกับคนที่ติดตามงานเราจริงๆ พอลงงานแต่ใน Instagram แล้วรู้สึกมันเย็นชา ไม่มีใครมาพูดคุยกับเราขนาดนั้น ส่วนพื้นที่ของงาน Bangkok Illustration Fair เราได้มาบอกเล่าประสบการณ์และแลกเปลี่ยนกับคนที่ตามงานของเรา บางครั้งก็มีเพื่อนตอนประถมฯ ไม่เจอกัน 10 ปีที่แล้ว อยู่ดีๆ ก็เข้ามาที่งาน บอกว่าเห็นผลงานเรามาตลอดเลยนะ เราได้เจอกับผู้คน มีคนตามงานมากขึ้นจาก Bangkok Illustration Fair ตอนแรกงานจัดขึ้นที่ BACC แต่ปีนี้เปลี่ยนเป็น centralwOrld ตอนอยู่ BACC มีแต่ผลงานที่เป็นปกหนังสือที่เราออกแบบเลย ถ้าย้อนกลับไปปีแรกเหมือนเป็นการสุ่มแสดงผลงานตัวเองตอนเรียนมหาวิทยาลัย ส่วนปีที่สอง งานเริ่มผสมกันระหว่างปกหนังสือกับธีสิสภาคออริจินัลของตัวเอง
art4d: มองทิศทางการออกแบบของตัวเองเป็นอย่างไรและมีชิ้นงานที่อยากทำในอนาคตไหม
TN: น่าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะเพิ่งเริ่มทำงานประจำแนวสำนักพิมพ์ ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้ น่าจะพยายามสร้างความหลากหลายมากขึ้นในพื้นที่ให้คนที่มีสไตล์แตกต่างให้ได้เข้ามาเจองานเรา เคยลองออกแบบปกหนังสือแนวอื่นนอกจากแนวสืบสวนสอบสวนฆาตกรรมชื่อว่า ‘เธอผู้เป็นดั่งค่ำคืนสว่างไสว’ แต่ก็ยังเกี่ยวกับเรื่องสังคมเป็นเรื่องของผู้หญิงถูกกดทับ ใจจริงอยากลองออกแบบแนวแฟนตาซีมากขึ้น แต่ไม่รู้จะเข้ามือไหมเหมือนกัน เพราะน่าจะเน้นเรื่องของตัวละคร
ส่วนงานส่วนตัวเราอยากเขียนหนังสือภาพ แต่อาจไม่ใช่วรรณกรรมเยาวชนสำหรับเด็กขนาดนั้น ชอบผลงานของ Jimmy Liao ศิลปินชาวไต้หวันเป็นหนังสือภาพที่ดูมีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย แต่ตอนนี้ยังไม่มีเวลาทำ คิดๆ ไว้อยากทำ zine เกี่ยวกับสัตว์ เคยไปทริปของ The Cloud ไปติดตามดูการทำงานของอาชีพซูคีปเปอร์ ในสวนสัตว์เขาเขียว ได้เข้าไปในโซนซาฟารีเวิลด์ที่เป็นทวีปแอฟริกา ได้นั่งรถกระบะเข้าไป มีนกกระจอกเทศวิ่งอยู่ข้างๆ ขณะเดียวกันรู้สึกว่าอาชีพซูคีปเปอร์ต้องใช้ความทุ่มเทมากๆ ทั้งงานหนัก เสี่ยงตาย และเงินเดือนน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ พอเราได้เข้าไปในกรงสัตว์ ได้เห็นเวลาการใช้ชีวิตปกติของสัตว์ ซึ่งแต่ละตัวมีความเป็นสัตว์เลี้ยง คนทำงานก็มีการตั้งฉายาให้ เพราะนิสัยและความเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ได้ไปเห็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการดูแลสัตว์พิเศษ วิธีการแบกฮิปโปที่ตัวใหญ่ การจัดการศพของยีราฟ เรื่องราวเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของสัตว์ มีส่วนที่เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์จับคางคกให้ดู แล้วอธิบายถึงจุดตายของมัน เมื่อรู้จุดที่มีพิษ ถ้าเราไม่ไปยุ่งมันก็จะไม่ปล่อยพิษออกมา มีเรื่องอยากเล่าเกี่ยวกับสวนสัตว์เยอะมาก แต่พอหมูเด้งแมสแล้ว ความรู้สึกอยากทำก็ลดลง เพราะเราติดตามอยู่ตลอดเวลา ถ้าได้ทำก็อยากไปดูสัตว์ สัมภาษณ์ซูคีปเปอร์ และรีเสิร์ชข้อมูลอีกหลายๆ รอบ