BVLGARI FAÇADE DESIGN SERIES

BEHIND THE (NEWLY DESIGNED) FAÇADES OF BVLGARI STORES IN KL AND BANGKOK, WHICH RESULTED FROM THE COLLABORATION BETWEEN THE LUXURY BRAND AND THE FAMOUS ARCHITECT MVRDV, LIES A STORY THAT CAN DATE BACK TO ITS FIRST FLAGSHIP STORE AT VIA DEI CONDOTTI 10 IN ROME WHERE THE LETTER V WAS FIRST INTRODUCED TO THE BRAND’S LOGO AND STOREFRONT DESIGN

TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ตอนรู้ข่าวเมื่อช่วงปลายปีก่อนว่ามีงานของ MVRDV ในกรุงเทพฯ เราอดสงสัยไม่ได้ทันทีว่างานของสถาปนิกดังจากเนเธอร์แลนด์ที่ว่านั้นคืออะไร หรือว่าไปแอบซ่อนตัวอยู่ที่ไหน เพราะจากที่คอยติดตามข้อมูลจากแหล่งข่าวชั้นดี (?) อย่าง SkyscraperCity อยู่ตลอด นอกจากชื่อของออฟฟิศใหญ่ๆ อย่างเช่น SOM, Foster + Partners, OMA หรือ BIG ก็แทบไม่ปรากฏเค้าลางอะไรให้เราตามได้เลยว่าจะมีงาน MVRDV ในไทย (นอกจากการได้เจอตัว Winy Maas หลายครั้งทั้งที่ไทยและต่างประเทศ จนผู้เขียนเองก็เคยนึกเล่นๆ ว่าเดี๋ยวเขาก็คงจะมีงานในบ้านเราแหละมั้ง) จนพอได้เห็นเซ็ตภาพถ่ายโดย เกตน์สิรี วงศ์วาร ช่างภาพสถาปัตยกรรมประจำของ art4d ที่สถาปนิกได้มา commission ให้ไปบันทึกเก็บไว้ให้ ก็ถึงได้ถึงบางอ้อว่างานที่ว่านั้นคือหน้าร้านของแบรนด์เครื่องประดับ BVLGARI ที่ห้าง ICONSIAM นั่นเอง

เท้าความก่อนว่านี่เป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 2 ระหว่าง MVRDV และ BVLGARI ในการออกแบบหน้าร้าน (storefront) หรือ “façade” ของแบรนด์ในประเทศต่างๆ ถัดจากสาขาในย่าน Bukit Bintang ของกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ได้รับการปรับโฉมก่อนใครเพื่อนเป็นสาขาแรกเมื่อปี 2018 และเป็นโปรเจ็คต์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Jacob van Rijs หนึ่งในสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง MVRDV (ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมการได้พบกับ Maas หลายครั้งถึงไม่ได้ช่วยให้เราทราบข่าวเกี่ยวกับงานนี้เท่าไร) ความเจ๋งคือการออกแบบ façade ในครั้งนี้เป็นเหมือนกับการนำประวัติศาสตร์อันยาวนานเกือบ 140 ปี ของแบรนด์ที่ซ้อนทับกันหลายชั้นมาคลี่คลายและเล่าใหม่ในวิธีการที่ร่วมสมัยขึ้น โดยมีแกนสำคัญของเรื่องอยู่ที่สาขา Via dei Condotti 10 ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

แม้ว่าจะเปิดเป็นสาขาที่ 3 ตามหลังสาขา Via Sistina ในปี 1884 และสาขา Via dei Condotti อีกแห่งในปี 1894 ซึ่งทั้งหมดเคยตั้งอยู่ในระยะที่เดินถึงกันได้ และไม่ไกลจาก Scalinata di Trinità dei Monti หรือ Spanish Steps กลางกรุงโรมเท่าไร แต่สำหรับสาขา Via dei Condotti 10 ซึ่งเริ่มทำการในปี 1905 นั้น (และเป็นสาขาเดียวที่ยังเปิดอยู่จนทุกวันนี้) เราจะเรียกว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนหรือ threshold ที่สำคัญของ BVLGARI ในหลายๆ มิติเลยก็ว่าได้ ทั้งการเป็น boutique flagship แรกของแบรนด์ การที่ตัว V ถูกใช้ในชื่อ BVLGARI แทนตัว U เป็นครั้งแรกที่หน้าร้านในวิธีเดียวกับการเขียนอักษรโรมันโบราณ (และกลายมาเป็นโลโก้ในปัจจุบัน) หรือการที่ façade ของสาขานี้เป็นแรงบันดาลใจที่ MVRDV ใช้ในการออกแบบ façade ใหม่ให้กับทั้งสาขาที่ Bukit Bintang และ ICONSIAM รวมถึงสาขาอื่นๆ ที่น่าจะทยอยเปิดให้เราได้เห็นกันต่อไปหลังจากนี้

Photo courtesy of BVLGARI

แต่ทำไม MVRDV ถึงต้องใช้หน้าร้านของสาขาที่ว่าเป็นจุดอ้างอิงด้วยล่ะ ต้องเล่าย้อนอีกสักนิดว่าหลังจากที่ Sotirio Voulgaris ผู้ก่อตั้งเสียชีวิตได้ไม่นาน ทางแบรนด์ก็ได้มีการปรับโฉมสาขา Via dei Condotti ครั้งใหญ่ระหว่างปี 1933–34 โดยมีสถาปนิกอิตาเลียน Florestano di Fausto มาเป็นผู้ออกแบบ (คนเดียวกับที่เปลี่ยนชื่อเรียกที่หน้าร้านให้เป็น BVLGARI) โดยดีเทลของ Fausto ที่สำคัญที่สุดซึ่งกลายเป็นมรดกที่ตกทอดมาสู่ทั้งการรีโวเวทของสาขานั้นอีกครั้งปี 2014 ในโอกาสที่เปิดทำการครบรอบ 130 ปี โดยสถาปนิกอเมริกัน Peter Mario และการออกแบบ façade ให้กับสาขาต่างๆ ทั่วโลกของ MVRDV ก็คือ หน้าต่างขนาดใหญ่สำหรับดิสเพลย์สินค้าทั้ง 4 ช่อง และช่องประตูที่ตั้งอยู่ตรงกลางบริเวณหน้าร้าน ซึ่งทั้งหมดถูกล้อมกรอบด้วยบัวคิ้ว (cornice) หินอ่อนสีเขียวจากแอฟริกา และมีรูปทรงที่ตัดทอนมาจากบานกรอบประตูหน้าต่างของอาคารประวัติศาสตร์ในอิตาลี

Photo: Daria Scagliola

จากตรงนี้เอง MVRDV หยิบเอาเส้น outline ของบัวคิ้วที่ว่ามาตีความใหม่ ตัดทอน ย่อส่วน ยืดขยาย จนเส้นร่างของกรอบประตูหน้าต่างเหล่านั้นมีรูปทรงและสัดส่วนที่หลากหลาย ทั้งสมมาตรและไม่สมมาตร เสร็จแล้วจึงนำของที่ได้มาจัดเรียงองค์ประกอบใหม่จนได้เป็น façade ของแต่ละสาขาที่แชร์ภาษาสถาปัตยกรรมบางอย่างร่วมกัน จะเห็นว่าแต่ละที่มีความพิเศษต่างกันก็ตรงที่มีการทดลองหรือเล่นกับวัสดุในรูปแบบที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง โดยสำหรับหน้าร้านที่สาขา Bukit Bintang สถาปนิกใช้คอนกรีตเสริมใยแก้ว (GRC) เป็นวัสดุหลัก มีการตัดแผ่นคอนกรีตนั้นเป็นแพทเทิร์นที่ดูแล้วก็คล้ายๆ กับรอยแตกของอาคารเก่า ก่อนจะเทเรซิ่นลงไปในรอยแยกที่ว่า แล้วจึงเติมไฟเส้น LED ลงไป ทำให้ได้ façade ที่มีเอฟเฟกต์ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ตอนกลางวันเน้นความเป็นวัสดุที่ดูแข็งกร้าวแต่ก็เรียบนิ่งของคอนกรีต ตอนกลางคืนเน้นบรรยากาศให้ดราม่าขึ้นด้วยแสงไฟในรอยแยก ซึ่งช่วยให้ BVLGARI โดดเด่นออกมาจากร้านสินค้า luxury อื่นๆ ที่อยู่ใกล้กันได้มาก ดีเทลทั้งหมดที่ว่ามานี้ สถาปนิกพัฒนาขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัย TU Delft และ Tensoforma ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญงาน façade โดยเฉพาะ

ส่วนหน้าร้านที่สาขา ICONSIAM ในกรุงเทพฯ นั้นดูจะมีเทคนิคที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับที่กัวลาลัมเปอร์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิธีการนำเส้น outline ของบัวคิ้วมาใช้ร่วมกับการเล่นกับวัสดุนั้นมีความตรงไปตรงมากว่ามาก สิ่งที่ MVRDV ทำเป็นเพียงการนำแผ่นทองเหลืองมาดัดเป็นกรอบตามรูปทรงที่เคยเล่าไปเท่านั้น และใช้แผ่นทองเหลืองอัดลอนลูกฟูกขนาดเล็กกรุบนพื้นที่ระหว่างแต่ละกรอบ จะมีการใส่ลูกเล่นเข้าไปก็ตรงที่พื้นที่ในแต่ละกรอบนั้นมีการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันไปตามระดับความเป็นส่วนตัวของฟังก์ชันที่อยู่ภายใน กระจกใสสำหรับส่วนที่ต้องใช้ดิสเพลย์สินค้าที่บริเวณชั้นล่าง ขณะที่ห้องรับรองลูกค้า VIP บริเวณสองชั้นบนซึ่งต้องการความเป็นส่วนตัวกว่า จะออกแบบเป็นผนังทึบและมีการใช้กระจกขุ่นทำสีที่แตกต่างกัน ทำให้เมื่อเปิดไฟแล้วโทนสีโลหะอย่าง สีทองเหลือง สีทองแดง และสีขาวเงิน ของกระจกสีเหล่านั้นจะสว่างวาวออกมา ยิ่งเมื่อบวกกับทำเลทองของร้านที่ขึ้นบันไดเลื่อนขึ้นมาแล้วเจอเลย ก็ดูจะดึงดูดสายตาคนที่ผ่านไปมาได้ดีทีเดียว

แต่ถ้าพูดในแง่ของการจัดการกับบริบทโดยรอบ การออกแบบ façade ของสาขา ICONSIAM ทำงานได้ดีกว่า เพราะในขณะที่สาขา Bukit Bintang นั้นตั้งอยู่ริมถนน และมีความ contrast จากองค์ประกอบโดยรอบเข้าช่วย สาขาที่ ICONSIAM กลับต้องเจอกับโจทย์ที่หนักกว่าคือสีทองจากทั้งอินทีเรียของห้างในโซน ICONLUXE และจากหน้าร้านของแบรนด์อื่นๆ ซึ่งพาลทำให้บรรยากาศโดยรอบนั้นถูกกลืนเป็นเนื้อเดียวไปได้ง่ายๆ การที่สถาปนิกออกแบบให้ façade มีประกายของสีโลหะที่มากกว่าโทนสีเหลืองทองจึงช่วยตอบคำถามในเรื่องของการจะทำให้ BVLGARI โดดเด่นออกมาท่ามกลางแบรนด์อื่นๆ ได้อย่างไรได้ฉลาดกว่ามากเลย

ข้อเดียวที่แอบเสียดายไปสักหน่อยในการร่วมงานกันระหว่าง MVRDV และ BVLGARI ครั้งนี้ คือการที่มันเป็นแค่การออกแบบหน้ากากของร้านเท่านั้น ซึ่งถึง Jacob van Rijs จะปิดท้ายคำอธิบายของงานที่กรุงเทพฯ ไว้ว่า ด้วยงานออกแบบนี้ เราได้นำเอาความสุขสำราญสำหรับชีวิตในแบบโรมันมาสู่กรุงเทพฯ แต่เราคิดว่ามันคงจะดีกว่าไม่น้อยถ้าพื้นที่ภายในร้านจะได้เติมเต็มและช่วยทำหน้าที่มอบประสบการณ์ที่ว่านั้นให้กับผู้ใช้ด้วย

mvrdv.nl

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *