DEPARTED ‹ › REVISITED

A TRIBUTE TO THE LATE MONTIEN BOONMA, MARKING 20 YEARS SINCE HIS PASSING

CONCEIVED & DIRECTED BY NAVIN RAWANCHAIKUL
IN ASSOCIATION WITH THE ESTATE OF MONTIEN BOONMA

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO COURTESY OF NAVIN PRODUCTION

(For English, press here)

เสาร์อาทิตย์สุดท้ายของปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นสองวันที่ราวกับว่า มณเฑียร บุญมา ฟื้นคืนกลับมามีชีวิตให้เราสัมผัสชัดเจนในความรู้สึกทรงจำ

การกลับมาครั้งนี้ของมณเฑียร หลังจากจากไปนานสองทศวรรษ เกิดขึ้นเพราะนิทรรศการจากไป กลับมา” (Departed < > Revisited) ที่นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เป็นผู้ริเริ่มจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงมณเฑียรเนื่องในวาระครบ 20 ปี ของการเสียชีวิต นาวินเลือกวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม เชียงใหม่ เป็นสถานที่จัดนิทรรศการและกิจกรรมส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผลว่าในอดีตวัดกลางป่าอันเงียบสงบแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ที่มณเฑียรใช้เวลาส่วนมากในการเรียนรู้และเยียวยาจิตใจ นอกจากนั้น วัดอุโมงค์ยังเคยเป็นหนึ่งในสถานที่จัดแสดงผลงานของเทศกาลศิลปะเชียงใหม่จัดวางสังคมที่ในปี 2536 มี ‘Vipassana-Vessel’ ผลงานติดตั้งจัดวางของมณเฑียรจัดแสดงอยู่บนพื้นที่กลางแจ้งของวัด

ใน “จากไป กลับมา” นาวินและทีมงาน นาวิน โปรดักชั่น รวมทั้งมิตรสหายที่ล้วนต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการรำลึกถึงมณเฑียร อย่างเช่น ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ ศิลปินและอดีตผู้ช่วยคนสำคัญอีกคนของมณเฑียร ได้ร่วมกันจัดทำผลงานศิลปะของมณเฑียรขึ้นมาใหม่สองชิ้น ชิ้นแรกคือ ‘Room’ (1994) งานจัดวางที่ประกอบไปด้วยประติมากรรมทั้งหมด 7 ชิ้น แต่ละชิ้นทำจากไม้สน มีโครงสร้างปรุโปร่ง และสร้างเป็นพื้นที่ปิดบนพื้นที่เปิดสาธารณะให้ผู้ชมเข้าไปยืนอยู่ภายในทีละคน เหมือนการทำสมาธิของพระธุดงค์ที่อาศัยกลดเป็นสิ่งกำบังตนออกจากภายนอก มณเฑียรเคยจัดแสดงงานชิ้นนี้ในปี 2537 ที่ Adelaide Installations: Beyond the Material World ใน Adelaide Festival แต่เพราะเป็นช่วงที่ภรรยากำลังป่วยหนัก เขาจึงมอบหมายให้นาวินเป็นคนเดินทางไปติดตั้งผลงานแทน

Montien Boonma, Room, 1994 (Reconstructed 2020)

‘Room’ ถูกรื้อถอนหลังนิทรรศการครั้งนั้นจบลง แต่นาวินมาค้นพบภายหลังว่าเขามีผ้าสีดำพิมพ์ลายเครื่องหมายคำถาม (?) และเครื่องหมายตกใจ (!) สีทอง ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Room’ เก็บไว้อยู่ชิ้นหนึ่ง ในปี 2015 นาวินนำผ้าชิ้นนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งใน ‘Gate of Fear’ และในนิทรรศการกลับไป จากมา” (Revisited < > Departed) (2019) ที่มีเรื่องราวของมณเฑียรร้อยเกี่ยวกับครอบครัวของนาวิน เครื่องหมายคำถามและตกใจก็ปรากฏให้เห็นอีกครั้งในภาพ ‘Page 42: Very Beautiful’ (2019) มณเฑียรเริ่มวาดสองเครื่องหมายนี้ระหว่างที่ดูแลภรรยาที่ป่วย เครื่องหมายคำถามเป็นการแสดงถึงความสงสัยในชีวิต ส่วนเครื่องหมายตกใจเป็นปฏิกริยาเมื่อได้ค้นพบความจริงบางอย่าง โดย ‘Room’ เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นแรกๆ ที่มณเฑียรนำเครื่องหมายดังกล่าวมาใช้

ผลงานอีกชิ้นของมณเฑียรที่ถูกจัดทำขึ้นใหม่ในครั้งนี้คือ ‘Vipassana-Vessel’ (1993) โดยนาวินได้เสมือนพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปยังเชียงใหม่จัดวางสังคมในปี 2536 ด้วยการติดตั้งงานชิ้นนี้ไว้บนตำแหน่งเดิม ณ ลานกลางแจ้งของวัดอุโมงค์เหมือนเมื่อ 27 ปีก่อน ถ้วยชามดินเผากว่า 600 ใบที่ถูกบรรจงเรียงเป็นพื้นที่ปิดทรงกลมสูง 24 ชั้น และมีตะเกียบหล่อเป็นรูปกระดูกนิ้วมือปักอยู่ตามต้นไม้รอบๆ เหมือนผลงานที่มณเฑียรเคยจัดแสดงแทบทุกอย่าง แม้แต่ชามดินเผาเหล่านั้น นาวินและทีมงานก็เดินทางไปยังหมู่บ้านหัตถกรรมเหมืองกุงเพื่อให้ช่างฝีมือที่นั่นช่วยผลิตให้เหมือนที่มณเฑียรเคยทำในอดีต ขาดก็แต่ตัวศิลปินเจ้าของชิ้นงานที่เมื่อ 27 ก่อน เคยมากวาดใบไม้แห้งให้เรียงเป็นวงกลมซ้อนกันเหมือนลายคลื่นน้ำเพื่อสงบจิตใจตัวเองอยู่ทุกวัน

Montien Boonma, Vipassana-Vessel, 1993 (Reconstructed 2020) 

การจัดทำศิลปะสองชิ้นของมณเฑียรขึ้นมาใหม่นับเป็นกำไรของผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็นผลงานของศิลปินท่านนี้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่พาศิลปะร่วมสมัยไทยบุกเบิกไปยังเวทีนานาชาติ นอกจากนั้น การเลือกจัดแสดงผลงานศิลปะในพื้นที่ของวัดอุโมงค์ยังเปิดประเด็นเกี่ยวกับศิลปะในพื้นที่ทางศาสนา เช่นเดียวกับในกิจกรรมเสวนาสอง session ที่เชิญพระสงฆ์มาร่วมพูดคุย ในประเด็นนี้ ประมวล เพ็งจันทร์ ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า พื้นที่วัดในนิกายเถรวาทควรให้ความสำคัญแก่มิติทางสุนทรียภาพและศิลปะมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะศิลปะมีพลังในการสำแดงออกและเข้าถึงสภาวะธรรมการรู้แจ้งได้โดยไม่ต้องอาศัยถ้อยคำการอธิบาย ซึ่งในกรณีนี้เอง ศิลปะของมณเฑียรที่แทบไม่ต่างกับการภาวนาทำสมาธิก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน

Montien Boonma, Vipassana-Vessel, 1993 (Reconstructed 2020)

นั่นคือในมุมของผู้ชม ส่วนในมุมของนาวินและทีมงานนั้น ความน่าสนใจน่าจะตกไปอยู่ที่กระบวนการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นที่พวกเขาต้องแกะแบบผลงานทั้งสองชิ้นจากภาพถ่ายในสูจิบัตร วิดีโอ รวมทั้งเดินทางไปพบผู้ที่เคยเห็นหรือเคยช่วยมณเฑียรติดตั้งงานชิ้นนั้นๆ ในอดีต โดยในขั้นตอนนี้ วรเทพ อรรคบุตร ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการเล่าว่า ทีมงานได้รายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามความทรงจำและการตีความของแต่ละคนอย่างน่าสนใจ

Montien Boonma, Vipassana-Vessel, 1993 (Reconstructed 2020)

การบอกเล่าเรื่องราวจากความทรงจำนับว่ามีบทบาทสำคัญในกิจกรรมงานเปิดนิทรรศการจากไป กลับมาเพราะมีเสวนาหลาย session ที่เชิญเพื่อนในวัยเรียนของมณเฑียร เช่น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ชาติ กอบจิตติ โชคชัย ตักโพธิ์ รวมทั้งอีกหลายท่านที่เคยร่วมงานหรือเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับมณเฑียร เช่น อภินันท์ โปษยานนท์ กฤติยา กาวีวงศ์ นำทอง แซ่ตั้ง ธัชชัย หงษ์แพง จุมพงษ์ บุญมา (บุตรชายของมณเฑียร) เป็นต้น มาพูดคุยและเล่าถึงความทรงจำของตนที่มีต่อมณเฑียรในแง่มุมต่างๆ จากคำบอกเล่าทั้งหมดในตลอดสองวันของการเปิดนิทรรศการนี้เอง หลายคนคงรู้สึกว่าราวกับเห็นมณเฑียรกลับขึ้นมามีชีวิตพร้อมศิลปะของเขาอีกครั้งและพร้อมกันนั้นเอง เสียงบรรเลงเปียโนเพลง Funeral March ก็ดังขึ้นเป็นฉากหลัง

Funeral March บรรเลงให้เราได้ยินเป็นครั้งแรกใน ‘House of Hope’ (Homage to Montien Boonma) (2013) ผลงานที่นาวินทำขึ้นเพื่ออุทิศให้กับมณเฑียร นาวินค้นพบเมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมบ้านที่นนทบุรีของมณเฑียรก่อนหน้านั้นว่า มณเฑียรโปรดปรานเพลงนี้มาก โดยเฉพาะเมื่อภรรยาของเขาเป็นผู้บรรเลงขึ้นจากเปียโนที่บ้าน และตั้งใจอยากให้ใช้เป็นเพลงในงานศพของเขา นาวินยังได้รู้เรื่องของผืนผ้าใบเปล่าที่ติดอยู่เหนือเปียโนที่มณเฑียรเก็บไว้ให้ลูกชาย ซึ่งผืนผ้าใบนั้นก็ถูกจำลองขนาดมาใช้ใน ‘House of Hope’ พร้อมกับภาพวาดรูปเหมือนครอบครัวของมณเฑียรจากสองช่วงเวลาที่นาวินจัดทำขึ้น

บทเพลง Funeral March ผืนผ้าใบว่างเปล่าที่กลับมากด้วยเรื่องราว และจิตรกรรมภาพเหมือนของผู้คนในชีวิตมณเฑียร เป็นองค์ประกอบที่ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งใน ‘Black Question’ (After Montien Boonma) (2020) งานที่นาวินสร้างขึ้นเพื่อคารวะต่อมณเฑียร และเป็นผลงานเพียงชิ้นเดียวของเขาในจากไป กลับมาอย่างไรก็ดี จิตรกรรมชิ้นใหม่ที่อยู่ใน ‘Black Question’ ไม่ได้เป็นเรื่องราวของสมาชิกในครอบครัวมณเฑียรอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นผู้คนมากมายที่ใกล้ชิดผูกพันกับเขา และนาวินกับทีมงานได้เดินทางไปพบเจอเพื่อพูดคุยปะติดต่อปะต่อเรื่องราวเกี่ยวกับมณเฑียร นอกจากนั้น ผืนผ้าใบว่างเปล่าที่เขานำมาใช้ครั้งนี้ก็เป็นผ้าใบผืนจริงที่เคยติดอยู่เหนือเปียโนที่บ้านมณเฑียร และมีร่องรอยผ่านกาลเวลามาให้เราได้เห็น

นาวินนำจิตรกรรมและผืนผ้าใบมาติดตั้งอยู่ปลายด้านในสุดของอุโมงค์สีดำขนาดใหญ่ที่ฉลุเป็นลายแพทเทิร์นรูปเครื่องหมายคำถามและเครื่องหมายตกใจ (อุโมงค์นี้จำลองมาจากผลงานชิ้นหนึ่งของมณเฑียรที่อยู่ในรูปทรงเดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก คือสูงประมาณแค่ 2 ฟุต) เมื่อผู้ชมก้มตัวเดินลอดผ่านทางเข้าเข้าไปในอุโมงค์ (การก้มตัวเป็นอีกหนึ่งลักษณะที่พบได้ในศิลปะของมณเฑียรที่สื่อถึงการค้อมคำนับ)​ ก็จะได้เห็นลวดลายของสองเครื่องหมายดังกล่าวทั้งบนเพดานและผนังด้านข้าง แสงจากด้านนอกสาดส่องให้เครื่องหมายคำถามบางอันสว่างไสว และเมื่อแหงนหน้ามองลอดช่องว่างรูปเครื่องหมายทั้งสองออกไปก็จะเห็นสีเขียวของต้นไม้วูบไหวไปมา แสงที่สาดเข้ามายังก่อให้เกิดเงาของเครื่องหมายบางอันตกกระทบบนพื้นหรือแม้แต่ผืนผ้าใบ สมุนไพรที่ทาไว้บนตัวอุโมงค์ส่งกลิ่นแตะจมูกบางเบา เช่นเดียวกับบทเพลง Funeral March ที่บรรเลงคลอขณะเราค่อยๆ ก้าวเดินเข้าไปใกล้ปลายอุโมงค์เพื่อชมภาพเหมือนของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมณเฑียรบนจิตรกรรมชิ้นนั้น

Navin Rawanchaikul, Black Question (After Montien Boonma), 2020

‘Black Question’ เป็นชิ้นงานที่ปรากฏทั้งอัตลักษณ์ทางศิลปะของมณเฑียรและนาวิน ราวกับสองศิลปินที่เป็นอาจารย์และลูกศิษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นร่วมกัน โดยมีเพลง Funeral March ร้อยเกี่ยวเรื่องราวทั้งหมดไว้ ผลงานชิ้นนี้ที่นาวินทำขึ้นด้วยความเคารพและผูกพันต่อผู้เป็นอาจารย์ น่าจะยังทำให้ผู้ชมหลายคนอยากรู้จักเรื่องราวและศิลปะของมณเฑียรมากขึ้นด้วย ส่วนตลอดสองวันของกิจกรรมเปิดนิทรรศการนั้น ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างกับทุกครั้งที่นาวินจัดเทศกาลงานศิลปะขึ้นมา นั่นคือ เขาได้ใช้ศิลปะนำพาผู้คนหลากหลายที่มีบางอย่างร้อยเกี่ยวกันไว้ ให้เข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันได้อย่างรื่นรมย์

Montien Atelier Archive

นอกเหนือจากนิทรรศการและกิจกรรมดังที่กล่าวไว้ในบทความแล้ว ในจากไป กลับมายังมีการจัดแสดง หอจดหมายเหตุ มณเฑียร บุญมา (Montien Atelier Archive) ขึ้นภายในโรงภาพปริศนาธรรมของวัดอุโมงค์ โดย Montien Atelier คัดสรรตัวอย่างผลงาน ภาพร่างความคิด เอกสาร และภาพถ่ายสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นชีวิตและศิลปะของมณเฑียรในช่วงที่เขาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ มาให้เราได้ชม รวมทั้งยังมีนิทรรศการคู่ขนาน ‘Becoming Stupa’ ผลงานของมณเฑียร บุญมา คัดสรรโดย กฤติยา กาวีวงศ์ จากชุดสะสมของ DC Collection จัดแสดงที่ DC Collection

นิทรรศการจากไป กลับมาและ ‘Becoming Stupa’ จัดแสดงจนถึง 28 มีนาคม 2564 รายละเอียดเพิ่มเติม facebook.com/NavinProduction

*อ้างอิงข้อมูลบางส่วนในบทความจากตายก่อนดับการกลับมาของมณเฑียร บุญมา

facebook.com/NavinProduction

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *