SACICT TRIP TO THE NORTH

ART4D JOINS SACICT ON THE FIELD TRIP TO LAMPANG AND CHIANG MAI, AND OBSERVES HOW ‘CRAFT’ IS GOING IN 2020

TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO COURTESY OF SACICT

นับตั้งแต่การก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.​ 2546 ก็เป็นเวลาร่วม 17 ปีแล้ว ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้ร่วมพัฒนาและต่อยอดการทำงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตลอดจนผลักดันภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ไม่เพียงแค่สะท้อนคุณค่าความเป็นไทย แต่ยังสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดสากลอีกด้วย ในขณะเดียวกัน กิจกรรมต่างๆ ที่ SACICT เป็นผู้จัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งานเสวนาระดับนานาชาติ งานแสดงสินค้าและนิทรรศการ จนถึงการเป็นผู้กำหนดเทรนด์การออกแบบงาน “คราฟต์” ในแต่ละปี ยังช่วยปลูกฝังค่านิยมให้คนรุ่นใหม่กลับมาสนใจในงานคราฟต์ ร่วมกันต่อยอดผลงานให้ตอบรับกับยุคสมัยได้มากขึ้นอีกด้วย

และเพื่อให้เราได้กลับมาทำความรู้จักกับงานคราฟต์ที่กำลังดำเนินอยู่กันมากขึ้น art4d ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับ SACICT ในการลงพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ (บ้านทุ่งจี้) จังหวัดลำปาง และชุมชนบ้านห้วยทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสิ่งที่เราได้พบในระหว่างการเดินทางครั้งนั้นสะท้อนความสนใจที่ซ่อนตัวอยู่ในความสามารถและภูมิปัญญาของผู้คนในท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

แม้ว่าการดำเนินงานของศูนย์ศิลปาชีพบ้านทุ่งจี้จะมีความหลากหลาย คือมีการผลิตงานศิลปาชีพมากถึง 8 กลุ่มงานด้วยกัน (ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผา แกะสลักไม้ ปักผ้า ทอผ้า จักสานไม้ไผ่ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เลี้ยงผึ้ง และอื่นๆ) แต่ผลงานที่ได้ชื่อว่าสร้างทั้งชื่อเสียงและรายได้ให้กับโครงการนี้มากที่สุดเห็นจะเป็น “ผลิตภัณฑ์เซรามิก” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงและสีของธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบบัว ดอกทองกวาว ดอกลั่นทม หรือกระทั่งรูปทรงของรังนก ในสายตาของดีไซเนอร์อาจมองว่ารูปแบบของงานเซรามิกเหล่านี้นั้นดูเป็นของทั่วไป เพราะเน้นจัดจำหน่ายให้กับตลาดใหญ่ แต่ประเด็นหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจคือพื้นที่แห่งนี้ยังมีช่องให้เกิดการต่อยอดได้อีกมาก ด้วยความพร้อมของทั้งโรงงาน อุปกรณ์ และบุคลากรที่มี รวมทั้งทักษะของช่างฝีมือในแต่ละกลุ่มงานที่ได้รับการฝึกมาอย่างชำนาญ น่าติดตามเหมือนกันว่าภายหลังการเดินทางครั้งนี้ของ SACICT จะเกิดการจับมือร่วมกับดีไซเนอร์คนใดเพื่อพลิกผลงานของศูนย์ศิลปาชีพบ้านทุ่งจี้ให้เปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมได้บ้าง

ขณะที่การลงพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยทราย ในอำเภอแม่ริม ของจังหวัดเชียงใหม่นั้น ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ผลงานหัตถกรรมใยกัญชง โดยครูนวลศรี พร้อมใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี พ.ศ. 2557 เป็นที่รู้จักในวงกว้างมาหลายปี ด้วยดีไซน์ที่มีความทันสมัย พร้อมกับคุณสมบัติของ “ใยกัญชง” เองที่ใส่แล้วรู้สึกเย็นเมื่ออากาศร้อน ป้องกันรังสี UV ให้ความอบอุ่นเมื่ออากาศหนาว ไม่ยับ ไม่มีกลิ่นอับ และไม่ขึ้นรา จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเสื้อผ้า knitwear ของครูนวลศรี จึงได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ใช้ต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การได้มีโอกาสร่วมงานกับ Edric Ong นักออกแบบสิ่งทอและหัตถศิลป์ชาวมาเลเซียเจ้าของแบรนด์ EO ที่พาให้เสื้อผ้า knitwear จากใยกัญชงได้มีโอกาสไปโลดแล่นบนเวทีแฟชั่นภายใต้ชื่อ Nuansri Thailand ยังช่วยพัฒนาและต่อยอดรูปแบบของสินค้าและทักษะของช่างไปอีกขั้นด้วย ความพร้อมที่เกิดจากการได้ร่วมงานกับดีไซเนอร์มาอย่างหลากหลาย และความสวยงามเฉพาะตัวของใยกัญชงนี้เอง ที่ทำให้เราอยากเห็นดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ๆ ลงพื้นที่ไปทำความรู้จักและร่วมงานกับครูนวลศรี และป้าๆ ในชุมชนบ้านห้วยทรายกันมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าหากได้รับการตีความใหม่อีกสักหน่อย ไม่ยากเลยที่ knitwear จากใยกัญชงจะกลับมาได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภครุ่นใหม่กันมากขึ้น

ในช่วงท้ายของกิจกรรม พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ได้เน้นย้ำว่า “SACICT เตรียมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทั้งในงานเซรามิกและหัตถกรรมใยกัญชง ให้มีรูปแบบที่ตรงกับความต้องการของตลาด และเตรียมผลักดันเข้าสู่การซื้อ-ขายในตลาดออนไลน์ อีกทั้งยังมีแนวทางสื่อสารประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้บริโภคในปัจจุบันได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น” แน่นอนว่าการผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาดสากลและออนไลน์นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายให้กับผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการหาแนวทางความร่วมมือเพื่อต่อยอดงานคราฟต์เหล่านี้ด้วย “ดีไซน์” ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ art4d ตั้งตารอจะได้เห็นจาก SACICT ในปี 2020 นี้เป็นต้นไปด้วยเช่นกัน เพราะเราเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์จะช่วยขยายตลาดให้งานคราฟต์กลับมาได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น

sacict.or.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *