CRAFTLAND JAPAN

IN THEIR LATEST BOOK ‘CRAFTLAND JAPAN’, THE TWO GERMAN DESIGNERS TAKE US ON A JOURNEY ACROSS JAPAN TO MEET 25 ARTISANS WHOSE SENSES, SKILLS AND WORKS REAFFIRM US THAT CONTEMPORARY INTERPRETATIONS OF ART AND CRAFTSMANSHIP IN THIS COUNTRY ALWAYS SEEM TO PROSPER

TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

Craftland Japan
Uwe Röttgen, Katharina Zettl,  Kengo Kuma
Thames & Hudson, 2020
6.9 x 1 x 9.6 inches
287 pages
Paperback
ISBN 978-0-500-29534-2



Kengo Kuma เขียนเอาไว้ในคำนำของ Craftland Japan เกี่ยวกับช่วง 1980s ประเทศญี่ปุ่นเกิดปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ส่งผลให้โปรเจ็คต์ในโตเกียวของเขาหยุดชะงักลงทันที Kuma กลายเป็นคนที่มีเวลาว่างเหลือเฟือแต่ไม่มีอะไรจะทำ เขาตัดสินใจใช้เวลาที่มีอยู่มากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนนั้น ออกสำรวจประเทศญี่ปุ่นโดยรับงานเล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ร่วมงานกับช่างท้องถิ่นญี่ปุ่นในสถานที่ห่างไกลออกไป ช่วงเวลานี้เองที่เขาได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งกลายเป็นคุณค่ามหาศาลต่อเขาในปัจจุบัน และทศวรรษ 1990s ที่ใครเคยเรียกว่าเป็น “Lost Decade” ของญี่ปุ่นนั้น “สำหรับผมโดยส่วนตัวแล้วมันคือช่วงเวลาที่เติมเต็มให้กับชีวิตผม นับเป็น 10 ปีที่เปลี่ยนแปลงผมให้เป็นอย่างทุกวันนี้” 

ประเทศญี่ปุ่นมีภูมิประเทศที่ปกคลุมด้วยป่าเขาคิดเป็น 70% ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้หมู่บ้านตามหลืบเขา ผืนป่า แม่น้ำลำธาร มีความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ค่อยๆ พัฒนาทักษะเฉพาะทางของงานช่างขึ้นมาจนเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่โลกควรจะต้องรับรู้ด้วย Uwe Röttgen และ Katharina Zettl ออกตระเวนเดินทางไปทั่วทุกภูมิประเทศของญี่ปุ่นเพื่อพบปะพูดคุยและบันทึกเรื่องราวของเหล่า maker workshop และ landscape เพื่อมาใส่ในหนังสือเล่มนี้ผ่าน 25 ช่างฝีมือหรือ artisan ที่มีทักษะหลากหลาย

ย้อนประวัติศาสตร์ไปหลายร้อยปี งานฝีมือของญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากจีนและเกาหลีไม่น้อย พวกเขาค่อยๆ ซึมซับทักษะต่างๆ นำมาพัฒนาเทคนิคและรูปแบบให้เข้ากับความต้องการของชาวญี่ปุ่น งานฝีมือหลายๆ ชิ้น สร้างขึ้นภายใต้การคุ้มครองและส่งเสริมของเจ้าเมืองและแคว้นต่างๆ ให้มีรูปแบบเฉพาะตัวของแคว้น โดยเฉพาะงานเซรามิกและงานเครื่องเขินจะโดดเด่นเป็นพิเศษ

บนเส้นทางการพัฒนาดังกล่าว ช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นในอดีตได้เชื่อมโยงสุนทรียศาสตร์เข้ากับหลักพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างโลก ธรรมชาติ จักรวาล และสรรพสิ่ง พอมาถึงยุคเมจิ (ศตวรรษที่ 19) เริ่มมีอิทธิพลจากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นเกิดความเปลี่ยนแปลงตามกระแสไปด้วย ทำให้เกิดงานประเภท folk art หรือ มินเง (Mingei) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกระแสงานศิลปะและงานฝีมือของอังกฤษ ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่ว ช่างฝีมือใน Craftland Japan กระจายอยู่ทั่วท้องที่ต่างๆ ที่ห่างไกลไปจากศูนย์กลางงานฝีมือที่ฝั่งตะวันตกคุ้นเคยและให้ความนับถืออย่างเกียวโต อะริตะ และวาจิมะ ช่างฝีมือหลายรายผันตัวเองจากนักศึกษาด้านธุรกิจก่อนจะมีโอกาสได้ซึมซับวิถีช่างฝีมือที่มีความเป็นอิสระ มายึดติดอยู่ในกรอบและเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์ ทำให้พวกเขาตัดสินใจยกเลิกการเป็น “มนุษย์เงินเดือน” หลีกเลี่ยงจากเมืองใหญ่มาปักหลักทำงานช่างอยู่ตามหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ พวกเขาค่อยๆ เรียนรู้จากธรรมชาติโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ ความผันแปรผุกร่อนของต้นไม้ ฤดูเก็บเกี่ยวต้นคราม กระบวนการที่จำเป็นก่อนจะเริ่มย้อมสี หรือการควบคุมฟืนไฟในเตาเผาเซรามิก ความรู้เหล่านี้จำเป็นต้องฝึกฝนผ่านวันคืนและประสาทสัมผัส คุณภาพของงานฝีมือชั้นดีเกิดจากส่วนผสมของกาลเวลา วัตถุดิบชั้นเลิศ ทักษะพิเศษ ความใส่ใจ ความทุ่มเท และจิตใจอันดื้อดึงไม่ยอมประนีประนอมให้กับเงื่อนไขต่างๆ ระหว่างทาง มันเป็นงานที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต 25 ช่างฝีมือที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ล้วนเป็นตัวอย่างของส่วนผสมเหล่านี้ เช่น Nigara Forging (ช่างตีใบมีด) Suzuki Morishisa Studio (ช่างตีเหล็ก) Yanase Washi (ช่างทำกระดาษ) Hajime Nakatomi (ศิลปินไม้ไผ่) BUAISOU (เกษตรกรทำย้อมคราม) Koichi Onozawa (สตูดิโอเซรามิก) Kasamori | OOO (ช่างปัก) และ Ayane Muroya (ช่างประดิษฐ์ตัวอักษร) เป็นต้น 

25 ช่างฝีมือที่รวบรวมอยู่ในหนังสือ Craftland Japan เล่มนี้ เต็มไปด้วยเทคนิค วัตถุดิบต่างกัน ตั้งแต่เครื่องเคลือบ งานย้อมคราม งานหลอมเหล็ก ไปจนถึงงานประดิษฐ์ตัวอักษร หนังสือเล่มนี้ยกย่องความเป็นหนึ่งในเรื่องหัตถกรรม ดีไซน์ และแหล่งวัตถุดิบของประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเพียงใดการตีความงานร่วมสมัยเชิงหัตถกรรมของที่นี่ยังคงเบ่งบานสะพรั่งอยู่เสมอ

ญี่ปุ่นในปัจจุบันมีภาพของประเทศที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีงานสถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ที่ล้ำหน้าไปไกลระดับต้นๆ ของโลก แต่อีกด้านหนึ่งภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยป่าเขายังคงเขียวชอุ่มแน่น พร้อมเป็นแหล่งต้นกำเนิดวัฒนธรรมอันหลากหลาย และภายใต้ทิวเขาที่ซ้อนทับกันเหล่านี้ นอกจากจะให้ภาพงดงามทางสายตาแล้ว ยังคงซุกซ่อนความลับอันเป็นขุมทรัพย์มหาศาล ที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับความยั่งยืนของโลกในอนาคต และอาจเกี่ยวพันกับความอยู่รอดของมนุษยชาติด้วยก็เป็นได้

craftland-japan.com
thamesandhudson.com

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *